ThaiPublica > เกาะกระแส > 3 กูรูสันติวิธี ชี้คำตอบสุดท้ายสลายความขัดแย้ง คนไทยต้องมองอนาคตร่วมกัน!

3 กูรูสันติวิธี ชี้คำตอบสุดท้ายสลายความขัดแย้ง คนไทยต้องมองอนาคตร่วมกัน!

1 พฤศจิกายน 2012


ที่มาภาพ: www.facebook.com/peacefulanddemocratic

นับตั้งแต่ความขัดแย้งเริ่มปรากฏในสังคมไทย จนกระทั่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และปะทุขึ้นในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553

ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า “รอยยิ้ม” ของคนไทยได้ถูกพรากออกจากใบหน้าไปพร้อมๆ กัน

แม้จะมีความพยายามจากหลายภาคส่วนในการพาสังคมออกจากวังวนความขัดแย้ง แต่ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ในวันนี้บ้านเมืองยังอยู่ห่างไกลไปจากความ “ปรองดอง”

เพราะไม่ว่าจะเป็นรายงานการวิจัยการสร้างความปรองดองของสถาบันพระปกเกล้า หรือรายงานการค้นหาความจริงเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2553 ของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ต่างไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ควรจากทุกฝ่ายในสังคม

ในการเสวนาเรื่อง “แนวทางการปรองดองสู่สันติประชาธิปไตย” หนึ่งในโครงการ “เวทีสันติประชาธิปไตย” หรือ โครงการ “อึด ฮึด ฟัง” ซึ่งจัดขึ้นโดยสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการสะพานเสริมสร้างประชาธิปไตยและ USAID

ที่มี “วุฒิสาร ตันไชย” รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า “กิตติพงษ์ กิตยารักษ์” ปลัดกระทรวงยุติธรรม และ “โคทม อารียา” อาจารย์สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมเสวนาถึงแนวคิดที่จะนำประเทศไปสู่ความปรองดองดังต่อไปนี้

“วุฒิสาร ตันไชย”

ความจริงเรื่องปรองดองทำกันมาเยอะ มันน่าจะสำเร็จในส่วนท้าย คือคำว่า “ดอง” ทุกเรื่องดองหมดเพราะยังไม่ปรองดอง หัวข้อที่สำคัญกว่าการปรองดองคือการสร้างสังคมสันติประชาธิปไตย ทำอย่างไรให้เราอยู่กันได้ด้วยการเคารพกัน ภูมิต้านทานที่อ่อนด้อยในระบบประชาธิปไตยในเมืองไทย ใครพูดเหมือนผลักไปอยู่ด้านหนึ่ง ใครพูดไม่เหมือนผลักไปอยู่อีกด้านหนึ่ง นี่ไม่ใช่ประชาธิปไตย ประชาธิปไตยที่ใช้ถ้อยคำก้าวร้าวหยาบคายและความรุนแรงก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย ผมจึงชอบคำของอาจารย์โคทมที่ตั้งเรื่องสันติประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยเห็นต่างได้และต้องอยู่กันได้ เราพูดกันเยอะแต่เราทำไม่ได้จริงๆ เพราะเราไปติดยึดกับกรอบความคิด เช่น รัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย กฎหมายไม่เป็นประชาธิปไตย อะไรไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะเขาเข้าใจว่าประชาธิปไตยคือการเลือกตั้งอย่างเดียว

วาทกรรมวันนี้ของความคิดในงานวิจัยที่เราค้นพบอันหนึ่งก็คือ ความเห็นที่ขัดแย้งกันในเชิงความเชื่อเรื่องประชาธิปไตยระหว่างกลุ่มสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งเสียงข้างมากคือประชาธิปไตย กับอีกกลุ่มหนึ่งแม้ว่าเสียงข้างมากแล้ว คุณธรรมจริยธรรมเป็นเรื่องสำคัญในระบอบประชาธิปไตย

สังคมประชาธิปไตยเป็นสังคมที่แน่นแฟ้น บนพื้นฐานของการเกลียดอีกฝั่ง พูดกันตรงๆ ไม่ว่าจะเหตุการณ์ใดๆ ถ้าเราเป็นปฏิปักษ์กัน พวกเราที่หมายถึงคนที่อยู่ตรงกลางๆ ของสังคม ต้องออกมาพูดกันบ้าง อย่าปล่อยให้สังคมนี้เป็นสังคมของคนที่เสียงดังแต่ไม่ใช่คนส่วนใหญ่ของประเทศ ผมคิดว่าคนจำนวนมากที่อึดอัดกับบรรยากาศ อึดอัดกับสถานการณ์ อึดอัดกับหลายเรื่อง แต่ว่าก็ไม่อยากออกมาพูด เพราะถ้ามาพูดก็จะถูกผลัก นี่คือความอึดอัดในห้วงเวลาที่ผ่านมา

กลับมาสู่คำถามว่า แนวทางการสร้างความปรองดองสันติประชาธิปไตยทำได้อย่างไร?

สถาบันพระปกเกล้าเคยทำงานวิจัยอยู่ชิ้นหนึ่งด้วยระยะเวลาอันสั้น แต่มีผลกระทบแรง มีทั้งชอบและไม่ชอบ แต่ที่สำคัญมากคือทุกคนวิจารณ์โดยไม่ได้อ่านเลย เพราะเราได้ตัดสินบนพื้นฐานของการที่ไม่ต้องมีสาระ ยกตัวอย่างง่ายๆ วันนี้การเล่นเฟซบุ๊ก มีเรื่องอะไรขึ้นมาเราก็ถล่มด่าถ้าเราไม่ถูกใจทั้งๆ ที่ไม่เคยรู้เลยว่าข้อเท็จจริงคืออะไร อันนี้คือจุดอ่อนของสังคมประชาธิปไตย เราใช้ความรู้สึกมาก

ในงานของสถาบันที่ทำเรื่องปรองดอง จากการที่ทำการศึกษาใน 10 ประเทศที่มีความขัดแย้ง ประเทศเหล่านี้ได้หาทางออกและสามารถนำสังคมกลับมาสู่ความยั่งยืนหรือการพัฒนาต่อได้ เราได้บทเรียนมาประมาณ 5-6 เรื่อง ที่ถือว่าเป็นบทเรียนในทุกประเทศที่สามารถสรุปได้ดังนี้

1. บทเรียนเรื่องแรกเลยที่พบคือ ความขัดแย้งในสังคม แม้ว่าจะมีสาเหตุอะไรก็ตาม ถ้าไม่มีพื้นที่ให้ได้แสดงออก ถ้ารู้สึกว่าผู้ใช้อำนาจรัฐกำลังใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรม หรือรู้สึกว่าไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว ท้ายที่สุดก็จะนำไปสู่ความรุนแรงในสังคม

2. เราพบว่า กระบวนการสำคัญที่สุดของการหาทางออกของความขัดแย้ง นั่นคือกระบวนการที่เราใช้กันวันนี้ คือ การคุยกัน จะใช้คำว่าสุนทรียะ เสวนา สานเสวนา อะไรก็แล้วแต่ แต่คือการเข้ามาพูดคุย พูดคุยเพื่อทำให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน เกิดความเห็นร่วมกัน ในบทเรียนของ 10 ประเทศ ไม่ได้พูดคุยแค่หนเดียว และต้องเริ่มต้นจากสิ่งที่เห็นร่วมกันมากที่สุดก่อน

3. ในความขัดแย้งโดยเฉพาะความขัดแย้งในหลายประเทศที่มีความรุนแรง มีเหตุการณ์ความสูญเสียเกิดขึ้น กระบวนการอันหนึ่งที่มีความสำคัญมากคือกระบวนการค้นหาความจริง เหมือนกับ คอป. ก็เป็นเรื่องสำคัญ เพียงแต่ว่าในหลายประเทศก็มีเงื่อนไขหลายเรื่อง เช่น การค้นหาความจริงนั้นต้องมีคำอธิบายว่ามันเกิดอะไรขึ้น เพื่อเยียวยาทางจิตใจของคนบางกลุ่มที่ต้องการความจริงว่าคืออะไร ที่สำคัญก็คือ การค้นหาความจริงนั้นเพื่อเป็นบทเรียนไม่ให้เกิดซ้ำ

ที่สำคัญมากก็คือว่า เงื่อนไขอันหนึ่งในหลายประเทศคือการค้นหาความจริงนั้นควรเปิดเผยเมื่อใด เพราะหากเปิดเผยในบรรยากาศที่ยังเป็นความขัดแย้งอยู่ ความจริงนั้นก็จะถูกบิดเบือนและไม่ใช่ความจริง ดังนั้น เงื่อนไขของความสำเร็จในการค้นหาความจริงที่จะเป็นตัวตอบและเป็นตัวหลักให้เป็นบทเรียนของสังคมนั้น ก็จำเป็นต้องพิจารณาความเหมาะสมและความพร้อมที่จะเปิดว่าควรเปิดมากน้อยแค่ไหน และจำเป็นที่จะต้องเปิดทุกเรื่องอย่างให้กับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน นั่นคือบทเรียนที่เราพบ

4. เกือบทั้ง 10 ประเทศที่มีความรุนแรงนั้นมีกระบวนการ คือ มีทั้งกระบวนการของการให้อภัย และกระบวนการของการลงโทษผู้กระทำผิด เพราฉะนั้น กระบวนการตรงนี้จึงไม่ใช่เรื่องของการให้อภัยกันอย่างเดียว อะไรที่ผิดจนเกินขอบเขตต้องโดนลงโทษ ในหลายประเทศผู้นำประเทศถูกลงโทษ

5. กระบวนการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบต้องมี กระบวนการเยียวยามีตั้งแต่ง่ายที่สุดคือการขอโทษ การชดเชยทั้งในรูปของตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน การให้โอกาสเขากลับมาสู่สังคม อยู่ในสังคมได้เท่ากับคนอื่น การบอกเล่าความจริงก็ทำให้เกิดการยอมรับในสังคม การให้เกียรติของเราก็มี 6 ตุลาฯ 14 ตุลาฯ

6. บทเรียนสุดท้ายที่เราพบในการทำงาน 10 ประเทศ ก็คือ ในที่สุดแล้วจะต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างระยะยาวที่แก้ปัญหาพื้นฐานที่สุดของสังคม

ทั้ง 6 บทเรียนนี้เป็น 6 บทเรียนที่เราพบในการสร้างความปรองดอง ที่สำคัญมากก็คือเงื่อนไขที่ประสบความสำเร็จของการปรองดอง ประการแรก คือ การมีเจตจำนงที่ชัดเจนของผู้นำทางการเมือง ประการที่สอง คือ การเปิดพื้นที่และการสร้างกระบวนการของการพูดคุย ประการที่สาม การให้สังคมนั้นยอมรับผิดและยอมให้อภัยซึ่งกันและกัน

สุดท้ายก็คือการพูดถึงอนาคต หรือ “Shared Future” โดยเห็นร่วมกันว่าอนาคตเราจะเป็นอย่างไร ถ้าเราก้าวข้ามสิ่งเหล่านี้ไป ปัญหาถัดมาก็คือว่า แล้วข้อเสนอต่อสังคมไทยและสันติประชาธิปไตยจะเกิดได้หรือไม่?

เราได้เห็นแนวทางว่าคนไปพูดเรื่องแนวทางนิรโทษกรรม ไปพูดเรื่องแนวทางอภัยโทษ ไปพูดเรื่อง คตส. ซึ่งเป็นสิ่งที่มากกว่าเราพูดเป็นหลัก สิ่งที่พูดเป็นหลักและสำคัญที่สุดนั้นคือการสร้างบรรยากาศให้สังคมนี้เห็นว่า มีความพยายามที่จะทำให้เกิดการปรองดอง

ข้อเสนอที่นำไปสู่การปรองดองนั้นเสนอไว้ 2 ส่วน คือ 1. การนำสังคมกลับมาสู่สภาวะปกติ ทำอย่างไรให้คนกลับมาคุยกันได้ ทำอย่างไรให้ใส่เสื้อสีอะไรก็ได้ ทำอย่างไรให้เราสามารถไปยืนอยู่ตรงไหนก็ได้ และพูดอะไรก็ได้ที่มีการเคารพซึ่งกันและกัน นี่เป็นบรรยากาศ การสร้างบรรยากาศนั้นคือการเปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุยกัน

ข้อเสนอระยะสั้นที่เราเสนอนั้น จะต้องมีความพยายามที่จะต้องมีกระบวนการของความปรองดอง พูดคุยกันทั้งสองระดับ ระดับหนึ่งที่ต้องยอมรับก็คือ ผู้นำทางการเมืองต้องมีข้อยุติร่วมกันได้ เป็นไปไม่ได้ที่จะไปคุยกับชาวบ้านโดยข้างบนไม่ได้รู้ทิศทาง ทุกคนอ้างหมดว่าปรองดอง แต่การกระทำไม่ใช่

ที่เราเสนอ เช่น บทบาทของสื่อ ที่ต้องยอมรับว่าสื่อมีทั้งส่วนสำคัญในการทำให้เกิดบรรยากาศที่ดีในการสร้างความปรองดอง หรือเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาที่ทำให้ความขัดแย้งเกิดขึ้น โดยเฉพาะทีวีที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะ บอกได้เลยว่าท่านฟัง 7 วัน ท่านเชื่อ ท่านฟัง 1 เดือน ท่านเป็นสาวกเลย นี่คือภาพอ่อนของสังคมไทย เพราะฉะนั้นนี่ ถ้าเราปล่อยให้สื่อเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาของการสร้างความขัดแย้งอยู่ แน่นอนสื่อหลายหน่วยถูกตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ทางการเมือง และก็สำเร็จมาตลอด ใช้ความอ่อนด้อยของสังคมที่ไม่พยายามค้นหาความจริงนี่แหละเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา เราจึงอยากจะบอกว่าถ้าอยากจะสร้างบรรยากาศ บทบาทเหล่านี้ต้องปรับหมด

ต้องทำการเมืองเพื่อบ้านเมืองมากๆ อย่าทำการเมืองเพื่อการเมือง ฉะนั้น การพูดคุยระดับบนก็คือการหาข้อยุติร่วมกันบางเรื่อง ที่สำคัญมากก็คือ เพื่อทำให้เกิดความศรัทธาว่าเรามีทางพอที่จะไปด้วยกัน ส่วนในระดับล่างก็คือภาคประชาชนที่อยากจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 2 ขั้ว กับ คนตรงกลาง ตรงนี้ในยุทธศาสตร์การสร้างความปรองดอง เราต้องคิดให้ถูกว่าเราจะไปตรงไหน

ข้อเสนอที่งานวิจัยเสนอก็คือว่า ต้องเริ่มต้นจากอนาคตบ้านเราจะเป็นอย่างไร เราอยากเห็นอะไรในอนาคต พูดเรื่องอนาคตก่อนจะกลับมาพูดเรื่องอดีตและความขัดแย้ง เพราะพูดเรื่องความขัดแย้งเมื่อไหร่ มันจะมีวาทกรรมที่ต่อสู้กันตั้งแต่ว่าใครเริ่มต้นผิด และในที่สุดบรรยากาศการพูดคุยหาทางออกมันกลับหลายเป็นการคุยเพื่อหาคนผิด เราเสียเวลาขนาดไหนกับที่เราติดอยู่ในกับดักแบบนี้ นั่นคือกระบวนการที่เราเสนอว่าการพูดคุยในระดับข้างล่างต้องมีการพูดคุยกันถึงอนาคตร่วมกันของสังคม ไม่ใช่มาหาว่าต้องเอามาแต่ละพวกเท่าๆ กันและมาคุยกัน ไม่จบหรอก แต่เมื่อไหร่ที่เห็นร่วมกันในอนาคต บนเงื่อนไขแบบนี้เราต้องก้าวข้ามอะไรบ้าง และที่สำคัญมากคือ การพูดคุยต้องใช้สิ่งที่เรียกว่าลักษณะสำคัญของสังคมไทยที่พร้อมจะให้อภัยกัน

เรื่องต่อมาอยากจะเสนอ เราหยุดบรรยากาศ สร้างบรรยากาศการพูดคุยแบบบนล่าง และอย่าเร่งรัดเวลา กระบวนการของการหาข้อยุติ สันติวิธีเร่งรัดไม่ได้ ประชาธิปไตยเป็นความงอกงาม ไมรู้ว่าเติบโตวันไหน แต่ถามว่าวันนี้ดีกว่าเก่าไหม ดีกว่าเก่า เพราะฉะนั้น กระบวนการเหล่านี้เป็นกระบวนการที่สำคัญ

เรื่องที่ต้องเดินอีกเรื่องหนึ่งก็คือว่า ในที่สุด เมื่อได้ความเห็นร่วมกัน ได้ข้อยุติร่วมกัน บางเรื่องก็กลับมาพูดว่าแล้วตกลงเรื่องลงโทษจะไปอย่างไร ตรงนี้คือการออกกฎหมาย ข้อเสนอของงานวิจัยเราคือเรื่องกฎหมาย คือเรื่องท้ายๆ ของกระบวนการปรองดอง ที่สำคัญมากคือกระบวนการพูดคุยเหล่านี้ต้องกลับไปสู่ปัญหารากของสังคมนี้

กระบวนการของการออกกฎหมายเป็นกระบวนการที่จะต้องทำหลังจากสังคมเห็นพ้องต้องกันพอสมควร ไม่ใช่ออกก่อน กระบวนการปรองดองผู้ชนะกินรวบไม่ได้ และที่สำคัญกว่านั้นที่เราเสนอก็คือว่า อาจจะเป็นต้องมีการปฏิรูปสิ่งที่คนรู้สึกว่าไม่เป็นธรรม เช่น วันนี้ บทบัญญัติรัฐธรรมนูญบางมาตราคนอาจรู้สึกว่าไม่เป็นธรรมก็แก้ไข เช่น การยุบพรรคโดยง่ายก็แก้ไป ที่สำคัญมากคือการกลับมาดูข้อเสนอใหญ่ของการปฏิรูปประเทศในการปรับโครงสร้างเพื่อสร้างความเป็นธรรม เพราะเราเห็นว่าความขัดแย้งของสังคมวันนี้มันมีประเด็นที่มากขึ้นกว่าเรื่องของบุคคล มีประเด็นเรื่องของความรู้สึกที่ไม่เป็นธรรม เรื่องของทรัพยากร ซึ่งมันไปไกลกว่าแล้ว ดังนั้น แก้ปัญหาระยะสั้นได้ แต่ระยะยาวไม่เริ่มต้น ความขัดแย้งก็ยังคงอยู่

ที่เราเสนออีกเรื่องก็คือ กระบวนการของการทำประชาธิปไตยให้เป็นวิถีชีวิต การสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยที่ใช้เหตุและผลอยู่ร่วมกัน

สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่สถาบันพระปกเกล้าเสนอในงานวิจัย แต่ว่าเนื่องจากต้นไม้ก็มีผลเยอะ บางคนชอบสุกก็หยิบผลสุกไปก่อน บางคนชอบดิบ บางคนเด็ดใบ ก็เลยกลายเป็นว่าทุกคนอ้างถึงงานวิจัยปรองดองทั้งนั้น แต่อ้างเฉพาะเรื่องที่ตัวเองชอบและบอกว่างานวิจัยเสนอแบบนี้ เราเสนอให้ทำทั้งหมด เพราฉะนั้น ทิศทางของประเทศวันนี้ในสังคมประชาธิปไตย ถ้าเราไม่มุ่งมั่น และอยากเรียกร้องกับคนกลุ่มที่อึดอัดกับภาวการณ์ในสังคมแบบนี้ให้เคลื่อนไหวเยอะ”

บรรยากาศการรับฟังแนวทางการปรองดองสู่สันติประชาธิปไตย

“กิตติพงษ์ กิตยารักษ์”

เราจะก้าวข้ามความขัดแย้งไปสู่ความปรองดองได้อย่างไร

1. ต้องอึดฮึดฟัง สร้างเวทีให้ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ให้ความขัดแย้งไม่ได้ถูกพูดโดยผู้ที่มีความขัดแย้งเท่านั้น ตรงนี่น่าจะเป็นหัวใจสำคัญที่สุด ภาพใหญ่ของทั้งประเทศไม่สามารถแก้ได้ในวันเดียว ต้องมองว่าปัญหาคืออะไร และจะก้าวไปสู่อะไร

ที่อาจารย์วุฒิสารพูดว่า ในหลายๆ ประเทศสามารถก้าวข้ามปัญหานี้ได้ แต่ทำไมของเรามีปัญหามากยิ่งขึ้น คงไม่ใช่เพราะเราไม่รู้ หลายๆ ฝ่ายรู้ปัญหาดี แต่เรื่องของเรื่องก็คือว่า ทุกประเทศไม่ต้องไปทำภาพของอนาคตที่ว่าถ้าขัดแย้งต่อไปคืออะไร เพราะเขาเจอแล้ว หายนะเกิดแล้ว เมื่อหายนะเกิดถึงจุดนี้การตั้งคณะกรรมการหาความจริง หาข้อเท็จจริงต่างๆ มีได้ 2 ทาง คือ ตั้งโดยภายในประเทศจะรู้สำนึกว่าสิ่งที่ทำกันมาหายนะเกิดแล้ว และคณะกรรมการชุดนั้นได้รับการยอมรับและมีกรอบอำนาจพอที่จะเดินไปในทางที่ดี หรือไม่ทะเลาะกันไปเรื่อยๆ แล้วต่างชาติเข้ามาตั้งให้

แต่ของเรานี่ตั้งขึ้นโดยคู่ขัดแย้งในสถานการณ์ความขัดแย้ง และอยู่ในวังวนของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง อยากจะเอาประโยชน์ อยากจะเอามุมมองที่ตัวเองเห็นด้วยกับรายงานเรื่องหนึ่งของพระปกเกล้าหรือของ คอป. ไปใช้เท่านั้นเอง วันนี้ก็ยังไม่จบเพราะทุกฝ่ายพยายามจะเอาประโยชน์ของตัวเองไปใช้ ซึ่งเมื่อต่างฝ่ายต่างเอาไปใช้มันก็เพิ่มความขัดแย้งมากขึ้น เท่ากับทำให้ฝ่ายตรงข้ามที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำนั้นมองว่ารายงานเหล่านั้นไม่เป็นประโยชน์ อันนี้คือปัญหาในสังคมไทย ซึ่งในที่สุดแล้วไม่มีใครอ่าน แล้วก็มีแต่คนอยากได้ประโยชน์ในรายงานที่เสนอมา

นี่เป็นข้อแรกซึ่งจะก้าวข้ามอย่างไร ยากมาก เพราะถ้าเราเป็นสังคมที่ไม่ใช่สังคมที่ใช้ปัญญาและความรู้ในการแก้ไขปัญหายิ่งยากมากที่สุด ซึ่งความรู้และปัญหานั้นไม่จำเป็นต้องรายงานเสมอไป แต่มาจากการที่เรารับฟัง คิด แล้วก็เคลื่อนตาม

ปัญหาประเทศไทยมีมายาวนานแล้ว แต่ปะทุมาจากความขัดแย้งเดือนเมษายน-พฤษภาคม ในปี 2553 ความขัดแย้งที่รุนแรงที่เกิดขึ้นจะต้องนิ่งก่อน เป็นโจทย์หนึ่งว่าจะนิ่งได้อย่างไร เพราะในสากลนั้นเราบอกว่าเอาเข้ากระบวนการยุติธรรมได้ไหม บางคนที่เชื่อในกระบวนการยุติธรรมบอกใช่ แต่บางคนบอกกระบวนการยุติธรรมไม่ยุติธรรมก็บอกไม่ใช่ อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเห็นว่าเราน่าจะต้องใช้กระบวนการยุติธรรมที่ดีที่สุด แล้วก็ทำให้เป็นกลางมากที่สุด ไม่เช่นนั้นแล้วถ้าทุกคนเอาข้อเท็จจริงไปตีแผ่กันบนท้องถนนมันไม่จบ ตรงนี้ฝากว่าถ้าข้อเท็จจริงในเหตุการณ์มันจบด้วยกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรม มันจะไปเฟสที่ 2 ได้

2 . เข้าไปดูปัญหา มันคืออะไร เมื่อปัญหาเกิดจากอะไร ถ้าไม่ได้เกิดจากคนคนเดียว แม้จะเริ่มต้นจากคนคนเดียวหรืออะไรก็ตาม เริ่มต้นจากปัญหาเล็กๆ มันสะท้อนภาพใหญ่ของปัญหาในประเทศไทย ก็ต้องนำไปสู่ความเข้าใจตรงนั้น และนำไปสู่การหาทางออก เพราะถ้าจุดเริ่มต้นไม่เกิดมันก็จะไม่เกิด สอง สาม ไม่เกิด เรื่องของการทำความเข้าใจข้อเท็จจริง ไม่เกิดการเยียวยา ไม่เกิดข้อเสนอแนะที่จะลงโทษคนทำผิดหรือนิรโทษกรรมให้เกิด
ถ้าเราไม่เริ่มจากการทำข้อเท็จจริงในความรุนแรงให้จบ เราก็จะไม่สามารถมาย้อนรำลึกว่าที่เราทะเลาะกันมันมาจากสาเหตุอะไร ถ้าเราไม่สามารถรู้ตรงนั้นได้ เราไม่สามารถไปทบทวนว่าการลงโทษหรือการไปดำเนินการตามกฎหมายจะไปทำร้ายความรู้สึกของอีกฝ่ายหนึ่ง ถ้าเราทำเช่นนั้นไม่ได้ ต่างคนต่างพูดไม่ฟัง บ้านเมืองก็ไม่มีทางก้าวไปได้

3. ถ้าเรื่องของข้อเท็จจริงนิ่งแล้ว ปัญหาที่ คอป. กำลังเสนอก็คือว่า ความขัดแย้งบางเรื่องเป็นส่วนหนึ่งของสังคมในห้วงการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เป็นประชาธิปไตยในระหว่างการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นหรือไม่ หลายคนมองว่าความขัดแย้งในประเทศไทยเป็นมาจากระบบการเมืองที่สับสนซับซ้อน ไม่สามารถแก้ได้โดยวิถีประชาธิปไตย และใช้ความคิดของตัวเองเข้ามาเสนอทางเลือกใหม่โดยการรัฐประหาร แต่ถ้าเรามองภาพให้ดีว่ารัฐประหารแล้วเกิดอะไรขึ้น รัฐประหารเมื่อทำไปแล้วนี่ทำให้ประเทศตกหล่มลึกยิ่งไปกว่าเดิมอีก เกิดความสับสนมากของคนที่ไม่เห็นด้วยกับกลุ่มการเมืองก่อนรัฐประหาร ตอนนี้ไม่รู้จะเห็นด้วยกับด้านไหนแล้ว เพราะรัฐประหารเป็นการทำลายหลักนิติธรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุด แล้วก็ทำให้ประเทศชาติตกหล่มลึกที่สุด ทำให้กระบวนการแก้ไขปัญหาแบบเดิมๆ เป็นการสร้างหลายๆ สิ่งที่คนที่เขาคิดว่าถูกกระทำมองว่าไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น ปัญหาก็ยิ่งซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

ดังนั้น สิ่งที่ คอป. ได้รับการเสนอในรายงานก็คือว่า ถ้าเรามองย้อนหลังไปตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา มาถึงปัจจุบัน ถ้าเรามองเป็นสองส่วน ส่วนแรก คือ เรื่องของกระบวนการก่อนรัฐประหาร ปัญหาคืออะไร ระบบประชาธิปไตยที่พัฒนามาอย่างไม่สมบูรณ์เรื่องของธรรมาภิบาล การตรวจสอบที่ยังไม่ดีเท่าที่ควร เรื่องของหลักนิติธรรมที่ถูกใช้เป็นประโยชน์กับกลุ่มพวกพ้องตัวเองหรือเปล่า ถ้าใช่ เรามามองหลังรัฐประหาร เป็นเรื่องเดียวกันหรือเปล่า เรื่องธรรมาภิบาลซึ่งยังไม่ก้าวต่อไป เรื่องประชาธิปไตยที่ไม่สามารถสมดุลระหว่างนายทุนและประชาชน

เรื่องหลักนิติธรรม อย่างเดิมหรือเปล่า ที่มองว่าการเอากลไกเหล่านี้ไปใช้เพื่อประโยชน์ในการเอาชนะของตัวเอง เรื่องนี้ถ้าเรามองว่าเป็นเรื่องเดียวกัน น่าจะมีเวทีมาคุยเรื่องตรงนี้ และลองหาคำตอบนิดหนึ่งว่าคืออะไร เราจะก็ไขปัญหาระยะสั้นและระยะยาวได้อย่างไร

4. ในมุมของ คอป.ประเทศไทยมีปัญหาเยอะมาก แต่พอมาไล่ดูไม่พ้น 3-4 คำหลักๆ ประชาธิปไตย ธรรมาภิบาล นิติธรรม เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องใหญ่ๆ แต่เรื่องที่หนักๆ เลยคือเรื่องนิติธรรม น่าห่วง เพราะเดิมเราพยายามทำกันแค่กระบวนการยุติธรรม เพื่อไม่ให้ไปลิดรอนสิทธิประชาชน โปร่งใส เข้าถึงได้ยาก ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย แต่ตอนนี้เกิดความไม่เชื่อถือศรัทธาว่ากระบวนการยุติธรรมไม่ยุติธรรม มันเลือกข้าง ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องใหญ่สุดเลยนะครับ แล้วถ้าต่อไปคนที่มีอำนาจไม่ว่าจะเป็นฝ่ายประชาธิปไตยพวกมากลากไปก็ตาม หรือฝ่ายรัฐประหารหรือกลุ่มอะไรก็ตาม เมื่อรู้ว่าตัวเองไม่สามารถใช้อำนาจเข้ามาได้ ก็มีความพยายามที่จะใช้ระบบยุติธรรมไปบังคับให้ทำตามที่ตัวเองเชื่อ ก็จะเป็นที่ทำให้พวกเราลุกขึ้นมาฆ่ากันได้ง่าย

เรื่องธรรมาภิบาล ทำอย่างไรให้เรามั่นใจว่าไม่ว่าใครที่เข้ามาไม่โกง หรือโกงแล้วจะต้องถูกดำเนินการ จากนั้นจะมีเรื่องอื่นๆ อีก ซึ่งผมไม่อยากพูดรายละเอียดเยอะ แต่เรื่องสื่อสำคัญมาก เพราะว่าถ้าเกิดความแตกแยกแบบนี้แล้วสื่อเลือกข้าง และคนในยุคนี้สามารถเลือกสื่อได้อีกต่างหาก ดังนั้น การที่จะทำสื่อเป็นกลาง และให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับแต่ละฝ่าย จะทำอย่างไรในยุคที่คนเลือกเสพสื่อได้ และคนก็จะเลือกฝังด้านเดียวที่จะทำให้แบ่งแยก

5. ประเด็นสุดท้าย เรื่องใหญ่ๆ คือ จะทำไปสู่ความเป็นจริงได้อย่างไร นี่เป็นเรื่องยากสุด แต่ผมคิดว่าเห็นด้วยกับที่ อ.วุฒิสารพูดว่าจะต้องทำเวที ในมุมมองที่เราทำต้องเป็น 2 ระดับ ระดับที่สร้างการพูดคุยในระดับสูง ระดับการเมือง โดยเอาประเด็นที่ร่วมกันได้ก่อนเพื่อให้เขามีเวทีมีการมาหากัน ส่วนที่สองที่สำคัญมากๆ เลยคือการทำงานร่วมกับ “โคฟี่ อันนัน” อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ “มาร์ตติ อะห์ติซาติ” อดีตประธานาธิบดีฟินแลนด์ที่ได้รับรางวัลสันติภาพ เขาบอกว่าอย่าให้ประเด็นเรื่องของความขัดแย้งเป็นเรื่องของคู่ขัดแย้ง ไม่ใช่เรื่องของนักการเมือง ไม่ใช่เรื่องของสภา ไม่ใช่เรื่องของฝ่ายสีต่างๆ แต่เป็นเรื่องของทุกคน

เพราะฉะนั้น ข้อที่ 2 นอกจากการพูดคุยในระดับบนแล้ว เปิดเวทีตรงนี้กำหนดประเด็นให้คม ที่จะทำให้คนทั้งประเทศมาดูพัฒนาการของประเทศตามไป และพยายามขับเคลื่อนตรงนี้ไปให้พ้นหล่มที่ติดโคลนตรงนี้ให้ได้ ให้เป็นประชาธิปไตยที่ไม่ใช่นำโดยทุนสามานย์หรืออะไรก็แล้วแต่ เพื่อประชาชน

“โคทม อารียา”

ผมหวั่นเกรงว่าจะเกิดความรุนแรง มีสัญญาณว่ามีการชุมนุมของผู้ที่ทนกันไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้น บริบทอันนี้อาจจะต้องขยายให้กับคนที่ทนกันได้ บริบทที่สองจะมีการขับเคลื่อนเรื่องรัฐธรรมนูญกับ พ.ร.บ.ปรองดอง ที่ต้องวงเล็บนิรโทษกรรมไว้ด้วย ผมเห็นว่าบริบทนี้ก็ทำให้วิตก เพราะสองข้อเสนอนี้เป็นไปได้ 2 ทาง ทางที่เราเห็นๆ กันอยู่ก็เป็นข้อเสนอซึ่งจะเป็นทางเข้าสู่ความขัดแย้ง ไม่ใช่ทางออกจากความขัดแย้ง ถ้าจะให้เป็นทางออกจากความขัดแย้ง การทำรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ก็ดี ความปรองดอง หรือการนิรโทษกรรมก็ดี ต้องเป็นเรื่องที่เปิดรับทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม

ผมไม่แน่ใจ ผมว่าตกเรื่องที่วิตกอีกเรื่องหนึ่งคือ เรื่องปัญหาเชิงโครงสร้าง ปัญหาความเลื่อมล้ำ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ ที่สำคัญมากๆ คือเรื่องทางด้านวัฒนธรรมด้วย การรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่ กทม. เห็นอาจารย์แนะนำว่าให้คิดอนาคต ให้เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

เรามีความขัดแย้ง แต่เราเสียเวลาน้อยที่จะไปวิเคราะห์ถึงสาเหตุ หรือเสียเวลาน้อยที่จะไปพยากรณ์ว่ามันจะไปทางไหน และเสียเวลาน้อยที่จะไปหาทางเยียวยา หาทางออก มีข้อสรุปว่า วัฒนธรรมอันหนึ่งคือวัฒนธรรมที่คิดว่าพูดถึงความขัดแย้งในทางรุนแรง ที่วันนี้มีเต็มไปหมด ทั้งสื่อและในโซเชียลมีเดีย เป็นไปได้ไหมที่เราจะคิดทำ เราตื่นขึ้นมาได้แล้วโดยไม่ต้องมีเสียงระเบิดมาปลุกเรา

ที่ผมพูดถึงความรุนแรงรอบใหม่ ถ้าฝ่ายหนึ่งคิดว่าตนถูก และมองฝ่ายหนึ่งด้วยภาพความประสงค์ร้าย ขาดความเห็นใจหรือเมตตา ขณะเดียวกันพวกเขาเหล่านี้ผมก็เห็นใจเขา เพราะเขามองไม่เห็นทางออก เขาคิดว่าถึงจะไม่ชอบความรุนแรง แต่คิดว่าความรุนแรงยังเป็นทางออกอยู่ จำให้เกิดนั้น หลายคนเป็นคนที่ผมรักและเข้าใจอย่างดี ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนั้น แต่เข้าใจ แต่บังเอิญเข้าใจแต่เฉพาะเรื่องที่เราเข้าข้างอยู่แล้ว ตรงนี้คือปัญหา

ปัญหาลึกลงไปอีกเรื่องหนึ่ง เรามีตรรกะแค่ 2 ทาง เท่านั้น แบ่งชัดออกเป็น 2 พวก โลกทัศน์คือไม่มีทางเลือกอื่นนอกจาก 2 ทางเลือกนี้ เป็น 2 ทางเลือกที่สุดโต่งของความขัดแย้ง แต่อันที่จริงทางเลือกอื่นยังมี เช่น ทางเลือกที่ 3 ทั้งใช่หรือไม่ใช่ ยุติเรื่องเอาไว้ก่อน เรื่องมันยังแก้ไม่ได้ เช่น อินเดียกันจีน อินเดียกับปากีสถาน 50-60 ปีแล้วยังแก้ไม่ได้แต่ยุติเอาไว้ก่อน ทะเลจีนใต้ยังแก้ไม่ได้ก็ยุติไว้ก่อน อันนี้ก็ทำได้ถ้ายังแก้ไม่ได้ หรือไม่ก็ก้าวพ้นความขัดแย้งไปด้วยกัน ที่เรามักใช้คำว่า “วิน-วิน” คือเราเข้าใจเขา เขาเข้าใจเรา แต่เราสุมหัวกันมีความคิดสร้างสรรค์แล้วจะเกิดพื้นที่ที่เราเดินไปข้างหน้าได้ หรือประนีประนอม เรายังมีอีกตั้ง 3 ทางเลือก แต่เราคิดอยู่อย่างเดียวว่ามีแค่ 2 ทาง เราถูกเขาผิดก็มีแค่นี้

ถ้าเราคิดจาก 2 เป็น 5 เราจะเริ่มตั้งสันติวัฒนธรรม เพราะสันติภาพนั้นมันเหมือนการปลูกป่ามันที่มีหลายพันธุ์ เป็นสวนรุกขชาติ และพวกเราเป็นนักสันติภาพ นักประชาธิปไตยต้องทำตัวเป็นชาวสวนที่ดี ข้อเสนอในการสานเสวนามีหลายประเด็น อาทิ เรื่องที่สำคัญไม่ควรจะปล่อยให้เป็นเรื่องของนักการเมืองหรือรัฐบุรุษไม่รู้กี่คน เพราะประชาธิปไตยคือประชาชน และประชาชนต้องเอาเรื่องนี้มาอยู่มือของเรา ประชาชนไปข้างหน้าได้ อย่าไปคิดติดที่ว่าต้องมีผู้หลักผู้ใหญ่ไปช่วยแก้ปัญหาให้เรา นั่นเป็นแนวความคิดดั่งเดิมในยุคสมัยศักดินา ประชาชนคือองค์อธิปัตย์ แต่ระวัง การออกเสียงประชามติเป็นเรื่องดี แต่ถ้าเรายังไม่เข้าใจเรื่องใด ยังไม่ถกแถลงอย่างชัด แล้วมาท้าดวลคะแนนก็จะลงคะแนนตามอารมณ์ ตามความรู้สึก ตามพรรคตามพวก ข้อเสนอของการสานเสวนาไม่ใช่การถกเถียง แต่ให้ความคิดโลดเล่นรวมออกมาเป็นพลังมวลรวมแห่งชาติ ซึ่งจะเข้าสู่กระบวนการตัดสินใจเพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย

มีความจำเป็นในการเยียวยา การคืนดี การปิดฉากโลกของความขัดแย้งบางช่วงบางตอน วิธีหนึ่งที่เสนอไว้ก็คือ จัดกลุ่มพบปะแบ่งปันความรู้สึกความห่วงใยและมีการขอโทษกัน การให้อภัย การเยียวยาบาดแผล เราช่วยเยียวยากันเองได้ไหม

ทางออกอีกอย่างหนึ่งที่มีการคุยกันไว้คือสานเสวนา ซึ่งเป็นการตั้งคำถามและการแสวงหา เป็นการใช้กริยาเชิงสมมติว่าถ้าเป็นเช่นนี้จะเกิดอะไรขึ้น เรามาคุยกัน สิ่งที่เราได้ข้อสรุปถือเป็นชั่วคราว อาจจะเปลี่ยนได้หากมีการสานเสวนารอบใหม่ๆ สิ่งที่เราเสนอที่เป็นรูปธรรมเป็นส่วนที่ทำให้เกิดวัฒนธรรมแห่งสันติเพื่ออนาคตที่ดีขึ้น

สรุป เราสื่อสารความขัดแย้งเพื่อมีความเห็นใจ มีความคิดสร้างสรรค์ เราศึกษาสันติภาพเพื่อป้องกันความรุนแรง บนพื้นฐานแห่งความเสมอภาค ความเที่ยงธรรม เราศึกษาการคืนดีเพื่อป้องกันความขัดแย้งในอนาคต เยียวยาความขัดแย้งที่ทำเกิดขึ้นในอดีต ความรุนแรงนั้นมีความรุนแรงเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรม ถ้าเราสามารถทำให้ความรุนแรงเหล่านั้นน้อยลง สันติภาพก็จะมีมากขึ้น และจะช่วยป้องกันความขัดแย่งใหม่ๆ ให้เราเผชิญกับความขัดแย้งนั้นๆ อย่างสันติ สันติภาพทำให้ประชาชนยิ่งใหญ่