ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > กรรมาธิการคาใจ ให้สัมปทานปิโตรเลียมล็อตใหม่ ยังยึดสูตร “ไทยแลนด์ ทรี” ชี้ไทยเสียประโยชน์

กรรมาธิการคาใจ ให้สัมปทานปิโตรเลียมล็อตใหม่ ยังยึดสูตร “ไทยแลนด์ ทรี” ชี้ไทยเสียประโยชน์

15 กรกฎาคม 2012


เมื่อวันที่ 2 ก.ค.2555 น.ส.รสนา โตสิตระกูล ประธานคณะอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาล (ขวา) และ พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี ประธานเครือข่ายสภาธรรมภิบาล (ซ้าย) ร่วมกันแถลงข่าวที่รัฐสภา เรียกร้องให้มีการขึ้นค่าภาคหลวงฯ
เมื่อวันที่ 2 ก.ค.2555 น.ส.รสนา โตสิตระกูล ประธานคณะอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาล (ขวา) และ พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี ประธานเครือข่ายสภาธรรมภิบาล (ซ้าย) ร่วมกันแถลงข่าวที่รัฐสภา เรียกร้องให้มีการขึ้นค่าภาคหลวงฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2555 ที่ห้องรับรอง 2 อาคารรัฐสภา 2 มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและการเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ที่มี น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. เป็นประธานในการประชุม มีวาระเพื่อพิจารณาการให้สัมปทานปิโตรเลียม ครั้งที่ 21โดยได้เชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเข้าชี้แจง แต่ รมว.พลังงานได้มอบหมายให้ นายชวลิต พิชาลัย รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และนางบุญบันดาล ยุวนะศิริ ผู้อำนวยการ สำนักบริหารสัมปทานปิโตรเลียม เป็นตัวแทนเข้าชี้แจงแทน

น.ส.รสนากล่าวว่า กมธ. ขอทราบข้อมูลเกี่ยวกับการให้สัมปทานรอบที่ 21 เกี่ยวกับการขุดเจาะแหล่งปิโตรเลียมในประเทศไทย ที่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวัน 26 มิถุนายน 2555 ที่มีประกาศจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติที่จะให้พื้นที่ 4.5 หมื่นตารางกิโลเมตร ซึ่งพื้นที่หลักๆ อยู่ในภาคอีสาน ส่วนพื้นที่ในทะเลมี 4 แปลง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ประชาชนยื่นข้อร้องเรียนมายัง กมธ.ว่าขอให้ชะลอการให้สัมปทานในพื้นที่ดังกล่าวไปก่อน จนกว่าจะมีข้อตกลงในเรื่องของผลตอบแทนที่รัฐควรจะได้มากกว่าที่เป็นอยู่คือ 5-15% ซึ่งถือว่าค่อนข้างต่ำ ทั้งนี้มีประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว อยากทราบว่ากระบวนการให้สัมปทานมีอะไรบ้าง

นายชวลิตกล่าวว่า ภาพรวมภายใต้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 ขณะนี้มีการเปิดสัมปทานไปแล้ว 20 รอบ โดยปัจจุบันกำลังจะเปิดรอบที่ 21 ปัจจุบันสัมปทานมีทั้งหมด 63 สัมปทาน 79 แปลงสำรวจ แบ่งออกเป็นบนบก 40 แปลงสำรวจ อ่าวไทย 36 แปลงสำรวจ และอันดามันฝั่งตะวันตก 13 แปลง ซึ่งแหล่งปิโตรเลียมที่มีการสำรวจมีทั้งที่พบและไม่พบก๊าซธรรมชาติ โดยที่พบมีจำนวน 59 แหล่ง โดยแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ปิโตรเลียมที่มีการจัดหา โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 801,360 บาร์เรลต่อวัน แก๊สธรรมชาติ 3,317 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน คิดเป็น 80 % ที่เหลือมีการนำเข้าจากแหล่งยาดานา เยดากุน และเอ็ม 9 ขณะที่ในส่วนของน้ำมันมีแก๊สธรรมชาติเหลวอยู่ที่ 92,170 บาร์เรลต่อวัน น้ำมันดิบอยู่ที่ 138,937 บาร์เรลต่อวัน

สาเหตุที่มีการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 วัตถุประสงค์หลักเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน เพราะพลังงานของประเทศในขณะนี้อยู่ในช่วงสูงสุด หลังจากนี้จะเริ่มลดน้อยถอยลงตามลำดับจนถึงปี 2565 ปัจจุบันประเทศไทยมีแหล่งปิโตรเลียมในประเทศคิดเป็น 43 % ของความต้องการใช้พลังงานขั้นต้นของประเทศ ที่เหลือต้องมีการนำเข้า

ดังนั้น เพื่อลดภาระการนำเข้า จำเป็นที่จะต้องมีการเปิดสัมปทานรอบใหม่เพื่อสนองความต้องการการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้นในช่วง 5 ปีนับจากนี้ และขณะนี้ราคาปิโตรเลียมอยู่ในช่วงค่อนข้างสูง 100 เหรียญต่อบาร์เรลจากเดิม 30 เหรียญต่อบาร์เรล ทำให้ผลตอบแทนเพียงพอที่นักลงทุนจะมาลงทุน โดยแหล่งปิโตรเลียมของไทย 66 % ส่วนใหญ่มาจากการเปิดรอบที่ 1 เพราะรอบสัมปทานอื่นนั้นจะเป็นแหล่งขนาดเล็ก

นายชวลิตกล่าวต่อว่า หลักเกณฑ์ในการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ประกอบด้วยขั้นตอนดังนี้ 1. กรมเชื้อเพลิงจะจัดทำประกาศกระทรวงพลังงานเชิญชวนขอให้ยื่นสัมปทานปิโตรเลียม โดยเสนอต่อคณะกรรมการปิโตรเลียม ที่มีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน หลังจากที่คณะกรรมการชุดดังกล่าวให้ความเห็นชอบแล้ว จะเสนอต่อ รมว.พลังงานและคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป

2. กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะประกาศกำหนดเขตพื้นที่แปลงสัมปทานเปิดให้ยื่นสัมปทาน โดยส่งให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนนี้ โดยมีการประกาศจำนวน 22 แปลง แบ่งเป็นภาคเหนือและกลาง 6 แปลง ภาคคะวันออกเฉียงเหนือ 11 แปลง และอ่าวไทย 5 แปลงสำรวจ

3. เมื่อ ครม. ให้ความเห็นชอบแล้ว กรมเชื้อเพลิงจะมีการจัดทำเอกสารประกาศเชิญชวนให้ยื่นสัมปทาน ประกอบด้วย เขตพื้นที่และแผนที่แปลงสำรวจที่เปิดให้ยื่นขอสัมปทาน คุณสมบัติของผู้ยื่น สิทธิของสัมปทานปิโตรเลียม โดยจะต้องมีคุณสมบัติตาม มาตรา 24 แห่ง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ซึ่งผู้ขอสัมปทานจะต้องเป็นบริษัทมีทุน เครื่องจักร อุปกรณ์ และผู้เชี่ยวชาญเพียงพอที่จะผลิตขายและจำหน่ายปิโตรเลียม

นายชวลิตกล่าวว่า ส่วนหลักเกณฑ์การพิจารณาให้สัมปทานนั้น จะพิจารณาจากความน่าเชื่อถือของผู้ที่ยื่นสัมปทาน ชื่อเสียง ประสบการณ์ และความมั่นคงทางการเงิน รวมไปถึงหนังสือค้ำประกันจากทางธนาคาร ทั้งนี้ในการพิจารณาคำขอต้องคำนึงถึงความเหมาะสม โดยความสำคัญลำดับแรกที่จะพิจารณาคือ ความสามารถของบริษัทในการจัดการปิโตรเลียมให้กับประเทศได้อย่างมั่นคง ส่วนของรายได้เป็นลำดับรองลงมา

ขณะนี้กำหนดแผนในเบื้องต้นว่า จะมีการออกประกาศเพื่อกำหนดในส่วนของให้บริษัทต่างๆ มายื่นขอสัมปทาน โดยจะให้ระยะเวลาในการยื่นทั้งหมด 120 วันหลังจากเปิดสัมปทานแล้ว จากนั้นจะมีกรรมการพิจารณาผลตามหลักเกณฑ์ต่างๆ และนำเสนอสู่คณะกรรมการปิโตรเลียมให้ความเห็นชอบอีกครั้งก่อนเสนอ รมว.พลังงานและ ครม. ต่อไป

น.ส.รสนาถามว่า ค่าภาคหลวงที่มีคนตั้งคำถามว่าน่าจะมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพราะสัดส่วนที่ได้ค่อนข้างต่ำ ขณะที่ราคาปิโตรเลียมพุ่งขึ้นสูงมากแต่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงไม่ได้เพราะเหตุใด นางบุญบันดาลชี้แจงว่า ในกรณีของบริษัทเชฟรอน ละบริษัทปตท.สผ. เป็นผู้ได้รับสัมปทานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 ภายใต้ระบบสัมปทานแบบไทยแลนด์วัน (Thailand 1) ซึ่งมีค่าภาคหลวงเป็นค่าคงที่อยู่ที่ 12.5 % บวกกับภาษีเงินได้ปิโตรเลียม 50 %

ต่อมาปี 2532 มีการเปลี่ยนรูปแบบของการจัดเก็บค่าภาคหลวงใหม่ในลักษณะที่ถ้าผู้สัมปทานมีผลประโยชน์มากขึ้นรัฐก็จะมีผลประโยชน์มากขึ้นตาม โดยมีการเปลี่ยนค่าภาคหลวงจาก 12.5% เป็นแบบขั้นบันไดระหว่าง 5-15% แหล่งที่มีขนาดเล็กจะได้มีการพัฒนาตัวเองขึ้นมาได้ ขณะที่แหล่งขนาดใหญ่จะเก็บค่าภาคหลวงมากขึ้น

นางบุญบันดาลกล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีการเก็บผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ โดยในกรณีถ้าเป็นแหล่งขนาดใหญ่หรือมีราคาน้ำมันสูงขึ้น รัฐจะได้เพิ่มจากตัวนี้ รวมไปถึงการเก็บภาษีปิโตรเลียมอีก 50 % ฉะนั้น ผลประโยชน์ตอนนี้ของรัฐมาจากการเก็บค่าสัมปทานในระบบไทยแลนด์ทรี (Thailand 3) เมื่อคิดในสัดส่วนของการแบ่งผลประโยชน์กันแล้วส่วนที่รัฐได้จะอยู่ที่ 60-75 % โดยอัตราส่วนตรงนี้จะนำมาใช้กับการเปิดสัมปทานรอบที่ 21

น.ส.รสนากล่าวว่า เหตุใดเมื่อคิดเป็นเม็ดเงินแล้ว ค่าตอบแทนที่รัฐได้รับมีจำนวนไม่ถึง 60-70 % ตามที่อ้าง แต่อยู่ที่ 29 % เท่านั้น นางบุญบันดาลกล่าวว่า ในการแก้กฎหมาย พ.ศ. 2532 ที่มีการเปลี่ยนระบบใหม่ไม่ได้มีผลย้อนหลังไปใช้กับผู้รับสัมปทานรายเดิม ถ้าจะให้คำนวณตัวเลข จะต้องนำเฉพาะผู้ได้รับสัมปทานเฉพาะผู้ที่อยู่ภายใต้กฎหมายหลังปี 2532 มาคำนวณ

น.พ.เจตน์ถามว่า สัมปทาน 2514 มีอายุกี่ปี มีการต่ออายุสัมปทานหรือไม่ ในสัญญาสัมปทานนั้นผลประโยชน์ที่ได้เพิ่มขึ้นจากการต่อสัญญามีอะไร นางบุญบันดาล กล่าวว่า ใน พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ม. 25 ระบุว่า ระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียมมีระยะเวลา 8 ปี ถ้าผู้ที่ได้รับสัมปทานปฏิบัติตามสัมปทานทุกประการ มีสิทธิขอต่อระยะเวลาสำรวจอีก 4 ปี ม. 26 ระบุว่า ระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมเป็นระยะเวลา 30 ปี มีสิทธิขอต่ออีก 10 ปี ประมาณ 10 ปีที่ผ่านมาผู้ได้รับสัมปทานคือบริษัท ปตท.สผ. กับบริษัทเชฟรอน ได้ขอใช้สิทธิขอต่อสัมปทานระยะเวลาการผลิตออกไป เพราะสัมปทานแรกที่ได้ 30 ปี จะสิ้นสุดในปี 2555-2556 ซึ่งสัมปทานของทั้ง 2 บริษัทยึดแบบไทยแลนด์วันตามสัญญาสัมปทานเดิม แต่ทางคณะกรรมการปิโตรเลียมเห็นว่าข้อกฎหมายสามารถมีการเจรจาตกลงกันได้ จึงเป็นที่มาที่ทางบริษัทเชฟรอนต้องจ่ายผลประโยชน์เพิ่มขึ้นประมาณ 750 ล้านเหรียญสหรัฐตลอดระยะเวลา 10 ปีที่จะได้รับการต่อสัมปทาน ส่วน ปตท.สผ. ยอมจ่ายเป็นเปอร์เซ็นต์ของปริมาณสะสมของปิโตรเลียมที่ทำการผลิตขึ้นมา

ที่มาภาพ : http://www.thairath.co.th
ที่มาภาพ : http://www.thairath.co.th

ด้าน มล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี เลขานุการ กมธ. ถามว่า การแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2532 มีการแก้ไขจากเดิมที่เก็บค่าภาคหลวง 12.5% เป็นการเก็บแบบขั้นบันได 5-15% ถ้ามีการผลิตได้ 1,000 บาร์เรลต่อวัน ค่าภาคหลวงจะอยู่ที่ 5% ผลตอบแทนที่รัฐจะได้ลดลงเหลือครึ่งหนึ่ง และในท้าย พ.ร.บ. ยังหมายเหตุว่าเนื่องจากราคาปิโตรเลยมตกต่ำ แต่ 5-7 ปีที่ผ่านมา ราคาปิโตรเลียมเพิ่มสูงขึ้นแต่ พ.ร.บ. กลับไม่ถูกแก้ ดังนั้น หมายเหตุท้าย พ.ร.บ. ปี 2532 ขัดกับภาวะในปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง กระทรวงพลังงานน่าจะเสนอแก้ไขกฎหมายดังกล่าวหรือไม่

นางบุญบันดาลกล่าวว่า เหตุผลที่ปรากฏอยู่ในการแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม อันดับแรกคือ แหล่งปิโตรเลียมของไทยเหลือแต่แหล่งขนาดเล็กที่ผลิตประมาณ 300 บาร์เรลต่อวัน ขณะที่ผู้ที่ได้รับสัมปทานในรอบแรกๆ จะได้แหล่งสัมปทานขนาดใหญ่ซึ่งสามารถผลิตได้ถึง 70% ของปิโตรเลียมที่ไทยผลิตได้ทั้งหมด เหตุผลที่สองมาจากค่าน้ำมันที่ต่ำลง เราเก็บค่าภาคหลวงที่ 12.5% แหล่งขนาดเล็กไม่สามารถที่จะพัฒนาตัวเองขึ้นมาได้ จึงมีการแก้กฎหมายว่าแหล่งขนาดเล็กเก็บน้อยแต่แหล่งขนาดใหญ่ก็เก็บเพิ่มขึ้น เพราะเรามองความเป็นธรรม เขามาลงทุนสำรวจโดยที่รัฐไม่ได้จ่ายเงินค่าการสำรวจแต่อย่างใด ผู้รับสัมปทานเป็นผู้รับผิดชอบการลงทุนทั้งหมด ความเสี่ยงจะอยู่กับผู้รับสัมปทาน แต่ถ้าเมื่อใดมีการขุดขึ้นมา เราถึงจะเข้าไปเก็บในตัวของผลประโยชน์ตัวนั้น เพราะเราเองอยากมีแหล่งปิโตรเลียมในประเทศ

“เชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้ทำการทบทวนและทำการศึกษาตัวนี้มาโดยตลอด มองว่าแหล่งของไทยยังเป็นแหล่งที่มีขนาดเล็ก สู้ของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า ไม่ได้อยู่แล้ว แต่ในส่วนของประเทศกัมพูชานั้นยังไม่มีการผลิตปิโตรเลียมขึ้นมา” นางบุญบันดาลกล่าว

น.ส.รสนากล่าวว่า แม้ว่าประเทศกัมพูชาจะยังไม่มีการผลิต แต่กำหนดเงื่อนไขว่าจะเก็บค่าภาคหลวงคงที่ 12.5 % หลังจากนั้นส่วนแบ่งของรัฐที่เป็นเรื่องกำไรน้ำมัน 40-60 % ก๊าซ 35 % ถามว่าทำไมเขาถึงสามารถทำอย่างนี้ได้ แต่ของเรายังอยู่เหมือนเดิมทุกอย่างเลย นอกจากนี้ประเทศอื่นๆ ยังมีกำหนดเงื่อนไขว่าไม่ต้องการส่วนแบ่งกำไรแล้ว แต่เปลี่ยนเป็น Production Sharing ขุดมาเท่าไหร่ก็แบ่งกันเลย ซึ่งตนคิดว่าวิธีการนี้ดีที่สุด ถ้าจะเปลี่ยน อุปสรรคอยู่ตรงไหน รวมไปถึงอุปกรณ์การขุดเจาะเป็นของรัฐใช่หรือไม่ แต่ของไทยอุปกรณ์ไม่ตกของรัฐ ต้องให้รายเก่าต่ออายุไปเรื่อยๆ และอุปกรณ์ทุกอย่างที่มีการขนเข้ามาได้รับการยกเว้นภาษี ซึ่งอุปกรณ์ที่ขนเข้ามามีมูลค่ากว่า 1.7 หมื่นล้านดอลล่าร์ เรื่องดังกล่าวเป็นจริงหรือไม่

นางบุญบันดาลกล่าวว่า ประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านมีลักษณะข้อตกลงที่ไม่เหมือนกัน ประเทศเราเลือกระบบที่เหมาะกับประเทศ เพราะเราต้องการให้มีการสำรวจพบแหล่งในประเทศ ขณะที่ผลการสำรวจข้อมูลที่ได้มานั้น แหล่งของไทยไม่ได้มีมากเท่ากับมาเลเซียหรืออินโดนีเซีย แล้วแต่ว่าจะใช้ลักษณะไหนที่เหมาะกับไทย ทั้งนี้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติยืนยันว่า ระบบสัมปทานแบบไทยแลนด์ทรี ที่จะใช้กับการขอเปิดสัมปทานรอบที่ 21 มีความเหมาะสมกับการเปิดสัมปทานในครั้งนี้มาก

“ส่วนที่ กมธ. ตั้งข้อสังเกตว่า สถานการณ์ในปี 2532 กับปัจจุบันส่วนไหนมีเหมือนและต่างกันนั้น ขอยืนยันเหตุผลเดิมว่า ขณะนี้แหล่งปิโตรเลียมในประเทศไทยเป็นแหล่งขนาดเล็ก ไม่ใหญ่เหมือนที่ค้นพบในปี 2514 ส่วนที่ระบุถึงค่าน้ำมันที่ต่ำลงจึงต้องการที่จะปรับปรุงใหม่นั้น ไม่ได้เป็นเพียงแค่ว่าให้ประโยชน์กับผู้รับสัมปทานที่อาจะเจอแหล่งขนาดเล็กและเสียค่าภาคหลวงเพิ่มขึ้น แต่ถ้าเป็นในลักษณะที่มีราคาน้ำมันสูง ก็จะมีตัวผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ ค่าภาคหลวงที่ไปถึง 15 % เป็นการเก็บส่วนเพิ่มที่เพิ่มมากขึ้น ถ้าราคาน้ำมันสูงขึ้นเราก็จะได้ค่าภาคหลวงเพิ่มขึ้นตามมูลค่าที่เพิ่มขึ้น ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษที่เพิ่มขึ้น และได้ภาษีเพิ่มขึ้นจากตัวกำไร” นางบุญบันดาลกล่าว

อย่างไรก็ตาม มล.กรกสิวัฒน์ แย้งว่า “กฎหมายปี 32 น่าจะล้าสมัยกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เช่น หลุมเจาะที่ 1,000 บาร์เรลต่อวัน คิดเป็น 58 ล้านลิตรต่อปี หลุมนี้ถ้าเป็นกฎหมายเดิมได้ 12.5% ถ้าเป็นปัจจุบันจะเหลือ 5 % หลุมนี้มีมูลค่าปิโตรเลียมทั้งสิ้น 1,160 ล้านบาท ในปี 2532 ออกมา 100 กว่าล้านก็โอเค แต่วันนี้ราคาพลังงานปรับขึ้นไปแล้วเป็น 100 เหรียญ กฎหมายตัวนี้ไม่ทันสมัยแล้ว และช่วงที่ราคาน้ำมันพุ่งสูง มีหลายประเทศลุกขึ้นมาแก้ไขกฎหมายกันหมดเลย โดยเฉพาะอเมริกาใต้ มีแต่ไทยประเทศเดียวที่ไม่แก้ และงบการเงินวันนี้อย่าง ปตท.สผ. รายงานว่าได้กำไร 8.4 หมื่นล้าน สูงขึ้นจากปีก่อน 7 หมื่นกว่าล้าน ตัวเลขที่ปรากฏไม่แสดงให้เห็นว่าเป็นธุรกิจที่ยังยากลำบาก”

พล.ต.ท.ทวีศักดิ์ ตั้งข้อสังเกตว่า มูลเหตุการประกาศแปลงสัมปทานที่ 21 เพื่อต้องการลดการนำเข้า มีเงื่อนไขหรือไม่ว่าการขุดเจาะสำรวจผลิตภัณฑ์ขึ้นมาต้องจำหน่ายในประเทศไทยเท่านั้น เพราะถ้าอ้างถึง ม. 64 (2) ผู้ที่ได้รับสัมปทานมีสิทธิที่จะส่งออก ยกเว้นถ้าเข้าเงื่อนไข ม. 61 หรือว่าเพื่อความจำเป็นในการบริโภคภายใน ซึ่งรัฐมนตรีสามารถออกประกาศกำหนดได้ เงื่อนไขสัมปทานมีบอกไว้หรือไม่ว่า ผลผลิตที่ได้จะจำหน่ายในประเทศไทยเท่านั้น ถ้าไม่ทำแสดงว่า รมว.พลังงานจะทำผิดกฎหายมาตรานี้หรือไม่

นพ.เจตน์ ตั้งข้อสังเกตถึงการให้สัมปทานว่าเข้าลักษณะ พ.ร.บ.ร่วมทุนหรือไม่ โดยนางบุญบันดาลกล่าวว่า ในช่วงที่ต่อสัมปทานปิโตรเลียมในปี 2550 ต่อตามที่กฎหมายกำหนด ถ้าผู้ได้รับสัมปทานปฏิบัติตามสัมปทานทุกประการ และขอต่อระยะเวลาผลิต ผู้ได้รับสัมปทานมีสิทธิที่จะได้รับการต่อระยะเวลาผลิต ไม่ได้ให้สัมปทานใหม่แต่เป็นการต่อภายใต้สัมปทานเดิม ส่วน พ.ร.บ.ร่วมทุนใช้สำหรับกิจการที่ไม่มีกฎหมายกำหนด แต่กิจการปิโตรเลียมมีกฎหมายกำหนด ดังนั้น กิจการปิโตรเลียมในปี 2535 ยกเว้นการให้สัมปทานใน พ.ร.บ.ปิโตรเลียม เพราะเห็นว่า พ.ร.บ.ปิโตรเลียมมีกฎกระทรวงที่เป็นแบบของสัมปทานอยู่แล้ว การจัดเก็บผลประโยชน์ของรัฐและการให้สัมปทานทุกอย่างไม่ได้กำหนดด้วยสัมปทาน แต่กำหนดด้วยกฎหมายปิโตรเลียม

“กรณี พ.ร.บ.ร่วมทุนนั้น ทางเราได้ทำชี้แจงต่อ ครม. ซึ่ง ครม. เห็นว่ากฎหมายปิโตรเลียมมีองค์ประกอบทุกอย่างมากยิ่งกว่า พ.ร.บ.ร่วมทุน เพราะขั้นตอนการพิจารณาต้องเข้า ครม. และมีแบบสัมปทาน ซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย กฎกระทรวง ทาง ครม. จึงเห็นว่ากฎหมายปิโตรเลียมมีขั้นตอนอยู่แล้ว พ.ร.บ.ร่วมทนจึงยกเว้นการให้สัมปทานปิโตรเลียมเพราะมีกฎหมายเฉพาะกำหนดไว้”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุม กมธ. ส่วนใหญ่ได้สอบถามถึงตัวเลขที่ทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาตินำมาแสดงต่อ กมธ. แต่ตัวเลขยังมีความสับสน ทำให้ กมธ. กำชับให้ตัวแทนจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติสรุปตัวเลขที่แท้จริงนำมาเสนอต่อ กมธ. อีกครั้งในสัปดาห์หน้า รวมไปถึงการเปรียบเทียบสัดส่วนผลประโยชน์ของรัฐที่ได้จากการให้สัมปทานน้ำมันของทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาแสดงต่อ กมธ. ด้วย ทั้งนี้ในการประชุมครั้งต่อไปจะมีขึ้นในวัน 19 กรกฎาคมนี้ โดย กมธ. จะเชิญ รมว.พลังงานและอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเข้าชี้แจงอีกครั้งหนึ่ง