ThaiPublica > เกาะกระแส > การสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง(1): วิถีชีวิตคนริมโขง

การสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง(1): วิถีชีวิตคนริมโขง

3 ตุลาคม 2012


ประชาชนใน 7 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้แก่ เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี มีวิถีชีวิตและเศรษฐกิจที่พึ่งพาแม่น้ำโขง ตั้งแต่การอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน จนกระทั่งการประกอบอาชีพหาเลี้ยงครอบครัว อีกทั้งยังเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญด้วย เพราะแม่น้ำโขงนั้นมีปลาอาศัยอยู่กว่า 130 ชนิด ปริมาณปลาที่จับได้ในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตอนล่างสูงถึง 2.6 ล้านตันต่อปี

มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ, มูลนิธิพิทักษ์ธรรมชาติเพื่อชีวิต, เครือข่ายชุมชนลุ่มน้ำโขง,เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลแม่น้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน และมูลนิธิไฮริชเบิล ร่วมกันทำวิจัยเรื่อง “ศักยภาพของชุมชนริมแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขา ในการปรับตัวจากโครงการขนาดใหญ่และสภาวะโลกร้อน” ในการประชุมเขื่อนแม่น้ำโขงและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ:ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและศักยภาพการปรับตัวของชุมชนแม่น้ำโขง ณ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมกาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 25-26 กันยายน ที่ผ่านมา

โดยศึกษาความสัมพันธ์ของชุมชนที่มีต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขา รวมถึงประเมินความสูญเสียที่เกิดขึ้นต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขงและความมั่นคงทางสังคมของชุมชน จากการสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าบนแม่น้ำโขง และการปรับตัวของชุมชนที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศแม่น้ำโขง ทั้งจากปัจจัยสภาวะโลกร้อนและการสร้างเขื่อน

งานวิจัยเรื่องนี้รวบรวมข้อมูลต่างๆ จาก 15 พื้นที่ใน 7 จังหวัดริมโขง รวม 40 หมู่บ้าน พบว่า ระบบนิเวศในพื้นที่วิจัยแบ่งเป็น 19 ระบบย่อย ซึ่งเกิดขึ้นแปรไปกับระดับน้ำในแม่น้ำโขง รวมถึงการใช้ประโยชน์จากระดับน้ำต่างๆ ด้วย เช่น

ระบบนิเวศย่อยในฤดูแล้ง

“บุ่ง” แอ่งน้ำหรือหนองน้ำที่ถูกน้ำโขงท่วมในฤดูฝน เมื่อน้ำลดลงจึงกลายเป็นแอ่งน้ำที่เป็นแหล่งอาหารสำคัญของสัตว์น้ำทุกชนิด

“โบก” หลุมหินที่ถูกน้ำขังซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ

“หู” โขดหินที่ยื่นออกไปจากฝั่งน้ำ ซึ่งชาวบ้านจะไปยืนเพื่อช้อนปลาที่ว่ายน้ำขึ้นไปวางไข่ตามทางผ่านนี้ เพื่อหลบกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยว

ระบบนิเวศในช่วงต้นฤดูฝน

“คอน” สายน้ำที่ไหลแยกจากทางน้ำหลัก แล้วไหลอ้อมกลับสู่สายน้ำหลักตามเดิม ซึ่งเป็นทางผ่านของปลาเพื่อไปวางไข่หรือหาแหล่งอาหารที่สมบูรณ์

“ซ่ง” น้ำที่เว้าเข้าไปในฝั่งจากแรงกัดเซาะ ซึ่งเป็นที่พักอาศัยของสัตว์น้ำ

ระบบนิเวศในช่วงฤดูฝน

“น้ำแก่ง” น้ำที่ล้นตลิ่งไหลท่วมที่ลุ่มเป็นบริเวณกว้างหรือไหลเข้าลำห้วยสาขา ทำให้แมลงและพันธุ์พืชที่ท่วมน้ำกลายเป็นแหล่งอาหารและที่วางไข่ของปลา

“ดอน” หรือเกาะกลางแม่น้ำโขง

นอกจากนี้ก็ยังมีคัน หาด เวิน น้ำแก้ง ถ้ำ ผา โมย ลวงมอง น้ำก้อง ลวงตักซ้อน น้ำแก่ง ตาดหิน ห้วย ที่ล้วนเป็นระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องกับวัฏจักรของสัตว์และปลา ทั้งเป็นแหล่งวางไข่และอนุบาลตัวอ่อน แหล่งอาหาร ที่อยู่อาศัยและหลบซ่อนศัตรู เฉพาะในพื้นที่วิจัยรวมแล้วพบกว่า 500 แห่ง


ประโยชน์ที่ชาวบ้านได้รับจากระบบนิเวศย่อยเหล่านี้ส่วนใหญ่คือ ด้านประมง เช่น จับกุ้ง หอย ปู ปลา โดยใช้เครื่องมือภูมิปัญญาง่ายๆ เช่น สวิง แห เบ็ด ลอบ ฯลฯ

เช่น การใช้ประโยชน์จาก “บุ่ง” จะเกิดขึ้นในหน้าแล้ง ทั้งการจับปลาและสัตว์ที่เข้ามาหลบยังบุ่งตอนน้ำท่วม การเก็บพืชผักตามธรรมชาติและหาแมลงรอบบุ่ง และการทำการเกษตรรอบบุ่งด้วย เช่น การปลูกผักชี กระเทียม หอมแดง มันแกว ฯลฯ แม้ว่าชาวบ้านส่วนใหญ่จะใช้บุ่งเพื่อการบริโภคในครัวเรือนเป็นหลัก แต่ส่วนหนึ่งก็เป็นรายได้แฝงที่ชาวบ้านไม่ได้เอามาคิดรวมเป็นรายได้

ด้านการประมง พบว่า ในน้ำโขงมีพันธุ์ปลารวมกันไม่ต่ำกว่า 130 ชนิด กระจายอยู่ในระบบนิเวศต่างๆ ซึ่งหากระดับของน้ำโขงขึ้น-ลงผิดปกติ ปลาก็จะหลบอยู่ตามถ้ำหรือในน้ำบึก ไม่ออกมาหากิน เช่น หากสร้างเขื่อนด้านเหนือน้ำ ระดับน้ำโขงจะเปลี่ยนแปลงเฉลี่ย 1 เมตรต่อวัน ซึ่งจะกระทบต่อการทำประมงมาก ทั้งการใช้เครื่องมือและธรรมชาติของปลา

ชาวบ้านริมโขงมีการทำประมงตลอดทั้งปี แต่จะจับปลาได้มากที่สุดในช่วงปลายฤดูฝนราวเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน เนื่องจากปลาจะอพยพไปวางไข่ สำหรับปลาเศรษฐกิจคือกลุ่มปลาหนัง ส่วนปลาเกล็ดจะจับได้มากที่สุดในฤดูแล้งถึงต้นฤดูฝนอ่านต่อตอนที่2