ThaiPublica > คอลัมน์ > The Ambassador

The Ambassador

26 กันยายน 2012


ธิดา ผลิตผลการพิมพ์

เมื่อปี 2009 หนุ่มเดนมาร์กนาม แมดส์ บรุกเกอร์ เคยทำให้คนดูช็อกตาค้าง (และกรามอาจค้างด้วย) ไปแล้วรอบหนึ่งกับหนังสารคดี The Red Chapel ที่เขาลงทุนเดินทางเข้าเกาหลีเหนือในฐานะผู้จัดการคณะนักแสดงแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมซึ่งมีสมาชิกเป็นสองหนุ่มเกาหลี แล้วหลอกล่อใครต่อใครให้เผยความเลวร้ายของประเทศเผด็จการแห่งนี้ออกมาหน้ากล้อง ตัวหนังนั้นเป็นที่กล่าวขวัญด้านความ ‘ร้ายกาจ’ ซึ่งอาจเป็นทั้งคำชมและคำด่าก็ได้ พราะพร้อมๆ กับที่นักวิจารณ์ยกย่องในความบ้าบิ่นชาญฉลาดของมัน อีกหลายคนก็ต่อว่ากลยุทธ์การทำหนังที่ใช้วิธีลวงบรรดาเหยื่อผู้รู้อิโหน่อิเหน่อย่างใจร้าย

ใช่ว่าบรุกเกอร์ไม่รู้หรือไม่ยอมรับ ในฉากหนึ่งของหนังอื้อฉาวเรื่องล่าสุดของเขาคือ The Ambassador (2011) เขาบอกเรา ขณะยืนมองชาวปิ๊กมีที่กำลังดีอกดีใจด้วยความเข้าใจผิด ว่าเขาจะมาลงทุนสร้างโรงงานทำไม้ขีดไฟให้ที่นั่น ว่า

“ผมรู้อยู่แก่ใจว่าไอ้โรงงานนี่ไม่มีวันเกิดขึ้นจริง ผมกำลังสร้างความหวังลวงโลกแก่พวกเขา แต่พวกนักการทูตก็ทำแบบนี้อยู่ทุกวันแหละในแอฟริกา เขาลวงโลกกันในเรื่องใหญ่กว่านี้เยอะแยะ …มันเป็นส่วนหนึ่งของเกม”

ฉากนี้เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้นักวิจารณ์บางคนตั้งคำถามเชิงจริยธรรมต่อหนังว่า จำเป็นแค่ไหนที่คนทำหนังต้องถึงขั้นปั้นเรื่องโกหกชาวบ้านเพื่อให้ได้มาซึ่งฟุตเตจ แต่คำโจมตีดังกล่าวคงไม่ระคายผิวบรุกเกอร์สักเท่าไหร่ เพราะนอกจากการล้ำเส้นจริยธรรมไปให้ไกลที่สุดเท่าที่เป็นไปได้คือจุดยืนตั้งแต่แรกของเขาแล้ว

The Ambassador ยังสร้างปัญหาอื่นแก่เขาในระดับวิกฤติกว่านั้นมาก และว่ากันตามจริง ต้องนับว่าโชคเข้าข้างด้วยซ้ำที่เขารอดตายมาได้จากการทำหนังเรื่องนี้!

บรุกเกอร์เกริ่นนำต้นเรื่องว่า ความที่ในยามปกติเป็นแค่นักข่าว เขาจึงชอบแสวงหาความตื่นเต้นใหม่ๆ ให้ชีวิต และเนื่องจากเป็นที่รู้กันว่า แอฟริกาเป็นทวีปซึ่งเต็มไปด้วยแร่ธาตุมูลค่าสูงลิบและการคอร์รัปชันอย่างมโหฬาร เขาจึงวางแผนจะไปเสี่ยงโชคหอบเพชรล้ำค่าที่นั่นกลับมาเป็นเศรษฐี

ว่าแล้วบรุกเกอร์ก็กูเกิลหาตัวนายหน้าชั้นเซียนที่สามารถซื้อเอกสารปลอมมารับรองให้เขาเดินทางเข้าประเทศสาธารณรัฐแอฟริกากลางได้ภายใต้คราบ ‘แมดส์ คอร์ตเซน นักการทูตผิวขาวจากไลบีเรีย’ ผู้นิยมสวมสูทโก้หรู ดูดซิการ์ด้วยลีลาแสนกร่าง และมาพร้อมความปรารถนาดีที่จะปลดปล่อยปวงประชาผู้ทุกข์ยาก ให้หลุดพ้นจากการเอารัดเอาเปรียบสูบเลือดสูบเนื้อของทั้งอดีตเจ้าอาณานิคมอย่างฝรั่งเศส และประเทศที่กำลังแผ่อิทธิพลล้นเหลือครอบงำเศรษฐกิจแถบนี้อย่างจีน

ด้วยสถานะทูตกำมะลอ (ซึ่งเป็นทั้งจุดสร้างอารมณ์ขัน, ทำให้เราได้รับรู้ความฉ้อฉลอันเหลือเชื่อของแอฟริกาอย่างกระจ่าง และเป็นตัวสร้างสถานการณ์ชวนลุ้นระทึกตลอดเรื่อง) บรุกเกอร์พาเราไปพบหลากบุคคลสำคัญจากหลายระดับที่ไม่น่าจะปรากฏตัวในหนังเรื่องไหนได้ง่ายๆ (โดยเขาถ่ายทำทั้งด้วยวิธีซ่อนกล้องและให้ทีมงานของเขาโกหกคนเหล่านั้นว่าเป็นตากล้องภาพนิ่ง แต่จริงๆ แอบถ่ายด้วยโหมดวิดีโอ) ตั้งแต่นักการทูตอินเดียที่ย้ำซ้ำแล้วซ้ำอีกถึงความเสี่ยงตายหากใครกล้าทำตัวท้าทายขาใหญ่ที่นี่, นักการทูตอิตาลีที่เป็นตัวพ่อแห่งการลักลอบนำเพชรกลับบ้าน, เจ้าของเหมืองเพชรที่บรุกเกอร์คิดจะหลอกเอาเพชรฟรีๆ แต่สุดท้ายไม่รู้ใครต้มใครแน่ ไปจนถึงรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมผู้เป็นลูกชายของประธานาธิบดี ฟรองซัว บอซีเซ

และที่เด็ดที่สุดคือ อดีตทหารต่างด้าวแห่งกองทัพฝรั่งเศสผู้กลายมาเป็นหัวหน้าฝ่ายความมั่นคง ซึ่งเล่าสภาพการเมืองที่นี่อันเต็มไปด้วยการแก่งแย่งโค่นล้มอำนาจให้เราเข้าใจได้อย่างง่ายๆ …ก่อนที่บรุกเกอร์จะบอกข่าวช็อกในตอนท้ายเรื่องว่า ชายผู้นี้ถูกลอบสังหารไปเสียแล้วขณะที่หนังยังไม่ทันปิดกล้อง

ความฉ้อฉลที่นักการทูตคอร์ตเซนได้เผชิญและได้เรียนรู้นั้น แม้ไม่ถึงขั้นสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างลุ่มลึกนักหนา แต่ก็ให้ภาพความสลับซับซ้อนของการเมืองในแอฟริกาได้จะแจ้ง หนังบอกเราว่าบางทีแม้แต่คำว่า ‘รัฐที่ล้มเหลว’ (Failed State) ก็ยังไม่คู่ควรกับสภาพของสาธารณรัฐแอฟริกากลาง เนื่องจากมันไม่เคยมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการอะไรเลยตั้งแต่แรก

ความยากจนของผู้คนที่นี่ไม่ได้เกิดจากความเกียจคร้านด้อยโอกาส ที่แก้ไขเยียวยาได้ด้วยการจัดคอนเสิร์ตการกุศลของคนผิวขาวใจบุญ เพราะมันเป็นผลจากความ ‘จงใจให้เป็น’ ของเหล่าประเทศมหาอำนาจที่รุมกันกอบโกยทรัพยากรอย่างสบายมือ แต่กลับไม่เคยอนุญาตให้คนท้องถิ่นขุดเจาะทรัพย์สินใต้ดินขึ้นมาเป็นทุนพัฒนาตัวเองได้

และหากมีนักการเมืองคนไหนหรือรัฐบาลใดกล้าคิดจะหยิบยื่นเกียรติและอำนาจในการดูแลตัวเองให้แก่ประชาชน ผลที่เกิดตามมาอย่างไม่ต้องเสียเวลาถามหาก็คือการถูกรัฐประหารและการถูกลอบฆ่า

แน่นอนว่า ในแง่หนึ่ง The Ambassador หลีกไม่พ้นที่จะถูกมองเป็นหนังผจญภัยของคนผิวขาวในดินแดนเอ็กโซติกลี้ลับ แต่ในอีกแง่ สิ่งที่เราได้เห็นก็เป็นด้านหนึ่งของความจริงซึ่งไม่ไร้เดียงสาและก็หาดูไม่ง่าย

บรุกเกอร์ให้สัมภาษณ์ว่า แม้ตัวละคร ‘ท่านทูตคอร์ตเซน’ ของเขาจะเป็นของปลอม และหลายสถานการณ์ในหนังก็เกิดจากการพยายามจัดฉาก แต่ทั้งมวลที่ปรากฏขึ้นต่อมาล้วนคือความจริง “ผมแค่หยอดยาพิษที่เรียกว่า ‘เรื่องสมมติ’ ลงไปและเฝ้าสังเกตการณ์ว่าใครจะมีปฏิกิริยาตอบโต้ยังไงบ้าง

ผมคิดว่าเหตุผลที่หลายคนรู้สึกไม่สบายใจตอนดูหนังเรื่องนี้ก็เพราะรับไม่ได้ ที่ผมใช้วิธีแบบสารคดีมาเล่าเรื่องซีเรียส อย่าง ‘แอฟริกา’ ด้วยอารมณ์ขัน คนไม่คุ้นเคยที่จะหัวเราะเวลาดูสารคดีว่าด้วยแอฟริกา เพราะหนังกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ทำตัวเป็นหนังเปิดเปลือยความทุกข์ทรมานอย่างไม่เหลือที่ว่างไว้ให้ขำ โดยไม่ได้สนใจเลยว่านับวันคนทั่วไปก็จะยิ่งทนดูไม่ได้มากขึ้นทุกที

“…บางทีอาจถึงเวลาแล้วก็ได้ที่เราควรหัวเราะให้กับเรื่องเลวร้ายเหล่านี้ เพราะหลายสิ่งหลายอย่างที่นี่มันพิลึกพิสดารเสียจนสมควรถูกขำ! และอันที่จริง ผมคิดว่าด้วยวิธีแบบนี้ต่างหากที่จะทำให้คนวงกว้างหันมาสนใจดูหนังเกี่ยวกับแอฟริกาจริงๆ ซึ่งเมื่อเขาโดนหลอกเข้ามาด้วยอารมณ์ขันแล้ว เขาก็จะได้พบเรื่องราวที่สำคัญและซีเรียสมากที่กำลังเกิดขึ้นกับผู้คนที่นี่”

หนังตัวอย่าง The Ambassador