ThaiPublica > คอลัมน์ > Waltz with Bashir (2008)

Waltz with Bashir (2008)

20 พฤษภาคม 2012


ธิดา ผลิตผลการพิมพ์

ความแห้งแล้งแข็งทื่อในระดับไม่ธรรมดาน่าจะคือความรู้สึกแรกๆ ที่เกิดขึ้นแก่เราหลายคนเมื่อได้ยินคำว่า ‘สารคดีประวัติศาสตร์’ ค่าที่ทั้ง ‘สารคดี’ และ ‘ประวัติศาสตร์’ ล้วนเป็นคำที่ได้รับการสถาปนาความหมายไว้อย่างสูงส่งให้เกี่ยวข้องกับ ‘ข้อเท็จจริง’, ‘ความน่าเชื่อถือ’ และการเป็นบทบันทึกซึ่งสมควรต้องไกลห่างจากความเป็นอัตวิสัยอย่างที่สุด

แต่ Waltz with Bashir หักล้างความหมายเหล่านั้นหมดสิ้น เพราะผู้กำกับ-ผู้เขียนบท อารี โฟลแมน ไม่เพียงทำการบันทึกและถ่ายทอดประวัติศาสตร์ผ่านชุดเรื่องเล่าที่ดูจะมีความน่าเชื่อถือน้อยแสนน้อยอย่าง ‘ความทรงจำส่วนตัว’ เท่านั้น หากยังผ่านเครื่องมือที่ดูจะทำให้ขรึมขลังแห่งความเป็นหนังสารคดีถูกลดทอนจนแทบไม่เหลืออย่าง ‘การ์ตูน’ อีกด้วย!

แน่นอน นั่นเป็นการเลือกที่น่าประหลาดใจ (โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาว่าหนังเรื่องนี้ออกฉายในปี 2008 ซึ่ง ‘สารคดีแอนนิเมชั่น’ ยังไม่เป็นที่คุ้นเคยนักในหมู่ผู้ชมวงกว้าง) แต่ยิ่งใช้เวลากับหนังเรื่องนี้มากเท่าไหร่ ดิฉันยิ่งพบว่ามันเป็นการตัดสินใจที่ชาญฉลาดยิ่งของโฟลแมน เพราะรูปแบบและมุมมองในการนำเสนอที่เขาใช้นั้นทรงอานุภาพอย่างรุนแรงในการนำพาเราในฐานะคนดูไปวางไว้ในตำแหน่งเดียวกับตัวละครหลักของเรื่อง (ซึ่งคือตัวเขาเอง) แล้วร่วมติดตาม – ทำความเข้าใจ และประจักษ์แจ้งต่อเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ครั้งหนึ่งอันเต็มไปด้วยความโหดร้าย ในแบบที่ตำราประวัติศาสตร์เล่มใดก็ยากจะทำให้เรารับรู้ระดับความโหดร้ายได้เท่า

กล่าวอีกอย่าง สำหรับโฟลแมนแล้ว ประวัติศาสตร์หาใช่บทบันทึกแห่งความจริงแท้ หากคือเรื่องยาวที่ประกอบสร้างขึ้นจากชุดเรื่องเล่าแห่งประสบการณ์ของผู้คนหลากหลาย เช่นกันกับที่สารคดีหาได้ต้องจำกัดตนเองไว้กับรูปลักษณ์ตายตัว “ความจริงมีหลายชุด วิธีเล่าความจริงจึงมีหลายแบบ ใครจะตัดสินได้ล่ะว่าวิธีไหนดู ‘จริง’ กว่ากัน?” เขากล่าว

สงครามศาสนาและการลอบสังหารประธานาธิบดี บาชีร์ เกมาเยล ในเลบานอนเมื่อปี 1982 ซึ่งนำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์ในเมืองซาบราและชาติลานั้น เป็นความโหดร้ายต่อมนุษยชาติในระดับเกินกว่าที่ทหารหนุ่มแห่งกองกำลังป้องกันตนเองอิสราเอลวัย 19 ปีในขณะนั้นอย่างเขาจะสามารถเข้าใจหรือแม้แต่จะทำใจเชื่อได้ และเมื่อเขาในวันนี้ปรารถนาจะส่งสารว่าด้วยความอำมหิตอันไร้แก่นสารของสงครามให้แก่ผู้ชม วิธีที่ดีที่สุดจึงคือการวางผู้ชมไว้ในสถานะเดียวกันกับเขาในวันนั้น แล้วร่วมกันขุดลึกลงสู่ความทรงจำส่วนตัวของเขาและเพื่อนทหารร่วมชะตากรรม กระทั่งเราสามารถรับรู้ ‘ความจริง’ เสี้ยวหนึ่งของสงครามดังกล่าวได้ มิใช่ด้วยมุมมองแบบนักข่าวผู้อยู่ห่างไกล ทว่าด้วยมุมที่ใกล้ชิดและมี ‘ความเป็นมนุษย์’ มากที่สุด

Waltz with Bashir เริ่มต้นด้วยฉากผู้กำกับหนังชื่อ อารี โฟลแมน รับฟังเพื่อนคนหนึ่งเล่าฝันร้ายซึ่งตามหลอกหลอนมานานปี ทั้งคู่ได้บทสรุปว่า มันต้องมีความโยงใยบางอย่างกับสงครามเลบานอนที่พวกเขาเคยถูกส่งตัวไปร่วมรบครั้งยังหนุ่ม กระนั้น โฟลแมนก็พบด้วยความแปลกใจว่าตัวเขาเองกลับจำอะไรจากสงครามนั่นไม่ได้เลย นอกจากภาพเขากับเพื่อนสองสามคนเปลือยกายนอนแช่น้ำทะเลนอกชายฝรั่งเมืองเบรุต ก่อนพลุสัญญาณปริศนาจะส่องวาบอาบฟ้ายามค่ำแล้วผลุบหายไปหลังหมู่มวลตึกสูงซอมซ่อ จากนั้นพวกเขาลุกขึ้น ย่างกายเชื่องช้าสู่ริมหาด แล้วทุกอย่างก็ดับลับหาย…ราวกับเขาเป็นแค่คนนอก เป็นเพียงผู้ชมที่นั่งอยู่เบื้องหน้าการแสดงอันแปลกประหลาดโดยมิได้เข้าไปมีส่วนร่วม

จากจุดนั้น โฟลแมนตัดสินออกเดินทางไปพูดคุยกับเพื่อนทหารเก่าแก่ เพื่อตามเก็บชิ้นส่วนแตกแยกย่อยของอดีตอันเลวร้ายเกินทนที่กลไกป้องกันตัวเองบีบบังคับให้จิตใจของเขาแสร้งทำลืม และทีละนิดละหน่อยที่มันค่อยปะติดปะต่อจนกลายเป็นภาพใหญ่ การเลือกเล่าความจริงของสงครามผ่านสายตาและความทรงจำของทหารตัวเล็กตัวน้อยที่ถูกส่งไปปฏิบัติการโดยไม่เคยล่วงรู้ว่าตนกำลังอยู่ที่ไหนและสิ่งที่ถูกสั่งให้ทำนั้นมีความหมายอย่างไร จึงส่งผลให้หนังเต็มไปด้วยเรื่องเล่า ภาพจำห้วงสั้นๆ ภาพหลอน ภาพฝัน ภาพจินตนาการ ซึ่งเหมาะสมอย่างยิ่งเมื่อโฟลแมนเลือกถ่ายทอดมันด้วยแอนนิเมชั่น

(เขากับทีมงานถ่ายทำช่วงสัมภาษณ์บุคคลต่างๆ ไว้ในรูปลักษณ์เช่นเดียวกับที่เราคุ้นตาในหนังสารคดีทั่วไป แล้วค่อยนำมาเป็นต้นแบบเพื่อวาดให้เป็นแอนนิเมชั่นเช่นเดียวกับฉากอื่นๆ ในเรื่อง แอนนิเมชั่นไม่เพียงช่วยให้โฟลแมนควบคุมต้นทุนของการทำฉากสงครามที่ผ่านพ้นไปแล้วได้ดีกว่าการจำลองมันขึ้นจริงๆ เท่านั้น แต่ยังให้ความรู้สึกหลอกหลอนและมีพลังทางดราม่าเหนือกว่าการใช้ภาพจริงมาก)

‘ความเป็นคนนอก’ และ ’ความเป็นส่วนตัว’ มิได้ปรากฏเพียงในมุมมองของการเล่าเรื่องเท่านั้น หากยังอยู่ในสารทั้งหมดของหนังเรื่องนี้ ในแง่หนึ่ง เหตุผลของการก่อสงครามและการสังหารเพื่อนมนุษย์เป็นเพียงการตัดสินใจส่วนตัวที่จะ ‘ทำอะไร’ หรือ ‘ไม่ทำอะไร’ ของกลุ่มผู้มีอำนาจที่อยู่สูงจนประชาชนและทหารระดับล่างไม่มีทางอาจเอื้อมไปทำความเข้าใจได้ และในอีกแง่ ไม่ว่าสงครามแต่ละครั้งจะถูกป่าวประกาศว่าตั้งอยู่บนอุดมการณ์หรือเจตนารมย์ยิ่งใหญ่เพียงใด คนที่ถูกส่งเข้าสู่สมรภูมิจริงก็ล้วนต้องเกิดประสบการณ์กับมันอย่างเป็นส่วนตัว และก็เป็นภาพ เสียง กลิ่นของสงคราม ตลอดจนความรู้สึกผิดอย่างลึกล้ำนั้นเองที่จะประทับติดแน่นอยู่กับพวกเขาไปชั่วชีวิต ไม่ว่าจิตจะพยายามซุกซ่อนมันไว้ลึกแค่ไหนก็ตามที

“นายอยู่ที่ไหน และนายเล่นบทอะไรในวันนั้น” เป็นคำถามที่เพื่อนนักจิตวิทยาหล่นแก่โฟลแมนในฉากท้ายๆ และเป็นประโยคที่กุมหัวใจของหนังไว้ทั้งดวง โฟลแมนและอาจรวมถึงเราด้วยได้ตระหนักถึงความจริงแสนเจ็บปวดที่ว่า บทบาทอันดูเหมือนจะไร้ความหมายที่เขาได้เล่นบนเวทีแห่งการสัประยุทธ์ในวันนั้น แท้แล้วมันเป็นองค์ประกอบสำคัญหนึ่งของฉากแห่งการเข่นฆ่าและความตายของคนบริสุทธิ์จำนวนมหาศาล

และในวินาทีแห่งความล่วงรู้เช่นนั้นเองที่ Waltz with Bashir บรรลุถึงการเป็นสารคดีสงครามที่ทำให้เราต้องร่ำไห้

หมายเหตุ : Waltz with Bashir ได้รับรางวัลผู้กำกับสารคดียอดเยี่ยมจาก Directors Guild of America และเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาหนังภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม ปี 2008