ThaiPublica > คนในข่าว > ซีรีส์ 15 ปี วิกฤติ 2540 “อมเรศ ศิลาอ่อน” (1) “ผมไม่ได้ทำบริษัทล้มละลาย”

ซีรีส์ 15 ปี วิกฤติ 2540 “อมเรศ ศิลาอ่อน” (1) “ผมไม่ได้ทำบริษัทล้มละลาย”

12 กันยายน 2012


ในโอกาสครบรอบ 15 ปี วิกฤติ 2540 ซึ่งถูกบันทึกเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์วิกฤติเศรษฐกิจการเงินโลก ที่มีผลกระทบรุนแรงและสร้างความเสียหายมหาศาลให้กับประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะประเทศไทย ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของวิกฤติ แต่ 15 ปีผ่านมา ผู้ที่เกี่ยวข้องกับวิกฤติครั้งนั้น ทั้งผู้ก่อวิกฤติ ผู้แก้วิกฤติ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ มีการปรับตัว และได้เรียนรู้อะไรจากวิกฤติครั้งนี้บ้าง และประเทศไทยซึ่งฝ่ามรสุมวิกฤติครั้งนั้นมาได้จนถึงปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่อย่างไร เพื่อตอบโจทย์คำถามดังกล่าว สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้รวบรวมบทสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้องมานำเสนอในซีรีส์ “15 ปี วิกฤติ 2540 ประเทศไทยอยู่ตรงไหน”

นายอมเรศ ศิลาอ่อน
นายอมเรศ ศิลาอ่อน

ซีรีส์ 15 วิกฤติ 2540 สัมภาษณ์พิเศษ นายอมเรศ ศิลาอ่อน อดีตประธานองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) อีกหนึ่งคนที่มีบทบาทสำคัญในการสะสางปัญหาหนี้เสียของระบบสถาบันการเงินที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ 2540 แต่ผลจากการกระทำกลับตกเป็น “จำเลย” สังคม ข้อหาทำให้ชาติเสียหายกว่า 6 แสนล้านบาท และถูกข้อครหาว่าทำให้กิจการหลายๆ บริษัทล้มละลาย ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร มีรายละเอียดจากการ “ถาม-ตอบ” ของบทสัมภาษณ์พิเศษดังนี้

ไทยพับลิก้า : 15 ปี วิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ปรส. หรือองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินมักจะถูกตั้งคำถามตลอดเวลา และตกเป็นจำเลยของสังคม อยากให้คุณอมเรศเล่าถึงบทบาท ปรส. ที่เข้ามาบริหารจัดการหนี้ที่เป็นปัญหา และบทบาทที่เข้ามาในตอนนั้น

จริงๆ ผมเริ่มมีส่วนร่วมในเรื่องนี้ตั้งแต่ต้นเลย เพราะว่าตอนแรก พอเกิดปัญหาใหม่ๆ รัฐบาลเขาก็ตั้งคณะกรรมการศึกษาและเสนอแนะมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบการเงินของประเทศ (ศปร.1) ขึ้นมา มีรัฐมนตรีสุธี สิงห์เสน่ห์ เป็นประธาน อาจจะจำกันได้ และ ศปร.1 ได้สัมภาษณ์ผู้ที่อยู่ในวงการหลายสิบท่าน แล้วก็ทำรายงานเอาไว้ ซึ่งรายงานนั้นมันเป็นรายงานลับ จนกระทั่งบัดนี้ก็ยังไม่มีใครเอามาเปิดเผย ถ้าใครได้อ่านจะรู้เรื่องหมดเลย จากนั้นก็มีการตั้งคณะกรรมการอีกหลายคณะที่จะมาแก้ปัญหา

ความจริงก่อนหน้า ปรส. ก็มีคณะกรรมการที่ทางราชการตั้งขึ้นมาเพื่อจะพยายามควบรวม 58 บริษัทนี้เข้าด้วยกันให้เป็นบริษัทเดียว แล้วทำอยู่พักหนึ่งก็รู้สึกว่าทำท่าจะไม่สำเร็จ ก็เลยตั้ง ปรส. ขึ้นมา

ตอนที่ตั้ง ปรส. ก็มีแนวคิดกันว่าจะตั้งขึ้นมาแล้วแยกสินทรัพย์ของ 58 บริษัทออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งเป็นกู๊ดแบงก์ (good bank หรือธนาคารทีมีหนี้ดี) อีกส่วนหนึ่งเป็นแบดแบงก์ (bad bank หรือธนาคารที่มีหนี้เสีย) ซึ่งทุกคนก็เห็นด้วย แล้วจริงๆ ก็เป็นวิธีการของฝรั่ง พอไปเจอปัญหาของกฎหมายไทยเข้า ทั้งกฎหมายการเงินทั้งกฎหมายอื่นๆ ก็ปรากฏว่าทำไม่ได้ แล้วก็ในขณะเดียวกัน ขณะที่รอไปรอมา คุณภาพของสินทรัพย์ก็ด้อยลงไปทุกวันๆ จนกระทั่งว่าถึงเวลาที่ตั้ง ปรส. ขึ้นมาแล้วคุณภาพของสินทรัพย์อยู่ในฐานะที่ไม่มีอะไรจะเข้า good bank ได้แล้ว

เพราะฉะนั้น ถึงแม้รัฐบาลภายหลังตั้งธนาคารรัตนสินขึ้นมา เพื่อจะเป็น good bank ในที่สุดก็ตกลงกันไปดูสินทรัพย์ที่จะเป็น good bank แล้วไม่มีหรือมีไม่พอ ก็เลยเลิกล้มความคิดนั้นไป

ตอนหลังก็มีคนมาถามอยู่เรื่อยๆ ว่า ทำไมไม่ตั้ง good bank ขึ้นมา คล้ายๆ กับว่าตั้ง ปรส. ขึ้นมานั้นผิด แต่ว่าคนไม่รู้เบื้องหลังของเขาก็ไม่เข้าใจเรื่องนี้ เพราะว่าเมื่อมี Non-performing loan (หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอล) 100% จะตั้ง good bank ไม่ได้ (หัวเราะ)

นี่เป็นเหตุผลหนึ่ง สมัย ปรส. มีวิธีการเดียวที่จะเอาเงินคืนคือ “ขายทอดตลาด”

ฉะนั้น ในการขายทอดตลาด ในการทำให้บริษัทล้มละลาย เราก็พบว่ากฎหมายทางการเงินของเราก็ดี กฎหมายล้มละลายก็ดี ค่อนข้างอ่อนแอ กฎหมายล้มลายถ้าเผื่อไม่แก้ ทำไป 10 ปีก็ยังแก้ปัญหาไม่ตก ก็มาตกอยู่ในรัฐบาลคุณชวน (หลีกภัย) ที่มาแก้ปัญหาเหล่านี้ ก็ออกกฎหมายมาใหม่เพื่อจะให้อำนาจ ปรส. ทำอะไรหลายๆ อย่างได้ เขา (ปรส.) ถึงได้ทำได้สำเร็จ

อันนี้ก็เป็นเรื่องแรกที่อยากจะบอกว่าคนยังไม่เข้าใจอีกมาก แล้วภายหลังก็มีคนมาฟ้องผม คือฟ้อง ปรส. ว่าทำให้เขาล้มละลาย หรือว่าไปยึดทรัพย์เขาโดยไม่ถูกต้อง บางคนก็โกรธ ฟ้องเป็นส่วนตัว

“ผมก็อยากจะบอกคนที่โกรธว่า โกรธคนผิดนะ เพราะว่าคนที่ทำให้เขาล้มคือเจ้าของบริษัทการเงินนะครับ ไม่ใช่รัฐบาล ไม่ใช่ผม ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ที่ไปทำงานแก้ไขปัญหานะครับ คนที่เขาควรจะโกรธคือเจ้าของบริษัทการเงินที่ทำให้บริษัทล้ม”

ไทยพับลิก้า :เมื่อสักครู่ ที่ว่า ปรส. ทำอะไรได้เยอะ คุณอมเรศอธิบายกฎหมายตรงนั้นว่าทำอะไรได้บ้าง

ในตอนนั้นเป็นที่ตกลงกันว่าจะต้องขายทอดตลาด ก็ต้องดูว่ากระบวนการในการขายทอดตลาดทำได้ถูกกฎหมายหรือเปล่า มีกฎหมายอะไรที่ขัดแย้งหรือเปล่า ถ้าเผื่อมีขัดแย้งเราก็ต้องออกกฎหมายของ ปรส. ออกมาเพื่อให้ทำได้ อย่างของบางอย่างว่าเมื่อเข้าไปยึดบริษัทเหล่านี้แล้ว ถึงเวลาที่จะขายต้องไปขออนุญาตเจ้าหนี้เก่าไหม ต้องไปขออนุญาตผู้ถือหุ้นไหม ซึ่งอันนี้ก็ต้องออกกฎหมายมาเพื่อให้รัฐบาลสามารถทำอะไรได้โดยไม่ต้องไปขออนุญาตผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นกฎหมายเก่า ของพวกนี้ต้องทำและก็ต้องใช้เวลาค่อนข้างมากพอสมควร

หลายอย่างที่ทำได้ช้าก็เพราะว่าเราต้องแก้กฎหมายหลายอย่าง ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ลืมว่าในขณะนั้นก็มีประเทศที่สำคัญอยู่อีก 2 ประเทศ คือ เกาหลีใต้กับอินโดนีเซีย ซึ่งประสบภาวะเช่นเดียวกับเรา แล้วก็กำลังแก้ปัญหาเหมือนกับเราเลย เขาก็ตั้ง ปรส. ของเขาขึ้นมาเหมือนกัน แล้วเราก็ต้องทำงานแข่งกับเขา

เพราะฉะนั้นก็มี asset pool หรือว่าสินทรัพย์ไม่ดีอยู่ 3 กลุ่ม ทำอย่างไรเราจะต้องทำให้ผู้ที่เขามีเงินสนใจกลุ่มของเรา

“นี่ก็เป็นของที่คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ”

ไทยพับลิก้า : แล้วตอนนั้นมีกระบวนการจัดการทำอย่างไร

จริงๆ แล้วกระบวนการจัดการในการทำของ ปรส. คือ กระบวนการที่จะสร้าง “ความเชื่อมั่น” ให้เกิดขึ้นในเศรษฐกิจของไทย สร้างความเชื่อมั่นให้รัฐบาลไทย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชวลิต หรือรัฐบาลชวน หรือรัฐบาลไหนก็ตาม ถ้าเผื่อเขาไม่เชื่อมั่น หรือไม่เชื่อมั่นในกระบวนการที่รัฐบาลทำ เขาก็ไม่มาลงทุน เราก็เห็นอยู่แล้วในที่ต่างๆ

ดังนั้น วิธีที่เราจะทำให้เขาเชื่อมั่นก็คือว่า ถ้าเรามีปัญหาเศรษฐกิจรุนแรงแบบนี้ เขาก็จะถามว่า “รู้ว่ากำลังจะแก้ คุณรู้วิธีแก้ไหม คุณแก้เป็นหรือเปล่า คุณแก้จริงหรือเปล่า และก็คุณแก้ได้หรือเปล่า”

เขาจะถาม 3 อย่างนี้ เอาจริงไหม ทำเป็นหรือเปล่า และปัญหานี้มันใหญ่โตขนาดที่ว่าคุณทำได้หรือไม่ได้

“เราก็ต้องทำอะไรหลายอย่าง ทั้งกระบวนการ ทั้งการประชาสัมพันธ์ ทั้งการทำโรดโชว์ ทั้งการอธิบายอะไรต่างๆ และการปฏิบัติการในการขาย ในการทำเรื่องต่างๆ ให้คนที่เขาจะมาลงทุน คนที่เขาจะมาซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพเหล่านี้มีความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลไทยเอาจริงและทำได้”

ไทยพับลิก้า : เอาจริงและทำได้ ทำอย่างไร

ก็เรื่องออกกฎหมายนี่ไง เรื่องแก้กฎหมาย เรื่องตั้ง ปรส. เรื่องการทำงานของ ปรส. แม้แต่การจัดกลุ่มสินทรัพย์ก็ดี เรื่องของการที่จะทำกระบวนการต่างๆ อันนี้มันก็ต้องเป็นกระบวนการที่เข้าหลักของสากล ไม่ใช่กระบวนการตามใจชอบ ใช่ไหมครับ ซึ่งอินโดนีเซียเขาก็ไปทำกระบวนการตามใจชอบอยู่พักหนึ่ง ก็เสียเวลาเป็นปีกว่าจะกลับตัวได้

นี่เราเห็นตัวอย่างแล้ว ก็พยายามแก้ไขไม่ให้เกิดขึ้น

ไทยพับลิก้า : กระบวนการสร้างความมั่นใจตรงนั้น คือมันต้องขายเร็ว หรือมันต้องทำอะไรเร็ว หรือว่าเพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นเร็ว

อันที่สำคัญที่สุดคือว่า ต้องทำโดย “โปร่งใส” และ “เปิดเผย” ทำโดยไม่เล่นพรรคเล่นพวก ที่เขาบอกว่าเอาจริงหรือไม่ก็คือว่า “เอาจริง” เปิดเผยโปร่งใสหรือเปล่า หรือว่าก็ยังประมูล ก็ยังเล่นพรรคเล่นพวกอยู่ ถ้าเผื่อเขาคิดว่าเราไม่เอาจริง เขาก็ไม่มา เขาไม่มาเงินก็ไม่มา มันก็แก้ปัญหาช้าลง