ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > กมธ.วุฒิสภา พร้อมใช้ พ.ร.บ.คำสั่ง เรียก รมว.พลังงาน แจงสัมปทานปิโตรเลียม – เข้าชื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปตาม ม. 161

กมธ.วุฒิสภา พร้อมใช้ พ.ร.บ.คำสั่ง เรียก รมว.พลังงาน แจงสัมปทานปิโตรเลียม – เข้าชื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปตาม ม. 161

27 กรกฎาคม 2012


ที่มาภาพ : http://vault.gotoknow.org
ที่มาภาพ : http://vault.gotoknow.org

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 26 กรฎาคม ที่ห้องรับรอง 2 อาคารรัฐสภา 2 มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและการเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ที่มี น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว. กทม. เป็นประธาน มีวาระพิจารณาประเด็นการเปิดให้สัมปทานปิโตรเลียม ครั้งที่ 21 ของกระทรวงพลังงาน การประชุมครั้งนี้ไม่มีตัวแทนจากกระทรวงพลังงานเข้าชี้แจง โดย กมธ. ได้หารือกันถึงประเด็นดังกล่าว ซึ่ง น.ส.รสนาระบุกับที่ประชุมว่า กมธ. ได้ส่งหนังสือให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานตอบคำถามเพิ่มเติมจำนวน 7 ข้อ ประกอบด้วย

1. การคิดค่าภาคหลวงในอัตรา 5-15 เปอร์เซ็นต์ตามรายหลุมเจาะหรือคิดเป็นผลผลิตทั้งแหล่ง

2. ขอทราบขั้นตอนการตรวจสอบเพื่อทราบปริมาณปิโตรเลียมที่แท้จริงเพื่อใช้คำนวณค่าภาคหลวง

3. ขอรายละเอียดผลตอบแทนพิเศษของแต่ละแหล่งสัมปทานปิโตรเลียม ทั้งการให้สัมปทานครั้งแรกและการต่อสัมปทานปิโตรเลียม

4. การโอนหรือขายสัมปทานปิโตรเลียมให้บุคคลอื่นทุกรายการพร้อมราคา

5. เปรียบเทียบข้อแตกต่างของกฎหมาย กฎระเบียบในการให้สัมปทานปิโตรเลียม ทั้งการสำรวจและขุดเจาะของประเทศไทย กับประเทศพม่า กัมพูชา บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย โบลิเวีย และเวเนซูเอลา

6. มีกระบวนการตรวจสอบหรือพิจารณาการใช้ดุลพินิจหรือหลักเกณฑ์ที่มีธรรมาภิบาลมากน้อยเพียงใด

7. มีหลักเกณฑ์ที่ไม่ให้ผู้คืนสัมปทานปิโตรเลียมเดิมมาประมูลใหม่หรือไม่

ปูด อธิบดีซุ่มแก้ กม. ต่อสัมปทานแหล่งบงกช

ทั้งนี้ สิ่งที่ กมธ. ให้ความสนใจเป็นพิเศษคือ สัญญาสัมปทานปิโตรเลียมในแหล่งสิริกิติ์และแหล่งบงกช โดยเฉพาะแหล่งบงกชที่เป็นแหล่งปิโตรเลียมขนาดใหญ่ที่สุดในทะเล มีปริมาณกว่า 1 หมื่นล้านลิตรต่อปี กำลังจะหมดสัญญาสัมปทาน ซึ่งมีกระแสข่าวออกมาว่าจะมีการแก้กฎหมายเพื่อให้มีการต่อสัญญาสัมปทานอีก 10 ปี ทั้งที่บริษัทผู้รับสัมปทานเคยได้สิทธิการต่อมาแล้วครั้งหนึ่ง

ทาง กมธ. เห็นว่า การต่อสัมปทานดังกล่าวควรได้รับการทักท้วง เนื่องจากการเก็บผลประโยชน์ของการให้สัมปทานในแหล่งบงกชนั้นใช้รูปแบบ “ไทยแลนด์วัน” แหล่งปิโตรเลียมดังกล่าวควรจะเป็นของประเทศ มากกว่าให้มีการต่อสัญญาสัมปทานแล้วทำให้ประเทศชาติเสียประโยชน์

ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี เลขานุการ กมธ. กล่าวว่า แหล่งบงกชมีการต่ออายุสัมปทานไปแล้ว 10 ปี และตามกฎหมายบริษัทผู้รับสัมปทานไม่สามารถต่อสัญญาสัมปทานได้แล้ว แต่มีข่าวในหนังสือพิมพ์ว่าทางอธิบดีพยายามตั้งทีมเพื่อแก้กฎหมายต่อสัญญาสัมปทานอีก ซึ่งหลุมปิโตรเลียมนี้ยังสามารถนำปิโตรเลียมขึ้นมาได้อีกหลายปี ถ้าขึ้นมาแล้วเป็นของหลวงทั้งหมด ประเทศไทยสามารถที่จะลืมตาอ้าปากได้เลย เพราะถ้านำจำนวนน้ำมันดิบ 1 หมื่นล้านลิตร คูณ 20 บาท จะได้เงินจำนวนมากมายมหาศาล ดังนั้น แหล่งบงกชจึงควรที่จะมีการประมูลโอเปอเรเตอร์ (ผู้ผลิต) ผู้มาปฏิบัติมากกว่าผู้มาสัมปทาน เช่น ให้ ปตท.สผ. มารับทำตรงนี้โดยแบ่งไป 10 % ของมูลค่าจะดีกว่าหรือไม่ เพราะความเสี่ยงของการขุดเจาะน้ำมันจะอยู่ในช่วงแรกเท่านั้นว่าจะเจอปิโตรเลียมหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมา กมธ. ได้ขอเอกสารการให้สัมปทานจากกระทรวงพลังงานแต่ไม่เคยได้รับแต่อย่างใด

เล็งเปิดอภิปราย ม. 161

นายคำนูน สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ในฐานะ กมธ. ได้เสนอต่อที่ประชุมว่า กมธ. ต้องยืนยันให้นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานมาชี้แจงต่อ กมธ. เพราะมีคำถามในเชิงนโยบายที่ข้าราชการประจำไม่สามารถที่จะตอบได้ ที่สำคัญคือปรัชญาการให้สัมปทานของประเทศไทยที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงก็จะผิดไปตลอด ระบบคิดของการให้สัมปทานของประเทศไทยคือให้เพื่อการส่งออก 100 % คนไทยมีทรัพยากรของเราเกือบ 50 % แต่เป็นกรรมสิทธิของผู้ได้รับสัมปทาน โดยให้มีการเปิดขายไปต่างประเทศได้ทั้งหมด แต่เวลาเราซื้อจะซื้อเข้ามาในราคาตลาดโลกบวกค่าขนส่ง

อย่างไรก็ตาม การที่มีการชะลอสัมปทานรอบที่ 21 นั้น ควรจะมีการทบทวนรากฐานของการให้สัมปทานทั้งหมด ดังนั้น รมว.พลังงานต้องมาตอบ และเมื่อ รมว. ไม่มาตอบ กมธ. ต้องทำหนังสือยืนยันไปอีกครั้งหนึ่งว่าให้ รมว.พลังงานมาตอบต่อ กมธ. ในครั้งต่อไปในวันที่ 9 สิงหาคมนี้ ทั้งนี้หากไม่มา กมธ. จะใช้ พ.ร.บ.คำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและฯ พ.ศ. 2554 ในการเชิญ รมว.พลังงานมาชี้แจงต่อ กมธ.

นอกจากนี้ ในการเปิดสมัยประชุมสามัญทั่วไปนั้น ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 ได้เปิดช่องให้สมาชิกวุฒิสภาสามารถขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติได้ ซึ่งการให้สัมปทานปิโตรเลียมนั้นเป็นต้นทางของปัญหาทั้งหมดของประเทศ ถ้าสามารถปฏิรูปตรงนี้ได้ก็ปฏิรูปประเทศได้

ทั้งนี้มาตรา 161 บัญญัติว่า “สมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสมาชิกวุฒิสภา มีสิทธิเข้าชื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภาเพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริง หรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติ”

กรมเชื้อเพลิงฯ โต้ รัฐได้ประโยชน์ 55 %

อย่างไรก็ตาม ในวันเดียวกัน กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ได้เผยแพร่ ในเว็บไซต์ ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เพื่อชี้แจงการจัดเก็บรายได้ของรัฐที่ได้จากการให้สัมปทานปิโตรเลียม ที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าได้รับในจำนวนเพียง 29.87 % (อ่าน“ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรายได้ที่ประเทศได้รับจากการประกอบกิจการปิโตรเลียม”) ซึ่งน้อยกว่าที่ควรจะได้ โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ยืนยันว่า รัฐได้รับจากการให้สัมปทานที่ 55 % จากรายรับสุทธิหลังหักค่าใช้จ่าย หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.074 ล้านล้านบาท ขณะที่ผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมทุกรายมีรายได้สะสมประมาณ 0.88 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนกำไรของบริษัทผู้ประกอบการต่อรายรับสุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายประมาณ 45 %