ThaiPublica > เกาะกระแส > ชาวประมงท่าศาลาบุก สผ. ค้านสร้างท่าเรือเชฟรอน ใช้ รธน. ปกป้องสิทธิชุมชน รักษา”อ่าวทองคำ”

ชาวประมงท่าศาลาบุก สผ. ค้านสร้างท่าเรือเชฟรอน ใช้ รธน. ปกป้องสิทธิชุมชน รักษา”อ่าวทองคำ”

23 พฤศจิกายน 2012


ชาวประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลาคัดค้านมติความเห็นชอบของ คชก. ที่มีต่อรายงาน EHIA ในการสร้างศูนย์สนับสนุนการปฏิบัติงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย ของ บ.เชฟรอนฯ

ระยะทางกว่า 700 กิโลเมตร ไม่เป็นอุปสรรคต่อเหล่าชาวประมงแห่งอ่าวท่าศาลา อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ในการเดินทางมาที่สำนักงานนโยบายและแผนพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ที่อยู่ในเมืองหลวงของประเทศ

ด้วยเพราะเขารู้ว่า “สินทรัพย์” ในน้ำบริเวณ “อ่าวทองคำ” ที่ใช้ทำมาหากินและรักษาดูแลมาหลายชั่วอายุคน กำลังจะหมดไปพร้อมกับการเข้ามาของ “โครงการก่อสร้างศูนย์สนับสนุนการปฏิบัติงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย” ของ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด

โดยวันและเวลานั้นใกล้เข้ามาทุกขณะ หลังจากที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (คชก.) พิจารณาเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพ หรือ EHIA ของโครงการ

ทำให้เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2555 ตัวแทนสมาคมเครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา ได้เข้ายื่นหนังสือคัดค้านมติความเห็นชอบของ คชก. ต่อ EHIA ของโครงการดังกล่าว เนื่องจากกระบวนการพิจารณาและการให้ความเห็นชอบโครงการไม่เป็นไปตามหลักวิชาการ ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายผังเมือง

ทั้งนี้ หนังสือที่ยื่นต่อ สผ. ระบุว่า รายงานวิเคราะห์ผลกระทบฯ ซึ่ง คชก. ให้ความเห็นชอบยังมีความบกพร่องในข้อมูลและข้อเท็จจริงหลายประการ ได้แก่ การเลือกพื้นที่ตั้งโครงการ ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่, การกำหนดขอบเขตพื้นที่เพื่อศึกษาผลกระทบของโครงการ ไม่ครอบคลุมพื้นที่และผู้ที่จะได้รับผลกระทบที่แท้จริง, การดำเนินโครงการจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศเฉพาะทางทะเลและชายฝั่งของพื้นที่อ่าวท่าศาลา ซึ่งเป็นแหล่งประมงที่สำคัญของประเทศไทย และเป็นหัวใจของชุมชนประมง แต่กลับไม่ได้รับการกล่าวถึงในรายงาน

นอกจากนี้ การพิจารณาเห็นชอบโครงการ ละเลยข้อมูลด้านการกำหนดการใช้ประโยชน์พื้นที่ ขัดต่อเจตนารมณ์ตามร่างกฎกระทรวงบังคับใช้ผังเมืองรวม จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งกำหนดให้บริเวณพื้นที่ตั้งโครงการเป็นพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม ห้ามมิให้มีอุตสาหกรรม กิจกรรมการเก็บและลำเลียงวัตถุอันตราย

ในการมอบหนังสือนั้นมี “นายสันติ บุญประคับ” เลขาธิการ สผ. เป็นผู้รับเรื่องและได้กล่าวยืนยันกับตัวแทนสมาคมเครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา ว่า “คชก. ได้พิจารณารายงานโดยรอบคอบแล้วในทุกด้าน ตามรายงานและข้อมูลที่มีอยู่ทั้งหมด ณ ขณะที่พิจารณา”

ทั้งที่ในข้อเท็จจริงมีนักวิชาการหลายกลุ่มได้ออกมาให้ความเห็นว่า ยังมีข้อมูลและข้อเท็จจริงสำคัญอื่นๆ ของพื้นที่อีกจำนวนมากที่ คชก. ไม่นำมาประกอบการพิจารณาให้ความเห็นชอบรายงาน EHIA ของโครงการ

อย่างไรก็ตามท่าทีของ สผ. ในครั้งนี้ทำให้ตัวแทนสมาคมเครือข่ายประมงพื้นบ้านท่าศาลาเห็นร่วมกันว่า แนวทางการต่อสู้ด้วยการนำเสนอข้อมูลวิชาการของพื้นที่ไม่เพียงพอที่จะทำให้ สผ. หันมารับฟังเสียงของชาวบ้านได้ จึงจะมีการทบทวนกระบวนการต่อสู้อีกครั้งหนึ่ง

“การต่อสู้ที่มีการนำเสนอด้วยข้อมูลวิชาการไม่เพียงพอที่จะปกป้องพื้นที่ผลิตอาหารอ่าวท่าศาลา ดังนั้น แนวทางการเคลื่อนไหวต่อไปของสมาคมและเครือข่ายอื่นๆ จะใช้บทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิชุมชนปกป้องทรัพยากร วิถีชีวิต และเศรษฐกิจชุมชน รวมพลังเพื่อยืนยันเจตนารมณ์ในการรักษาอ่าวท่าศาลาไว้เป็นพื้นที่ผลิตอาหาร” นายสุพร โต๊ะเส็น นายกสมาคมประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา กล่าว

ด้าน “นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล” เครือข่ายรักษ์บ้านเกิดท่าศาลา กล่าวว่า ภารกิจในครั้งนี้ไม่เพียงแต่เพื่อปกป้องคนท่าศาลาเท่านั้น แต่เป็นการปกป้องแหล่งอาหารให้กับคนทั้งประเทศ สอดคล้องกับวิกฤติอาหารและวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก การทำหน้าที่ของคนท่าศาลาจึงเป็นการทำหน้าที่เพื่อคนไทยทุกคน และเราไม่ควรทำลายศักยภาพของเราเอง ซึ่งก็คือความเป็นผู้มั่งคั่งด้านการผลิตอาหาร ในกรณีนี้ สผ. มีสิทธิที่จะดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของสหประชาชาติ หรือจะสนองเจตนารมณ์ของบริษัทข้ามชาติที่ทำลายสิ่งแวดล้อมมาแล้วทั่วโลกก็ทำได้ แต่ท้ายที่สุด เลขา สผ. ก็ตอบประชาชนว่าเลือกที่จะยืนอยู่ข้างบริษัทเชฟรอนฯ ชุมชนจึงต้องใช้แนวทางอื่นในการต่อสู้ต่อไป