ThaiPublica > คอลัมน์ > Ai Weiwei: Never Sorry ถ้าจะสู้ ต้องลืมคำว่าเสียใจ

Ai Weiwei: Never Sorry ถ้าจะสู้ ต้องลืมคำว่าเสียใจ

18 ตุลาคม 2012


ธิดา ผลิตผลการพิมพ์

Ai Weiwei

…ทั้งๆ ที่รู้ว่าตัวเองตกเป็นเป้าจับตาของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่อ้ายเหว่ยเหว่ยก็ยังเลือกนั่งกินมื้อค่ำบนโต๊ะริมทางในนครเฉิงตูด้วยท่าทีสำราญโดยมิใส่ใจต่อเสียงเตือนของตำรวจที่ให้ย้ายก้นเข้าไปอยู่ในร้าน และพลันที่ตำรวจคนดังกล่าวสำแดงอาการเบ่งพองในอำนาจด้วยการยกกล้องวิดีโอขึ้นกวาดภาพใบหน้าผู้คนที่อ้ายเชื้อเชิญมาร่วมโต๊ะ ตากล้องของอ้ายก็สวนกลับไม่รอช้า ด้วยการยกกล้องเดินเข้าไปจ่อถ่ายตำรวจนั่นบ้างชนิดแทบชิดใบหู

“ไม่มีกีฬากลางแจ้งประเภทไหนจะมันไปกว่าการเขวี้ยงก้อนหินใส่ผู้มีอำนาจอีกแล้ว!” อ้ายเหว่ยเหว่ยทวีตข้อความนี้ทันทีหลังเหตุการณ์นั้น ซึ่งมันยืนยันความ ‘เกรียนขั้นเทพ’ ของเขาได้เป็นอย่างดี

“เขารู้ดีว่าจะเล่นบทกุ๊ยยังไง …ในเมื่อรัฐบาลจีนทำตัวเป็นกุ๊ย เขาก็ต้องกุ๊ยตอบ” คือคำอธิบายที่ เฉินตานชิง เพื่อนศิลปินในปักกิ่งมีต่ออ้ายเหว่ยเหว่ย

ใช่เลย พฤติกรรมร้ายกาจของชายผู้ซึ่งโลกรู้จักในฐานะศิลปินจีนที่โด่งดังอื้อฉาวที่สุดผู้นี้ มีเป้าประสงค์แท้จริงคือการตะบันหมัดใส่หน้ารัฐบาล หรือพูดให้ถูกกว่านั้น เขาเป็นศิลปินที่เชื่อสุดใจว่า ศิลปะมิควรถูกสร้างขึ้นเพียงเพื่อตอบสนองความฝันความปรารถนาส่วนตัวของใคร ทว่าพึงแสดงออกซึ่งความรู้สึกนึกคิดและความรับผิดชอบต่อสังคมที่ศิลปินผู้นั้นดำรงชีวิตอยู่

Ai Weiwei2

แอลิสัน เคลย์แมน คนทำหนังชาวอเมริกันวัยยี่สิบปลาย บันทึกทั้งการทำงานศิลปะ ชีวิตส่วนตัว และกิจกรรมทางสังคมอันหลากหลายในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาของอ้ายเหว่ยเหว่ยไว้ใน Ai Weiwei: Never Sorry หนังสารคดีเรื่องดังประจำปีนี้ (ซึ่งคว้ารางวัล Special Jury Prize มาแล้วจากเทศกาลหนังซันแดนซ์) โดยไม่ว่าจะแง่มุมไหน ทั้งมวลล้วนบ่งชี้ถึงตัวตนของเขาในการเป็นนักต่อสู้ทางสังคมผู้โดดเด่นทั้งด้านรูปลักษณ์ บุคลิก ความแข็งกร้าวแต่ทรงเสน่ห์ ความชาญฉลาดในการใช้สื่อสมัยใหม่ ความสามารถในผสมผสานศิลปะเข้ากับการเมืองอย่างคมคาย และความรู้เท่าทันการเคลื่อนไหวของโลก อันเป็นองค์ประกอบที่ทำให้เขาแตกต่างจากศิลปินจีนส่วนใหญ่ และเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในสังคมตะวันตก

นอกเหนือจากการสัมภาษณ์เพื่อนศิลปิน (หนึ่งในนั้นคือ กู้ฉางเว่ย ผู้กำกับหนังและผู้กำกับภาพระดับหัวแถว) ผู้ช่วย ภัณฑารักษ์ นักวิจารณ์ศิลปะ และสมาชิกครอบครัวแล้ว เนื้อหาสามส่วนหลักๆ ของหนังบอกเล่าโปรเจกต์ศิลปะชิ้นสำคัญของอ้ายเหว่ยเหว่ยอันว่าด้วยเหตุการณ์แผ่นดินไหวในเฉิงตูเมื่อปี 2008 (ซึ่งมีผู้เสียชีวิตร่วม 7 หมื่นคน โดยจำนวนมากเป็นเด็กที่สิ้นลมหายใจไปในซากโรงเรียนซึ่งรัฐก่อสร้างอย่างหยาบชุ่ย), การต่อสู้ทางคดีความระหว่างอ้ายกับตำรวจนายหนึ่งซึ่งทำร้ายเขาจนเลือดตกยางออก (ขณะบุกเข้าหาเขาในโรงแรมกลางดึกเพื่อสกัดกั้นไม่ให้เขาไปเป็นพยานคดีประชาชนฟ้องรัฐในเหตุการณ์แผ่นดินไหวดังกล่าว) และเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างเขากับแม่และลูกชายนอกสมรส

การจะทำหนังสารคดีที่มีบุคคลแกนกลางเป็นมนุษย์ซึ่ง ‘ทรงพลัง’ ถึงขนาดนี้แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่าย บ่อยครั้งทีเดียวที่เรารู้สึกได้ว่ากล้องของเคลย์แมนบันทึกได้เพียงความจริงด้านที่อ้ายเหว่ยเหว่ยจงใจจะเปิดเผย (เราไม่อาจลืมได้ว่า เขาเป็นศิลปินที่เก่งกาจมากในการ ‘เล่นกับสื่อ’ และใคร่ครวญอยู่ตลอดเวลาว่าควรแสดงออกอย่างไรต่อหน้ากล้อง เช่น เมื่อมีนักข่าวจู่โจมถามถึงผู้หญิงที่เป็นแม่ของลูกชายวัยขวบครึ่งของเขา เขาก็ตั้งสติได้อย่างเร็วและพูดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเธออย่างราบเรียบโดยไม่หลุดดราม่าใดๆ เลย)

Ai Weiwei3
กระนั้นก็ดี แม้ Ai Weiwei: Never Sorry จะไม่ประสบความสำเร็จนักในการเปิดเปลือยแง่มุมลึกเร้นหลากหลายของอ้ายเหว่ยเหว่ย แต่มันก็มีความสำคัญอย่างยิ่งตรงการเป็นสารคดีที่สร้างความสะเทือนใจและแรงบันดาลใจได้มหาศาลด้วยเรื่องของคนซึ่งเปิดหน้าชนกับอำนาจรัฐอย่างหาญกล้า ไม่ว่าอำนาจนั้นจะกระหน่ำตีโต้ตอบเพียงไหน ในฉากหนึ่ง อ้ายกล่าวว่า “ผมกลัวนะ ไม่ใช่ไม่กลัว ผมกลัวสิ่งที่รัฐบาลจะทำกับผม แต่ยิ่งกลัว ผมก็ยิ่งต้องกล้า เพราะผมรู้ว่ามีสิ่งอันตรายอบอวลอยู่รอบตัวเรา และถ้าเราไม่ลุกขึ้นมาทำอะไรเลย สิ่งอันตรายนั่นก็จะแข็งแกร่งกว่าเราในที่สุด”

อ้ายเหว่ยเหว่ยลบเลือนเส้นแบ่งระหว่างคำว่าศิลปะกับการเมือง และนำพาศิลปินออกจากห้องจัดแสดงสู่โลกแห่งความจริง ซึ่งด้วยการกระทำเช่นนั้นนั่นเองที่ส่งผลให้เขากลายเป็นทั้งศัตรูเบอร์ต้นของรัฐและเป็นศูนย์รวมใจของหนุ่มสาวชาวจีนมากมาย แน่นอนว่าแรงสนับสนุนช่วยเหลือที่เขาได้รับจากสังคมนั้น บอกอะไรหลายอย่างถึงการเติบโตทางความคิดของผู้คนรุ่นใหม่ที่เคารพในความเสมอภาคและความหลากหลายของปัจเจก มิได้สมยอมเป็นเพียง ‘เมล็ดทานตะวัน’ ซึ่งทำได้แค่งอกต้นแล้วหันหน้าตาม ‘แสงอาทิตย์’ เหมือนๆ กันและพร้อมๆ กัน (ดังที่ เหมาเจ๋อตง เคยเห็นประชาชนของเขาเป็น) อีกต่อไป

“ฉันคิดว่าสิ่งสำคัญที่สุดที่หนังพูดก็คือ เรื่องความรับผิดชอบที่เราในฐานะปัจเจกควรมีต่อสังคม” เคลย์แมนให้สัมภาษณ์ไว้ “หนังพูดถึงการที่เราสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ หากเรามีความกล้าหาญพอที่จะก้าวออกมาแล้วเปิดปากพูดความจริง อำนาจรัฐในการเซ็นเซอร์ความคิดเห็นนั้นมักส่งผลให้เราเซ็นเซอร์ตัวเอง เราถูกทำให้เชื่อว่าตัวเราคงไม่มีพลังในการทำอะไรได้หรอก ดังนั้นเราจึงไม่กล้าคิดจะทำหรือพูดอะไร

“แต่อ้ายเหว่ยเหว่ยเป็นตัวอย่างอันดีที่กระตุ้นให้เราลุกขึ้นยืนและบอกตัวเองว่า เราทุกคนมีเสรีภาพอยู่ในสมองของเราและในหัวใจของเราเสมอ”

ดูที่นี่ Ai Weiwei: Never Sorry