ThaiPublica > คอลัมน์ > Selfie: นี่อยากให้เธอเห็นว่าเป็นฉัน (ที่กำลังดิ้นรนในโลกที่บูชาภาพลักษณ์)

Selfie: นี่อยากให้เธอเห็นว่าเป็นฉัน (ที่กำลังดิ้นรนในโลกที่บูชาภาพลักษณ์)

30 มีนาคม 2014


ณัฐเมธี สัยเวช

ปีที่แล้ว หลังจากใช้โปรแกรมสำรวจที่จะรวบรวมคำในภาษาอังกฤษประมาณ 150 ล้านคำที่มีการใช้กันในทุกๆ เดือน และพบว่าปริมาณการใช้คำว่า “เซลฟี” (selfie) ตลอดทั้งปี ค.ศ. 2013 นั้นเพิ่มขึ้นถึง 17,000 เปอร์เซ็นต์ พจนานุกรมออกซ์ฟอร์ด (Oxford Dictionaries) ก็ได้ประกาศให้เซลฟีเป็น “คำแห่งปี” (word of the year) โดยได้ให้ความหมายว่าคือ “รูปที่ตัวเองถ่ายตัวเอง (โดยทั่วไปจะถ่ายด้วยสมาร์ทโฟนหรือเว็บแคม) แล้วอัปโหลดขึ้นบนเว็บไซต์โซเชียลมีเดีย” (“A photograph that one has taken of oneself, typically one taken with a smartphone or webcam and uploaded to a social media website”)

และไม่เพียงแต่ประกาศให้เป็นคำแห่งปี พจนานุกรมออกซ์ฟอร์ดยังได้ทำการสำรวจหาจุดกำเนิดของคำดังกล่าว และพบว่ามีการใช้คำนี้เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 2002 ในเว็บบอร์ดแห่งหนึ่งในประเทศออสเตรเลีย พอมาถึงปี ค.ศ. 2004 ก็เป็น “แฮชแท็ก” (hashtag: เครื่องหมาย “#” ที่ใส่ไว้หน้าคำกำหนดหมวดหมู่ต่างๆ เพื่อจัดเนื้อหาที่มีแฮชแท็กนั้นๆ เข้าไว้เป็นหมวดหมู่เดียวกัน) ที่นิยมใช้กันในเว็บไซต์ฝากรูปยอดนิยมอย่าง flickr และพอมาถึงปี ค.ศ. 2012 คำว่าเซลฟีก็ยึดครองพื้นที่ออนไลน์จนกลายเป็นกระแสหลักด้วยแรงส่งของการใช้งานในทวิตเตอร์และอินสตาแกรม (ตอนนั้นเฟซบุ๊กยังไม่มีระบบแฮชแท็กนะครับ เฟซบุ๊กเริ่มใช้ระบบแฮชแท็กช่วงกลางปี ค.ศ. 2013)

ในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น หากดูตามรายงานของบิสซิเนสไวร์ (Business Wire) ที่ระบุว่า ปริมาณการใช้งานสมาร์ทโฟนทั่วโลกในไตรมาสที่ 3 ของปี ค.ศ. 2012 จะสูงถึง 1.038 พันล้านเครื่อง รวมทั้งปริมาณผู้ใช้งานทวิตเตอร์และอินสตาแกรมที่เพิ่มขึ้น โดยทวิตเตอร์ประกาศเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ค.ศ. 2012 ว่ามีผู้ใช้งานต่อเดือนสูงถึง 200 ล้านบัญชี ในขณะที่อินสตาแกรมมีปริมาณผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นจาก 10 ล้านบัญชีในเดือนกันยายน ปี ค.ศ. 2011 เป็น 80 ล้านบัญชีในเดือนกรกฎาคม ปี ค.ศ. 2012 และเพิ่มเป็น 100 ล้านบัญชีในเดือนกุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 2013 (ดูได้ที่นี่) ก็จะเห็นได้ว่า การเติบโตขึ้นมาของคำว่าเซลฟีนั้นมีส่วนสัมพันธ์กันกับการเข้าถึงเครือข่ายสังคมออนไลน์นั่นเอง

การเติบโตของพฤติกรรมการถ่ายรูปแบบเซลฟีนั้นเป็นที่น่าสนอกสนใจ จนถึงขนาดมีการทำสำรวจวิจัยภายใต้โครงการที่มีชื่อว่า “Selfiecity” ซึ่งเป็นการสำรวจพฤติกรรมการถ่ายรูปแบบเซลฟีของผู้้ใช้อินสตาแกรมจาก 5 เมืองในโลก คือ นิวยอร์ก, เบอร์ลิน, มอสโก, เซาเปาโล และกรุงเทพฯ เมืองเทพสร้างของเรานี่เอง ซึ่งผลการวิจัยก็มีอะไรที่น่าสนใจหลายๆ อย่าง เช่น ผู้คนจากกลุ่มตัวอย่างนั้นมีความถี่ของพฤติกรรมการถ่ายรูปแบบเซลฟีน้อยกว่าที่คิดไว้มาก, อายุเฉลี่ยของผู้ชายที่เซลฟีนั้นมากกว่าผู้หญิง, นักเซลฟี กทม. ยิ้มเปรอะกว่าใครเพื่อน ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีการใช้เซลฟีไปในรูปแบบของการรณรงค์ในเรื่องต่างๆ เช่น ที่มหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ (University of Sheffield) มีการรณรงค์ต่อต้านร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับคนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในประเทศอังกฤษ ที่จะเก็บค่าบริการทางด้านสาธารณสุขจากนักศึกษาต่างชาติอย่างน้อยปีละ 200 ปอนด์ ทำให้นักศึกษาที่มหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ออกมาต่อต้านร่าง พ.ร.บ. นี้ด้วยการถ่ายรูปเซลฟีของตัวเองคู่กับเพื่อนที่เป็นนักศึกษาต่างชาติ พร้อมทั้งบอกเล่าเรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ ถึงที่มาที่ไปในความสัมพันธ์ และใช้แฮชแท็ก #StandbyMe หรือกรณีของแฮชแท็ก #NoMakeUpSelfie ที่เติบโตจากกระแสอันไม่รู้ที่มา แต่มีที่ไปเป็นการระดมเงินบริจาคให้สถาบันวิจัยโรคมะเร็งในอังกฤษได้ถึง 1 ล้านปอนด์ภายในเวลา 24 ชั่วโมง แต่ก็มีผู้วิจารณ์ว่า การใช้เซลฟีเพื่อการรณรงค์ประท้วงต่างๆ นั้นเป็นแค่ความหลงตัวเองที่จะปลุกได้เพียงความตระหนักรู้ถึงตัวเองเท่านั้นเสียมากกว่า

ภาพนักศึกษามหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ถ่ายรูปตัวเองกับเพื่อนชาวเกาหลีในแคมเปญต่อต้านร่าง พ.ร.บ. เกี่ยวกับคนต่างด้าว ที่มาภาพ: http://static.guim.co.uk/sys-images/Education/Clearing_Pix/furniture/2014/2/20/1392913765256/Sheffield-selfies-011.jpg
ภาพนักศึกษามหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ถ่ายรูปตัวเองกับเพื่อนชาวเกาหลีในแคมเปญต่อต้านร่าง พ.ร.บ. เกี่ยวกับคนต่างด้าว ที่มาภาพ: http://static.guim.co.uk/sys-images/Education/Clearing_Pix/furniture/2014/2/20/1392913765256/Sheffield-selfies-011.jpg

ดังกล่าวไปแล้วว่า การเติบโตของเซลฟีนั้นมีความสัมพันธ์กับการเข้าถึงเครือข่ายสังคมออนไลน์ ซึ่งคุณลักษณะหนึ่งของเครือข่ายสังคมออนไลน์ทั้งหลายก็คือ “เนื้อหา” ต่างๆ ที่คุณผลิตขึ้น ไม่ว่าจะในลักษณะของโพสต์ต่างๆ ในเฟซบุ๊ก ข้อความ 140 ตัวอักษรในทวิตเตอร์ รูปถ่ายในอินสตาแกรม (และในเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์) สามารถปรากฏแก่การรับรู้ของผู้คนจำนวนมากมายตามขอบเขตความเป็นสาธารณะที่คุณกั้นไว้แก่ตัวเอง (ซึ่งบางคนก็ไม่กั้นเลย เปิดอล่างฉ่างตลอดเวลา ตั้งค่าความเป็นส่วนตัวทั้งหลายทั้งปวงเป็นสาธารณะ แต่พอมีปัญหาขัดใจอะไรให้ต้องวิวาทะกับคนอื่น ก็จะบอกว่าอย่ามายุ่งเพราะนั่นเป็นพื้นที่ส่วนตัวของตัวเอง ถ้าเจออะไรแบบนี้รบกวนใช้ “#ฮากระจาย” ด้วยครับ) คุณสามารถทำในสิ่งที่หากเป็นเมื่อก่อน ก็มีเพียงผู้ที่สัมพันธ์กับสื่อต่างๆ ในด้านการผลิตเท่านั้นที่สามารถทำได้ นั่นคือการเผยแพร่สิ่งที่ตนอยากจะเผยแพร่ โดยมีผู้อนุมัติและควบคุมทิศทางเป็นตัวคุณเองในทีแรก จากนั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าอะไรจะแข็งแกร่งกว่ากัน ระหว่างคุณกับเสียงตอบรับในเครือข่ายสังคมออนไลน์ บางคนทำแล้วถูกใจคนหมู่มาก ก็เติบโตเป็น “เซเลบออนไลน์” บางคนทำแล้วขัดใจคนหมู่มากก็ยังได้กลายเป็นคนดัง แม้จะในทางที่ไม่ดีก็ตาม (หลังจากโดนสังคมออนไลน์ย่ำยีจนสาใจแล้วก็ต้องกลับไปจัดการชีวิตตัวเองอย่างโดดเดี่ยว)

เมื่ออยู่ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ สถานที่อันเนื้อหาของคุณสามารถปรากฏแก่สายตาผู้คนมากมายดังที่ได้บอกไปแล้ว ในทางหนึ่ง เนื้อหาที่คุณผลิตออกไปก็คือการบ่งบอกว่า “นี่คือฉัน” โดยบอกผ่านรูปแบบต่างๆ ในการใช้ชีวิต ฉันกินแบบนี้ ฉันเที่ยวแบบนี้ ฉันแต่งตัวแบบนี้ ฉันนอนแบบนี้ ฉันคิดแบบนี้ ฉันทำแบบนี้ ฉันสารพัดสารเพแบบนี้ เพื่อระบุทั้งกับตัวเองและโลกว่า “ฉันเป็นใคร” หรือให้เฉพาะเจาะจงกว่านั้นก็คือ “ฉันอยากให้เธอเห็นว่าฉันเป็นอย่างไร” ส่วนจะได้ผลตรงตามแก่ใจนั้นไหม เชิญติดตามได้ที่ช่องคอมเมนต์ หรือเลวร้ายกว่านั้นคือในห้วงมโนอันเจิดจรัสของคุณเองครับ

เซลฟีเป็นอีกรูปแบบหนึ่งในการผลิตเนื้อหาเพื่อจะบ่งบอกว่าฉันเป็นใครและอยากให้คนเห็นว่าฉันเป็นอย่างไร และดูจะเป็นการบอกที่มากกว่าเพียงผ่าน “ไลฟ์สไตล์” เพราะเซลฟีจะเจาะจงบอกผ่านรูปร่างหน้าตาและท่าทางการโพสท่าถ่ายรูปของตนเอง ไลฟ์ไสตล์อาจเป็นเรื่องต้องเดาเอาเองจากคำประกอบภาพ การแต่งกาย หรืออะไรก็ตามที่มาในโพสต์นั้นๆ ถ้านึกไม่ออก อยากให้จินตนาการภาพคนสักคน เพศอะไรก็ได้ โพสท่าแล้วโพสต์รูปตัวเองโดยบอกว่า “มาพักผ่อน ชิวๆ หัวหินถ่ินมีหอย” โดยนอกจากคำว่าหัวหินถิ่นมีหอยแล้วเราก็ไม่เห็นอะไรที่เป็นหัวหิน เพราะทั้งรูปนั้นมีแต่ตัวหรืออย่างน้อยคือหน้าคนโพสต์บรรจุอยู่เต็ม ซึ่งนี่คือทางหนึ่งการบอกว่าตัวเองเป็นใครผ่านรูปที่โพสต์ขึ้นบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยสิ่งที่เชื่อมต่อระหว่างตัวคุณ เครือข่ายสังคมออนไลน์ และพฤติกรรมเซลฟีก็คือโทรศัพท์มือถืออัจฉริยะ (บ้างมากบ้างน้อย และมีไม่น้อยที่น่าจะฉลาดกว่าผู้ใช้) ที่สามารถเชื่อมต่อกับเครือข่ายสังคมออนไลน์และมีกล้องถ่ายรูป ซึ่งโทรศัพท์มือถือรุ่นหลังๆ นี้ก็มีกล้องมาด้วยกันแทบจะทุกรุ่นแล้ว

การถ่ายรูปคือการแช่แข็ง คือการสตัฟฟ์ คือการทำให้ทุกสิ่งที่ถูกดูดเข้าไปในเลนส์แล้วสลักฝังลงในหน่วยความจำของอุปกรณ์บันทึกอยู่ในภาวะหยุดนิ่งตลอดกาล แม้จะมีการใช้โปรแกรมหรือแอปพลิเคชันต่างๆ ในการตกแต่งรูปหลังจากบันทึกเสร็จ เหล่านั้นก็ยังเป็นไปเพื่อนำพารูปต่างๆ ไปสู่สภาวะใดสภาวะหนึ่งซึ่ง ณ วินาทีนั้นเราปรารถนาที่จะหยุดมันไว้ในลักษณะนั้น ให้มันเป็นอย่างที่เราอยากให้เป็น เชื่อว่ามัน “ดีที่สุด” เท่าที่จะสมแก่ความปรารถนาของเราในตอนนั้น ซึ่งนั่นคือคุณสมบัติของการถ่ายรูปตลอดกระบวนการตั้งแต่ดวงตาเราเห็นภาพ ควักอุปกรณ์บันทึกภาพขึ้นมาจัดเก็บ แต่งหรือไม่แต่งภาพ เหล่านั้นล้วนเป็นความปรารถนาจะสร้างบางอย่างขึ้นมาแล้วคงมันไว้ในแบบใดแบบหนึ่งที่เราต้องการนั่นเอง ซึ่งคำอธิบายดังกล่าวนี้จะสามารถใช้กับวิดีโอได้ด้วย ในความหมายของการกักขัง “ช่วงเวลาหนึ่ง” เอาไว้ ยับยั้งการสูญหายไปจากสายตา เพื่อสามารถกลับมาดูมันซ้ำไปซ้ำมาจนกว่าชีวิตจะหาไม่

หากกล่าวโดยสรุป จึงอาจเรียกได้ว่า เซลฟีก็คือ การถ่ายรูปตัวเอง โดยจัดวางตัวเองให้อยู่ในส่วนผสมขององค์ประกอบที่ให้ผลลัพธ์เป็นภาพถ่ายที่ดีที่สุดตามมาตรฐานที่ตัวเองใช้ โดยการจัดวางนี้รวมถึงการใช้แอปพลิเคชันในการตกแต่งภาพถ่ายด้วย แล้วนำไปเผยแพร่ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยเพื่อระบุว่าตนเองนั้น “อยาก” เป็นอย่างไร และ “อยาก” ให้คนอื่นเห็นว่าตัวเองเป็นอย่างไร

เพราะเป็นการถ่ายรูปตัวเองด้วยตัวเอง เซลฟีจึงคล้ายการส่องกระจก หากเราเดินไปตามที่สาธารณะ แล้วเห็นคนกำลังถ่ายรูปเซลฟี ท่าทางของเขาหรือเธอก็ช่างเหมือนกับเวลาคนเราส่องกระจก บิดไปบิดมาทั้งหน้าทั้งตัวและอวัยวะบนหน้าและอวัยวะบนตัว หามุมที่ดีที่สุดที่ตัวเองพอใจ ต่างกันตรงที่สามารถเลือกภาพที่ดีที่สุดจากในกระจกนั้นมาดูซ้ำไปซ้ำมา แถมเอาไปให้คนอื่นดูด้วยได้ ทั้งเมื่อส่องกระจกเซลฟีเสร็จแล้ว ก็คล้ายคลึงกับการออกจากบ้าน เพราะสิ่งที่เขาหรือเธอเหล่านั้นทำคือออกไปยังเครือข่ายสังคมออนไลน์นั่นเอง และอาจก็เพราะช่างคล้ายกับการส่องกระจกแบบนั้น การถ่ายรูปเซลฟีจึงมักถูกจัดวางทางจิตวิทยาไปสองทาง คือ ถ้าไม่เป็นเรื่องของการ “หลงตัวเอง” ก็จะเป็นเรื่องของการ “ขาดความมั่นใจในตัวเอง” ซึ่งเอาเข้าจริง บางที สองสิ่งนี้ก็ไม่ใช่คู่ตรงข้ามของกันและกัน หากแต่ผู้ที่ขาดความมั่นใจในตัวเองมากๆ ก็อาจจะต้องแสดงออกไปในทางที่ดูแล้วชวนให้เข้าใจว่าหลงตัวเองมากๆ เพื่อหลอกล่อความมั่นใจให้ปรากฏตัวออกมาจากซอกลึกเร้นลับในใจตน โดยไม่แยแสแยสนว่าคนอื่นคิดอย่างไร

โดยส่วนตัว ผู้เขียนเห็นว่า ที่ว่าหลงตัวเองนั้น อาจจะเป็นส่วนที่เป็นปลายทางของความรู้สึกนึกคิดเสียมากกว่า เพราะหากมองในแง่ที่ว่าเซลฟีเองก็เป็นอีกหนึ่งในรูปแบบของการผลิตเนื้อหาสู่เครือข่ายสังคมออนไลน์แล้ว แรงผลักดันตั้งต้นของเซลฟีน่าจะเป็นเรื่องของการแสวงหาที่ทางเพื่อจัดวางตัวตนในแบบที่ตัวเองต้องการจะเป็นลงไปในโลกที่เรียกว่าเครือข่ายสังคมออนไลน์เสียมากกว่า หรือหากพูดให้ง่ายที่สุด ก็คือการแสวงหาการยอมรับในสิ่งที่ตัวเองคิดว่าหรือปรารถนาให้ตัวเองเป็นนั่นเอง ซึ่งตรงนี้ เข้าใจว่าเป็นเรื่องธรรมดาของผู้คนทั่วไป ที่จะต้องแสวงหาหนที่หนทางให้การดำรงอยู่ของตนเอง แต่อาจเพราะเซลฟีเป็นเรื่องของรูปถ่ายของตัวเอง ก็เลยทำให้ดูเป็นการหมกมุ่นกับตัวเองจนเกินไป ทำให้ความหมายเลยไม่ค่อยดีนัก

เซลฟีเหมือนการศัลยกรรม สิ่งที่ทำให้คนเราทำศัลยกรรมก็คือการที่สังคมนั้นมี “แบบอันงดงามตามอุดมคติหรือค่านิยม” อย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ โดยแบบที่ว่านี่อาจจะมีหลายแบบนะครับ แต่ผู้ที่ต้องการทำศัลยกรรมก็จะเลือกมาอย่างน้อยแบบหนึ่งที่ตนเห็นว่ามันดีงามตามประสบการณ์ของตัวเอง และปรารถนาจะประกอบสร้างตัวเองให้ไปถึงยังแบบอันงดงามที่ว่านั่น จมูกโด่งเป็นสัน กรามสูงรับกับคางเรียว หน้าอกที่ทำให้ผู้คนเลิกสับสนกับแผ่นหลัง สารพัดสารพาประดามี เซลฟีก็เป็นแบบนั้น ในทางของเซลฟี ด้วยแบบอันเป็นอุดมคติแล้วในฟากหนุ่มๆ ไม่ว่าหนุ่มตรงหรือหนุ่มอ้อม “กล้ามเนื้อ” ดูจะเป็นแบบอุดมคติของหนุ่มๆ ในยุคผลิตตัวตนผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ ดังที่เรามักจะเห็นเซลฟีที่มีเวทีเป็นฟิตเนสต่างๆ บ้างก็เบ่งกล้ามอวดกันจะๆ ในขณะที่ทางฝ่ายสาว (ทั้งตรงและอ้อม) “สวย” ดูจะเป็นรอง “ขาว-อึ๋ม-เอ็กซ์-แบ๊ว” ขาวกับแบ๊วนี่ดูะเป็นหลักใหญ่ใจความของแบบอย่างตามอุดมคติของสาวตรงและสาวอ้อม และแอปพลิเคชันยอดนิยมอย่าง Camera 360 หรือแอปพลิเคชันเสริมความงามตัวอื่นๆ ก็ดูจะเป็นศัลยกรรมอิเล็กทรอนิกส์ชั้นยอด ที่สามารถทำให้สาวๆ ขาว สวย ใส เพรียว เรียว บาง ทำกันได้ถึงขนาดอกใหญ่เอวเว้า ซึ่งก็มีหลายกรณี ที่บิดรูปเบือนภาพโดยไม่ระวังให้ดี ทำเอาเสาบ้านวงกบประตูที่เป็นฉากหลังถึงกับเบี้ยวไป กลายเป็นช่องโหว่ให้สังคมระดมกำลังกันมาโจมตีอีก

ดังนั้น เซลฟีจึงดูไม่น่าจะเป็นเรื่องของการหลงตัวเอง ครั้นจะบอกว่าเป็นความหมกมุ่นกับตัวเองก็ยังยากจะกล่าวได้ เพราะตราบใดไม่ได้ทำทุกขณะจิตในชีวิตประจำวันจนถึงขนาดว่าถ้าขาดมันแล้วจะมีปัญหา ก็คงจะบอกว่าเป็นการหมกมุ่นไม่ได้ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีอะไรแบบนั้นเสียทีเดียว เพราะก็มีกรณีอย่างที่เว็บไซต์ “เดอะมิเรอร์” (The Miror) รายงานเรื่องราวของ “แดนนี โบว์แมน” (Danny Bowman) วัยรุ่นชายอายุ 19 ปีชาวอังกฤษ ที่เคยใช้เวลา 10 ชั่วโมงใน 1 วันถ่ายรูปตัวเองถึงเกือบ 200 รูป เพื่อหารูปถ่ายเซลฟีที่ทำให้ตัวเองรู้สึกว่าสมบูรณ์แบบ แต่สุดท้ายเข้าก็หาไม่พบ และจบลงที่ความพยายามฆ่าตัวตาย

แดนนี โบว์แมน ผู้เคยเสพติดการถ่ายรูปเซลฟีจนนำไปสู่ความพยายามฆ๋าตัวตาย ที่มาภาพ: http://i1.mirror.co.uk/incoming/article3270636.ece/ALTERNATES/s2197/Danny-Bowman-3270636.jpg
แดนนี โบว์แมน ผู้เคยเสพติดการถ่ายรูปเซลฟีจนนำไปสู่ความพยายามฆ๋าตัวตาย ที่มาภาพ: http://i1.mirror.co.uk/incoming/article3270636.ece/ALTERNATES/s2197/Danny-Bowman-3270636.jpg

เรื่องราวของแดนนีเป็นกรณีที่น่าสนใจ แดนนีเริ่มถ่ายรูปอัปโหลดขึ้นเฟซบุ๊กตั้งแต่อายุ 15 ปี เขาได้รับทั้งคำชมและคำไม่ชม คำชมทำให้เขาพอใจ แต่นั่นดูจะไม่รุนแรงเท่าคำไม่ชม ที่ทำให้เขาพยายามมากขึ้นเพื่อที่ภาพเซลฟีของตนจะได้รับการยอมรับจากคนอื่น

แดนนีอยากเป็นนายแบบ การที่เอเจนซีปฏิเสธพร้อมกับวิพากษ์วิจารณ์เขาในการคัดเลือก (ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องปรกติ) กลับทำให้แดนนีหมกมุ่นกับการถ่ายภาพเซลฟีหนักกว่าเดิม ในคืนวันที่ถูกปฏิเสธจากการคัดเลือกนั้น แดนนียืนถ่ายรูปตัวเองหน้ากระจกถึง 30 รูป ไม่มีรูปไหนทำให้เขาพอใจ เขาลบมันทิ้งไปทั้งหมด แล้วหลังจากนั้น ก็เป็นเวลาถึง 2 ปีที่แดนนีเสพติดการถ่ายรูปเซลฟี โดยภายในครึ่งเดือน เขาถ่ายรูปเซลฟีเกือบ 80 รูปก่อนจะไปโรงเรียน แดนนีพยายามจะถ่ายรูปเซลฟีให้ตัวเองออกมาเหมือนลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ ซึ่งเป็นไอดอลของเขา แต่ไม่สำเร็จ และเขารู้สึกว่ารูปที่ถ่ายออกมานั้นน่าเกลียด นอกจากนี้ เขาถึงกับโดดเรียนไปแอบถ่ายรูปเซลฟีในห้องน้ำด้วย และในที่สุด ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2012 หลังจากถ่ายรูปเซลฟีมาตลอดทั้งวัน 200 รูปและไม่อาจทำให้ตัวเองพึงพอใจ แดนนีก็ฆ่าตัวตาย โชคดีที่เขายังรอดมาเล่าเรื่องราวเหล่านี้ให้โลกฟังได้

รายงานของเดอมิเรอร์ยังบอกด้วยว่า กรณีของแดนนีนั้นอาจจะสุดโต่งมาก แต่เขาก็ไม่ใช่รายเดียวที่มีอาการเสพติดเซลฟี เซลฟีได้กลายเป็นมากกว่าเรื่องของการหลงตัวเอง แต่ได้กลายเป็นปัญหาทางสุขภาพจิตที่แพร่กระจายออกไปมากขึ้นเรื่อยๆ

กรณีของแดนนีน่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีในการยืนยันว่า เซลฟีไม่ใช่เรื่องของการหลงตัวเองแต่เพียงอย่างเดียว แต่จุดเริ่มต้นของมันคือการแสวงหาการยอมรับในเรื่องที่ผู้ที่ถ่ายรูปเซลฟีนั้นให้คุณค่า ซึ่งด้วยองค์ประกอบของความเป็นเซลฟีก็คงไม่พ้นเรื่องของภาพลักษณ์ภายนอกอย่างรูปร่างหน้าตา ฟังแล้วก็อาจจะรู้สึกว่าช่างเป็นเรื่องตื้นเขินฉาบฉวย แต่สิ่งที่ผู้เขียนอยากให้ตระหนักจริงๆ ก็คือ เราอยู่ในสังคมคมที่รูปลักษณ์อันงดงามตามอุดมคติได้ผลักไสให้หลายคนต้องตกหล่นไปสู่ปริมณฑลของความเจ็บป่วยทางจิตใจและร่างกายอย่างมากบ้างน้อยบ้างหรืออาจหนักหนาสาหัสจนถึงชีวิตมาโดยตลอด (อย่าลืมว่าในยุคสมัยหนึ่งนั้น การรับประทานยาลดความอ้วนจนเสียชีวิตเป็นเรื่องที่มีให้เห็นตามหน้าหนังสือพิมพ์) เราอยู่ในสังคมที่ทั้งก่นด่าการชื่นชมกันที่รูปลักษณ์ภายนอกว่าเป็นเรื่องตื้นเขินไปพร้อมกับที่เราคนเดียวกันนั้นก็ชื่นชมคนที่รูปลักษณ์ภายนอกไปด้วย เราอยู่ในสังคมที่ถ้าหนังหน้าไม่เป็นที่พึงใจไปสารภาพรักกับใครก็กลายเป็นเรื่องตลก คำพูดติดตลกอย่างคนหน้าตาดีทำอะไรก็ดูดี คนสวยทำอะไรก็ไม่ผิด เหล่านี้นี่บ่อยครั้งก็สร้างรอยแผลไว้ในใจใครต่อใครกันได้บ้างไม่มากก็น้อยนะครับ และยิ่งถ้ามันเกิดขึ้นแต่ยังเด็ก ในวัยที่ยังไม่มีอะไรให้สามารถพิสูจน์คุณค่าตัวเองได้มากนัก โอกาสที่แผลใจเหล่านี้จะสะสมเป็นปมด้อยจนเติบโตขึ้นมาอย่างเบี้ยวบิดผิดรูปร่างนี่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เลย

เราอยู่ในสังคมที่ทีเล่นทีจริงในการล้อเลียนหรือกระทั่งก่นด่ากันเรื่องหนังหน้าสารรูปอยู่ตลอด ฟันเหยิน ปากเบิน จมูกบาน หูกาง หนังตาตก ผิวคางคกยังสดใสกว่า สารพัดจะหาคำมากดขี่กันในเรื่องรูปลักษณ์ ต่อให้หน้าตาดีพอถึงวัยหนึ่งก็เป็นได้มีปัญหากับริ้วรอยเหี่ยวย่นทั้งหลายแหล่อีก การพยายามใช้ทั้งมุมภาพ ท่วงท่าในการถ่าย รวมทั้งใช้แอปพลิเคชันตกแต่ง เพื่อสร้างภาพถ่ายเซลฟีอันสมบูรณ์แบบที่จะช่วยหยุดตัวเองไว้ในสภาวะอันดูดีตลอดกาล เหล่านี้ก็เป็นผลจากการอยู่ในสังคมที่จะหันซ้ายหันขวาก็มีแต่เรื่องความสำคัญของรูปร่างหน้าตาภาพลักษณ์รายล้อมอยู่ทั้งนั้นแหละครับ ผิวต้องขาวอมชมพู ดวงตาต้องดูเต่งตึงไร้ริ้วรอย เรือนร่างไม่มีส่วนห้อยย้อยบอกนัยของวัยชรา หน้าตาต้องสดใสเหมือนเพิ่งเกิดได้สามวัน และอีกสารพัดสารพันที่ปั่นหัวกันอยู่ทุกเช้าเย็น

เซลฟีจึงเป็นอะไรที่มากกว่าแค่ความไม่มั่นใจหรือหลุดไหลไปถึงความหลงตัวเอง แต่คือภาพสะท้อนของสังคมที่สนับสนุนให้คนเรามีคุณค่าในทางหนึ่งได้ด้วยรูปลักษณ์และหน้าตา และเมื่อการสรรหาคุณค่าตัวเองในทางนี้ทำได้ง่ายขึ้นด้วยแรงเสริมของเทคโนโลยี จึงไม่น่าแปลกใจถ้าเซลฟีจะกลายเป็นกระแสหลักที่ผู้คนมากมายไหลตามกันไปในทุกวันนี้