ผ่านไปเพียง 27 วัน หลังจากสภาพัฒน์ออกมาแสดงความมั่นใจว่าเศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัวแล้วในการแถลงตัวเลขเศรษฐกิจ ผลงาน 6 เดือนของรัฐบาล มาวันนี้สภาพัฒน์กลับปรับลดจีดีพีทั้งปีลงอีก 0.5% เช่นเดียวกับตัวชี้วัดอื่นๆ ที่ถูกปรับลดเกือบหมด โดยเฉพาะภาคส่งออกที่ปรับลงจนเกือบติดลบและถือเป็นสาเหตุหลักของการปรับลดประมาณการจีดีพีครั้งนี้ ขณะที่จีดีพีไตรมาสแรก ยังพยุงตัวได้ที่ 3% ตามคาดการณ์
วันที่ 18 พฤษภาคม 2558 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่าสภาพัฒน์ได้ปรับตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2558 ใหม่อีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นจีดีพีที่ปรับลดลง 0.5%, การลงทุนภาคเอกชน ลดลง 1.2%, การบริโภคภาคเอกชน ลดลง 0.6%, การบริโภคภาครัฐ ลดลง 1.8%, มูลค่าการส่งออก ลดลง 3.3% และมูลค่าการนำเข้า ลดลง 2.6% มีเพียงการลงทุนภาครัฐ ตัวเดียวที่เพิ่มขึ้น 6% ซึ่งส่งผลให้การลงทุนโดยรวมเพิ่มขึ้น 0.2%
นายอาคมกล่าวถึงแนวโน้มการส่งออกไทยในปี 2558 ว่าจะขยายตัว 0.2% เทียบกับที่เคยหดตัวในปีก่อนหน้า -0.3% โดยมีสาเหตุหลักจาก 1) การปรับลดสมมติฐานด้านปริมาณการค้าโลกและการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย รวมไปถึงการส่งออกไตรมาสแรกที่หดตัวมากกว่าที่คาด 2) ราคาสินค้าส่งออก โดยเฉพาะสินค้าเกษตร
“จริงๆ เราอาจจะสงสัยว่าเวลาตัวเลขจีดีพีโลกเพิ่ม แต่ทำไมการส่งออกไม่เพิ่ม คือจีดีพีโลกเพิ่มจริงแต่ปริมาณการค้าโลกไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก หมายความว่าปริมาณการนำเข้าสินค้าของประเทศอื่นที่นำเข้าสินค้าของเรามันมันไม่ได้ขยายตัวสูงตามจีดีพี เป็นเหตุผลหนึ่งที่การส่งออกเราปรับลง สรุปคือจีดีพีขยายตัวได้ แต่ประเทศอื่นๆ ไม่นำเข้าแล้วหันกลับไปเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในแทน” นายอาคมกล่าว
นายอาคมกล่าวถึงความสามารถในการแข่งขันในอนาคตว่า ภาคการส่งออกไทยจะต้องหันมาให้ความสนใจเรื่องโครงสร้างสินค้า อะไรที่ล้าสมัยคงต้องปรับปรุงเทคโนโลยีใหม่ รวมไปถึงต้องออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ให้ตรงความต้องการของผู้บริโภค มีการแสวงหาตลาดใหม่ๆ ด้วย ขณะที่ค่าเงินที่อ่อนลงหลังจาก กนง. ลดดอกเบี้ยลงไป จะเป็นประโยชน์ต่อการส่งออกตั้งแต่ไตรมาสหน้าเป็นต้นไป
ด้านนายปรเมธี วิมลศิริ รองเลขาธิการ สภาพัฒน์ กล่าวว่าการปรับลดตัวเลขส่งออกเกิดจากราคาสินค้าส่งออกเกษตรและราคาน้ำมันเป็นหลัก ประกอบกับตัวเลขไตรมาสแรกที่หดตัวอยู่ จึงได้ปรับตามศักยภาพจริงที่เป็นไปได้
ผู้สื่อข่าวถามถึงตัวเลขส่งออกที่ติดลบต่อเนื่อง 2 ปีและเสี่ยงที่จะติดลบต่อเป็นปีที่ 3 สะท้อนถึงโครงสร้างภาคการส่งออกที่ต้องปรับปรุงหรือไม่ นายปรเมธีกล่าวว่ากำลังวิเคราะห์อยู่ แต่การปรับเปลี่ยนโครงสร้างสินค้าหรือย้ายการผลิตบางส่วนไปประเทศเพื่อนบ้านใน “ห่วงโซ่การค้า” เดียวกัน คงมีผลกระทบส่วนหนึ่งในช่วงที่ปรับเปลี่ยนแน่นอน
อย่างไรก็ตามปัจจัยโครงสร้างส่งออกยังไม่ใช่ปัจจัยใหญ่ปัจจัยเดียว เพราะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องเผชิญปัจจัยอื่นๆ ค่อนข้างมาก ทั้งเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ราคาสินค้าที่ตกต่ำ รวมไปถึงเรื่องค่าเงินที่แข็งกว่าคู่แข่งในระยะที่ผ่านมา ต่างเป็นปัจจัยที่ไม่ได้เกี่ยวกับเศรษฐกิจภายในประเทศไทยโดยตรง และต้องแยกผลกระทบของแต่ละปัจจัยต่างหาก
ส่วนประเภทสินค้าที่เปลี่ยนไป จะเห็นชัดเจนมาระยะหนึ่งในสินค้าที่ใช้แรงงานมาก เช่นการผลิตเสื้อผ้า มีการย้ายฐานการผลิตไปเพื่อนบ้าน แต่สินค้าประเภทอื่นยังไม่เห็นชัดเจน ตัวอย่างเช่น ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ที่ก่อนหน้านี้คาดว่าจะส่งออกลดลง แต่ตอนนี้พอคนใช้ข้อมูลเยอะขึ้น ก็กลับมาส่งออกดีขึ้น
“บริโภค-ลงทุน” เอกชน ส่อย่ำแย่ – หนี้เสียแบงก์พุ่ง
ด้านตัวเลขการบริโภคและการลงทุนของเอกชน ถึงแม้ว่าในไตรมาสแรกของปี จะเห็นสัญญาณฟื้นตัวเล็กน้อย ตามการคาดการณ์ของสภาพัฒน์ในคราวแถลงผลงาน 6 เดือนของรัฐบาล โดยการบริโภคโต 2.4% เทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่โต 2.1% และการลงทุนโต 3.6% ชะลอตัวลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 4.1% อย่างไรก็ตาม สภาพัฒน์กลับปรับประมาณการตัวเลขการบริโภคการลงทุนภาคเอกชนทั้งปีลงอีก เหลือ 2.3% และ 3.8% ตามลำดับ
สอดคล้องกับผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ ด้านการปล่อนสินเชื่อ ซึ่งเป็นตัวสะท้อนความต้องการ การเข้าถึง และการใช้เงินทุนของภาคเอกชน และช่วยชี้ไปยังภาวะเศรษฐกิจของภาคเอกชน โดยในไตรมาสแรกพบว่าการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ชะลอตัวลงเหลือ 4.3% เทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่ 5% โดยมีเพียงสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีที่เติบโตขึ้น ขณะที่การปล่อยสินเชื่อแก่ภาคธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่ออุปโภคบริโภคต่างชะลอตัว ประกอบกับปัญหาหนี้เสีย หรือเอ็นพีแอล ที่ทวีความรุนแรงขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง โดยเพิ่มขึ้นเกือบ 21,000 ล้านบาทในไตรมาสแรกของปี 2558
ธปท. ชี้ดูรายไตรมาส เศรษฐกิจยังอ่อนแอ โตแค่ 1.2% ต่อปี
ด้านนายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวภายหลังการแถลงภาวะตัวเลขเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 ปี 2558 ของสภาพัฒน์ ว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจใกล้เคียงกับที่ ธปท. คาดไว้ โดยแรงขับเคลื่อนมาจากอุปสงค์ในประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐและการบริโภคภาคเอกชนซึ่งขยายตัวมากกว่าที่ ธปท. คาดการณ์ ขณะที่การส่งออกสินค้าหดตัวและเป็นแรงถ่วงที่สำคัญในไตรมาสนี้
อย่างไรก็ดีในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจยังคงมีความเสี่ยงจากกิจกรรมการผลิตในภาคเกษตรที่หดตัวต่อเนื่อง และการส่งออกสินค้าที่หดตัวเพราะผลกระทบจากโครงสร้างการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงไปและไทยมีความสามารถในการแข่งขันลดลง ซึ่งอาจเป็นความเสี่ยงต่อการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนในระยะต่อไป
ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจเดือนเมษายน ซึ่งเป็นตัวเลขล่าสุดอย่างเป็นทางการของ ธปท. กลับชี้ให้เห็นว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจหลายตัวปรับลดลงจากเดือนก่อน สะท้อนความเปราะบางของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยครัวเรือนชะลอการบริโภค ภาคธุรกิจลดการผลิตและการลงทุนลง ขณะที่การส่งออกลดลงในเกือบทุกหมวด แม้การใช้จ่ายด้านการลงทุนภาครัฐและการท่องเที่ยวจะขยายตัวดี แต่ไม่เพียงพอที่จะชดเชยได้