ThaiPublica > เกาะกระแส > 2 ปีการต่อสู้ของชาวบ้านลุ่มน้ำโขงเพื่อคัดค้านการสร้างเขื่อนไซยะบุรี

2 ปีการต่อสู้ของชาวบ้านลุ่มน้ำโขงเพื่อคัดค้านการสร้างเขื่อนไซยะบุรี

21 กันยายน 2012


ชาวบ้านจังหวัดลุ่มน้ำโขงคัดค้านการสร้างเขื่อนไซยะบุรี
ชาวบ้านจังหวัดลุ่มน้ำโขงคัดค้านการสร้างเขื่อนไซยะบุรี เมื่อวันจันทร์ที่ 16 กันยายน 2555

หนังสือ “แม่น้ำโขง” มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ ได้สรุปผลกระทบที่จะเกิดจากการสร้างเขื่อน คือ

1. ภาวะน้ำท่วมขังทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของปลา

2. ขัดขวางการอพยพของปลาในแม่น้ำโขง สร้างความสูญเสียต่อการประมง เนื่องจากปลาที่จับได้กว่าร้อยละ 80 เป็นปลาอพยพ

3. ส่งผลต่อการไหลของน้ำโขง ทำให้วิถีชาวบ้านเปลี่ยนโดยเฉพาะเกษตรกร

4. ตะกอนดินและธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อระบบนิเวศลดลง

5. ทำลายที่ดินริมฝั่งโขง ทั้งที่ทำกิน และที่อยู่อาศัย

และ 6.เกิดปัญหาความยากจน

ผ่านมาเกือบ 2 ปีแล้ว ชาวบ้านลุ่มน้ำโขงได้ต่อสู้เพื่อคัดค้านการสร้างเขื่อนอย่างไรบ้าง

เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน (คสข.) ได้แก่ เลย หนองคาย อุบลราชธานี บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร และอำนาจเจริญ ร่วมกันจัดเก็บข้อมูลเรื่องน้ำในแม่น้ำโขง เพื่อคัดค้านการสร้างเขื่อนไซยะบุรีมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2553 และเริ่มออกคัดค้านอย่างจริงจังในปี 2554 ดังนี้

10-12 กุมภาพันธ์ 2554 เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นก่อนการตัดสินใจสร้างเขื่อนไซยะบุรีร่วมกับ กรรมาธิการลุ่มน้ำโขง (เอ็มอาร์ซี) ที่ อ.เชียงคาน จ.เลย และ อ.เมือง จ.นครพนม

การเข้าร่วมงาน 2 ครั้งนี้ชาวบ้านรับทราบโดยบังเอิญ และเข้าร่วมฟังโดยขาดข้อมูลในการแสดงความคิดเห็น จึงเสมือนว่าชาวบ้านเข้าฟังเอ็มอาร์ซีชี้แจงข้อมูลมากกว่า อีกทั้งผู้จัดงานก็ไม่สามารถตอบคำถามต่างๆ จากชาวบ้านได้ ทั้งนี้ งานดังกล่าวเคยจัดมาแล้วครั้งหนึ่งที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย โดยชาวบ้านไม่ทราบ

12-14 มีนาคม 2554 คสข. ร่วมกับภาคีสื่อมวลชนจากส่วนกลาง และองค์กรแม่น้ำเพื่อชีวิต จัดแถลงข่าว “น้ำโขงแห้ง” ถึงนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และธนาคารพาณิชย์ไทยทั้ง 4 แห่ง ที่ปล่อยเงินกู้เพื่อการสร้างเขื่อนไซยะบุรี ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์

18-19 มีนาคม 2554 ออกแถลงการณ์คัดค้านเขื่อนไซยะบุรี ให้ธนาคารทั้ง 4 แห่งทบทวนนโยบายการให้เงินกู้สร้างเขื่อน และบริษัท ช.การช่าง ผู้รับสร้างเขื่อน ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร

21 มีนาคม 2554 ยื่นหนังถือถึงนายกฯ ไทยและสาธารณรัฐประชาชนลาว (สปป. ลาว) เกี่ยวกับการยกเลิกการสร้างเขื่อนไซยะบุรี โดยมีองค์กรเข้าร่วมคัดค้านกว่า 263 องค์กรทั่วโลก

ชาวบ้านจังหวัดลุ่มน้ำโขงคัดค้านการสร้างเขื่อนไซยะบุรี
ชาวบ้านจังหวัดลุ่มน้ำโขงคัดค้านการสร้างเขื่อนไซยะบุรี

7-8 เมษายน 2554 จัดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องผลกระทบจากเขื่อนไซยะบุรี และยื่นหนังสือแถลงการณ์ต่อนายสุรพล สายพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี

16-18 เมษายน 2554 คสข.ยกพลลงกรุงเทพฯ ยื่นหนังสือในนามเครือข่ายภาคประชาชนลุ่มน้ำโขง 8 จังหวัด (คสข. + หนองบัวลำพู) เพื่อประท้วงและมอบเอกสาร “บทสรุปการประชุมรับฟังความคิดเห็นของเครือข่ายภาคประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงและข้อเรียกร้อง” ต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่รัฐสภา ผ่านนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายสุรจิต ชิรเวทย์ สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดสมุทรสงคราม และนางสาวรสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร และจัดไฮด์ปาร์คที่บริษัท ช.การช่าง และสถานทูต สปป.ลาวประจำประเทศไทย

19 เมษายน 2554 เครือข่ายภาคประชาชนลุ่มน้ำโขง 8 จังหวัดยื่นหนังสือถึงบริษัท ช.การช่าง เพื่อคัดค้านการสร้างเขื่อนไซยะบุรี

20 เมษายน 2554 เครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง เรียกร้องให้รัฐบาล สปป.ลาวยุติการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี และปฏิบัติตามมติคณะกรรมการร่วม 4 ประเทศลุ่มน้ำโขง ที่ว่าให้รอฟังมติร่วมของผู้นำระดับองคมนตรี หรือนายกรัฐมนตรีทั้ง 4 ประเทศก่อน เพื่อยุติความขัดแย้งระหว่างประเทศ และยื่นหนังสือต่อนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้ตรวจสอบการดำเนินงานโครงการเขื่อนไซยะบุรี รวมถึงเจรจากับรัฐบาล สปป.ลาว

27 เมษายน 2554 เครือข่ายภาคประชาชนลุ่มน้ำโขง 8 จังหวัด ยื่นหนังสือต่อนายนิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะอนุกรรมการสิทธิชุมชนและการจัดการทรัพยากร ขอให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิของประชาชนจากโครงการเขื่อนไซยะบุรี

นอกจากนี้ เครือข่ายประชาสังคมไทยเพื่อแม่น้ำโขง ประกอบด้วยคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน มูลนิธิเพื่อบริหารการจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นหนังสือต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ให้ระงับการซื้อไฟฟ้าในโครงการเขื่อนไซยะบุรี

3 พฤษภาคม 2554 เครือข่ายพันธมิตรปกป้องแม่น้ำโขง เรียกร้องให้อาเซียน รัฐบาล สปป.ลาว และรัฐบาลไทย ยุติงานก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี ขอให้ยกเลิกแผนการรับซื้อไฟฟ้า และยกเลิกแผนการสร้างเขื่อนบนลำน้ำโขงสายประธานโดยทันที เพราะเชื่อว่าเขื่อนนี้จะสร้างความขัดแย้งข้ามพรมแดนอย่างรุนแรงในหมู่ประเทศสมาชิกอาเซียน โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ในวาระการประชุมสุดยอดผู้นำสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระหว่างวันที่ 7-8 พฤษภาคม 2554 ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย

4 สิงหาคม 2554 คสข. ยื่นหนังสือต่อนายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเอ็มอาร์ซี เพื่อคัดค้านและขอทราบความคืบหน้าการสร้างเขื่อนไซยะบุรี และเครือข่ายภาคประชาชนลุ่มน้ำโขง 8 จังหวัด ยื่นจดหมายถึง รมต.กระทรวงทรัพยากรฯ อีกครั้งในวันที่ 29 พฤศจิกายน

7 ธันวาคม 2554 คสข. และแกนนำเครือข่ายทั้ง 7 จังหวัด จัดกิจกรรมเสวนาคัดค้านเขื่อนไซยะบุรี พร้อมทั้งยื่นหนังสือคัดค้านเขื่อนไซยะบุรีที่รัฐสภาด้วย

8 ธันวาคม 2554 คสข. ร่วมกับองค์กร SAVE THE MEKHONG ออกแถลงการณ์ค้านเขื่อนไซยะบุรี พร้อมทั้งลงลายมือชื่อออนไลน์คัดค้านด้วย นับเป็นครั้งแรกที่ คสข. ได้ร่วมมือกับต่างประเทศเพื่อคัดค้านการสร้างเขื่อน

23 ธันวาคม 2554 คณะกรรมการ คสข. ยื่นหนังสือคัดค้านเขื่อนไซยะบุรีถึงนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ในงานสมัชชาภาคอีสาน ในครั้งนั้น นายกฯ บอกว่าวางใจได้ เพราะเรื่องยังไม่ถึงไหน ซึ่งทาง คสข. ทราบภายหลังว่ารัฐบาลเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ สปป.ลาวไปแล้วเมื่อเดือนตุลาคม 2554 ที่ สปป.ลาว

ความคืบหน้าการสร้างเขื่อนไซยะบุรีในเดือนมิถุนายน 2555 ทั้งนี้ 6 เดือนหลังจากนายกฯ ยิ่งลักษณ์บอกให้ชาวบ้านวางใจ

ต่อมา ในวันที่ 31 มกราคม – 8 กุมภาพันธ์ 2555 คสข. จัดงานรณรงค์ค้านเขื่อนไซยะบุรีที่งานนมัสการพระธาตุพนม

3-5 กุมภาพันธ์ 2555 จัดเวทีเสนาเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการสร้างเขื่อนไซยะบุรี ผลกระทบต่อชุมชนริมโขง ร่วมกับคณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมและสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างประชาชนและวุฒิสภา ที่ จ.นครพนม และ จ.มุกดาหาร โดยมีข้อสรุปว่า กระบวนการทำสัญญาสร้างเขื่อนไซยะบุรีและการซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนนั้นไม่ถูกต้อง ทางวุฒิสภาจึงสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มาชี้แจงคำตอบให้ชาวบ้าน

ที่มาภาพ: http://gdb.voanews.eu
ที่มาภาพ: http://gdb.voanews.eu

ทั้งนี้ ทาง กฟผ. ชี้แจงว่า สัญญาซื้อขายทำไปแล้ว และได้ประกาศข่าวให้ชาวบ้านทราบผ่านทางเว็บไซต์ของ กฟผ. ส่วนคำถามที่ว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดจากการสร้างเขื่อน กฟผ. ตอบเพียงว่า “ผู้สร้างเขื่อน” ซึ่งเป็นคำตอบที่ไม่ชัดเจนเลยสำหรับชาวบ้าน ในขณะที่กรมทรัพยากรน้ำชี้แจงเพียงว่า “ได้ทำทุกอย่างตามขั้นตอน”

21-22 กุมภาพันธ์ 2555 คสข. ยื่นหนังสือคัดค้านการสร้างเขื่อนไซยะบุรีถึงนายกฯ ยิ่งลักษณ์อีกครั้งในงาน ครม.สัญจร ที่ จ.เลย และที่ จ.อุดรธานี ผ่านนายสุชน ชาลีเครือ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี

14 มีนาคม 2555 คสข. จัดกิจกรรมเสวนา ที่ ต.ไชยบุรี อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม และยื่นหนังสือทวงถามถึงกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมของธนาคารที่สนับสนุนการสร้างเขื่อนไซยะบุรี ทั้ง 4 แห่ง ผ่านธนาคารกสิกรไทยสาขาท่าอุเทน

1-3 พฤษภาคม 2555 ยื่นหนังสือคัดค้านต่อเอ็มอาร์ซี ในการประชุม “Mekong 2 Rio” ที่พูดถึงการจัดการแม่น้ำโขงและการแก้ปัญหาโลกร้อนในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ณ โรงแรมโมเวนพิก หาดกะรน อ. เมือง จ. ภูเก็ต

7 กรกฎาคม 2555 คสข. ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อ 1. ให้ยกเลิกสัญญาการซื้อไฟฟ้า 2. ให้ผู้ถูกฟ้องทั้งหมด ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและนโยบายของรัฐตามความตกลงแม่น้ำโขงปี 2538 และ 3. ยกเลิกมตินโยบายของคณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน และมติการซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี

ด้านผู้ฟ้องประกอบด้วยชาวบ้าน 38 คน พร้อมผู้สนับสนุนฟ้องอีกกว่า 1,000 ราย โดยมีตัวแทนฟ้องคือนายอิทธิพล คำสุข และนางสาวอ้อมบุญ ทิพย์สุนา ฟ้องต่อหน่วยงาน 5 แห่ง คือ คณะรัฐมนตรี กฟผ. กระทรวงทรัพยากรฯ กระทรวงพลังงาน และคณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน ฐานละเลยการปฏิบัติหน้าที่และกระทำการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นตอนพิจารณารับสั่งฟ้องของศาล โดยมีนางสาว ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความจากศูนย์ข้อมูลชุมชนเป็นธุระฟ้องให้

ล่าสุด ในวันที่ 17 กันยายน 2555 คสข. ร่วมกับ TERRA และคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ยื่นหนังสือคัดค้านการสร้างเขื่อนไซยะบุรี พร้อมทั้งไปรษณียบัตรรูปปลาบึกที่ประชาชน 9,055 ราย ลงนามไม่สนับสนุนการสร้างเขื่อนต่อนางสาวยิ่งลักษณ์อีกเป็นครั้งที่ 3 ที่ทำเนียบรัฐบาล แต่นายกฯ มอบหมายให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงานเป็นตัวแทนลงมารับหนังสือ ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับชาวบ้านเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ การยื่นหนังสือต่อบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกครั้ง กลุ่ม คสข. ได้รับการตอบกลับด้วย “ความเงียบ” มาโดยตลอด

ในวันที่ 25-26 กันยายน นี้ คสข. ร่วมกับเครือข่ายภาคอีสานจะจัดงานเสวนาเพื่อยื่นข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี