ThaiPublica > คนในข่าว > ซีรีส์ 15 ปี วิกฤติ 2540 : “ศิริวัฒน์ วรเวทวุฒิคุณ” จากเศรษฐีพันล้าน สู่พ่อค้าแซนด์วิช

ซีรีส์ 15 ปี วิกฤติ 2540 : “ศิริวัฒน์ วรเวทวุฒิคุณ” จากเศรษฐีพันล้าน สู่พ่อค้าแซนด์วิช

7 พฤศจิกายน 2012


ในโอกาสครบรอบ 15 ปี วิกฤติ 2540 ซึ่งถูกบันทึกเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์วิกฤติเศรษฐกิจการเงินโลก ที่มีผลกระทบรุนแรงและสร้างความเสียหายมหาศาลให้กับประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะประเทศไทยซึ่งเป็นจุดกำเนิดของวิกฤติ แต่ 15 ปีผ่านมา ผู้ที่เกี่ยวข้องกับวิกฤติครั้งนั้น ทั้งผู้ก่อวิกฤติ ผู้แก้วิกฤติ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ มีการปรับตัว และได้เรียนรู้อะไรจากวิกฤติครั้งนี้บ้าง และประเทศไทยซึ่งฝ่ามรสุมวิกฤติครั้งนั้นมาได้จนถึงปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่อย่างไร เพื่อตอบโจทย์คำถามดังกล่าว สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้รวบรวมบทสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้องมานำเสนอในซีรีส์ “15 ปี วิกฤติ 2540 ประเทศไทยอยู่ตรงไหน”

ความรุนแรงของวิกฤติ 2540 ทำให้เศรษฐีหลายคนในเมืองไทยที่ “ไม่ได้ล้มบนฟูก” บาดเจ็บสาหัสกันถ้วนหน้า จนบางคนถูกเรียกว่า “คนเคยรวย” หรือ “เทวดาตกสวรรค์” แต่บางคนก็เรียกตัวเองว่า “เศรษฐีเยสเตอร์เดย์”

“ศิริวัฒน์ วรเวทวุฒิคุณ” คือหนึ่งในนั้น ก่อนวิกฤติ 2540 เขาคือ ตำนาน “อัศวินม้าขาว” ที่นักลงทุนในตลาดหุ้นไม่มีใครไม่รู้จัก และเขายังเป็นเจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์ขายคอนโดหรูให้เหล่าเศรษฐี แต่พิษวิกฤติ 2540 ทำให้เขาล้มละลาย สถานะเปลี่ยนจากเศรษฐีพันล้าน และนักลงทุนรายใหญ่ในตลาดหุ้น ที่มีสำนักงานใหญ่โต ทำงานนั่งห้องแอร์เย็นสบาย มาเป็นพ่อค้าขายแซนด์วิชข้างถนนริมฟุตบาท ที่ใครๆ ก็รู้จักในนาม “ศิริวัฒน์แซนด์วิช”

15 ปีผ่านมา ชีวิตต้องสู้ของเขา ทำให้ตนเองกลับมารุกขึ้นยืนได้อีกครั้งในฐานะประธานบริษัท ทีจีไอเอฟ จำกัด และล่าสุดเตรียมจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ ( MAI ) ในปีหน้า ถือเป็นความสำเร็จในชีวิตการต่อสู้ของคนไม่ยอมแพ้ก็ว่าได้ แม้จะไม่กลับไปใหญ่เหมือนเดิม แต่น่าจะเป็นบทเรียนให้กับคนล้มเหลวหรือคนสิ้นหวัง ให้มีกำลังในการต่อสู้ ไม่ยอมแพ้กับปัญหานานาประการ

ซีรีส์ 15 ปี วิกฤติ 2540 สำนักข่าวไทยพับลิก้าจึงสัมภาษณ์ “ศิริวัฒน์ วรเวทวุฒิคุณ” เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์และมุมมองก่อนและหลังเผชิญวิกฤติต้มยำกุ้งอย่างละเอียดในลักษณะถาม-ตอบ ดังนี้

ตอนที่ 1: ย้อนอดีตคนเคยรวย

ศิริวัฒน์ วรเวทวุฒิคุณ
ศิริวัฒน์ วรเวทวุฒิคุณ

ไทยพับลิก้า :ปีนี้ครบรอบ 15 ปีของวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 วันนี้มาชวนคุณศิริวัฒน์คุยเรื่องของวิกฤติย้อนหลังไป 15 ปี ในฐานะที่คุณศิริวัฒน์เป็นนักลงทุนอยู่ทั้งในตลาดหุ้นและเป็นนักลงทุนตัวจริงในอสังหาริมทรัพย์ในขณะนั้น อยากให้เล่าว่าเหตุการณ์ช่วงนั้นเป็นอย่างไรบ้างที่เจอลอยตัวค่าเงินบาท

ศิริวัฒน์ : ก่อนอื่นต้องไปดูว่ารากเหง้าของปัญหาคืออะไร

ไทยพับลิก้า : ค่ะ

ศิริวัฒน์ : ก็คงจำได้ว่าช่วงนั้นมีการกู้เงินจากต่างประเทศเข้ามาเยอะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทจดทะเบียน เพราะดอกเบี้ยมันถูก ไปกู้ต่างประเทศมาดอกเบี้ยแค่ 3% 5% 7% เพื่อเข้ามาใช้ระดมทุน แต่คราวนี้ช่วงนั้นบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่กู้เข้ามาโดยมีเงื่อนไขคือ ผู้ให้กู้ คือ ต่างประเทศ สามารถแปลงหุ้นกู้เป็นทุนได้ ดังนั้น ดอกเบี้ยเงินกู้ในประเทศตอนนั้นอยู่ประมาณ 15-17% บริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่งอสังหาริมทรัพย์ก็เลยไปกู้เมืองนอก เมืองนอกก็อยากให้ไทยกู้ เพราะตอนนั้นประเทศไทยถูกขนานนามว่าเป็นเสือเศรษฐกิจตัวที่ 5 ของเอเชีย เขาก็เลยมองตลาดที่เกิดใหม่อย่างไทย เขาก็เลยให้กู้ กู้ไปกู้มา กู้จนเพลิน (หัวเราะ)

เพราะช่วงนั้นมี BIBF ( Bangkok International Banking Facilities ) ทางรัฐบาลในขณะนั้นก็ส่งเสริมให้บริษัทเอกชนสามารถกู้โดยตรงจากตลาดเมืองนอกที่เขาเรียก offshore fund โดยไม่ต้องผ่านแบงก์ คือกู้โดยตรง ทีนี้ก็กู้กันใหญ่ กู้ไปกู้มาก็ทำให้ประเทศชาติโดยรวมเป็นหนี้ทั้งหมดอยู่ 9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งสั้นทั้งยาวเลยครับ มันปนกันไปหมดเลยครับ ในขณะที่เงินทุนสำรองเงินตราต่างประเทศมีอยู่แค่ 3.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ทีนี้พอเรากู้เข้ามาเราก็ไปอยู่ในหมวดที่เรียกว่าไม่ใช่ real sector พูดง่ายๆ ก็คือฟองสบู่เริ่มๆ พอง พอเป็นแบบนี้ เราก็ประสบปัญหา แล้วก็ตอนนั้นเงินบาทถูกกำหนดไว้ที่ 1 เหรียญเท่ากับ 26 บาท

ก่อนจะมีการลอยตัวค่าเงินบาทในวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ตอนนั้นการส่งออกเราไม่โต แบงก์ชาติก็พูดเอง ถ้าจำไม่ผิดนะปี 2539 การส่งออกโต 0% คือไม่โต เนื่องจากเงินแข็งเกินไป พอเงินบาทแข็งเกินไปส่งออกก็ไม่ดี นำเข้าดี ผู้นำเข้าก็นำเข้ากันใหญ่เลย ทั้งบริษัทจดทะเบียนและไม่จดทะเบียน มีแม้กระทั่งเศรษฐีหลายๆ ท่านกู้เงินเมืองนอกดอกเบี้ย 7-8% เพื่อมาฝากไฟแนนซ์ ถ้าจำได้ ให้ดอกเบี้ย 16% เพราะฉะนั้นกินส่วนต่างก็สบายแล้ว
ก็คือสบายใจ อย่างน้อยๆ เงินบาทคงไม่ลดค่า

เพราะช่วงนั้นกำลังพูดว่าเงินบาทจะลดค่า แต่ท่านนายกฯ ในขณะนั้น ถ้าจำไม่ผิด ท่านคือพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ก็บอกว่า รับรองไม่ลดค่าหรอก นั่งยัน ยืนยัน นอนยัน เอกชนก็สบายใจ ถึงแม้มีบางท่านจะไปซื้ออินชัวร์รัน หรือประกันความเสี่ยงเอาไว้ และที่สุดพอประเทศชาติเป็นหนี้เยอะ แล้วส่งออกส่งไม่ได้ ไม่เพิ่มขึ้น ต่างประเทศพวกแบงก์ต่างๆ ที่ให้เงินกู้ก็เริ่มมองไม่ดี ก็เรียกเงินคืน ผมจำแม่นเลยครับ มีบริษัทอสังหาริมทรัพย์บางบริษัทในตลาดหลักทรัพย์เริ่มด้วยว่า ไม่สามารถชำระดอกเบี้ยได้ ตอนนั้นดอกเบี้ย 5% ยังชำระไม่ได้เลย เพราะตอนนั้นเศรษฐกิจเริ่มไม่ดี

ไทยพับลิก้า : อันนี้คือสัญญาณแล้วใช่ไหม

ศิริวัฒน์ : สัญญาณมาแล้ว แต่อย่างที่บอกครับ แบงก์ชาติก็ให้ข้อมูลที่ตรงบ้างไม่ตรงบ้าง แล้วรัฐบาลทุกชุดก็เหมือนกันหมดครับ ดี เศรษฐกิจดี ไม่ต้องห่วง ส่งออกโต ไม่ต้องห่วง เดี๋ยวแก้ไขปัญหาได้ ทุกรัฐบาลเป็นอย่างนั้นไปหมด

ไทยพับลิก้า : ค่ะ

ศิริวัฒน์ : เอกชนทำไง ไม่เชื่อรัฐบาลแล้วจะเชื่อใคร ก็เชื่อ เชื่อไปเชื่อมา เจ้าหนี้ขอเงินคืน พอขอเงินคืนทำยังไง ไม่มีเงินคืน ดอกเบี้ยก็ไม่มีปัญญาจ่าย พอดอกเบี้ยไม่มีปัญญาเขายิ่งเร่งใหญ่

ไทยพับลิก้า : ตอนนั้นแสดงว่าเจ้าหนี้เริ่มเห็นแล้วว่าลูกค้าจะไม่สามารถชำระหนี้ได้แล้ว

ศิริวัฒน์ : ใช่ เพราะฉะนั้น หุ้นกู้หลายๆ บริษัทที่เราไปขอเขาไว้ ที่เราเรียกว่า junk bond (ตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าระดับเพื่อการลงทุน) เขาก็ downgrade (ปรับลดอันคับความน่าเชื่อถือ) กันใหญ่ คราวนี้มันลามทุ่งแล้วไง domino theory เกิดขึ้นแล้ว เดี๋ยวบริษัทนี้โดนเดี๋ยวบริษัทนั้นโดน ในขณะที่แบงก์เองเริ่มชักแย่แล้ว ช่วงนั้นเรากำลังพูดถึงว่าจะมีไฟแนนซ์นั้นเจ๊ง แบงก์นั้นเจ๊ง แม้กระทั่งทางการจะต้องมาประกันเงินฝากผู้ที่ฝากเงินธนาคารกรุงไทย

จำได้ไหมครับ พอมีปัญหาปุ๊บ คุณฝากเท่าไหร่จ่าย 10 ปี ปีหนึ่งจ่าย 10% พอตอนนั้นเหตุการณ์มันเป็นแบบนี้ทุกคนมัน panic (ตื่นตระหนก) หมด ตลาดหุ้นก็ลงกันเละเทะเลย จำได้ว่าต้นปี 2540 ดัชนีก็น่าจะอยู่ 1300-1400 นะครับ แบงก์ชาติเองก็บอกไม่ต้องห่วง เราสามารถรักษาเสถียรภาพเงินบาทได้

ช่วงนั้นเอง นายจอร์จ โซรอส ก็เพิ่งกำไรค่าเงินปอนด์จากรัฐบาลอังกฤษ ก็มองว่าในที่สุดเงินปอนด์ต้องลดค่า จอร์จ โซรอส ก็เลยกำไรเมื่อปอนด์เทียบกับดอลลาร์ ก็มาเห็นประเทศกำลังเกิดใหม่อย่างประเทศไทย ที่ครั้งแรกเราบอกว่ามาโจมตีค่าเงินบาท ก็คือมองค่าเงินบาทต้องลดแน่ อยู่ที่ 26 บาทต่อ 1 เหรียญ ได้ยังไง ส่งออกก็ไม่โต เพราะฉะนั้น ค่าเงินคุณต้องอ่อนแน่ จอร์จ โซรอส ก็เอาใหญ่เลยนะครับ ก็คือซื้อดอลลาร์ขายบาท เพราะมองว่าค่าเงินบาทต้องอ่อน แบงก์ชาติทำอย่างไร แบงก์ชาติก็พยุงไว้ ผมจำไม่ได้แล้วผู้ว่าชื่ออะไร ก็ไปพยุงไว้

ไทยพับลิก้า : คุณเริงชัย

ศิริวัฒน์ : คุณเริงชัย โอเค ท่านพยุงไว้ปุ๊บ ออกทีวี ถ้าจำไม่ผิดคือเดือนพฤษภาคม ฉลองแชมเปญกันใหญ่ บอกจอร์จ โซรอส มันเจ๊งแล้ว เงินบาทไม่ลดค่า ที่ไหนได้ เดี๋ยวจอร์จ โซรอส มาอีกรอบหนึ่ง โอ้โห จนกระทั่งผมจำไม่ผิดเดือนสิงหาคมปี 40 อดีตผู้ว่าการ ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ มานั่งหน้าจอทีวีนะ นั่งหน้าเซ็งๆ จ๋อยอะ มายอมรับต่อคนไทยทั้งประเทศ 60 ล้านคน ในขณะนั้นประมาณ 60-61 ล้านคน บอกว่าแบงก์ชาติ จากที่มีเงินทุนสำรองเงินตราต่างประเทศถึง 3.9 หมื่นล้านบาท ขายดอลลาร์ออกไปให้โซรอสกับพวกนักเก็งกำไร เหลือแค่ 800 ล้าน

ในเก๊ะเหลือแค่ 800 ล้าน มีอยู่วันหนึ่งขายตั้ง 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ดังนั้นเงินบาทก็ถือว่าไม่มีค่าแล้ว ถูกไหม เพราะเงินบาทจะมีค่าก็ต่อเมื่อมีเงินทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ ทองคำเอย สกุลเงินเยน อะไรต่างๆ ที่เราค้าขายกับเขา แต่ส่วนใหญ่คือ ดอลลาร์สหรัฐฯ พอเป็นอย่างนี้ทำยังไงประเทศเจ๊งสิ เงินบาทไม่ใช่ 50 กว่าบาทแล้วตอนนั้นพุ่งกันไป 80 บาทต่อ 1 เหรียญ ไป 100 บาทต่อ 1 เหรียญ เหตุการณ์มันเลย panic กันใหญ่ พอ panic กันใหญ่เจ้าหนี้ก็รีบเรียกเงินคืน อ้าว ไม่มีเงินคืนอีก เป็นไง ก็ต้องไปหาไอเอ็มเอฟ (กองทุนการเงินระหว่างประเทศ)

ถ้าจำไม่ผิด สมัยนั้นก็รัฐบาลท่านนายกชวน (หลีกภัย) แล้วมีคุณธารินทร์ นิมมานเหมินท์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ต้องเข้าไปหาโครงการไอเอ็มเอฟ ขอไอเอ็มเอฟช่วย ไอเอ็มเอฟก็บอกอย่างนี้ต้องมี LOI ( Letter Of Intent) หรือหนังแสดงเจตจำนง รู้สึกมีถึง 8 ฉบับ ว่าคุณจะต้องดำเนินการอย่างนี้ ลดเงินบาท เพิ่ม VAT (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) แล้วก็ปิดสถาบันการเงิน อันไหนไม่ดีก็ปล่อยมันเจ๊งไป รักษาอันดีๆ เอาไว้

ช่วงนั้นแบงก์ก็มีปัญหา เพราะลูกหนี้มีปัญหา มันเป็นโดมิโน พอโดมิโนลูกหนี้แบงก์ไม่ดีค้าขายกับลูกหนี้แบงก์ดี ก็ไม่มีเงินไปจ่ายลูกหนี้แบงก์ดี แบงก์ดีก็เจอลูกหนี้ไม่ดี

ไทยพับลิก้า : มันพัลวันกัน

ศิริวัฒน์ : แบงก์เป็นอย่างไร ตอนนั้นตลาดหุ้นลงเละเทะ พวกแบงก์ทำไงครับ ก็ต้องเพิ่มทุน เพราะอัตราส่วนของเงินกองทุนต่ำ

ไทยพับลิก้า : ตอนนั้นคุณศิริวัฒน์ในฐานะที่เป็นนักลงทุนในตลาดหุ้นด้วยเป็นยังไงบ้าง

ศิริวัฒน์ : โห ตอนนั้นก็โดนเละเทะเหมือนกัน คือ จริงๆ แล้วเวลาวิกฤติมามันไม่มีใครหนีทันหรอกครับ คนที่หนีทันขี้โม้ทั้งนั้นแหละ จะหนีทันได้ยังไง หุ้นเปิดมามันลง fall 10% เราเรียกกันฟอลล์โชว์ ผมลงทุนในตลาดหลักทรัพย์และผมก็ไปเล่นมาร์จิน (Margin) เยอะ ส่วนใหญ่ตอนมาร์จินเยอะ โบรกเกอร์ปล่อยมาร์จินบริษัทหนึ่งอย่างน้อย 3-4 พันล้านบาท มี 30 โบรกเกอร์ ก็เป็นแสนล้าน แล้วจะขายยังไง เปิดมาก็ลง 10%

ผมก็เป็นหนึ่งในนั้น แล้วโดนบังคับขาย ตอนนั้น ก.ล.ต. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) ท่านก็ออกกฎ ต้องมีบังคับขายนะ อะไรอย่างนี้ ก็บังคับขาย ขายหุ้นจนหมดหนี้ยังเหลือ แล้วหนี้ตอนนั้นดอกเบี้ยสูง

ไทยพับลิก้า : ตอนนั้นบริหารพอร์ตเท่าไหร่

ศิริวัฒน์ : พอร์ตหนึ่งก็น่าจะร่วมพันล้านนะ หลายร้อยล้าน

ไทยพับลิก้า : ส่วนตัวใช่ไหม

ศิริวัฒน์ : ส่วนตัวและเล่นให้ลูกค้าด้วย

ไทยพับลิก้า : คือตอนนั้นบริหารให้ลูกค้าด้วย

ศิริวัฒน์ : บริหารให้ลูกค้าตัวและส่วนตัว เพราะมีเครดิตโบรกเกอร์ให้วงเงินเล่นมาร์จิน มาร์จินตอนนั้นก็คือ ถ้าจำไม่ผิดนะ เราก็วาง 30% กู้ 70% ทีนี้เวลาหุ้นมันตก ถูก Forced Sell (บังคับขาย) ยิ่งตกๆ แล้วเราไม่มีเงินไปลดหนี้ โบรกเกอร์ก็ขายอย่างเดียว ขายอย่างเดียว ขายจนหุ้นหมดหนี้ยังอยู่ ยังมีดอกเบี้ย 17% 19%

ผมโดนหนัก พอดีโดนหุ้น หุ้นยังไม่เท่าไหร่ เคยกำไรจากตลาดหุ้นหลายร้อยล้าน คือเคยกำไรจากเขามาก็คืนไป แต่ที่ไปโดนเยอะเพราะไปสร้างโครงการคอนโดมิเนียมที่เขาใหญ่ ไม่เคยทำเลย ขาย 5 ล้าน 15 ล้านกู้มา 17% 19% ก็โดน

ตอนนั้นก็คือลำบากมาก

ไทยพับลิก้า : ตอนนั้นคือโครงการที่เขาใหญ่ขึ้นเสร็จแล้วหรือว่ายัง

ศิริวัฒน์ : ขึ้นเสร็จแล้ว เฟสแรกเท่านั้นเอง ขายไม่ได้ ก็เลยโดนน่ะครับ

ไทยพับลิก้า :ตอนนั้นที่เป็นนักลงทุนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ จริงๆ แล้วจากอดีตที่เคยเป็นโบรกเกอร์ เห็นสัญญาณอะไรก่อนหน้านั้นไหม

ศิริวัฒน์ : เห็นแล้ว คืออย่างนี้ เห็นสัญญาณหมดแล้วผมถึงไปสร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่เขาใหญ่ ขายเฉพาะคนรวยเท่านั้น มองแล้วว่าอสังหาฯ คงจะแย่ เพราะเดี๋ยวก็ข่าวบริษัทนั้นก็ไม่มีเงินจ่ายดอกเบี้ย บริษัทนั้นถูกแบงก์บีบ อะไรอย่างนี้ เราไม่เอา เราจะเลือกแต่ลูกค้ารวยๆ เท่านั้น จะไปคิดได้ยังไงว่าลูกค้ารวยๆ เหล่านั้นจะเป็นเศรษฐีเยสเตอร์เดย์ คือคนเคยรวยครับ เพราะเหตุการณ์ตอนนั้นจะเลือกเฉพาะคนรวย

แล้วถามว่าแล้วทำไมหุ้นผมถึง get out หรือออกไม่ทัน ก็อย่างที่เรียนครับ ถูก forced sell แล้วผมก็เป็นนักลงทุนรายใหญ่รายหนึ่งนะ โอเค โบรกเกอร์ก็ไปบอกต่อ หุ้นตัวนี้อย่าซื้อนะ รายใหญ่ถูกบังคับขาย พอถูกบังคับขายเปิดมาจึงมีแต่ offer มีแต่เสนอขายไม่มีเสนอซื้อ วันรุ่งขึ้นก็ลงอีก 10% กว่าจะขายหุ้นหมดนี้นะลงไป 60% แต่หนี้ยังอยู่นะ เช่น เป็นหนี้เขา 100 บาท ถูกบังคับขายเหลือ 50 บาท ขายได้ 50 บาท ก็ยังเป็นหนี้อีก 50 บาท ใช่ไหม ไม่มีหลักทรัพย์แล้วนะ แต่หนี้นั้นมีดอกเบี้ย 17% 19% ก็ถูกฟ้องเยอะแยะ อะไรพวกนี้ ลำบาก

ไทยพับลิก้า : แล้วตอนนั้นพอร์ตลูกค้าและของคุณศิริวัฒน์เอง

ศิริวัฒน์ : โอเค เขาก็โดนด้วย เพราะว่าส่วนใหญ่ลูกค้าผมเล่นเงินสด แต่ผมเล่นมาร์จินลูกค้าก็เลยขาดทุนมี แต่ก็โอเค ไม่ได้ติดร่างแห เพราะว่าเขาไม่ได้ไปเป็นหนี้ ผมไปเป็นหนี้บัญชีส่วนตัวของผม ผมเอาไปเล่นมาร์จิน ตอนนั้นก็ต้องยอมรับเพราะว่า หนึ่ง เงินมันหาง่ายแล้วโลภไง แล้วเครดิตเราดี เราคิดว่าเราแน่ไง คิดว่าออกทัน คือดูตลาดไม่ผิด แต่มาผิดตรงที่ถูกบังคับขาย กรณีผมนะ ก็คือถูกบังคับขาย

ไทยพับลิก้า : แต่จริงๆ รู้แล้วว่ายังไงฟองสบู่มันต้องแตก

ศิริวัฒน์ : รู้ๆ นะครับ (หัวเราะ) ตอนนั้นก็ลำบากมาก ปี 40 ก็เป็นปีที่วิกฤติเศรษฐกิจ ที่เราบอกว่าพิษต้มยำกุ้ง ก็เลยไปทำเอาประเทศอื่นๆ จริงๆ ประเทศอื่นๆ ก็เจอปัญหาเหมือนกัน คือ เงินแข็งเกินไปนะครับ ตอนนั้นไอเอ็มเอฟก็เลยบังคับว่าต้องลดค่าเพื่อว่าส่งออกจะได้เพิ่มขึ้นนะครับ นำเข้าจะได้น้อยลง เราจะได้เกินดุล จะได้มีเงินตราต่างประเทศ อีกประการหนึ่งก็จะทำให้การท่องเที่ยวบูมด้วย

ไทยพับลิก้า : ค่ะ

ศิริวัฒน์ : ช่วงนั้นจำได้ จากเหรียญหนึ่ง 26 บาท ภายใน 7 เดือนไป 56-50 บาท ดังนั้น นักท่องเที่ยวก็จะมาเที่ยวเมืองไทยเยอะ มาเยอะมากเลย เพราะว่าค่าห้องโรงแรมเขาเคยจ่ายคืนหนึ่ง 30 เหรียญ วันนั้นเขาจ่ายจริงๆ คือ 15 เหรียญ คือครึ่งเดียว ทุกคนก็มาใหม่ ก็เลยทำให้เราตอนนั้นรัฐบาลไทย ผมจำแม่นเลย มองว่า Amazing Year Thailand มองรายได้กันแค่ 1 ถึง 2 แสนล้าน วันนี้รายได้ท่องเที่ยวมันปาเข้าไปจะล้านล้านแล้ว

ไทยพับลิก้า : ถ้าย้อนกลับไปวันนั้น คิดว่าจะรับมือยังไง

ศิริวัฒน์ : เรียนตรงๆ ตอนนั้นรับมือยังไง ก็คือ ทำใจไว้แล้วว่าเราพลาด พลาดเพราะเราโลภ เราไม่รู้จักพอ เครดิตดี แล้วก็อะไรของเรา คือต้องโทษตัวเองด้วยนะครับ อืม! มันมาตรงที่ว่าบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่มีพนักงาน 40 คน เรียกประชุมพนักงาน บอกเจ๊งแล้ว ต้องปิดบริษัท คิดว่าต้องเลิกแล้ว ช่วงนั้นคุณลาภจะจำได้ หลายๆ บริษัทค้างเงินเดือนพนักงานใช่ไหม 2 เดือนจ่ายเดือนหนึ่ง 3 เดือนจ่ายเดือนครึ่ง ซื้อเวลาไปเรื่อยๆ แต่ผมคิดว่าผมจะไม่ยอมค้างเงินเดือนพนักงาน แล้วก็ต้องสู้ความจริง ก็คิดว่า 40 คนก็ปิดบริษัท ผมเดินหน้าขึ้นศาล เขาก็ไปหางานอื่นทำ

แต่เผอิญหลังประชุม อีก 20 คนเขาขอให้ผมช่วยเขา ช่วงนั้นหางานยากนะ ผมจำแม่นเลย ตัวเลขทางการมา นิสิต นักศึกษา จบปริญญาตรีปีหนึ่ง 2-3 แสนคน หางานไม่ได้ แล้วจะไปหาได้ยังไงละ คนที่ตกงานเคยรับเงินเดือน 5 หมื่น 2 หมื่นยังเอาเลย คนมีประสบการณ์เป็น 10 ปีนะ ตอนนั้นโดนยื่นซองขาวหมด ก็ต้องไปหางานใหม่ คุณเอาไหม 2 หมื่น ก็ต้องเอาเพราะไปผ่อนรถผ่อนบ้านไว้แล้วไง โอเค ฉะนั้นนิสิตจบใหม่ประสบการณ์ไม่มี ความสามารถอะไรยังไม่แสดงให้เห็นเลยใครจะไปจ้าง ก็จ้างคนที่เขาตกงาน ผมก็เลยต้องเลี้ยงลูกน้อง จุดอยู่ตรงที่ว่าไม่รู้จะทำอะไรเลี้ยงเขา ไอ้เราก็แย่

ภรรยาก็เป็นคนบอกให้ผมทำแซนด์วิชขาย (หัวเราะ) เฮ้ย ทำแซนด์วิชขาย คนไทยกินหรอ คนไทยกินข้าว แต่ตอนนั้นคือคนเราเวลามันมืดแปดด้านแล้วเจออะไรก็ต้องคว้าทำไว้ก่อน ถามว่ามีทุนไหม ไม่มีทุน ก็ไปซื้อขนมปัง

ไทยพับลิก้า :ตอนนั้นเป็นหนี้ทั้งหมดเท่าไหร่

ศิริวัฒน์ : ถ้าเงินต้นอยู่ทั้งหมด 4-5 ร้อยล้านบาท ทั้งอสังหาริมทรัพย์และหุ้นนะ แต่ดอกเบี้ยสิ เพราะกว่าศาลจะพิจารณาคดีเบ็ดเสร็จแล้วมันตั้ง 3-4 ปี ทบต้นดอกเบี้ย 17% 19% มันก็เกือบทบต้นใช่ไหม ก็เลยโดนยึดทรัพย์ไปก่อน แล้วก็ยังมีเหลือหนี้ เขาก็ฟ้องล้มละลาย แต่เผอิญช่วงนั้นที่วิกฤติ ถ้าจำได้ ท่านวุฒิสมาชิกหลายๆ ท่านก็เป็นนักธุรกิจระดับเบิ้มๆ ก็โดนหมด ท่านก็เลยพยายามแก้ไขกฎหมายจากบุคคลล้มละลายสมัยนั้นคือ 10 ปี ท่านก็รู้ว่าท่านจะโดนมั้ง ก็เลยต่อรองในสภา ผมจำแม่นเลย ปีเดียวเศษๆ มาเจอกันตรงกลางก็คือ 3 ปี

ผมและเขาหลายๆ คนก็เลยได้รับอานิสง ก็คือ 3 ปีนะครับ เป็นบุคคลล้มละลายครับ

อ่านต่อตอนที่ 2: เปิดประสบการณ์ขายแซนด์วิชข้างถนน