ThaiPublica > คอลัมน์ > ตื้นไปลึก-ลึกไปตื้น เบลอจางอย่างเฟซบุ๊ก

ตื้นไปลึก-ลึกไปตื้น เบลอจางอย่างเฟซบุ๊ก

6 มิถุนายน 2012


ยุทธการ ยุทธนาวุธพิทักษ์

ผู้เขียนเริ่มใช้งานเฟซบุ๊กเมื่อต้นปี พ.ศ. 2552 ซึ่งเมื่อใช้งานไปได้ไม่นาน ก็เกิดเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองของ “คนเสื้อแดง” อันนำไปสู่ “สงกรานต์เลือด” และในปีต่อมา ก็เกิดเหตุการณ์การชุมนุมของคนเสื้อแดงอีกครั้ง และนำไปสู่เหตุการณ์สลายการชุมนุมในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2553 ซึ่งจนบัดนี้ แม้จวนเจียนจะล่วงเลยเข้าครึ่งหลังของปี พ.ศ. 2555 แล้ว แรงกระเพื่อมที่เกิดจากการชุมนุมและการสลายการชุมนุมก็ยังไม่จบสิ้น

ด้วยความที่ไม่เคยเป็นสมาชิกของเว็บบอร์ดใดๆ มาก่อน จึงถือได้ว่า การใช้งานเฟซบุ๊กของผู้เขียนจึงเข้าเป็นส่วนหนึ่งสังคมออนไลน์เป็นครั้งแรก และด้วยความที่ใช้งานได้ไม่นานก็เกิดเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองดังกล่าว สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เครือข่ายความสัมพันธ์ในโลกออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊กก็ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้เขียนได้พบความน่าสนใจหลายๆ อย่างในเชิงความสัมพันธ์ที่พวกมนุษย์เขามีต่อกันในเฟซบุ๊ก ก็เลยอยากหยิบบางเรื่องที่สังเกตได้มาเล่า

หากจะจัดระดับตื้นลึกของความสัมพันธ์ โดยให้ความตื้นหมายถึง “สิ่งที่เห็นได้ชัด/เห็นเป็นปรกติ” และความลึกหมายถึง “สิ่งที่เห็นไม่ชัด/ไม่เคยเห็น” ความสัมพันธ์ของมนุษย์ในเฟซบุ๊ก ก็ยังเป็นลำดับชั้นที่เรียงจากตื้นไปลึก แต่หากเทียบกับลำดับชั้นความสัมพันธ์ที่ผู้เขียนคุ้นเคยในโลกออฟไลน์ก่อนใช้เฟซบุ๊ก (ทั้งที่ตัวเองเป็นและเห็นจากคนอื่น) สิ่งที่ทยอยพบได้จากตื้นไปลึกนั้นกลับต่างกัน

เมื่อเทียบเวลาที่มีชีวิตอยู่ตั้งแต่เกิดจนปัจจุบันแล้ว ผู้เขียนใช้ชีวิตในโลกออฟไลน์มามากกว่าโลกออนไลน์ประมาณสิบเท่า ความคุ้นชินที่มีต่อรูปแบบลำดับความตื้นลึกในความสัมพันธ์ในโลกออฟไลน์จึงมีมากกว่า และนั่นทำให้ผู้เขียนจัดให้อุดมการณ์และทัศนคติต่อชีวิต สังคม และการเมือง เป็นสิ่งที่อยู่ในระดับลึกในจิตใจมนุษย์ครับ

ทำไมจัดแบบนั้น เพราะในโลกออฟไลน์ หากไม่ใช่นักกิจกรรม ไม่ใช่นักรณรงค์ ไม่ใช่คนมีอาชีพขายตรง มนุษย์ส่วนใหญ่เขาคบหากันที่พฤติกรรมความคิดทั่วๆ ไปที่พบได้ประจำวันหรือในเวลาที่ปฏิสัมพันธ์กันครับ

ส่วนความคิดในระดับอุดมคติหรืออุดมการณ์นั้น กว่าจะได้เห็นกัน มันก็ต้องมีเหตุการณ์ต่างๆ มาสั่นกระตุ้น ทำให้ต้องแสดงออกมา และบางครั้ง แม้มีอะไรมากระทบแล้ว แต่ด้วยความสัมพันธ์ที่มีมาก่อนจะถึงจุดนั้น มันก็เกิดประสบการณ์สะสมอันได้จากความสัมพันธ์ ซึ่งจะมามีส่วนในการคิดคำนวณว่า สามารถแสดงอุดมคติหรืออุดมการณ์ของตัวเองออกไปในพื้นที่ความสัมพันธ์นั้นๆ ได้หรือไม่

หรือแม้เมื่อเคยแสดงออกไปแล้ว ปฏิกิริยาที่ได้รับในกาลเทศะแห่งการแสดงออกนั้น ก็จะกลายมาเป็นองค์ประกอบการคิดคำนวณในครั้งต่อๆ ไป ว่าดีหรือไม่ หากจะแสดงออกไปอีกสักครั้ง หรือจะเงียบอย่างเสียงหินที่โยนลงไปในหุบเหวลึกสุดหยั่งตลอดกาล

อาจกล่าวได้ว่า เพราะมนุษย์เหล่านั้นถูกวิธีคิดอย่าง “อย่าคุยกันเรื่องการเมืองศาสนา จะพาลพาผิดใจกันจนหันหนี” กำกับชีวิตไว้ไม่มากก็น้อย ทำให้อุดมคติพวกนั้นต้องอพยพไปอยู่ในค่ายกักกันในส่วนลึกของจิตใจที่ไม่ค่อยมีใครจะได้เห็น

แต่ทีนี้ ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงสามปีที่ผ่านมา (โดยเฉพาะปี 2553) การมีและใช้เฟซบุ๊กเป็นเครื่องมือในการติดต่อทั้งในแง่ของการรับและส่งสาร ได้ทำให้ลำดับของระดับชั้นความสัมพันธ์ดังกล่าวเปลี่ยนไปครับ ทัศนคติและอุดมการณ์ทางการเมือง ที่ถูกแสดงออกผ่านแต่ละบัญชีผู้ใช้งาน กลับกลายเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ง่าย (อย่างน้อยก็ก่อนที่จะมีการ “ล่าแม่มด/เสียบประจาน” เกิดขึ้น) พบเห็นจนชินตา พบเห็นจนรู้ว่า (คิดว่า) เจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กคนนั้นๆ มีอุดมคติทางการเมืองอย่างไร แต่นิสัยใจคอในโลกออฟไลน์เป็นอย่างไรนั้น กลับกลายเป็นเรื่องที่อยู่ “ลึก” จนในบางครั้งอาจถึงขั้น “ลับ”

ทว่า ไม่ว่าจะในโลกออฟไลน์หรืออนไลน์ ไม่ว่าสิ่งที่อยู่ตื้น-ลึกจะเป็นอะไร เป็นปรกติครับ ที่เราจะได้พบว่า สิ่งที่อยู่ตื้นกับสิ่งที่อยู่ลึกลงไปในตัวบุคคลหนึ่งนั้น มันคนละเรื่องกัน มันขัดกัน มันต่างกันอย่างไม่ใช่หน้ามือเป็นหลังเท้า แต่บางครั้งมัน “ไม่สอดคล้อง” กันระดับที่ทำให้รู้สึกราวกับว่า มือเป็นของเรา แต่นิ้วมือเป็นของคนอื่น

พอจะนึกออกไหมครับ ในโลกออฟไลน์ สมมติมนุษย์เขามีเพื่อนคนหนึ่ง ที่ปรกติเป็นที่จดจำในฐานะคนตลกโปฮาไร้สาระ ทว่าวันหนึ่ง เมื่อเพื่อนคนนั้นแสดงทัศนคติเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งในชีวิตออกมาอย่างจริงจัง กลับพบว่าเขาเป็นคิดเยอะ และมีสาระจนความตลกโปฮาทั้งหมดที่เจอมาเหมือนความฝัน

การไม่สอดคล้องกันตรงนี้ ในเฟซบุ๊กก็มีครับ นอกจากเรื่องง่ายๆ อย่างในเฟซบุ๊กนี่สุดจะโผงผางหยาบคาย แต่ตัวจริงพูดน้อยสุภาพเรียบร้อยหรือถึงขั้น “หน่อมแน้ม” ก็ยังมีกรณีอย่างเช่นการที่อุดมคติความคิดเห็นทางการเมืองที่แสดงออกทางเฟซบุ๊ก จนเป็นจุดเชื่อมโยงให้มามีความสัมพันธ์กันในฐานะ “เพื่อนเฟซบุ๊ก” แต่เมื่อความสัมพันธ์เติบโตจนคบหากันไปลึกๆ แล้ว กลับพบว่านิสัยใจคอ หรือการปฏิบัติต่อกันในฐานะบุคคลต่อบุคคลผ่านทางเฟซบุ๊กในเรื่องที่ไม่ใช่การเมือง กลับกลายเป็นคนละเรื่องกันเลยกับการแสดงออกทางการเมืองที่เห็นมาก่อนหน้านี้

จะขอยกตัวอย่าง โดยเฉพาะทางฝั่งเสื้อแดง ซึ่ง “เสรีภาพของผู้คิดต่าง” อันเป็นรายละเอียดหนึ่งในหัวใจหลักของประชาธิปไตย ดูจะเป็นสิ่งสำคัญที่เติบโตขึ้นมาในการเรียกร้อง เพราะฉะนั้น ในแง่มุมหนึ่ง การรวมตัวกันในเฟซบุ๊กของคนที่ไม่เคยเห็นหน้าค่าตากัน แต่ก็มารวมกันในฐานะของผู้ที่คิดอย่างเสื้อแดง (ไม่ว่าจะแปะป้ายตัวเองหรือโดนใครแปะป้ายมา) ก็เกิดขึ้นผ่านการเห็นการแชร์ทั้งข้อมูลข่าวสารและทัศนคติต่างๆ ผ่านเครื่องมือทั้งหลายที่มีให้เลือกใช้ในเฟซบุ๊ก ที่ทำให้เห็นว่าตัวผู้แชร์สนับสนุนเสรีภาพในทางนั้น

และด้วยความที่อุดมคติเป็นเรื่องที่ “ใหญ่” หรือถูกเข้าใจว่าใหญ่ เพราะการแสดงออกซึ่งความคิดทางการเมืองของฝ่ายนี้มักจะแตะเรื่องใหญ่ๆ เช่น การเรียกร้องสิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ ภายใต้ขอบเขตของกฎหมายที่ “เหมาะสม” ความใหญ่แบบนั้นเลยกลายเป็น “ภาพลวงตาแห่งความคาดหวัง” ว่าถ้าเรียกร้องเสรีภาพในเรื่องใหญ่ขนาดนั้น บุคคลผู้นั้นนั้นก็ย่อมเป็นคนที่ยึดถือเสรีภาพในทุกระดับของการดำรงชีวิตด้วย ซึ่งการยึดถือเสรีภาพนั้นก็เป็นเรื่องสองฝั่ง คือนอกจากเรียกร้องเสรีภาพของตัวเองจากผู้อื่นแล้ว ก็ต้องยอมรับเสรีภาพที่ผู้อื่นจะมีต่อตัวเองด้วย

ทีนี้ มันก็เลยกลายเป็นปัญหาขึ้นมาครับ ซึ่งก็เกิดจากภาพลวงตาแห่งความคาดหวังนั่นเอง กล่าวคือ พอลงลึกไปถึงระดับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลต่อบุคคลแล้ว บุคคลผู้ถูกคาดหวัง (อย่างไม่รู้ตัว) กลับแลดูไม่ได้ยึดถือเสรีภาพในทางนั้นสักนิด

มันเกิดอะไรขึ้น?

การกลับกันของสิ่งที่อยู่ในระดับชั้นตื้น-ลึกของความสัมพันธ์ในโลกออฟไลน์กับออนไลน์ ซึ่งไปพลิกเอาเรื่องในชั้นลึกของบุคคลอย่างอุดมคติออกมาให้เป็นสิ่งที่เห็นได้ง่าย ทำให้การรับรู้ที่มีต่อ “เส้นแบ่ง” ระหว่าง “เรื่องส่วนตัว” และ “เรื่องสาธารณะ” ของบุคคล “เบลอ” ไปครับ เมื่อเส้นแบ่งเบลอไปแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือการให้ความหมายอย่างปะปนกัน ไม่หยุดนิ่ง เลื่อนไหลไปเรื่อยๆ หลุดออกจากสังกัดเดิมที่เคยมีอยู่ กฎเกณฑ์ใหญ่ๆ ที่ตั้งไว้เฉพาะกับเรื่องสาธารณะก็เลยถูกเข้าใจว่าจะต้องใช้กับเรื่องส่วนตัวไปด้วย

การเบลอจนเลื่อนไหลดังกล่าวคงจะไม่เป็นปัญหาเลย ถ้ามันเกิดขึ้นกับทั้งฝ่ายผู้ส่งสารและผู้รับสาร แต่ที่เกิดปัญหาขึ้น ก็เพราะมันเป็นไปแต่ในฟากการรับรู้และตีความของผู้รับสารเพียงฝ่ายเดียวนี่ละครับ จนทำให้เกิดกรณีอย่างตัวตนทางการเมืองในเฟซบุ๊กนี่เสรีนิยมมากๆ แต่ในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลแล้วอนุรักษนิยมสุดๆ เจ้ายศเจ้าอย่างเสียจนความเท่าเทียมที่พร่ำพูดในเฟซบุ๊กเหมือนเป็นความฝัน

พอขัดกันอย่างนั้น หลายคนก็ถึงขั้นรู้สึกว่า แล้วอุดมคติที่บุคคลหนึ่งแสดงออกอยู่นั้น เอาเข้าจริงแล้วเจ้าตัวเขาเชื่ออย่างนั้นหรือเปล่า หนักเข้า ก็ทำให้รู้สึกว่าอุดมคติที่ออกมาจากบุคคลนั้นๆ เป็นสิ่งที่ไม่น่าเชื่ออีกต่อไป

ในทัศนะของผู้เขียน บุคคลที่เรียกร้องเสรีภาพทางการเมืองและการแสดงออกไม่จำเป็นต้องเป็นคนใจกว้างในเรื่องความสัมพันธ์ส่วนตัวนะครับ มันคนละเรื่องกัน การเมืองเป็นเรื่องสาธารณะ เป็นเรื่องที่ทุกคนได้รับผลกระทบจากมันอย่างเลี่ยงไม่ได้ เช่น กรณีของการออกและบังคับใช้กฎหมาย ในเชิงหลักการแล้ว กฎหมายเป็นสิ่งที่บังคับใช้กับทุกคนที่อยู่ใต้กฎหมายนั้นอย่างเท่าเทียมกัน กฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพก็ย่อมส่งผลต่อทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

แต่ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลไม่ใช่แบบนั้นครับ มันเป็นเรื่องส่วนตัว ดำเนินไปบนกฎเกณฑ์ที่บุคคลกำหนดขึ้นเองโดยเป็นผลลัพธ์จากปฏิสัมพันธ์ที่บุคคลมีต่อสังคม จะหักล้างง้างงออย่างไรเป็นเรื่องระหว่างบุคคลที่ต้องไปกำหนดกันเองครับ และทั้งหมดเป็นไปเพื่อรักษา “พื้นที่ส่วนตัว” ซึ่งถือได้ว่าเป็น “พื้นที่เสรีของปัจเจก” ไว้ให้ได้มากที่สุดหรืออีกแง่หนึ่งคือสูญเสียไปน้อยที่สุด

เมื่อคิดดูดีๆ แล้ว การกำหนดขอบเขตพื้นที่ส่วนตัวในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลมันเป็นเรื่องทำนองเดียวกันกับการเรียกร้องเสรีภาพทางการเมืองครับ เป็นเรื่องการพยายามตีกรอบกั้นเส้น ว่าจะอนุญาตให้ “รัฐ” หรือ “คนอื่น” ก้าวล่วงเข้ามาในพื้นที่ส่วนตัวของบุคคลได้แค่ไหนนั่นเอง ซึ่งนั่นหมายความว่า แม้ในเชิงการแสดงออกซึ่งทัศนคติทางการเมืองกับเรื่องส่วนตัวอาจดูแล้วขัดกันในเชิงดังกล่าว แต่แท้จริงแล้ว แก่นของมันยังเป็นเรื่องเดียวกันที่สอดคล้องกันอยู่ครับ

ด้วยความที่เฟซบุ๊กเป็นเครื่องจักรหนึ่งที่ใช้นำพาความสัมพันธ์ มาถึงตอนนี้ ผู้เขียนเลิก “เล่น” เฟซบุ๊กแล้วครับ แต่หันมาใช้มันอย่าง “จริงจัง” มากขึ้นในฐานะของเครื่องมือในการสังเกตและเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจปรากฏการณ์ต่างๆ ทางความสัมพันธ์

เรื่องความสัมพันธ์ไม่อยากทำเป็นเล่นครับ…ด้วยความสัตย์จริง