ThaiPublica > เกาะกระแส > ครม. แจงงบฟื้นฟู-เยียวยาน้ำท่วม จัดสรรไปแล้วกว่า 73,390 ล้านบาท

ครม. แจงงบฟื้นฟู-เยียวยาน้ำท่วม จัดสรรไปแล้วกว่า 73,390 ล้านบาท

8 กุมภาพันธ์ 2012


เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2555 นางฐิติมา ฉายแสง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีและรักษาการโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี เรื่องการดำเนินงานและการติดตามผลการดำเนินงาน การฟื้นฟู เยียวยา และช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยว่า สำนักงบประมาณได้สรุปภาพรวมการดำเนินงานฟื้นฟู เยียวยา และช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยดังนี้ คือ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติงบประมาณเพื่อใช้ในการดำเนินงานฟื้นฟู เยียวยา และช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย รวม 6 ครั้ง กรอบวงเงินทั้งสิ้น 139,452.78 ล้านบาท และจนถึงวันที่ 31 มกราคม 2555 ได้จัดสรรงบประมาณให้ไปแล้วเป็นเงิน 50,698.63 ล้านบาท และในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ผ่านมา ได้มีการจัดสรรงบเพิ่มเติมแล้วเป็นเงิน 22,690.36 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น มีการจัดสรรงบประมาณแล้ว 73,388.99 ล้านบาท

สำหรับกรอบวงเงินคงเหลือจากการจัดสรร ได้มีการพิจารณาทบทวนแล้ว มีวงเงินที่ต้องพิจารณาจัดสรรเพิ่มเติมอีก 71,042.15 ล้านบาท แยกเป็นโครงการที่มีความพร้อมจัดสรรเป็นเงิน 26,201.63 ล้านบาท ซึ่งต้องขอรับการจัดสรรภายใน 1 สัปดาห์ และส่วนที่เหลือเป็นเงิน 44,840.51 ล้านบาท ต้องขอรับการจัดสรรภายใน 2 สัปดาห์

ในส่วนที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณแล้ว การดำเนินงานในลักษณะงบลงทุน จะต้องมีการดำเนินการในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างได้แก่ ขั้นตอนการเตรียมการ (ออกแบบ/ประมาณราคา) ขั้นตอนการประกวดราคา ขั้นตอนการเซ็นสัญญา ก่อนลงมือปฏิบัติในภาคสนามที่จะมีผลเบิกจ่าย ซึ่งจากข้อมูลที่สำนักงบประมาณรวบรวมได้ มีรายการที่ต้องดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างทั้งสิ้น 3,466 รายการ มีรายการที่อยู่ระหว่างเตรียมการ 44 รายการ (คิดเป็น 1.27%) ประกวดราคาแล้ว 1,794 รายการ (คิดเป็น 51.76%) เซ็นสัญญาและเริ่มก่อสร้างแล้ว 1,628 รายการ (คิดเป็น 46.79%)

ในส่วนงบประมาณที่เพิ่งได้รับการจัดสรรเพิ่มเติมไปเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ผ่านมานั้น หากหน่วยงานไม่สามารถจัดหาพัสดุหรือสิ่งก่อสร้างได้ทัน คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุฯ อนุญาตให้หน่วยงานสามารถจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษได้ เพื่อใช้ในการป้องกันอุทกภัยภายในเดือนเมษายน 2555 ดังนั้น การก่อสร้างทั้งหมดจึงน่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2555


และในการเบิกจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ครัวเรือนละ 5,000 บาท ตามมติ ครม. นั้น ในส่วนที่ธนาคารออมสินเป็นผู้รับผิดชอบ ได้สรุปกรอบวงเงินตามมติ ครม. ที่ได้มีการอนุมัติไปทั้งหมด 14,554.59 ล้านบาท มีผู้ประสบอุทกภัยเข้าข่ายได้รับทั้งสิ้น 2,910,917 ราย คิดเป็นผู้ประสบอุทกภัยในกรุงเทพมหานคร 621,355 ราย และต่างจังหวัด 2,289,562 ราย ณ วันที่ 6 กุมพาพันธ์ 2555 ได้มีการจ่ายเงินถึงมือประชาชนแล้วคิดเป็นงบประมาณ 6,704.47 ล้านบาท มีผู้ได้รับแล้วทั้งสิ้น 1,340,894 ราย คิดเป็น 50.89% ของกรอบวงเงินทั้งหมด โดย ณ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2555 มีการจ่ายเงินถึงมือประชาชนเพิ่มขึ้นจากวันที่ 31 มกราคม 2555 เป็นจำนวน 55,674 ราย

ต่อมา นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงถึงผลการทบทวน ชะลอและยกเลิกโครงการของคณะกรรมการเพื่อให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย (กฟย.) หลังจากที่ ครม. ได้อนุมัติงบประมาณ ในส่วนของวันที่ 28 ธันวาคม 2554 วงเงิน 21,315.0717 ล้านบาท

โดยให้สำนักงบประมาณและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาทบทวนรายละเอียดงบประมาณที่ได้อนุมัติไปแล้วว่าสมควรยกเลิก เปลี่ยนแปลง หรือชะลอไปดำเนินในโครงการระยะยาวหรือไม่ โดยมีหลักเกณฑ์พิจารณาว่า โครงการที่เข้าข่ายต้องชะลอหรือยกเลิกงบประมาณนั้น 1. จะต้องเป็นโครงการที่ซ้ำซ้อนกับโครงการที่เคยอนุมัติไปแล้ว 2. ไม่สามารถดำเนินการแล้วเสร็จภายในหนึ่งปี 3. เป็นโครงการที่ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน เช่น การก่อสร้างเพิ่มเติมที่ไม่เกี่ยวกับความเสียหายจากน้ำท่วม การอบรมสัมมนา

สำนักงบประมาณและ สศช. จึงได้ไปพิจารณาโครงการต่างๆ ที่ ครม. ได้อนุมัติในส่วนของวันที่ 28 ธันวาคม 2554 วงเงิน 21,315.07 ล้านบาท และเสนอให้คณะกรรมการเพื่อให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย (กฟย.) ดำเนินการต่อเป็นเงิน 2,373.06 ล้านบาท ยกเลิกโครงการเป็นเงิน 4,798.37 ล้านบาท และโครงการที่ชะลอ 14,143.64 ล้านบาท โดยโครงการที่ชะลอสามารถไปดำเนินการในแผนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 หรือตั้งของบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556 ได้ต่อไป

ในส่วนของโครงการที่พิจารณาให้ชะลอ พบว่ามีโครงการในส่วนของค่าเยียวยาช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2554/2555 ที่เก็บเกี่ยวและขายผลผลิตข้าว ช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน 2554 ให้ครอบคลุมถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2554 วงเงิน 4,581.6000 ล้านบาท คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ดำเนินการสำรองจ่ายจากงบประมาณของ ธ.ก.ส. ไปก่อน โดยจะตั้งงบประมาณชดเชยให้ ธ.ก.ส. ในปีงบประมาณ 2556

และในการพิจารณาทบทวนโครงการตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว พบว่ามีโครงการที่ดำเนินการในลักษณะของการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ จำนวน 19 โครงการ วงเงิน 4,439.5730 ล้านบาท โดย ค.ร.ม. มีมติให้จ่ายจากงบกลาง รายการใช้จ่ายในการเยียวยา ฟื้นฟู และป้องกันความเสียหายจากอุทกภัยอย่างบูรณาการ ปีงบประมาณ 2555 วงเงิน 1,063.49 ล้านบาท และผูกพันงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2556 วงเงิน 3,376.08 ล้านบาท