ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > การบริหารจัดการน้ำ-รูปแบบการจัดการน้ำที่ดี (3)

การบริหารจัดการน้ำ-รูปแบบการจัดการน้ำที่ดี (3)

5 ตุลาคม 2012


การจัดการน้ำที่ดี

นายหาญณรงค์ เยาวเลิส ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย)กล่าวว่าเมื่อการบริหารจัดการน้ำโดยรัฐไม่สามารถแก้ปัญหาได้ การสร้างเขื่อนก็ไม่ใช่ทางออกที่ดี แล้วโมเดลการจัดการน้ำแบบไหนดีบ้าง

“ผมคิดว่าทุกวันนี้โมเดลการจัดการน้ำที่ดีถูกทำลายเกือบหมดแล้ว”

ตาน้ำยม น้ำแต่ละหยด หยดมารวมกัน ค่อยซึม ค่อยซับ ออกมาจากป่าต้นน้ำ ไหลมารวมกันเป็นห้วยสระ หนึ่งในหลายห้วย ที่ไหลมารวมกันเป็นห้วยน้ำปุก ที่บ้านน้ำปุก ต.ขุนควร และไหลมาลงยังลำน้ำควร เมื่อ ลำน้ำควร ไหลมาบรรจบกับลำน้ำงิม ที่ อ.ปง จ.พะเยา จึงกำเนิดเป็นแม่น้ำยม ที่มาภาพ : http://www.seub.or.th
ตาน้ำยม น้ำแต่ละหยด หยดมารวมกัน ค่อยซึม ค่อยซับ ออกมาจากป่าต้นน้ำ ไหลมารวมกันเป็นห้วยสระ หนึ่งในหลายห้วย ที่ไหลมารวมกันเป็นห้วยน้ำปุก ที่บ้านน้ำปุก ต.ขุนควร และไหลมาลงยังลำน้ำควร เมื่อ ลำน้ำควร ไหลมาบรรจบกับลำน้ำงิม ที่ อ.ปง จ.พะเยา จึงกำเนิดเป็นแม่น้ำยม ที่มาภาพ : http://www.seub.or.th

อย่างกรณีน้ำปุก ในต้นลุ่มน้ำยม ที่ อ.ปลง จ.พะเยา ชาวบ้านมีฝายตามภูมิปัญญา คือ ฝายไม้ตอก ที่ยกน้ำขึ้นสูง 3-4 เมตร ซึ่งฝายที่ทำจากไม้นี้จะทำให้น้ำและตะกอนสามารถไหลผ่านซี่ไม้ได้ จึงไม่มีตะกอนตกค้าง และเป็นระบบชลประทานชั้นเยี่ยมในพื้นที่ประมาณ 3,000 ไร่ โดยไม่มีปัญหาขาดแคลนน้ำ เพราะต้นน้ำมีน้ำไหลตลอดทั้งปี ซึ่งเป็นการจัดการที่ชาวบ้านมีส่วนร่วมและมีความยั่งยืน

ในขณะที่ส่วนราชการหรือองค์กรจากภายนอกต้องการเปลี่ยนฝายไม้ตอกของชาวบ้านเป็นฝายคอนกรีต โดยอ้างว่าจะมีความเจริญมากกว่า ทั้งๆ ที่ฝายคอนกรีตจะกั้นตะกอนดินให้กองไว้เหนือฝายและทำให้น้ำไหลผ่านไปตามธรรมชาติไม่ได้ สร้างความแตกแยกแก่ชาวบ้านในชุมชนระหว่างกลุ่มที่อยากทำฝายไม้ตอกอย่างเดิมกับกลุ่มที่ต้องการฝายคอนกรีต

ที่เป็นปัญหาก็เพราะอำนาจการตัดสินใจมาจากส่วนราชการเท่านั้น โดยที่ชาวบ้านไม่มีอำนาจตัดสินใจใดๆ

ดังนั้น หลักการมีส่วนร่วมจึงสำคัญ ประกอบด้วย 1. ร่วมกันคิด 2. ร่วมกันตัดสินใจ 3. ร่วมกันผิดชอบ 4. ตรวจสอบและติดตามประเมินผลซึ่งกันและกัน

สำหรับในพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำน้อย เช่น ภาคอีสาน โดยวัฒนธรรมแล้วเขาก็ทำนาปีละครั้ง พืชที่ปลูกก็ใช้น้ำน้อย ทุกวันนี้ภาคอีสานก็ไม่ได้แห้งแล้งเป็นทะเลทรายอย่างในอดีตแล้ว มีแหล่งน้ำที่สามารถทำการเกษตรได้ เพียงแต่ต้องใช้น้ำให้พอดี

แต่ฝ่ายการเมืองมักสร้างมายาคติใหม่หรือสร้างวาทกรรมทางการเมือง เพื่อหางบประมาณมาลงพื้นที่ในแต่ละจังหวัด โดยอ้างความแห้งแล้ง

ภาคอีสานเป็นภาคที่มีระบบชลประทานน้อยที่สุด แต่ก็สามารถทำนาได้ปีละครั้ง การปลูกพืชอื่นก็ใช้บ่อน้ำตื้นที่ขุดกันเองทุกบ้าน หรือพึ่งพาแหล่งน้ำขนาดเล็กอื่นๆ และมีถังเก็บน้ำเอาไว้อุปโภค-บริโภค โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งระบบชลประทานขนาดใหญ่หรือการแจกจ่ายน้ำจากรัฐ

การแจกจ่ายของจากรัฐเป็นนโยบายประชานิยมอย่างหนึ่งที่ไม่ยั่งยืน และนำไปสู่การสร้างนิยาม “ภัยพิบัติ” ผิดๆ เพื่อให้กระทรวงมหาดไทยสามารถเบิกงบประมาณยามภัยพิบัติที่รัฐตั้งงบฯ ไว้ได้ ทั้งๆ ที่ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่รุนแรงถึงขั้นภัยพิบัติจริงๆ

ฝายไม้หลักโบราณอายุยืนของบ้านน้ำปุก ชาวบ้านที่นี่จัดการน้ำด้วยเหมืองฝายตลอดเวลา ที่มาภาพ : http://northern-thailand-river.com
ฝายไม้หลักโบราณอายุยืนของบ้านน้ำปุก ชาวบ้านที่นี่จัดการน้ำด้วยเหมืองฝายตลอดเวลา ที่มาภาพ : http://northern-thailand-river.com

เช่น กรณีน้ำท่วมที่ปากเกร็ด นนทบุรี ซึ่งน้ำท่วมเป็นประจำทุกปีอยู่ และไม่เคยมีผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรีคนไหนประกาศว่าเป็นภัยพิบัติ จนกระทั่งเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว ผู้ว่าฯ คนหนึ่งประกาศเพื่อของบฯ “ภัยพิบัติ” จากกระทรวงมหาดไทย

นายหาญณรงค์กล่าวย้ำว่าปัญหาที่เรียกว่า ภัยพิบัติ เช่น สึนามิ เขื่อนแตกน้ำท่วมกะทันหัน ไม่ใช้แค่ฝนตกหนักจนน้ำเอ่อขึ้นมาสูงท่วมถนน หรือกรณีตลิ่งพังที่แหลมตะลุมพุก ซึ่งน้ำทะเลเซาะทรายหายไปลึกจนถึงเสาร้านอาหารริมชายหาด ชาวบ้านไม่ได้คิดว่าเป็นปัญหาอะไร เป็นเรื่องปกติของธรรมชาติ พอถึงหน้ามรสุมทรายก็พัดกลับเข้ามาตามเดิม แต่เมื่อนายอำเภอคนใหม่ย้ายไปเห็นเข้าก็สร้างเขื่อนกั้นทันที เพราะคิดว่าเป็นภัย แต่การที่ทรายพัดเข้าฝั่งไม่ได้ต่างหากที่จะกลายเป็นปัญหา

นี่คือตัวอย่างการตัดสินใจแก้ปัญหาของรัฐโดยไม่ได้ถามชาวบ้านก่อน

หรือกรณีน้ำท่วมภาคอีสาน ในเขตลำน้ำสงคราม ชาวบ้านก็ยืนยันว่าไม่มีปัญหา เพราะน้ำท่วมสร้างอาชีพหาปลาให้เขา ส่วนบ้านเรือนชาวบ้านสร้างบนที่ดอน (ที่สูง) อยู่แล้ว แต่ส่วนราชการคิดว่าเป็นปัญหามาก

เช่นเดียวกับน้ำท่วมที่สูงถึงชั้น 1 ที่ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก หรือ อ.กงไกรลาศ จ. สุโขทัย ชาวบ้านก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะท่วมเป็นปกติอยู่แล้ว วิถีของชาวบ้านคือเก็บเกี่ยวข้าวก่อนน้ำมา พอน้ำมาก็หาปลาเลี้ยงชีพ แต่ถ้าปีไหนน้ำไม่ท่วมนั่นแหละ ชาวบ้านจะเดือดร้อนมาก เพราะปลาไม่เข้าบุ่งหรือบ่อดัก จึงไม่มีปลาไว้กินไว้ขายในยามน้ำลด

สิ่งที่เป็นปัญหาอยู่ในวันนี้คือรัฐบาลใช้อำนาจแบบรวมศูนย์ ไม่ยอมใช้กลไกที่มีอยู่ อยากบริหารเอง ตั้งหน่วยงานใหม่โดยอาศัยสถานการณ์เฉพาะหน้า แต่ใช้คนที่ไม่รู้เรื่องมาบริหาร ซึ่งอำนาจแบบรวมศูนย์นั้นดีในสถานการณ์ที่เกิดวิกฤติ ไม่ใช่ในสถานการณ์ปกติ

การปรับแก้การจัดการทรัพยากรไม่ใช่แค่ว่ามีโครงการแล้วจบ แต่มันโยงไปถึงการมีส่วนร่วม การปรึกษาหารือกัน ร่วมกันตัดสินใจ ร่วมกันรับผิดชอบ และเรื่องธรรมาภิบาล

นายหาญณรงค์กล่าวอีกว่าระบบราชการของไทยในปัจจุบันเปลี่ยนไป ใช้ระบบซีอีโอ เอาคนที่ไม่มีประสบการณ์มาบริหารงาน เช่น รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร คนสามารถเป็นอธิบดีได้โดยไม่ต้องเป็นรองอธิบดีมาก่อน ใช้วิธีรับสมัครคนนอกเข้ามาบริหาร ถ้าประเมินผลผ่านก็จบ ข้อดีนั้นก็มี แต่ข้อเสียคือทำให้คนที่ทำงานมาก่อน 40-50 ปี หมดกำลังใจทำงานต่อหรือลาออกไป เพราะส่วนใหญ่คนที่ได้นั่งบริหารคือคนที่มีความใกล้ชิดกับนักการเมือง คนไหนที่ไม่สนิทก็จะไม่เติบโตในหน้าที่การงาน