ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เปิดงบฯกระทรวงศึกษาธิการใช้เงินทำอะไรมากสุด!

เปิดงบฯกระทรวงศึกษาธิการใช้เงินทำอะไรมากสุด!

3 ธันวาคม 2012


จากซีรีส์วิกฤติการศึกษาไทยที่ได้กล่าวถึงการจัดสรรงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาได้รับงบประมาณสูงสุดมาโดยตลอด ล่าสุดปีงบประมาณ 2556 กระทรวงศึกษาธิการยังคงได้รับงบประมาณมากที่สุดเป็นจำนวนเงิน 460,411.64 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 19.18 ของงบประมาณรวม 2.4 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้เพื่อตรวจสอบการจัดสรรเม็ดเงินงบประมาณของกระทรวงศึกษาในช่วงที่ผ่านมาเมื่อดูจากแผนงานย้อนหลัง 5 ปี พบว่าแผนงานหลักประจำปี 2551 คือ แผนงานเร่งรัดปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ส่วนแผนงานหลักประจำปี 2552-2555 คือ แผนงานขยายโอกาสและพัฒนาการศึกษา

งบประมาณรายจ่ายประจำปี ที่กระทรวงศึกษาธิการจัดสรรให้หน่วยงานในสังกัด แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ 1. การจัดสรรงบประมาณให้แก่มหาวิทยาลัยของรัฐ และมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ (ออกนอกระบบ) ทุกแห่งทั่วประเทศ และ 2. การจัดสรรงบประมาณให้หน่วยงานภายในองค์กร

สำหรับหน่วยงานต่างๆ ในกระทรวงศึกษาธิการที่ไม่ใช่มหาวิทยาลัยมีทั้งหมด 11 แห่ง สามารถเรียงลำดับหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณมากที่สุดไปจนถึงน้อยที่สุดได้แก่

1.สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน,2.สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ,3.สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา,4.สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา,5.สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี,6.สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน),7.โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์,8.สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา,9.สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา,10.สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา, 11.สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา(องค์การมหาชน)

งบประมาณที่แต่ละหน่วยงานได้รับมากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับหน้าที่และความรับผิดชอบที่แตกต่างกันของแต่ละหน่วยงานในระบบการศึกษาด้านต่างๆ ดังนี้

1. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีภารกิจเกี่ยวกับการจัดและส่งเสริมการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตั้งแต่การจัดนโยบาย แผน มาตรฐาน หลักสูตร ตลอดจนแนวทางการพัฒนาระบบและการประเมินต่างๆ ซึ่งหมายถึง ดูแลรับผิดชอบการศึกษาของเด็กและเยาวชนตั้งแต่ก่อนปฐมวัย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ไปจนถึงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6

ตั้งแต่ปี 2551-2555 สพฐ. ได้รับงบประมาณจากกระทรวงศึกษาธิการเฉลี่ยร้อยละ 63.22, 63.38, 63.77, 62.81 และ64.98 ตามลำดับ

แผนงานของ สพฐ. ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีแผนงานที่ทำซ้ำทุกปีนอกจากแผนงานหลักคือ แผนงานเสริมสร้างความมั่นคง (ปี 2551) หรือแผนงานแก้ไขปัญหาและพัฒนาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปี 2552-2555) โดยจะทุ่มงบประมาณส่วนใหญ่ไปที่แผนงานหลักคือ1.แผนงานเร่งรัดปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิตปี 2551 คิดเป็นร้อยละ 99.93 และ2.แผนงานขยายโอกาสและพัฒนาการศึกษาปี 2552-2555 คิดเป็นร้อยละ 99.89, 81.13, 82.53 และ 83.71 ตามลำดับ

2. สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ มีหน้าที่บริหารราชการของกระทรวงฯ รวมถึงการกำกับและเร่งรัดการปฏิบัติราชการของส่วนราชการในกระทรวง ให้เป็นไปตามนโยบาย แนวทาง และแผนการปฏิบัติราชการของกระทรวง เช่น การเสนอนโยบายของกระทรวงและการจัดสรรงบประมาณประจำปี จัดทำแผนแม่บท ให้ความช่วยเหลือและความร่วมมือกับต่างประเทศด้านการศึกษา การศาสนา และการวัฒนธรรม รวมถึงเป็นศูนย์กลางข้อมูลสารสนเทศของกระทรวงและพัฒนาระบบ รูปแบบ หลักสูตร และวิธีการจัดการศึกษา ฯลฯ

แผนงานของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการตั้งแต่งบประมาณปี 2551-2555 มีแผนงานที่ทำต่อเนื่องทุกปีเช่นเดียวกับ สพฐ. โดยในปี 2551-2552 ใช้งบประมาณส่วนใหญ่ไปกับแผนงานหลัก แต่ในปี 2553 หันมาจัดสรรงบให้กับแผนงานเสริมสร้างรายได้พัฒนาคุณภาพชีวิตและความมั่นคงด้านสังคมมากที่สุด และในปีงบประมาณ 2554-2555 จัดสรรงบประมาณให้แผนงานสนับสนุนการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานมากที่สุด

แม้ว่าสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการจะเป็นหน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการที่ได้รับงบประมาณมากเป็นอันดับ 2 แต่สัดส่วนของงบประมาณที่ได้รับนั้นน้อยกว่าของ สพฐ. อย่างเห็นได้ชัด คือ ในปี 2551-2555 อยู่ที่ร้อยละ 7.9, 8.17, 10.99, 10.50 และ 10.28 ตามลำดับ

3. สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มีภารกิจเกี่ยวกับการจัดและส่งเสริมการอาชีวศึกษา และการฝึกอบรมวิชาชีพ โดยคำนึงถึงคุณภาพและความเป็นเลิศทางวิชาชีพ ตั้งแต่ขั้นนโยบาย แผนพัฒนา หลักสูตรการศึกษา การจัดสรรงบประมาณ และให้การส่งเสริม ประสานงานด้านต่างๆ รวมถึงการประเมินผล และรายงานผลการจัดการอาชีวศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน สัดส่วนงบประมาณที่ สอศ. ได้รับต่อปีอยู่ที่ประมาณร้อยละ 5-7 ของงบประมาณทั้งหมดของกระทรวงศึกษาธิการ

4.สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) มีหน้าที่และความรับผิดชอบทั้งหมดเกี่ยวกับสถาบันในระดับอุดมศึกษา ตั้งแต่การทำนโยบาย ทำแผน มาตรฐานการศึกษา วิเคราะห์ วิจัยและพัฒนาคุณภาพการศึกษา พร้อมทั้งวางแนวทางการสนับสนุนทรัพยากรทางการศึกษา เช่น จัดตั้งหรือยุบสถาบัน จัดสรรเงินอุดหนุน ตลอดจนการประเมินผลและทำสารสนเทศอุดมศึกษา

งบประมาณที่ สกอ. ได้รับในแต่ละปีไม่ถึงร้อยละ 2 ของงบฯ ที่กระทรวงศึกษาธิการได้ โดยทุ่มงบประมาณส่วนใหญ่ให้กับแผนงานหลักมากที่สุด เกินกว่าครึ่งของงบประมาณทั้งหมดที่ได้รับ คือ แผนงานเร่งรัดปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิตในปี 2551 จำนวน 4,712.57 ล้านบาทหรือร้อยละ 72.98 และแผนงานขยายโอกาสและพัฒนาการศึกษาในปี 2552-2555 จำนวน 5,361.21 ล้านบาท 5,018.44 ล้านบาท 4,050.79 ล้านบาท และ 3,726.26 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 80.43 ร้อยละ 84.05 ร้อยละ 52.73 และร้อยละ 60.18 ตามลำดับ

5. สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) มีหน้าที่หลักในการพัฒนาขีดความสามารถในด้านการศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ ของครูและเยาวชนไทยในทุกระดับการศึกษา โดยจะดูแลตั้งแต่เรื่องมาตรฐานการเรียนรู้ หลักสูตร วิธีการสอน จัดทำสื่อการสอนต่างๆ เช่น หนังสือเรียน เอกสาร การส่งเสริมและพัฒนาครู และการประเมินผล

แผนงานในแต่ละปีของ สสวท. ประกอบด้วย 2 แผนงาน คือ แผนงานหลักของกระทรวงศึกษาธิการและแผนงานสนับสนุนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรม ซึ่งงบประมาณส่วนใหญ่จะทุ่มไปที่แผนงานนี้มากกว่า คือคิดเป็นประมาณ 3 ใน 4 ของงบประมาณทั้งหมด

6. สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทศ. เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่บริหารจัดการและดำเนินการเกี่ยวกับการศึกษา วิจัย และให้บริการทางด้านการประเมินผลทางการศึกษาและทดสอบทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเป็นศูนย์กลางความร่วมมือด้านการทดสอบทางการศึกษาในระดับชาติและนานาชาติ เช่น การสอบแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือ โอเน็ต

7. โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์แห่งแรกของประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเพื่อบริหารจัดการ และดำเนินการจัดการเรียนการสอนในระดับมัธยมศึกษา ที่มุ่งเน้นความเป็นเลิศด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กที่มีศักยภาพสูงทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มีเป้าหมายสำคัญคือ มุ่งสร้างนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ ที่มีมาตรฐานระดับสากล

8. สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา เป็นหน่วยดำเนินงานของคุรุสภา หรือสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา มีหน้าที่ในการกำหนดมาตรฐานวิชาชีพ ออกและเพิกถอนใบอนุญาต กำกับ ดูแลการปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณวิชาชีพ รวมทั้งการพัฒนาวิชาชีพ กำหนดนโยบายและแผนพัฒนาวิชาชีพ ประสานส่งเสริมการศึกษาและการวิจัยเกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพ

9. สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ทำหน้าที่ตั้งแต่การเสนอนโยบาย แผน และมาตรฐานการศึกษาของชาติ ที่บูรณาการศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม และการกีฬากับการศึกษาทุกระดับ การเสนอนโยบายและแผนสนับสนุนทรัพยากรเพื่อการศึกษา การดำเนินงานเพื่อสนับสนุนและพัฒนาการศึกษาของชาติ ตลอดจนการวิจัยและประเมินผลการจัดการศึกษา

5 ปีที่ผ่านมา สกศ. มีแผนงานเดียว คือ แผนงานเร่งรัดปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ในปี 2551 จำนวน 232.55 ล้านบาท และแผนงานขยายโอกาสและพัฒนาการศึกษาในปี 2552-2555 จำนวน 236.54 ล้านบาท 241.78 ล้านบาท 310.13 ล้านบาท และ 270.42 ล้านบาท ตามลำดับ

10. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครู และบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ก่อตั้งขึ้นเพื่อให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับบริการด้านสวัสดิการ สวัสดิภาพ ความมั่นคง และสิทธิประโยชน์เกื้อกูลอื่นๆ เพื่อให้เกิดความมั่นคงในวิชาชีพ

11. สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) ก่อตั้งเพื่อให้การศึกษาอบรมและค้นคว้าวิจัย เพื่อส่งเสริมการค้าและการพัฒนา และดำเนินกิจกรรมอื่นที่สอดคล้องกับความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและองค์การสหประชาชาติ เกี่ยวกับสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา