ThaiPublica > เกาะกระแส > ความคืบหน้าที่ถอยหลังของ พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อผู้บริโภค ?

ความคืบหน้าที่ถอยหลังของ พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อผู้บริโภค ?

14 ตุลาคม 2012


ที่มา: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

ถือเป็นหนึ่งในกฎหมายที่มีการต่อสู้มาอย่างยาวนาน สำหรับร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ….

เพราะนับตั้งแต่ปี 2540 ที่รัฐธรรมนูญ 2540 ประกาศใช้และบัญญัติให้มีองค์กรอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคตามมาตรา 57 เรื่อยมาจนถึงรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ในมาตรา 61 กำหนดให้มีองค์กรเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ

ตลอดระยะเวลากว่า 15 ปี กับการต่อสู้ของภาคประชาชน ยังไม่ประสบความสำเร็จในการผลักดันให้เกิดกฎหมายดังกล่าว

แม้ว่าขณะนี้ ร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. …. จะอยู่ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการร่วมทั้งจากวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณา

แต่กระนั้น ดูเหมือนว่าเป็นความคืบหน้าที่ถอยหลัง!

ด้วยเพราะกฎหมายฉบับดังกล่าว เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลของ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” โดยมีการรับหลักการร่างกฎหมายในวันที่ 6 ตุลาคม 2553 ซึ่งในครั้งนั้นมีร่างกฎหมายทั้งหมด 7 ฉบับ โดยเป็นของคณะรัฐมนตรี 1 ฉบับ ภาคประชาชนที่เข้าชื่อเสนอ 1 ฉบับ และร่างของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและคณะอีก 5 ฉบับ

ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 3 วาระ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาของวุฒิสภาในชั้นของกรรมาธิการวิสามัญ แต่รัฐบาลในขณะนั้นได้ยุบสภา ซึ่งส่งผลให้การพิจารณาต้องยุติลงไปพร้อมๆ กับอายุของรัฐบาล

ด้วยขั้นตอนการพิจารณากฎหมาย ทำให้ร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. …. ต้องตกไปโดยปริยาย แต่ทว่า คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ภายใต้การนำของนางสาว “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ได้เห็นชอบให้ร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นหนึ่งในกฎหมายหลายฉบับให้รัฐสภาชุดใหม่หยิบยกมาพิจารณาต่อ โดยรัฐสภาได้มีมติเอกฉันท์ 511 เสียง ในการเดินหน้าพิจารณาในขั้นของวุฒิสภาต่อไป

เมื่อมาถึงชั้นวุฒิสภา ได้ดำเนินการแก้ไขร่างกฎหมายนี้ใน 4 ประเด็นหลัก คือ

1. เพิ่มงบประมาณจาก 3 บาท เป็น 5 บาทต่อหัวของประชากรทั้งหมด

2. เพิ่มองค์ประกอบคณะกรรมการสรรหาจาก 8 คน เป็น 9 คน โดยมีผู้แทนจากที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยของรัฐ 1 คน เป็นกรรมการสรรหา

3. เพิ่มคุณสมบัติอายุกรรมการจาก 25 ปี เป็น 35 ปี

4. มีบทลงโทษคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคหากปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบ

ดูเสมือนว่าหนทางที่จะนำไปสู่การประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.ของภาคประชาชนนี้ใกล้จะถึงฝั่งฝัน

แต่เมื่อส่งร่างแก้ไขไปยังสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้ความเห็นชอบ ซึ่งถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ นั้น ปรากฏว่าสภาผู้แทนราษฎรไม่ให้ความเห็นชอบกับร่างกฎหมายดังกล่าว และได้ตั้งคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

การทำหน้าที่ของกรรมาธิการร่วมรัฐสภา นำไปสู่ความหวั่นวิตกของภาคประชาชนว่า จะมีความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นในขั้นตอนของการพิจารณากฎหมาย โดยเชื่อว่าผู้กุมเสียงข้างมากในสภาต้องการที่จะรื้อกฎหมายใหม่ทั้งฉบับ

นั่นคือการให้มีองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ แต่องค์กรผู้บริโภคฯ จะไม่มี “แขน-ขา” หรือ “อำนาจ” ในการทำหน้าที่ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

ที่มา: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2555 ที่ผ่านมา ที่มูลนิธิเพื่อนผู้บริโภค มีการรวมพลของตัวแทนภาคประชาชนที่ร่วมเรียกร้องให้เกิดกฎหมายดังกล่าว ในงานเสวนาเรื่อง “พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค จะให้รอถึง พ.ศ. ไหน? หะ! สภาไทยหยุดตอนกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค”

โดยมีผู้ร่วมเสวนา อาทิ รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน, น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว. กทม., นายไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค เป็นต้น

ในวงเสวนาได้ตั้งข้อสังเกตถึงการทำงานของคณะกรรมาธิการร่วมรัฐสภาดังนี้

1. มีความพยายามในการลดหรือตัดตอนบทบาทของคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค

2. ไม่ให้มีการตรวจสอบภาคเอกชนและภาคธุรกิจ

3. ไม่ให้มีบทบาทในการเปิดเผยชื่อสินค้าหรือบริการที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภค

4. ไม่ให้มีบทบาทส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดพิจารณา แต่งตั้งพนักงานอัยการดำเนินคดีตามที่อัยการสูงสุดเห็นสมควร

5. ไม่ให้มีบทบาทในการสนับสนุนการใช้สิทธิร้องเรียนหรือดำเนินคดีของผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภค

ที่สำคัญ มีการปรับแก้ไขสมาคมหรือมูลนิธิที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. ฟ้องคดีแทนได้แต่ภายใต้ตามลักษณะหรือประเภทคดีที่คณะกรรมการกำหนด และก่อนที่จะดำเนินการฟ้องต้องขออนุญาตและได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเสียก่อน

เหตุผลข้างต้นจึงทำให้ในวงเสวนาเห็นตรงกันว่า ท้ายที่สุด แม้จะมีองค์กรอิสระเพื่อผู้บริโภคเกิดขึ้นจริง แต่คงจะเป็นไปอย่างพิกลพิการ ไม่เป็น “อิสระ” และไม่สามารถคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง

“สิ่งที่กำลังตัดตอน มันสำคัญกับกระบวนการคุ้มครองผู้บริโภค ยกตัวอย่างเรื่องแคลิฟอร์เนียฟิตเนสที่เพิ่งเกิดขึ้น เรารู้ว่าบริษัทนี้มีปัญหากับลูกค้า พอเริ่มมีปัญหาจริงๆ องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคที่ดีต้องเตือนผู้บริโภคว่าคุณจะต้องพึงระวัง รู้อะไร ทำอะไร แต่ถ้าไม่มีอำนาจในการเปิดเผยชื่อสินค้าเลย มีปัญหา และต้องมีการตรวจสอบธุรกิจ หลังจากที่ไปตรวจสอบพบว่ามีกิจการที่อาจจะไม่สามารถดำเนินกิจการได้ มีหนี้มากกว่าทุนตั้งแต่ปี 2552 ผู้รับบัญชีอนุญาตไม่รับรองบัญชี ดังนั้น ถ้าไม่ให้ตรวจสอบสิ่งเหล่านี้ ก็ไม่มีโอกาสรู้เลย” น.ส.สารีกล่าว

น.ส.สารีระบุว่า การตรวจสอบทำให้มีหลักฐานมากขึ้น จะนำไปสู่การทำคดีอาญาหรือคดีแพ่งโดยหน่วยงานของรัฐต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ ก็จะสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนประเด็นเรื่องงบประมาณนั้น หากคิดตามเปอร์เซ็นต์ของจำนวนงบประมาณทั้งหมด คิดเป็น 0.001 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น ซึ่งถือว่ามูลค่าไม่มากเลยในการที่จะดูแลผู้บริโภคในประเทศ

ด้าน น.ส.รสนา หนึ่งในกรรมาธิการร่วมฯ กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้สร้างความอึดอัดใจค่อนข้างมาก และสับสนว่าคนที่เข้ามาเป็นกรรมาธิการเข้าใจเนื้อหาร่างกฎหมายฉบับนี้หรือไม่ เพราะหลังจากวุฒิสภาแก้ไขและส่งไปสภาผู้แทนแล้วสภาผู้แทนไม่เห็นด้วย กรรมาธิการก็มาคุยกันในประเด็นที่เห็นต่างกัน เช่น กรณี 3 บาท หรือ 5 บาท แต่เท่าที่เห็น เชื่อว่าการหยิบยกประเด็นเหล่านี้มาพูดคุยคงเป็นการตีรวนมากกว่า

“ต้องยอมรับว่า กฎหมายฉบับนี้เป็นร่างที่เสนอเข้ามาในสมัยรัฐบาลของประชาธิปัตย์ แต่ขณะนี้เป็นรัฐบาลเพื่อไทย วันนี้ฟันธงได้เลยว่าเขาต้องการรื้อทั้งฉบับ และไม่ได้เกี่ยวกับ 3 บาท หรือ 5 บาท อันนั้นเป็นเพียงข้ออ้าง อย่าไปคิดว่าวุฒิสภาแก้ไขเลยต้องทำให้กลับไปที่สภาผู้แทนราษฎร เพราะเคยมีเหตุลักษณะเดียวกันนี้เกิดขึ้นมาแล้วในการพิจารณากฎหมาย สตง. แม้ว่าวุฒิสภาไม่แก้ไข แต่สภาผู้แทนราษฎรก็ไม่เห็นผ่านอยู่ดี เรื่องนี้เป็นประเด็นการเมืองระหว่างต่างพรรคกัน”

“ต้องบอกเลยว่า ในกระบวนการที่จะให้เครื่องมือกับประชาชนในการต่อสู้กับธุรกิจซึ่งเป็นผู้ผลิต เป็นไปได้ยากมาก เพราะเครือข่ายแวดวงการเมืองทั้งหลายเขาอยู่ได้โดยอาศัยเครือข่ายธุรกิจ หรือบางทีเขาเป็นเจ้าของธุรกิจเสียเอง ดังนั้น การที่จะให้เครื่องมือที่จะไปตรวจสอบเขา เขาก็ต้องพยายามกำจัดเครื่องมือให้น้อยที่สุด วันนี้เรายอมให้เขาเลยทุกอย่าง เพื่อไม่ให้เขามาอ้างว่าเป็นเพราะเขาไม่เห็นด้วยกับวุฒิสภาแล้วจะยื้อกฎหมายฉบับนี้ เรื่องงบประมาณอยากให้แค่ไหนก็กำหนดเลย แต่ถ้ากฎหมายฉบับนี้มันตก ก็ให้เป็นความรับผิดชอบของเขา ให้ไปตอบประชาชนเองว่า ไหนคุณรักประชาธิปไตยทุกอย่าง แต่พอกฎหมายที่จะให้เครื่องมือกับประชาชนในการตรวจสอบกลับไม่ได้” น.ส.รสนากล่าว

อย่างไรก็ตาม เครือข่ายผู้บริโภคจะเข้าพบนายกรัฐมนตรีในวันที่ 24 ตุลาคมนี้ เพื่อแสดงจุดยืนในการเรียกร้องให้มี พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. …. หลังจากรอคอยมานานกว่า 15 ปี!

ประชาชนจะได้อะไรจากการมีองค์กรอิสระเพื่อผู้บริโภค?

คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มีอำนาจหน้าที่ดังนี้

1. ตรวจสอบการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค และรายงานไปยังหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบ และอาจรายงานเรื่องดังกล่าวไปยังคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา รวมทั้งเผยแพร่เรื่องดังกล่าวต่อสาธารณชน ทั้งนี้ ในหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบดังกล่าว ต้องรายงานผลการพิจารณาและการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวต่อคณะกรรมการภายในระยะเวลาอันสมควร

2. ดำเนินการและสนับสนุนการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นจริง หรือแจ้งหรือโฆษณาข่าวสารเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือเสื่อมเสียแก่สิทธิของผู้บริโภค ในการนี้จะระบุชื่อสินค้าหรือบริการหรือชื่อของผู้ประกอบการด้วยก็ได้

3. สนับสนุนการใช้สิทธิร้องเรียนหรือการดำเนินคดีของผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภค ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำของผู้ประกอบการ และดำเนินการให้มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างผู้บริโภคและผู้ประกอบการ

4. ดำเนินคดีต่อศาลยุติธรรมหรือศาลปกครองเพื่อพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ซึ่งคณะกรรมการเห็นว่า การดำเนินคดีนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคเป็นส่วนรวม โดยคณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานอัยการโดยความเห็นชอบของอัยการสูงสุด หรือเลขาธิการ หรือพนักงานขององค์การ เพื่อให้มีหน้าที่ดำเนินคดี รวมทั้งมีอำนาจฟ้องเรียกทรัพย์สินหรือค่าเสียหายให้แก่ผู้บริโภคที่ร้องขอได้ด้วย ทั้งนี้ การฟ้องร้องและดำเนินคดีดังกล่าวให้ได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง แต่ไม่รวมถึงความรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นที่สุด

5. สนับสนุนและให้การช่วยเหลือแก่องค์กรผู้บริโภคในด้านต่างๆ เพื่อการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์กรผู้บริโภค ตลอดจนประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค

6. ส่งเสริมการศึกษาและวิจัย รวมทั้งจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากองค์กรผู้บริโภคหรือประชาชน เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ

7. จัดให้มีการประชุมสมัชชาองค์กรผู้บริโภคอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง เพื่อประเมินการดำเนินงานขององค์กร และติดตามตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค เพื่อเสนอแนะแนวทางในการดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภค

8. กำหนดนโยบายและกำกับดูแลการดำเนินงานขององค์กร ให้เกิดการจัดการที่ดี และบรรลุวัตถุประสงค์ตามหน้าที่