ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสการเมือง > บท (ที่ยังไม่) สรุปการเลือกตั้ง 2 ก.พ. 57: บัตรดี บัตรเสีย และบัตรไม่ประสงค์ลงคะแนน กับ พรรคเพื่อไทย

บท (ที่ยังไม่) สรุปการเลือกตั้ง 2 ก.พ. 57: บัตรดี บัตรเสีย และบัตรไม่ประสงค์ลงคะแนน กับ พรรคเพื่อไทย

6 มีนาคม 2014


ทีมข่าว Inside Thai Parliament

เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2557 เครือข่ายข้อมูลการเมืองไทย (Thailand Politcal Database :TPD)ได้เผยแพร่บทความ “บท (ที่ยังไม่) สรุปการเลือกตั้ง 2 ก.พ. 57: บัตรดี บัตรเสีย และบัตรไม่ประสงค์ลงคะแนนกับ พรรคเพื่อไทย” โดยมีรายละเอียดว่า

ในภาวะปกติหลังจากวันเลือกตั้งผลการเลือกตั้ง เช่น ผู้สมัครคนใดสอบได้ คนไหนสอบตก จังหวัดไหนล้มช้าง จังหวัดไหนช้างล้ม หรือ จังหวัดใดครองแชมป์การออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งมากที่สุด จังหวัดไหนมีจำนวนบัตรดี บัตรเสียเป็นอย่างไร จะเป็นข้อมูลที่จะถูกเปิดเผยต่อสาธารณชนเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ก็จะถูกนำมาวิเคราะห์การเจริญเติบโตหรือความเสื่อมถอยของพรรคการเองหลังผ่านสนามเลือกตั้งมาอีกครั้งหนึ่ง

อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าการเลือกตั้งเมื่อ 2 ก.พ. 2557 ที่ผ่านมาเป็นการเลือกตั้งภายใต้สภาวะพิเศษที่ความคิดเห็น การจัดวาง และ ความต้องการให้มีการเลือกตั้งของประชาชนทั่วไปนั้นมีความแตกต่างหลากหลายเป็นอย่างมากและเห็นได้ชัด การเลือกตั้งในบางจังหวัดยังคงไม่เสร็จสิ้นและยังต้องคงมีการดำเนินการต่อไป

ดังนั้น ผลการเลือกตั้งที่ถูกเปิดเผยออกมาขณะนี้ แม้ยังไม่มีความสมบูรณ์เพราะมีเพียงแค่ จำนวนบัตรดี บัตรเสีย จำนวนคะแนนผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนน และจำนวนผู้มาใช้สิทธิที่ยังไม่เป็นทางการ เพราะการเลือกตั้งล่วงหน้าในบางเขต บางจังหวัดยังคงไม่เสร็จสิ้น แต่ผลการเลือกตั้งที่มีออกมานี้ก็ทำให้หลายคนหลายฝ่ายนำไปวิเคราะห์ได้ในหลายๆ ประเด็น

ในบทความนี้จะนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงสถิติเพื่อแสดงให้เห็นในประเด็น “ผลกระทบต่อพรรคเพื่อไทย” โดยเน้นให้เห็นถึงผลกระทบในการลดลงของคะแนนเสียงและความนิยมของพรรค และ ผลกระทบจากนโยบายจำนำข้าว

การพิสูจน์ให้เห็นถึงผลกระทบอย่างแรก “การลดลงของคะแนนเสียงและความนิยม” ทำได้โดยนำผลคะแนนที่พรรคเพื่อไทยได้จากระบบบัญชีรายชื่อ/สัดส่วน ย้อนหลังไป 3 การเลือกตั้งแล้วนำมาเปรียบเทียบกับจำนวนผู้มาใช้สิทธิการเลือกตั้งในครั้งนี้ก็จะเห็นว่า จำนวนคะแนนเสียงที่ “คาดว่าจะได้รับ” ของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งนี้คงไม่เท่ากับครั้งก่อนๆ อย่างแน่นอน ดังแสดงในตารางที่ 1

ตารางที่ 1

การพิสูจน์การลดลงของคะแนนเสียงของพรรคเพื่อไทยสามารถทำได้ในอีกแง่หนึ่ง คือ การเปรียบเทียบจำนวนบัตรเสียและจำนวนคะแนนผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนน (Vote No) ในจังหวัดที่จัดได้ว่าเป็นฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย ซึ่งการจัดว่าจังหวัดไหนเป็นฐานเสียงนั้นดูได้จากผลการเลือกตั้งในครั้งที่แล้วว่าได้ ส.ส. ยกจังหวัด หรือ ได้มากกว่า 2 ใน 3 หรือไม่ ในที่นี้จังหวัดที่ถูกจัดว่าเข้าเกณฑ์การเป็นจังหวัดฐานเสียงพรรคเพื่อไทยมีจำนวน 38 จังหวัดด้วยกัน

การเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของการเกิดบัตรเสียและจำนวนคะแนนผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนน (Vote No) ก็จะเป็นตัวชี้วัดแนวโน้มการได้คะแนนเสียงของพรรคเพื่อไทยที่คงไม่เท่าครั้งก่อนๆ ดังแสดงได้ในตารางที่ 2 ข้างล่างนี้ ซึ่งจะเห็นได้ว่า เมื่อนำเอาค่าตัวเลขทั้ง 2 นี้ไปเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศ (บัตรเสีย ร้อยละ 13.30 และ จำนวนคะแนนผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนน (Vote No) ร้อยละ 19.74) ก็จะเห็นว่า เกือบ 1 ใน 3 ของจังหวัดฐานเสียงพรรคเพื่อไทยมีจำนวนบัตรเสียและจำนวนคะแนนผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนน (Vote No) สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ

ตารางที่ 2

ข้อมูลในตารางที่ 2 แสดงให้เห็นการเทียบเคียงได้ว่า จากตัวเลขของจำนวนคะแนนบัตรเสียและจำนวนคะแนนผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนน (Vote No) ในจังหวัดฐานเสียงกว่า 1 ใน 3 ที่เกินกว่าค่าเฉลี่ยนี้เป็นสัญญาณหนึ่งของการลดลงของคะแนนเสียงได้เช่นเดียวกัน

และเมื่อเราทำการเปรียบเทียบค่าสถิติจำนวนบัตรเสียและจำนวนคะแนนผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนน (Vote No) ของกลุ่มจังหวัดฐานเสียงด้วยกันเอง ก็จะเห็นว่า เกือบกึ่งหนึ่งของจังหวัดเหล่านี้มีค่าเฉลี่ยที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของจังหวัดเหล่านี้ ดังแสดงในตารางที่ 3

คะแนนบัตรเสียตารางที่ 3

ผลกระทบอย่างที่สอง”ผลกระทบจากโครงการจำนำข้าว”

ก่อนการเลือกตั้งมีชาวนาที่ถือใบประทวนจำนวนหนึ่งที่ยังไม่ได้รับการจ่ายเงินซึ่งรวมๆ แล้วเป็นจำนวนกว่า 100,000 ล้านบาท การไม่ได้รับเงินจากการจำนำข้าวก็อาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่จะทำให้ชาวนาไม่ไปลงคะแนนให้พรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งนี้ได้ ผลเชิงประจักษ์ที่สามารถแสดงให้เห็นถึงผลกระทบข้อนี้ คือ การดูผลของบัตรดี บัตรเสีย และ คะแนนผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนน (Vote No) มาเทียบกับจำนวนใบประทวนที่ถูกออกไปในแต่ละจังหวัด แล้ววิเคราะห์ตัวเลขเพื่อแสดงให้เห็นว่า (1) ในภาพรวม พรรคเพื่อไทยได้รับผลกระทบหรือไม่ และ (2) หากเจาะดูแค่จังหวัดฐานเสียงแล้วเป็นอย่างไร โดยเฉพาะจังหวัดที่มีจำนวนใบประทวนสูง ซึ่งการวิเคราะห์ในส่วนนี้เป็นการนำเอาจำนวนใบประทวนรายจังหวัดของปี 54/55 มาเป็นตัวเปรียบเทียบ (เพราะตัวเลขใบประทวนของปี 55/56 นั้นไม่มีลงในรายจังหวัด) ซึ่งพบว่า

ในภาพรวมจากการรวบรวมข้อมูลใบประทวนรายจังหวัดของปี 54/55 พบว่า จังหวัดที่มีใบประทวนอยู่มีทั้งสิ้น 60 จังหวัด และเมื่อดูในรายละเอียดจะเห็นว่าในจำนวน 20 จังหวัดที่มีสัดส่วนใบประทวนต่อทั้งประเทศสูงสุดนั้น มีจังหวัดที่เป็นฐานเสียงพรรคเพื่อไทย 13 จังหวัด และใน 13 จังหวัดนี้มีจำนวน 3 จังหวัด ที่มีสถิติจำนวนบัตรเสียสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศอยู่ ได้แก่ พะเยา (15.41) นครสวรรค์ (16.42) และ กำแพงเพชร (19.11) และเมื่อพิจารณาจำนวนคะแนนผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนน (Vote No) พบว่า ใน 13 จังหวัดนั้น มี 2 จังหวัดที่ค่าสถิติสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ นั่นคือ พะเยา (21.3) กำแพงเพชร (25.9) จึงเท่ากับว่า ผลกระทบนโยบายจำนำข้าวไม่ได้มีผลต่อคะแนนเสียงในจังหวัดฐานเสียงเท่าใดนัก แต่ส่งผลต่อจังหวัดอื่นๆ มากกว่า ซึ่งทำให้ไม่ต้องมีความกังวลในส่วนนี้จากพรรคเพื่อไทย

ถึงแม้ว่าจำนวนจังหวัดของฐานเสียงพรรคเพื่อไทยนั้นอยู่ในระดับต่ำ แต่จากข่าวผลกระทบที่มีต่อตัวชาวนานั้นในจังหวัดเหล่านี้มีผลอยู่มาก จากข่าวการอัตวินิบาตกรรมของชาวนาในจังหวัดกำแพงเพชร หรือการรวมตัวประท้วงของกลุ่มชาวนาในจังหวัดพะเยา

สรุปว่ากับการพิสูจน์ว่าผลการเลือกตั้งที่มีในครั้งนี้ บอกถึงผลกระทบต่อพรรคเพื่อไทย อย่างไรบ้าง จากข้อมูลที่มีอยู่ ณ ขณะนี้ ก็อาจจะพูดได้ว่า คะแนนเสียงที่พรรคจะได้นั้นจะลดลง (ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่น่าแปลกใจมากนัก กับจำนวนผู้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่มีจำนวนต่ำในประวัติการณ์ของการเมืองไทยสมัยใหม่)

แต่เมื่อนำกรณีจำนำข้าวมาวิเคราะห์ร่วม ก็จะเห็นว่า ผลกระทบที่มีต่อพรรคเพื่อไทยนั้นไม่ได้มีมากนักในจังหวัดฐานเสียง แต่มีผลในจังหวัดที่ไม่ใช่ฐานเสียง ซึ่งหากถามว่า พรรคควรต้องกังวลกับผลแบบนี้หรือไม่ คำตอบที่ได้ก็ คือ อาจจะไม่ต้องกังวลมากนักในช่วงต้น แต่ในช่วงระยะยาวแล้วการลดลงของความนิยมในจังหวัดที่อาจมองว่าไม่ใช่ฐานเสียงอาจเป็นปัญหาในระยะยาวเพราะพรรคอาจไม่ได้รับคะแนนจากระบบสัดส่วนในระดับที่ต้องการ และอาจได้รับผลล้นออกจากจังหวัดที่ไม่ใช่ฐานเสียงสู่จังหวัดฐานเสียงได้