ThaiPublica > คอลัมน์ > สิ่งที่เรา (ไม่ได้) เรียนรู้จากแท็บเลตเพื่อการศึกษา

สิ่งที่เรา (ไม่ได้) เรียนรู้จากแท็บเลตเพื่อการศึกษา

3 กันยายน 2012


กฤดิกร เผดิมเกื้อกูลพงศ์

1.

ข่าวเกี่ยวกับแวดวงการศึกษาที่คึกโครมในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาคือ ข่าวนักเรียนชั้น ม.3 โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) อดอาหารประท้วง เนื่องจากโรงเรียนไม่รับเข้าศึกษาต่อในชั้น ม.4 จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ผู้ปกครองและเด็กยื่นหนังสือร้องขอถึงพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ให้ช่วยเด็กกลุ่มดังกล่าวให้สามารถเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนเดิมได้ จนในที่สุดโรงเรียนก็มีมติรับนักเรียนกลุ่มนั้นทั้งหมดเข้าเรียนที่โรงเรียนเดิม

เกณฑ์การคัดเลือกนักเรียนเพื่อเรียนต่อชั้น ม.4 ของโรงเรียนบดินทรเดชา คือ จะรับนักเรียนชั้น ม.3 ที่มีผลการเรียนดีที่สุด 80% แรกเข้าเรียนต่อในชั้น ม.4 โดยอัตโนมัติ นักเรียนที่เหลือจะถูกคัดออก แต่หากต้องการเรียนที่โรงเรียนเดิม จะต้องเข้าสอบร่วมกับนักเรียน ม.3 จากโรงเรียนอื่นๆ ที่ต้องการเข้าเรียนในโรงเรียนบดินทรเดชาแห่งนี้เช่นเดียวกัน

เมื่อเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจึงแก้ไขโดยการปรับเปลี่ยนเกณฑ์การคัดเลือกนักเรียนเพื่อเรียนต่อชั้น ม.4 เสียใหม่ โดยกำหนดให้นักเรียนชั้น ม.3 ที่ต้องการจะเรียนต่อในชั้น ม.4 ของโรงเรียนเดิมจะต้องมีผลการเรียนไม่ต่ำกว่า 2.00 หากต่ำกว่า 2.00 แต่สูงกว่า 1.50 ต้องสอบประมวลความรู้ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นของโรงเรียน ส่วนนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษจะต้องมีผลการเรียนสูงกว่า 1.50 จึงจะสามารถเรียนต่อที่โรงเรียนเดิมได้

2.

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ได้ใช้งบประมาณกว่า 120 ล้านบาท ว่าจ้างบริษัท เอสเอพี ผู้ผลิตโปรแกรมป้องกันไวรัสคอมพิวเตอร์ เพื่อจัดทำโปรแกรมป้องกันไม่ให้เด็กนักเรียนชั้น ป.1 ใช้แท็บเลตเพื่อการศึกษาเข้าเว็บไซต์ลามกอนาจาร และจะเริ่มติดตั้งโปรแกรมดังกล่าวให้กับแท็บเลตของนักเรียน ป.1 ทั่วประเทศได้ในเดือนธันวาคม

นโยบาย “หนึ่งนักเรียน หนึ่งแท็บเลต” (One Tablet PC Per Child) เป็นนโยบายที่พรรคเพื่อไทยชูขึ้นมาตั้งแต่ครั้งหาเสียงเลือกตั้ง โดยตั้งเป้าหมายจะส่งมอบ “แท็บเลตเพื่อการศึกษา” ให้กับนักเรียนชั้น ป.1 ทั่วประเทศ ทั้งนี้รัฐบาลใช้งบประมาณไปกว่า 2,000 ล้านบาท ในการว่าจ้างบริษัท เสิ่นเจิ้น สโคป ไซแอนทิฟิก ดีเวลลอปเมนท์ ผลิตแท็บเลตเพื่อการศึกษากว่า 9 แสนเครื่อง โดยตกลงราคากันที่เครื่องละ 81 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 2,400 บาท

ในด้านเนื้อหา ภายในแท็บเลตเพื่อการศึกษาบรรจุสื่อการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์ แบ่งเป็น อีเลิร์นนิ่ง ห้องสมุด มัลติมีเดีย และแอพพลิเคชั่น โดยเนื้อหาในแต่ละส่วนแบ่งออกเป็น

1.) อีเลิร์นนิ่ง ประกอบไปด้วย บทเรียนออฟไลน์ 367 บทเรียนจาก 5 รายวิชา ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ สังคมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์

2.) ห้องสมุด ประกอบไปด้วย ไฟล์ pdf ของหนังสือเรียนชั้น ป.1 จำนวน 8 เล่ม!

3.) มัลติมีเดีย แบ่งออกเป็น 2 ส่วนได้แก่

3.1) ในหลวงของเรา แสดงเนื้อหาสารคดี และการ์ตูนเฉลิมพระเกียรติในหลวง

3.2) เพลงทั่วไป ประกอบด้วยเพลงชาติ เพลงเฉลิมพระเกียรติฯ และเพลงพระราชนิพนธ์

4.) แอพพลิเคชั่น ประกอบไปด้วย แบบฝึกหัด คลังข้อสอบ เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับโครงการ OTPC และความรู้เพิ่มเติมศาสนา

รัฐบาล รวมทั้งคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการดังกล่าวนี้โดยตรงได้กล่าวว่า โครงการ One Tablet PC Per Child นี้จะช่วยตอบโจทย์ทางการศึกษา 2 เรื่อง ได้แก่ หนึ่ง การเข้าถึงโอกาสในการเรียนรู้ และสร้างความเท่าเทียมของโอกาสทางด้านการศึกษา และ สอง ช่วยพัฒนาคุณภาพการศึกษา

ประเทศไทยใช้งบประมาณไปทั้งสิ้นกว่า 2,000 ล้านบาท เพื่อให้เด็ก ป.1 ทั่วประเทศมีหนังสือเรียนฉบับ pdf 8 เล่ม และสารคดีเฉลิมพระเกียรติดูอย่างทั่วถึงกัน และใช้งบอีก 120 ล้านบาท เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กกลุ่มเดียวกันเอาแท็บเลตไปเปิดเว็บโป๊ โดยอ้างว่านโยบายดังกล่าวนี้จะสร้างความเท่าเทียมและยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศ

3.

ทุก 3 ปี กลุ่มประเทศ OECD จะจัดการสอบที่เรียกว่า PISA (Programme for International Student Assessment) ขึ้น เพื่อวัดความสามารถของนักเรียนในแต่ละประเทศใน 3 ด้าน ได้แก่ การอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ นักเรียนอายุ 15 ปีจากทุกประเทศที่เข้าร่วมการทดสอบจะใช้เวลา 2 ชั่วโมง ในห้องสอบในการทำข้อสอบดังกล่าว ประเทศไทยก็เข้าร่วมการสอบนี้ด้วยเช่นเดียวกัน

ในด้านการอ่าน ข้อสอบ PISA ไม่ได้ทดสอบว่านักเรียนแต่ละคนอ่านหนังสือออกหรือไม่ (ซึ่งเป็นเกณฑ์การวัดอัตราการอ่านออกเขียนได้ของสำนักงานสถิติแห่งชาติของไทย) หากแต่ทดสอบว่านักเรียนแต่ละคนมีความสามารถในการทำความเข้าใจ วิเคราะห์ และตีความเนื้อหาที่ตนเองอ่านได้มากน้อยเพียงใด ผมจะขอยกตัวอย่างข้อสอบของ PISA สักหนึ่งข้อเพื่อให้ท่านผู้อ่านเห็นภาพ

จากรูปด้านบน ข้อสอบจะแสดงกราฟและคำบรรยายประกอบ

“รูปที่ 1 แสดงระดับความลึกของทะเลสาบชาด ในซะฮาร่า แอฟริกาเหนือ ทะเลสาบชาดหายไปอย่างสิ้นเชิงในช่วง 20,000 ปีก่อนคริสตกาล ในช่วงยุคน้ำแข็งครั้งสุดท้าย และเริ่มปรากฏให้เห็นอีกครั้งในช่วง 11,000 ปีก่อนคริสตกาล ปัจจุบันระดับความลึกของทะเลสาบชาดเท่ากับในช่วงปี ค.ศ. 1,000 คำถามคือ เพราะอะไรผู้เขียนจึงเลือกที่จะเริ่มกราฟ ณ จุดนั้น”

(ดูคำตอบได้ที่หมายเหตุท้ายบทความ)

จะเห็นได้ว่าข้อสอบ PISA ไม่ได้เพียงวัดความสามารถในการอ่านเท่านั้น แต่ยังวัดความสามารถในการคิดและหาข้อสรุปจากข้อมูลที่ได้อ่านไปด้วย จากข้อสอบด้านบน มีนักเรียนใน OECD เพียง 37% เท่านั้นที่สามารถตอบคำถามดังกล่าวได้อย่างถูกต้อง

ผลการสอบ PISA ครั้งล่าสุดในปี 2009 ปรากฏว่า ในด้านความสามารถทางด้านการอ่าน ประเทศไทยได้อันดับ 50 จากประเทศที่เข้าร่วมการทดสอบ 65 ประเทศ โดยได้ 421 คะแนน ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ OECD ที่ 493 คะแนน และหากดูเปรียบเทียบกับประเทศในอาเซียน สิงคโปร์ได้คะแนนด้านการอ่านสูงที่สุดที่ 526 คะแนน (อันดับ 5 ของประเทศที่เข้าร่วมการทดสอบทั้งหมด) มากกว่าไทย 105 คะแนน หรือคิดเป็นปีการศึกษาถึงเกือบ 3 ปี

พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ เด็กนักเรียน ม.3 ของประเทศไทยมีความสามารถในด้านการอ่านพอๆ กับเด็กนักเรียนชั้น ป.6 (เรียนจบ primary school) ของประเทศสิงคโปร์เท่านั้นเอง

อย่างไรก็ดี จุดประสงค์ของการทดสอบ PISA ไม่ใช่เพียงการวัดระดับความสามารถของนักเรียนในแต่ละประเทศ และสร้างการแข่งขันระหว่างประเทศขึ้น หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมให้แต่ละประเทศนำผลการทดสอบที่ได้ไปปรับปรุงการสอน การเรียน เพื่อยกระดับความสามารถของนักเรียนในแต่ละประเทศ และเพื่อให้แต่ละประเทศหันกลับมามองปัญหาการศึกษาในประเทศ เพื่อยกระดับการศึกษาของประเทศตนต่อไป

นอกจากผลการทดสอบนักเรียนในแต่ละประเทศแล้ว การทดสอบนักเรียนจากระบบการศึกษาที่แตกต่างกันของ 65 ประเทศ ยังได้ให้ผลการศึกษาที่น่าสนใจบางประการ ซึ่งผู้เขียนจะขอยกข้อค้นพบบางประการที่น่าจะมีประโยชน์ต่อการปฏิรูปการศึกษาไทย ดังนี้

ระบบการศึกษาที่ประสบความสำเร็จมอบโอกาสการเรียนที่เท่าเทียมกันให้กับนักเรียนทุกคน ระบบการศึกษาเหล่านี้มองว่า นักเรียนทุกคนมีศักยภาพที่จะประสบความสำเร็จได้ แต่เนื่องจากนักเรียนแต่ละคนต่างกัน จึงเป็นหน้าที่ของครูและโรงเรียนที่จะต้องหาวิธีการเพื่อให้เด็กแต่ละคนเข้าถึงศักยภาพสูงสุดของตนเอง ส่วนระบบการศึกษาที่มองว่าเด็กแต่ละคนมีความสามารถไม่เท่ากัน ดังนั้นแล้วจึงต้องแบ่งนักเรียนออกเป็นระดับๆ แยกเด็กเก่งออกจากเด็กไม่เก่ง มักจะเป็นระบบการศึกษาในประเทศที่คะแนนสอบ PISA มีความเหลื่อมล้ำสูง อีกทั้งผลคะแนนก็มักจะต่ำอีกด้วย

นอกจากนั้นแล้ว นโยบายการให้เด็กซ้ำชั้นยังไม่ส่งผลดีต่อความสามารถทางด้านการศึกษาของเด็ก ประเทศที่ใช้นโยบายทางการศึกษาเช่นนี้มักจะมีผลคะแนนสอบ PISA ต่ำ อีกทั้งนักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายทางการศึกษาเช่นนี้มากที่สุดก็มักเป็นนักเรียนที่มาจากครอบครัวที่มีพื้นฐานไม่ดี นอกจากนั้นแล้ว ระบบการศึกษาที่โรงเรียนต่างๆ สามารถคัดนักเรียนที่มีผลการเรียนต่ำออกจากโรงเรียน หรือย้ายนักเรียนคนดังกล่าวไปอยู่โรงเรียนอื่นได้ ก็มักจะเป็นประเทศที่ได้คะแนน PISA ต่ำ และคะแนน PISA มีความเหลื่อมล้ำอย่างมากด้วยเช่นกัน

ระบบการศึกษาที่ประสบความสำเร็จให้อิสระกับโรงเรียนในการกำหนดหลักสูตรการเรียนการสอนและวิธีการประเมินผลเอง อย่างไรก็ดี ความเป็นอิสระดังกล่าวต้องมาพร้อมกับความรับผิดรับชอบ (accountability) ของโรงเรียนที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียนด้วย การให้อิสระกับโรงเรียนเช่นนี้จึงจะส่งผลดีต่อคุณภาพการศึกษา ในประเทศที่ให้อิสระกับโรงเรียนในการกำหนดหลักสูตร แต่ไม่มีกลไกความรับผิดรับชอบของโรงเรียน ผลปรากฏออกมาเป็นตรงกันข้าม นั่นก็คือยิ่งโรงเรียนมีความเป็นอิสระ ผลลัพธ์ทางการศึกษายิ่งตกต่ำ

พ่อแม่มีส่วนอย่างมากต่อความสามารถทางด้านการอ่านของเด็ก นักเรียนที่พ่อแม่อ่านหนังสือกับลูก “ทุกวันหรือเกือบทุกวัน” เมื่อลูกเรียนชั้น ป.1 มีความสามารถทางด้านการอ่านดีกว่านักเรียนที่พ่อแม่ “ไม่เคยหรือแทบจะไม่เคย” อ่านหนังสือกับลูกเลย

นักเรียนที่มีความสุขกับการอ่านหนังสือทำคะแนนได้ดีกว่านักเรียนที่ไม่มีความสุขกับการอ่านหนังสืออย่างมีนัยสำคัญ นักเรียนที่ทำคะแนนด้านการอ่านได้ดีที่สุดคือนักเรียนที่เลือกอ่านหนังสืออย่างหลากหลาย อย่างไรก็ดี แม้เพียงการอ่านนิยายเพื่อความสนุกสนานแต่เพียงอย่างเดียว ก็ทำให้ความสามารถในด้านการอ่านสูงขึ้น ส่วนการอ่านหนังสือการ์ตูนไม่ได้ทำให้ความสามารถในด้านการอ่านเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่มีปัญหาในด้านการศึกษา ทั้งในมิติของคุณภาพและความเท่าเทียม อย่างไรก็ดี ถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่รัฐบาลและคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานมีความตั้งใจที่จะแก้ปัญหาคุณภาพและการศึกษาไทยตามนโยบายที่ผมได้กล่าวถึงข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นการปรับเกณฑ์การรับนักเรียนเพื่อเรียนต่อชั้น ม.4 เสียใหม่ หรือนโยบาย One Tablet PC Per Child ของรัฐบาล

แต่ปัญหาที่แท้จริงของการศึกษาไทยเป็นเรื่องใหญ่กว่านั้น สำคัญกว่านั้น และต้องแก้ปัญหาที่รากฐาน ไม่ใช่เพียงให้ยาแก้ไปตามอาการ หรือทึกทักเอาเองว่านโยบายใดๆ จะช่วยแก้ปัญหาการศึกษาไทยได้

การที่นักเรียนไทยแย่งชิงกันเพื่อเข้าเรียนต่อในโรงเรียนขนาดใหญ่กลางเมืองไม่ใช่ปัญหาในตัวมันเอง เป็นแต่เพียงอาการของโรคทางการศึกษาที่ใหญ่กว่านั้น ปัญหาความเหลื่อมล้ำของคุณภาพทางการศึกษาเป็นปัญหาของระบบการศึกษาไทยมาเนิ่นนาน งานศึกษาชิ้นหนึ่งของธนาคารแห่งประเทศไทยชี้ให้เห็นว่า นักเรียนในกรุงเทพฯ ทำคะแนนสอบโอเน็ตได้สูงกว่านักเรียนในต่างจังหวัดมาก อีกทั้งนักเรียนในโรงเรียนขนาดใหญ่ ก็มีแนวโน้มที่จะทำคะแนนสอบโอเน็ตได้ดีกว่านักเรียนจากโรงเรียนขนาดเล็ก สาเหตุก็เนื่องมาจากโรงเรียนขนาดใหญ่มักจะได้รับทรัพยากรทางการศึกษามากกว่าโรงเรียนขนาดเล็ก นี่จึงเป็นโรคที่แท้จริงของระบบการศึกษาไทย โรคที่ทำให้เด็กนักเรียนจำนวนมากต้องขวนขวายและแข่งขันกันเข้าเรียนโรงเรียนขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ อย่างที่ได้เห็นในข่าวข้างต้น

และปัญหานี้ย่อมไม่อาจแก้ได้ด้วยเพียงการแก้เกณฑ์รับนักเรียนชั้น ม.4 เสียใหม่ อย่าว่าแต่แก้ปัญหารากฐานของโรคเลย แค่แก้อาการของโรคก็ยังไม่รู้ว่าจะแก้ได้ด้วยซ้ำ

และปัญหาคุณภาพการศึกษาของไทยก็ย่อมไม่อาจแก้ได้ด้วยเพียงการแจกแท็บเลตให้กับเด็กทั่วประเทศเช่นเดียวกัน

การศึกษาจาก PISA ชี้ให้เห็นว่า ระบบการศึกษาที่ประสบความสำเร็จทุกระบบมองนักเรียนทุกคนว่ามีศักยภาพ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของครูและโรงเรียนที่จะช่วยให้นักเรียนไปถึงศักยภาพที่ว่านั้น ในขณะที่ประเทศไทยยังไม่ได้รับแนวคิดเช่นนี้มาใช้มากนัก เห็นได้จากนโยบายและวัฒนธรรม “เด็กห้องคิง” ของไทย ที่มักจะจัดกลุ่มเด็กเก่งให้ไปรวมกันไว้ห้องหนึ่ง และจัดเด็กที่มีผลการเรียนไม่ดีไปรวมกันไว้อีกห้องหนึ่ง นี่ยังไม่นับรวมว่าการแบ่งเช่นนี้เกิดขึ้นในระดับโรงเรียนด้วยเช่นกัน โดยโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงมักคัดเด็กที่มีผลการเรียนแย่ออกจากโรงเรียน หรือย้ายให้ไปอยู่โรงเรียนอื่นตามที่เป็นข่าว

การยกระดับคุณภาพการศึกษาของเด็กไทย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคุณภาพของครูและโรงเรียนเพียงเท่านั้น หากแต่ยังขึ้นอยู่กับสังคมทั้งสังคมด้วย ในสังคมที่ผู้คนรักการอ่าน ในครอบครัวที่พ่อแม่ให้ความสำคัญกับการอ่าน ทั้งของตนเองและของลูก การยกระดับคุณภาพการศึกษาย่อมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้โดยแทบจะไม่ต้องใช้ความพยายามใดๆ เลย แต่ในบ้านเมืองที่ผู้คนอ่านหนังสือกันเพียงวันละ 35 นาที ในประเทศที่หนังสือที่ผลิตในประเทศราคาแทบจะเท่ากับหนังสือนำเข้า ในประเทศที่รัฐบาลไม่เคยดูดำดูดีอุตสาหกรรมการผลิตหนังสือ ในประเทศที่การหายืมหนังสือจากห้องสมุดสาธารณะสักเล่มแทบจะเป็นไปไม่ได้ การสร้างสังคมนักอ่านที่เราฝันถึงจะเป็นไปได้หรือ

เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวว่า นโยบาย One Tablet PC Per Child ของรัฐบาลจะช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศ รวมทั้งแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาของไทย ผู้เขียนจึงไม่ค่อยแน่ใจว่าคำกล่าวข้างต้นจะเป็นจริงนัก ก็ไม่รู้ว่าเพียงการให้เด็กนักเรียน ป.1 มีแท็บเลตใช้อย่างถ้วนหน้าจะถือว่าเป็นความเท่าเทียมทางด้านการศึกษาได้อย่างไร ตราบใดที่มิติอื่นๆ ของการศึกษาไทยยังมีความเหลื่อมล้ำกันมาก ทั้งคุณภาพครูและคุณภาพโรงเรียนที่ต่างกันมาก อีกทั้งแท็บเลต 9 แสนเครื่องก็ไม่ใช่ยาวิเศษที่จะสามารถยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยให้สูงขึ้นได้โดยอัตโนมัติ ตราบใดที่โรงเรียนต่างๆ ในประเทศไทยยังไม่มีอิสระในการกำหนดหลักสูตรการศึกษาเอง ระบบการศึกษาไทยยังไม่มีกลไกความรับผิดรับชอบที่โรงเรียนต้องรับผิดต่อผลการศึกษาของนักเรียน วัฒนธรรม “เด็กห้องคิง” ยังคงเป็นใหญ่ในระบบการศึกษา และสังคมไทยยังไม่ได้เป็นสังคมนักอ่านเช่นนี้

แน่นอนว่าการแก้ปัญหาการศึกษาย่อมต้องอาศัยวิสัยทัศน์ วิสัยทัศน์ที่มองไปข้างหน้าเพื่อหานโยบายใหม่ๆ ที่จะยกระดับคุณภาพการศึกษา หากแต่วิสัยทัศน์ดังกล่าวไม่ได้วางอยู่บนพื้นฐานของปัญหาที่เป็นจริง ไม่ได้มองว่าปัญหาของการศึกษาของประเทศไทยอยู่ตรงไหน เกิดจากอะไร และจะแก้ได้อย่างไร หากแต่ทึกทักเอาเองว่านโยบายนั้นนโยบายนี้จะสามารถแก้ไขปัญหาการศึกษาไทยได้ การศึกษาไทยก็จะยังคงเป็นอยู่เช่นนี้ ต่อให้นักเรียนทั้งประเทศมีแท็บเลตใช้กันอย่างถ้วนหน้าก็ตาม

หมายเหตุ: เหตุผลที่ผู้เขียนเลือกที่จะเริ่มต้นกราฟ ณ จุดดังกล่าว เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ทะเลสาบชาดปรากฏให้เห็นอีกครั้ง หลังจากที่หายไปในช่วงยุคน้ำแข็งครั้งสุดท้าย