ThaiPublica > เกาะกระแส > เช็ค “ช่อง” เพื่อไทย ทางแก้ รธน. “ทุกทางออกคือปัญหา”

เช็ค “ช่อง” เพื่อไทย ทางแก้ รธน. “ทุกทางออกคือปัญหา”

8 มกราคม 2013


 สัมมนาพรรคเพื่อไทย  ที่มา :  http://www.ptp.or.th/
สัมมนาพรรคเพื่อไทย

“ทุกทางออกคือปัญหา” เป็นสิ่งที่ “พงศ์เทพ เทพกาญจนา” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะทำงานศึกษาข้อกฎหมายและการออกเสียงประชามติ บอกต่อหน้าสมาชิกพรรคเพื่อไทย รวมไปถึง “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ในการสัมมนา “ทางออกประเทศไทย รัฐธรรมนูญต้องเป็นประชาธิปไตย คนไทยต้องมีความสุข” ที่ เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา

หลังจากรับฟังข้อเสนอของสมาชิกพรรคเพื่อหา “จุดร่วม” ที่ตรงกันหลังเกิดอาการ “เสียงแตก” ในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญระหว่างคนในที่มีแนวความคิดเป็น 3 แนวทาง

บ้างเห็นว่าควรเดินหน้าลงมติวาระ 3 ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพื่อเปิดทางให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ทั้งฉบับทันที

บ้างเห็นว่าควรแก้ไขเป็นรายมาตรา

บ้างเห็นว่าควรทำประชามติก่อนการแก้ไขจะมีขึ้น

แต่ทว่า ทุก “ยุทธวิธี” ล้วนมีอุปสรรค

การเดินหน้าลงมติวาระที่ 3 โดยทันที ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องของ ส.ส. ในสายฮาร์ดคอร์และแกนนำคนเสื้อแดงนั้น หากพลาดพลั้งและมีผู้ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอีกระลอกหนึ่ง ความยุ่งยากก็จะเกิดขึ้นตามมา

เพราะก่อนหน้านี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยซึ่งระบุอย่างชัดเจนว่า “ควร” ที่จะมีการทำประชามติก่อนที่จะมีการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ หากรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยยังคงเดินหน้าโดยไม่สนใจคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ “วิบากกรรม” ก็จะเกิดขึ้นทั้งกับตัว ส.ส. ผู้ลงมติ ที่จะต้องพ้นสมาชิกภาพ และในระดับพรรคการเมืองก็คือถึงขั้นถูกยุบพรรค

ประสบการณ์การถูกยุบพรรคถึง 2 ครั้งในอดีต นับตั้งแต่พรรคไทยรักไทยเรื่อยมาถึงพรรคพลังประชาชน ทำให้พรรคเพื่อไทยในวันนี้ไม่อาจที่จะตัดสินเลือกแนวทางนี้ได้

ขณะที่ข้อเสนอให้แก้ไขเป็นรายมาตราตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่มีการเปิดทางไว้อยู่แล้วนั้น ติดขัดในเรื่องของการใช้ระยะเวลาที่ยาวนานในการแก้ไข และพรรคเพื่อไทยจะไม่สามารถกุมสภาพให้ขั้นตอนของการแก้ไขทั้งในสภาและนอกสภาเป็นไปอย่างราบรื่นได้

ส่วนการทำประชามตินั้น แม้ว่าจะเป็นหนทางที่ “ปลอดภัย”ที่สุด แต่ก็เป็นหนทางที่พรรคเพื่อไทยจะต้อง “เหนื่อย” ที่สุดเช่นกัน

ด้วยเพราะการทำประชามติเป็นเพียง “สิทธิ” ไม่ใช่ “หน้าที่” ของประชาชนชาวไทย การนอนหลับทับสิทธิจึงไม่มีบทบัญญัติลงโทษเหมือนการเลือกตั้งที่จะถูกตัดสิทธิ์หลายอย่าง ที่สำคัญ การที่ไม่มี “ออปชัน” อย่างการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า จะทำให้เสียงของผู้ที่ไม่ได้ทำงานในภูมิลำเนาหายไป

ดังนั้น สกอร์ที่วางไว้ว่าต้องมากกว่า 24 ล้านเสียง จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากยิ่ง

แต่กระนั้น ในการสัมมนาของพรรคเพื่อไทยดังกล่าว กลับมีการเสนอ “ไอเดีย” ที่มากขึ้นกว่าเดิม

ไม่ว่าจะเป็นการเสนอของ “จตุพร พรหมพันธ์” ที่ระบุว่า แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ จะยื่นหนังสือเพื่อสอบถามศาลรัฐธรรมนูญใน 2 ข้อ คือ 1. คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้สั่งให้ทำประชามติก่อนวาระ 3 หรือไม่ และ 2. คำวินิจฉัยดังกล่าวได้สั่งห้ามไม่ให้มีการลงมติในวาระ 3 หรือไม่ เพื่อความชัดเจนในการเดินหน้า

การเสนอให้ “ปัดฝุ่น” มอบอำนาจให้ “11 อรหันต์” คณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มี “โภคิน พลกุล” เป็นประธาน กลับมาทำงานอีกครั้งพร้อมกับจัดทำ “ประชาเสวนา”

การโหวตวาระ 3 เพื่อให้ร่างแก้ไขตกลงไป ก่อนที่จะเริ่มกระบวนการให้อีกครั้ง

การชะลอการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไป โดยให้รัฐบาลบริหารประเทศให้ครบ 3 ปีก่อนที่จะเดินหน้าอีกครั้งหนึ่ง เพราะไม่ว่าจะเดินมุมไหนปัญหาได้ดักเอาไว้ทุกทาง

หรือข้อเสนอแปลกๆ อย่างให้ขอมติที่ประชุมรัฐสภา กลับไปสู่วาระที่ 2 เพื่อให้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับ “ประชามติ” ก่อนที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

แต่ข้อเสนอที่ดูเหมือนจะมีความเป็นไปได้ที่สุด แม้จะมีคนในพรรคเพื่อไทยหลายคนคัดค้าน คือ การเสนอของ “ภูมิธรรม เวชยชัย” เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ที่เสนอให้รัฐบาลมอบอำนาจให้กับสถาบันการศึกษาในการหาคำตอบเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งในมิติของ “รัฐศาสตร์” และ “นิติศาสตร์” ซึ่งจะขอความร่วมมือไปยังคณะรัฐศาสตร์และคณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยจำนวน 3 แห่ง ประกอบด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยรามคำแหง

โดยมีกรอบระยะเวลาในทำงาน 45-60 วัน ซึ่งสถาบันการศึกษานั้นจะต้องรายงานผลการศึกษาในนามของคณะ และเมื่อคำตอบออกมาเป็นเช่นใด รัฐบาลก็จะ “ยึด” คำตอบที่ได้เป็นแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป

หากเป็นไปตามที่พ่อบ้านพรรคเพื่อไทย “คาดฝัน” เอาไว้ นั่นหมายความว่าภายในเดือนเมษายนจะมีความชัดเจนเกิดขึ้น และกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะเดินหน้าอย่างเป็นรูปธรรมอีกครั้ง

แต่หากมี “โรคแทรกซ้อน” เกิดขึ้น จะไม่ใช่ “ปัญหา” ของพรรคเพื่อไทยอีกต่อไป เพราะ “เผือกร้อน” ก้อนนี้จะตกไปอยู่ในมือของสถาบันการศึกษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

และหากมีข้อขัดข้องอะไรเกิดขึ้น ก็เป็นเรื่องที่สถาบันการศึกษาจะต้องตอบกับสังคมเอง ไม่ว่าจะเป็น “ระยะเวลา” การหาคำตอบที่อาจจะยาวนานกว่ากรอบที่กำหนด หรือการไม่สะดวกใจที่จะให้ “ความร่วมมือ” ในเรื่องนี้

ในขณะที่รัฐบาลและพรรคเพื่อไทย ก็สามารถที่จะสยบความ “กังขา” ของคนเสื้อแดง ซึ่งเป็นมวลชนสำคัญของพรรคว่า แท้จริงแล้วมีความจริงใจมากน้อยเพียงใดในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

มีแต่ได้กับได้

สิ่งที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยพยายามที่จะ “ลอยตัว” เหนือปัญหาในเรื่องนี้

“ทุกทางออกคือปัญหา” เป็นจริงดังที่แกนนำพรรคกล่าวไว้ แต่ทว่ากลับกลายเป็นปัญหาของคนอื่นแทน!