โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ต้องเผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ครั้งหนักหน่วงที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการสร้างภาระงบประมาณก้อนมหาศาลกว่า 5แสนล้านบาท มีแนวโน้มการทุจริตที่ส่อเค้าว่าจะเกิดขึ้นทุกขั้นตอน และการทำลายวงจรส่งออกข้าวอย่างรุนแรง
ล่าสุด นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ ได้เสนอคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 18 ก.ย. 2555 ขอใช้วงเงินอีก 4.05 แสนล้านบาท เพื่อเดินหน้าโครงการรับจำนำในปี 2555/56 แต่ก็เกิดปรากฎการณ์ที่แปลกประหลาด เมื่อข้าราชการระดับ 11 จำนวน 3 คน ที่อยู่ในที่ประชุม ครม. กล้า “กดไมค์” ให้ความเห็นคัดค้าน จนทำให้นายกรัฐมนตรีต้องสั่งให้ไปทบทวน
ข้อสังเกตสำคัญคือ รัฐต้องรับภาระขาดทุนมหาศาลผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) แต่ชาวนาตัวจริงกลับไม่ได้รับราคาสูงสุดตามที่รัฐได้หาเสียงไว้ คือ ข้าวเปลือกเจ้า 15,000 บาทต่อตัน ขณะที่เกษตรกรได้รับจริงๆ อยู่ที่ 9,000-11,000 บาท และข้าวเปลือกหอมมะลิ 20,000 บาทต่อตัน แต่เกษตรกรได้รับจริงอยู่ในระดับเฉลี่ย 15,000 บาท (บวกลบ) มีส่วนต่างถึงตันละ 5,000 บาท แม้ว่าโครงการนี้จะดำเนินการมาแล้วกว่า 1 ปีเต็ม
สิ่งที่ถือว่า “วิกฤติ” อย่างหนักขณะนี้ คือ ภาคการส่งออกต้องสูญเสียแชมป์ที่ครองต่อเนื่องมายาวนานนับสิบปี เนื่องจากแบกภาระต้นทุนสูงเมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่างเวียดนามและอินเดีย โดยสถิติส่งออกข้าว ณ วันที่ 1 ม.ค. – 18 ก.ย. 2555 ทำได้เพียง 4.75 ล้านตัน ขยายตัวลดลง -45% เทียบไม่ได้กับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ยังไม่มีโครงการรับจำนำข้าว มีการส่งอออกได้ถึง 8.6 ล้านตัน
ข้อเสนอของกระทรวงพาณิชย์ ที่นำเข้า ครม. วันที่ 18 ก.ย. ประกอบด้วย
1. ขออนุมัติกรอบ ชนิด ราคา ปริมาณ ระยะเวลา วิธีการ หลักเกณฑ์ เงื่อนไขในโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56
การมอบอำนาจให้คณะอนุกรรมการกำกับดูแลการรับจำนำข้าวและการอนุโลมให้เกษตรกรที่มีผลผลิตและเก็บเกี่ยวข้าวในช่วงวันที่ 16-30 ก.ย. 2555 เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2555/56
และขอความเห็นชอบให้อนุโลมให้เกษตรกรที่เก็บเกี่ยวข้าวในช่วงเดือน มิ.ย. – ต.ค. 2555 เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 2555 รอบ 2 ได้อีก 1 ครั้ง ตามที่คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) เสนอ
2. ขออนุมัติวงเงินเพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนรับจำนำข้าวเปลือก จำนวน 26 ล้านตัน แบ่งเป็นนาปี 15 ล้านตัน และนาปรัง 11 ล้านตัน เป็นจำนวนเงิน 4.05 แสนล้านบาท แยกเป็นนาปีจำนวน 2.4 แสนล้านบาท และนาปรังจำนวน 1.65 แสนล้านบาท โดยขอให้กระทรวงการคลังพิจารณาจัดหาเงินทุนให้แก่ ธ.ก.ส. และรัฐบาลรับภาระชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยจากการกู้เงินเพื่อใช้ในการรับจำนำ และในระหว่างการจัดหาเงินทุนดังกล่าว กรณีมีความจำเป็นให้ใช้เงินทุน ธ.ก.ส. เพื่อจ่ายเงินกู้ไปก่อนหาก ธ.ก.ส. มีเงินทุนเพียงพอ ทั้งนี้ต้องตกลงกับ ธ.ก.ส. เป็นคราวๆ โดยคิดอัตราชดเชยต้นทุนในอัตรา FDR+1.3
3. ขออนุมัติวงเงินจ่ายขาดการดำเนินการรับจำนำข้าวเปลือกรวมทั้งสิ้น 11,771.25 ล้านบาท แยกเป็นค่าดอกเบี้ยสินเชื่อของ ธ.ก.ส.จำนวน 7,492.50 ล้านบาท แบ่งเป็นนาปี 4,440 และนาปรัง 3,052.50 ล้านบาท, ค่าบริหารสินเชื่อของ ธ.ก.ส. จำนวน 4,218.75 ล้านบาท แบ่งเป็นนาปี 2,500 ล้านบาท และนาปรัง 1,718.75 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการระบายข้าวเปลือกหลุดจำนำยุ้งฉาง 60 ล้านบาท
4.ขออนุมัติการขยายปริมาณและกรอบการใช้เงินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2555 จากเดิมที่กำหนดเป้าหมายไว้จำนวน 11.11 ล้านตัน เพิ่มเติมอีกจำนวน 2.2 ล้านตัน รวมเป็นปริมาณ 13.31 ล้านตัน และเห็นชอบให้ใช้วงเงินที่กระทรวงการคลังเห็นชอบวงเงินค้ำประกันให้ ธ.ก.ส. จำนวน 269,160 ล้านบาท นำมาใช้ในปริมาณที่เพิ่มเติมดังกล่าว รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (ต้นทุนเงินและค่าบริหารโครงการ) ให้ใช้หลักเกณฑ์เช่นเดียวกับโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 2555
กระทรวงพาณิชย์อ้างว่า สาเหตุที่ต้องเพิ่มปริมาณรับจำนำข้าวนาปรังเพิ่มอีก 2.2 ล้านตัน เนื่องจากเป็นข้าวที่เกษตรกรปลูกเพื่อหนีน้ำ หรือเป็นพื้นที่รับน้ำนอง นอกจากนั้นยังแจ้งว่า ผลผลิตข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2555/56 จะออกสู่ตลาดมากตั้งแต่เดือน ต.ค. 2555 ซึ่งต้องเร่งดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 โดยกำหนดกรอบเงื่อนไขให้เร็ว และประกาศให้เกษตรกรเข้าร่วมรับจำนำตั้งแต่ 1 ต.ค. 2555 โดยจะรับจำนำทั้งโครงการทั่วประเทศ โดยไม่จำกัดปริมาณข้าวเปลือก
ชนิดและราคาข้าวเปลือกปีที่รับจำนำในรอบการผลิต 2555/56 ณ ความชื้นไม่เกิน 15% อาทิ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 20,000 บาท, ข้าวเปลือกหอมจังหวัด ตันละ 18,000 บาท, ข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ตันละ 16,000 บาท, ข้าวเปลือกเจ้าร้อยละ 5 ตันละ 14,800 บาท เป็นต้น
สำหรับการจำนำของเกษตรกร เข้าร่วมได้ไม่เกินปีละ 2 ครั้ง/แปลง/ราย โดยคำนวณตามพื้นที่เพาะปลูก ผลผลิตเฉลี่ยรายจังหวัด ที่ได้จากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และผลผลิตรวมของเกษตรกร ตามหนังสือรับรองที่กรมส่งเสริมการเกษตรออกให้เกษตรกรเป็นข้อมูลประกอบ กรณีที่เกษตรกรนำข้าวเปลือกมาเข้าร่วมโครงการในปี 2555/56 สูงกว่าปริมาณผลผลิตเฉลี่ย ให้ปรับเพิ่มขึ้นได้อีกไม่เกินร้อยละ 20 โดยให้เกษตรกรรับรองว่าเป็นข้าวเปลือกของตนเอง และแจ้งคณะอนุกรรมการระดับจังหวัด ใช้เป็นข้อมูลประกอบในการกำกับดูแลและตรวจสอบทุกรายต่อไป รวมถึงเกษตรกรที่มีวงเงินการรับจำนำข้าวเปลือกเกินกว่า 5 แสนบาท/ราย/ครั้งด้วย
อย่างไรก็ตาม นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ให้ความเห็นว่า การดำเนินโครงการจำนำข้าวเปลือกนาปรังในครั้งนี้ จะทำให้ปริมาณข้าวเปลือกสะสมที่รัฐบาลรับจำนำไว้แล้วทั้งหมดสูงถึงประมาณ 50 ล้านตัน ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องพิจารณาถึงการบริหารจัดการสต็อค และการระบายข้าวเปลือกให้เหมาะสมและเป็นประโยชน์สูงสุด รวมทั้งกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ และสำนักงบประมาณ ควรต้องพิจารณาถึงผลกระทบที่ก่อให้เกิดเป็นภาระงบประมาณของประเทศ ที่จะต้องชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินสินเชื่อและเงินจ่ายขาด ซึ่งในภาพรวมจะเป็นหนี้ของประเทศจำนวนสูงมาก
ส่วนนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ฯ จัดทำรายงานเสนอความเห็นต่อ ครม. ด้วยว่า วงเงินที่ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนรับจำนำข้าวเปลือกจำนวน 26 ล้านตัน วงเงิน 4.05 แสนล้านบาท และเงินจ่ายขาดในการดำเนินการรับจำนำ 11,771.25 ล้านบาทนั้นเป็นวงเงินที่สูงมาก
ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินโครงการจำเป็นต้องมีการใช้จ่ายเงินอย่างประหยัด มีประสิทธิภาพ และเกิดความคุ้มค่าสูงสุดในการดำเนินการให้มากที่สุด เพื่อไม่ให้เป็นภาระหนักแก่เงินงบประมาณแผ่นดิน
เนื่องจากที่ผ่านมามีการใช้วงเงินในการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 และข้าวเปลือกนาปรังปี 2555 ไปแล้วกว่า 517,958 ล้านบาท
จึงจำเป็นต้องเร่งระบายข้าวในสต็อคของรัฐบาลในปริมาณและช่วงเวลาที่เหมาะสม ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อการดึงราคาข้าวเปลือกภายในประเทศให้ตกต่ำ และไม่ทำให้เกิดผลการขาดทุนและเป็นภาระด้านงบประมาณมากเกินควร
นายอาคมยังระบุด้วยว่า กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตร ควรเข้มงวดในการติดตามตรวจสอบการดำเนินโครงการเพื่อป้องกันการรั่วไหลและการทุจริตที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อให้เกษตรกรรายย่อยได้รับประโยชน์จากการดำเนินโครงการอย่างแท้จริง และการใช้งบประมาณของภาครัฐให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามนโยบายและเจตนารมณ์ของรัฐบาลในการเข้ามาบริหารประเทศ
และในระยะต่อไป หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการส่งเสริมแนวทางลดต้นทุนในการผลิตข้าว การพัฒนาคุณภาพข้าว และการเพิ่มมูลค่าข้าวของไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมทั้งมีความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ โดยเฉพาะการเกิดประชาคมอาเซียนในปี 2558 ควบคู่ไปกับการกำหนดราคาจำนำที่เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์การผลิตและการตลาด
ขณะที่แหล่งข่าวจากที่ประชุมครม.กล่าวว่า “การหาข้อมูลของสภาพัฒน์ฯ เป็นไปด้วยความยากลำบาก โดยเฉพาะข้อมูลเรื่องการสต็อคข้าว การรับซื้อข้าวของรัฐบาล รวมทั้งปริมาณที่มีการประมูลขายออกไป ส่วนใหญ่จะถูกบอกว่าเป็นความลับ ไม่เปิดเผย”
แหล่งข่าวจากกรมการค้าต่างประเทศเปิดเผยว่า จากการคำนวณราคาการประมูลข้าวในสต็อคของรัฐบาลที่ออกไปในช่วงวันที่ 28 สิงหาคม 2555 ประมาณ 2.1 แสนตัน พบว่า รัฐบาลต้องขาดทุนจากการขายสต็อครวมทั้งสิ้น 1,592-1,637 ล้านบาท เช่น ข้าวสารขาว 5% ราคาที่รัฐจำนำไว้จะตกตันละ 24,000 บาท ราคาขายส่งปัจจุบันอยู่ที่ 17,000 บาท ปรากฏว่าราคาที่ประมูลได้อยู่ที่ 16,300-16,500 บาท คิดเป็นผลขาดทุนจากราคาจำนำตันละ 7,500-7,700 บาท
ข้าวสารหอมมะลิ 100% ราคาที่รัฐจำนำไว้อยู่ที่ 36,000 บาท ราคาขายส่งปัจจุบันอยู่ที่ 30,500-31,500 บาท ราคาประมูลที่อนุมัติไปอยู่ที่ 29,800-29,850 บาท เท่ากับรัฐบาลต้องขาดทุนจากราคาจำนำไปแล้วตันละ 6,000-6,200 บาท
“การอนุมัติโครงการประมูลแต่ละครั้ง มีบุคคลที่เข้าร่วมหารือกันเพียงไม่กี่คน ทำให้ข้อมูลส่วนใหญ่ไม่เป็นที่เปิดเผยหรือรับรู้เป็นการทั่วไป” แหล่งข่าวระบุ
ศาสตราจารย์ ดร.ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า นโยบายประชานิยมแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน คือ โครงการที่มีคุณภาพต่ำมาก ปานกลาง และดี อย่างโครงการจำนำข้าว อันนี้คือคุณภาพต่ำมาก ควรยกเลิกได้แล้ว มีการคอร์รัปชันสูงมาก ถ้าเลิกจะช่วยประหยัดเงินได้มหาศาล แล้วนำเงินไปทำโครงการที่ดีอย่างการประกันภัยพืชผล การประกันภัยธรรมชาติ เอาเงินที่ตัดทอนไปทำกองทุนแก้ปัญหาอุบัติภัยเหล่านี้ดีกว่า เวลามีภัยพิบัติระดับท้องถิ่นจะช่วยได้ หรือตั้งกองทุนประกันโภคภัณฑ์ที่มีความไม่แน่นอนสูง เช่นเดียวกับกองทุนสุขภาพ ซึ่งถือเป็นโครงการที่ดี
“การจะเลิกโครงการประชานิยมทำได้ แต่รัฐบาลต้องมีเหตุผลที่หยิบขึ้นมาอธิบาย เช่น จะนำเงินที่ได้จากการยกเลิกโครงการเหล่านี้ไปช่วยเหลือด้านอื่น อย่างจะเลิกโครงการจำนำข้าวเพื่อเอาเงินไปช่วยการศึกษา หรือประกันภัยพืชผล หรือนำไปตั้งกองทุนอินฟราสตรัคเจอร์” ศ.ดร.ตีรณระบุ
อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า จากนี้ ทุกพรรคการเมืองจะมีปัญหาเดียวกันคืออยากชนะการเลือกตั้ง แล้วทิ้งภาระปัญหาไว้ให้กับอนาคต จะมีโครงการประชานิยมออกมาอีกแน่ อยู่ที่ใครหวือหวาหรือฉวยโอกาสได้ดีกว่า แต่จริงๆ แล้วจะการออกนโยบายต้องมีความรับผิดชอบทางการเมืองด้วย ไม่ใช่เดินทางผิดแล้วไม่เป็นไร ค่อยว่ากัน จริงๆ คือต้องทำวันนี้และวางแผนอนาคตด้วยว่าจะทำอย่างไรต่อไป
นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ อดีตรองกรรมการผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ตอนนี้มีการแปรข้าวเปลือกที่รับจำนำไว้เป็นข้าวสารเก็บสต็อคสูงมากสุดในประวัติศาสตร์ เพราะปกติแล้วการสต็อคเพื่อรับมือภัยพิบัติ เสียหาย น้ำท่วม น้ำแล้ง 2 ล้านตันก็พอ และตอนนี้ข้าวนาปีกำลังจะออกอีกรอบ ซึ่งรัฐบาลก็มีโครงการจำนำรอบใหม่ ซึ่งน่าเป็นห่วงเพราะของเดิมเก็บเต็มโกดังอยู่แล้ว ไม่รู้จะเก็บไว้ที่ไหนอีก คนที่ได้ประโยชน์คือคนที่รวย มีโกดังเก็บ คือไม่ต้องทำอะไร สร้างโกดังมีหลังคาคลุมก็ได้เงินแล้ว
นายเอ็นนูกล่าวว่า การจำนำข้าวมีช่องโหว่ได้ทุกขั้นตอน ตั้งแต่ตอนขึ้นทะเบียนกับเกษตร ถ้าเกษตรกรกับเกษตรตำบลร่วมมือกันโกหกก็ได้ บอกพื้นที่ผลผลิตไม่ตรงตามข้อเท็จจริง โรงสีหักเจือปนมากเข้าไว้ให้ตัวเองได้ประโยชน์ บริษัทผู้ตรวจสอบคุณภาพข้าวหรือเซอร์เวย์เยอร์เรียกรับประโยชน์ คือ ถ้าจะตรวจให้ผ่านคิดกระสอบละเท่าไหร่
ตลอดไปจนถึงโกดังกลาง ที่โรงสีกับโกดังกลางอาจร่วมมือกัน ขนไปหรือไม่ขนไป หรือส่งไปมากน้อยไม่มีใครรู้ เจ้าของโกดังยังได้เงินตามตัวเลขรายงาน หรือเจ้าของโรงสีอาจเอาข้าวที่รับจำนำไว้แต่มีคุณภาพดีนำออกขาย แล้วเอาข้าวคุณภาพไม่ดีใส่แทน เพราะรู้อยู่แล้วว่ารัฐบาลต้องเก็บสต็อคอีกนาน ยังไงข้าวที่เก็บต้องเสื่อมคุณภาพอยู่แล้ว ผู้ส่งออกก็อาจร่วมมือกับนักการเมือง ข้าราชการ ตอนประมูลก็ฮั้วกันได้อีก จะล็อบบี้ให้เจ้าไหนได้ไป จะเห็นได้ว่ามีโอกาสเกิดขึ้นทุกขั้นตอน