ThaiPublica > เกาะกระแส > องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ”ไม่ให้ความเห็น EHIA” พับแผนโครงการท่าเรือเชฟรอน ท่าศาลา

องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ”ไม่ให้ความเห็น EHIA” พับแผนโครงการท่าเรือเชฟรอน ท่าศาลา

5 ตุลาคม 2013


การขออนุญาตดำเนินโครงการของเชฟรอน

กอสส. ไม่ให้ความเห็นประกอบต่อโครงการของเชฟรอน พร้อมทำหนังสือถึงกรมเจ้าท่าว่าไม่สามารถพิจารณาอนุมัติ/อนุญาตโครงการดังกล่าวได้ เพราะหลักเกณฑ์ไม่ครบตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2

หลังจากที่ไทยพับลิก้าเสนอข่าว ชาวท่าศาลาเรียกร้องให้เชฟรอนถอน “EHIA” ยันรายงานและกระบวนการรับฟังความคิดเห็นบิดเบี้ยวข้อเท็จจริง ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2556 องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (กอสส.) ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมเจ้าท่า กรณีมีมติไม่ให้ความเห็นต่อโครงการท่าเทียบเรือและศูนย์สนับสนุนการปฏิบัติงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด โดยให้เหตุผลประกอบ 8 ข้อ ดังนี้

1. บริษัท เชฟรอนฯ ประกาศยุติโครงการแล้วเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2555

2. สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ส่งรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) รวมถึงมติ คชก. และมาตรการลดและป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อม ให้กับ กอสส. เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2556

3. วันที่ 6 สิงหาคม 2556 บริษัทเชฟรอนฯ ส่งข้อมูลให้ กอสส. โดยระบุว่ายุติโครงการฯ แล้ว

4. วันที่ 22 สิงหาคม 2556 สผ. แจ้ง กอสส. ว่าบริษัทเชฟรอนฯ ขอความอนุเคราะห์ให้ สผ. แจ้งยุติโครงการฯ และไม่ต้องการให้มีกระบวนการพิจารณาให้ความเห็นต่อโครงการฯ อีก

5. กอสส. พิจารณาข้อมูลต่างๆ แล้วพบว่าไม่ครบถ้วนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี จึงส่งข้อมูลคืนให้ สผ. เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2556 เพื่อให้ สผ. ส่งข้อมูลกลับมาให้ครบถ้วนโดยเฉพาะส่วนความเห็นของ คชก.

6. วันที่ 4 กันยายน 2556 สผ. แจ้งยืนยันว่าส่งข้อมูลให้ กอสส. ครบถ้วนแล้ว

7. วันที่ 9 กันยายน 2556 กอสส. สอบถามบริษัทเชฟรอนฯ เพื่อมาให้ข้อมูลโครงการฯ ลงพื้นที่เพื่อชี้แจ้งเพื่อเติมและร่วมชี้แจงข้อมูลการรับฟังความเห็นประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย

8. วันที่ 16 กันยายน 2556 บริษัทเชฟรอนฯ แจ้งกลับมาว่าไม่เข้าร่วมให้ข้อมูลเพิ่มเติม และไม่เข้าร่วมชี้แจงข้อมูลการรับฟังความเห็นประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย และแจ้งยุติโครงการฯ ไปยังหน่วยงานต่างๆ ของรัฐและเอกชนก่อนหน้านี้แล้ว

จากข้อมูลข้างต้น กอสส. เห็นว่า บริษัทเชฟรอนฯ ประกาศยุติโครงการฯ แล้ว และ กอสส. ขาดข้อมูลความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้คือบริษัทเชฟรอนฯ ทำให้ไม่ครบองค์ประกอบการเป็นโครงการตามมาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 จึงมีมติไม่ให้ความเห็นต่อโครงการดังกล่าว

เมื่อ กอสส. ไม่ให้ความเห็นประกอบส่งต่อกรมเจ้าท่า ดังนั้น กรมเจ้าท่าจึงไม่สามารถพิจารณาอนุมัติ/อนุญาตโครงการดังกล่าวได้ เพราะยังไม่ครบหลักเกณฑ์ตามระบุไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2

หนังสือคำสั่ง กอสส. และเอกสารที่เกี่ยวข้อง