ThaiPublica > เกาะกระแส > เปิดเสรีประชาคมอาเซียน อนาคตความมั่นคงทางอาหารของไทย! เมื่อที่ดินกว่าครึ่งไม่ใช่ของเกษตรกร-ชาวนา

เปิดเสรีประชาคมอาเซียน อนาคตความมั่นคงทางอาหารของไทย! เมื่อที่ดินกว่าครึ่งไม่ใช่ของเกษตรกร-ชาวนา

14 ตุลาคม 2012


นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ กรรมการ มูลนิธิชีววิถี ที่มาภาพ: http://www.biothai.net
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ กรรมการ มูลนิธิชีววิถี ที่มาภาพ: http://www.biothai.net

เครือข่ายวิชาการพัฒนาการปฏิรูปประเทศไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ได้จัดประชุมวิชาการประเด็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและความเหลื่อมล้ำ-ไม่เป็นธรรมครั้งที่ 1

การเสวนาในวันนั้น ได้มีการแลกเปลี่ยนในหลายประเด็น ทั้งนี้จะขอนำเสนอในประเด็นความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมด้านเกษตรและทรัพยากรที่อาจจะเกิดขึ้น โดยนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ กรรมการ มูลนิธิชีววิถี ได้ตั้งข้อสังเกตและให้ความเห็นถึง 3 ประเด็นหลักๆ ได้แก่

1. การสูญเสียที่ดิน จากการสำรวจพบว่าชาวนาและเกษตรกร เฉลี่ยกว่า 60% ของทั่วประเทศต้องเช่าที่ดินเพื่อทำนาและมีปัญหามากในเขตชลประทาน

2. ประเด็นการเปิดเสรีการค้าและการลงทุน มองว่าผลกระทบสำคัญที่เกิดขึ้นในด้านการเปิดเสรีการลงทุนคือการกำหนดรายการสินค้าอ่อนไหวของไทย กำหนดไม่ตรงกับสภาพปัญหาที่เป็นจริง และกำหนดไม่สอดคล้องกับความต้องการและผลประโยชน์ของคนกลุ่มใหญ่ในหลายกรณี เช่น ในปี 2551 ไทยไม่ได้กำหนดสินค้าเกษตรใดเป็นสินค้าอ่อนไหว ต่อมาจึงมีการเพิ่มและกำหนดในระดับที่น้อยกว่าประเทศอื่นมาก ทั้งๆ ที่เป็นตัวกำหนดเรื่องความมั่นคงทางอาหาร หรือความอยู่รอดของเกษตรกรรายย่อย

หากย้อนกลับไปดูการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสินค้าเกษตรที่สำคัญนั้น ไม่มีการวิเคราะห์ผลกระทบต่อข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ซึ่งปัจจุบันสินค้าเหล่านี้อยู่ในบัญชีที่ได้รับผลกระทบสูง ทั้งนี้ ในหลายประเทศจะมีการระบุสินค้าที่มีผลกระทบเรื่องความมั่นคงทางอาหาร จะถูกกำหนดอยู่ในรายการสินค้า ยกเว้นที่มีความอ่อนไหวสูง แต่ประเทศไทยไม่มีการระบุไว้

3. ประเด็นเรื่องการเจรจาสินค้า นายวิฑูรย์ได้ชี้เป็นประเด็นว่า บางกรณีไม่ได้คุ้มครองเกษตรกรรายย่อย แต่คุ้มครองผลประโยชน์แค่บางบริษัท เช่น กลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์ ซึ่งกลุ่มธุรกิจดังกล่าวมีบทบาทมาก ขณะที่เกษตรกรรายย่อยไม่สามารถต้านทานได้

หรือความบกพร่องในการวิเคราะห์สินค้าเกษตร ขาดความรู้ด้านการเกษตรอย่างแท้จริง เช่น การกล่าวว่าประเทศไทยส่งออกข้าวได้สูงที่สุด แต่ในความเป็นจริงไม่เป็นเช่นนั้น เป็นต้น

ส่วนประเด็นการเปิดเสรีการลงทุนภายใต้กรอบ ACIA หรือรายการข้อสงวนภายใต้ความตกลงว่าด้วยการลงทุนอาเซียน

1. ด้านหนึ่งให้สิทธิการลงทุนแก่นักลงทุนชาติอื่นในอาเซียน เทียบเท่ากับสิทธิของนักลงทุนภายในประเทศ

2. ได้เปิดช่องกรอบการลงทุนให้สิทธินักลงทุนนอกอาเซียนเทียบเท่าคนในอาเซียนด้วย ซึ่งการเปิดการลงทุนอาเซียนก็เท่ากับเปิดให้กับโลกนั่นเอง เป็นประเด็นที่น่าสนใจ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ ไม่ได้มีความพยายามที่จะคุ้มครองการลงทุนภาคการเกษตรและทรัพยากรเท่าที่ควร ทั้งที่สามารถยกเว้นการลงทุนเช่นเดียวกับสินค้าอื่นๆ

ที่ผ่านมามีความเคลื่อนไหวของเครือข่ายเกษตรกร เรียกร้องให้มีการทบทวน ซึ่งมีข้อสรุปว่า ประเทศไทยควรมีการชะลอ และมีการศึกษาเรื่องนี้ก่อน โดยเฉพาะ 3 สาขาภายใต้ข้อตกลงการลงทุน ได้แก่ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การปลูกป่า และการขยายพันธุ์พืช โดยต้องพิจารณาว่าประเทศไทยมีจุดยืนอย่างไรในการลงทุนเรื่องดังกล่าว

นอกจากนี้ นายวิฑูรย์ได้กล่าวถึงผลกระทบเรื่องสินค้าในประเด็นด้านเกษตรว่า ประเทศไทยมีผลผลิตสินค้าข้าวต่อไร่ต่ำที่สุดในอาเซียน ขณะที่ต้นทุนการผลิตของประเทศไทยสูงที่สุด สามารถคาดการณ์ได้ว่า เมื่อมีการเปิดเสรีโดยไม่มีมาตรการทางภาษี และโควตาแล้ว ประเทศไทยก็ไม่จำต้องผลิตข้าวและอาจจะไม่สามารถรักษาฐานการผลิตข้าวได้ด้วยซ้ำ ถ้าไม่ตระหนักถึงเรื่องความมั่นคงทางอาหารนี้ไว้ด้วยเป็นสำคัญ เนื่องจากต้นทุนที่สูงและไม่มีมาตรการการคุ้มครองข้าวแต่อย่างใด สิ่งที่ทำให้ตอนนี้ข้าวอยู่ได้ คือโครงการรับจำนำข้าว โครงการประกันรายได้ต่างๆ ซึ่งมีความล้มเหลวอย่างยิ่ง (อ่านการเมืองเรื่องข้าว)

ที่มาภาพ: http://www.matichon.co.th
ที่มาภาพ: http://www.matichon.co.th

เมื่อมีการเปิดเสรีโดยโดยไม่ได้ตระหนักในเรื่องความมั่นคงทางอาหาร จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางเกษตรอย่างสำคัญ ตัวอย่างเช่น กรณีเขตการค้าเสรีไทย-จีน (early harvest) ทำให้พื้นที่การปลูกกระเทียมของประเทศไทยลดลงอย่างถาวร และขณะนี้ราคากระเทียมจีนได้เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ชาวบ้านได้สูญเสียอาชีพอย่างถาวร กรณีคล้ายกันนี้ได้เกิดขึ้นในกรณีของ NAFTA (North America Free Trade Agreement ) ข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ หรือ นาฟตา โดยช่วง 40 ปีที่แล้ว เม็กซิโกเป็นประเทศที่ส่งออกข้าวโพดสูงที่สุด ในขณะที่ปัจจุบันกลายมาเป็นประเทศที่ต้องนำเข้าข้าวโพดกว่า 9 ล้านตัน ทั้งที่เป็นประเทศผู้ปลูกข้าวโพดเดิม และมีความหลากหลายทางชีวภาพของข้าวโพดสูง การค้าเสรีโดยผลพวงมากจากการอุดหนุนจากฝั่งสหรัฐอเมริกา กลับเข้ามาเปลี่ยนภาพพจน์ของการผลิต และบริโภคข้าวโพดที่เป็นมาอย่างยาวนานเสียไป

นอกจากนี้ หลายมาตรการที่ไทยกำหนด ยังไม่เคยมีการได้ใช้เพื่อแก้ไขปัญหาหรือป้องกันผลกระทบ เช่น การนำเข้าเฉพาะด่านที่กำหนด การตรวจ GM หรือแม้กระทั่ง safeguard ตามข้อตกลงต่างๆ ในขณะที่หลายๆ เรื่องมีผลกระทบให้เห็นอย่างชัดเจน เนื่องด้วยฐานการผลิตของประเทศที่ยังไม่ได้รับการปรับปรุงเท่าที่ควรเพื่อรองรับการเปิดเสรี

นายวิฑูรย์กล่าวต่อว่า สิ่งที่พึงระวังและพิจารณาในเรื่องการลงทุนที่มีทั้งมีเทคโนโลยี แรงงาน และทุน เมื่อมีหลักที่ให้ต่างชาติมีสิทธิเทียบเท่าคนในชาติ (National Treatment: NT) ซึ่งทำให้หลักของมาตุภูมิเปลี่ยนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิในการใช้ทรัพยากร

ทั้งนี้ สถานะของการลงทุนโดยคนต่างชาติในประเทศไทย ที่เชื่อมโยงกับ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ในส่วนของธุรกิจที่อนุญาตเฉพาะคนไทยเท่านั้นในการประกอบกิจการ แต่มีข้อยกเว้นเมื่อได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีเป็นคราวๆ แต่ยังมีอีกหนึ่งกลไกใหญ่คือ การส่งเสริมการลงทุนโดยคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่ทำให้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวไม่มีสถานะหรือมีผลบังคับตามกฎหมาย

นายวิฑูรย์ได้ยกตัวอย่างการเปิดเสรีเรื่องการขยายพันธุ์พืช ซึ่งที่ผ่านมาเราอนุญาตให้บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ เช่น มอนซานโต้ ไพออเนียร์ หรือไบเออร์ เข้ามาลงทุน โดยมีการลดภาษีทุกอย่าง เมื่อครั้งมีการเจรจาเปิดเสรีการค้าการลงทุน คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้รับทราบข้อมูลเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร และวิกฤติเรื่องสิ่งแวดล้อมก็ขอให้มีการชะลอการเปิดเสรี

แม้ในด้านหนึ่งแล้ว การที่ไม่เปิดเสรีให้บริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนจะทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ของไทยผูกขาด แต่ที่จริงเรามีตัวผู้เล่นที่เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทยที่เป็นหุ้นส่วนกับบริษัทต่างชาติด้วย โดยลักษณะจำพวกนี้ต้องมีการวิเคราะห์เป็นรายกรณี เช่น ตามประเภทพืช ข้าว ข้าวโพด และพิจารณาตัวผู้เล่นที่เป็นกลุ่มทุนท้องถิ่น หรือวิสาหกิจท้องถิ่นที่มีบทบาทมากขึ้นในเรื่องเมล็ดพันธุ์ เป็นต้น เพื่อวิเคราะห์ถึงการเดินหน้าอย่างไรในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเสรีทางการค้าการลงทุน

ที่มาภาพ: http://www.thaigoodview.com
ที่มาภาพ: http://www.thaigoodview.com

“ในเรื่องการผูกขาด เมล็ดพันธุ์บางอย่างจะอยู่ในมือของต่างชาติ เช่น ข้าวโพดไร่ มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ อยู่ในมือบริษัทเดียว ส่วนข้าว ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ยังไม่น่ากังวล และวิสาหกิจท้องถิ่นมีความพยายามเรื่องนี้ แต่ทั้งนี้จะเกิดปัญหาทันทีเมื่อเราเปิดเสรีโดยไม่คุ้มครอง”

นายวิฑูรย์กล่าวต่อว่า ผลกระทบในเรื่องของการขยายพันธุ์พืชที่มีการวิเคราะห์ 3 ประเด็นใหญ่ ได้แก่

1. เพิ่มให้มีการผูกขาดโดยบริษัทขนาดใหญ่ โดยวิสาหกิจท้องถิ่นไม่ได้รับการสนับสนุนคุ้มครองเท่าที่ควร

2. บริษัทต่างประเทศจะเข้าถึงทรัพยากรชีวภาพได้ ทั้งที่กฎหมายของประเทศไทยได้ให้อำนาจสิทธิของชุมชนในการแบ่งปันผลประโยชน์ ซึ่งเกรงว่าการดำเนินการเช่นนั้นโดยไม่ป้องกันเรื่องเหล่านี้ จะทำให้บริษัทต่างชาติเข้าถึงและเข้ามาใช้ประโยชน์จากฐานทรัพยากรชีวภาพได้ ทั้งที่ควรจะเป็นของสหกรณ์และกลุ่มวิสาหกิจท้องถิ่นที่มีการพัฒนามาอย่างยาวนาน ตัวอย่างเช่น กรณีกล้วยไม้ไทย

3. การแย่งชิงทรัพยากรนักวิจัยและการเข้ามาใช้ทรัพยากรขั้นพื้นฐานบางประการ เช่น การใช้น้ำเขตชลประทานในการปลูกข้าวลูกผสม ซึ่งใช้น้ำมากกว่าข้าวทั่วไปถึง 3 เท่า

หรือประเด็นการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและการปลูกป่า เป็นอีกประเด็นใหญ่เนื่องจากฐานทรัพยากรเหล่านี้มีข้อจำกัด และมีการแย่งชิงทรัพยากรกับเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อยอยู่แล้ว ดังนั้น การเปิดเสรีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำซึ่งมีความขัดแย้งอยู่เดิมแล้วในการใช้พื้นที่ชายฝั่งทะเล

หรือประเด็นการปลูกป่า มีความชัดเจนว่ามีการแย่งชิงทรัพยากร ทำให้ต้องการการปฏิรูปและกระจายที่ดิน ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนอยู่แล้ว ทั้งนี้ การส่งเสริมให้นักลงทุนที่มีทุนสูงเข้ามาจะเป็นการเพิ่มปัญหาให้มากขึ้น

นายวิฑูรย์กล่าวย้ำว่า ดังนั้น การต่อสู้เพื่อให้มีการจัดการทรัพยากรจึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งก่อนเข้าไปสู่ประชาคมอาเซียน หรือโดยเฉพาะประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ปัญหาที่จะเกิดขึ้นเพราะการรวมกลุ่มอาเซียนคือ ด้านหนึ่งเราเรียนรู้ที่จะปรับตัว แต่อีกด้านหนึ่งเรายังไม่มีปรากฏการณ์เช่นว่านั้นเลย

ข้อมูลเพิ่มเติม “ผลกระทบต่อด้านเกษตรและทรัพยากร” ที่มา: มูลนิธิชีววิถี