ThaiPublica > คนในข่าว > นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล สร้างความเป็นเลิศทางการแพทย์ หนุนสร้างแพทย์องค์รวม ขับเคลื่อนสังคมอย่างยั่งยืน

นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล สร้างความเป็นเลิศทางการแพทย์ หนุนสร้างแพทย์องค์รวม ขับเคลื่อนสังคมอย่างยั่งยืน

6 กันยายน 2012


รศ.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.)
รศ.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.)

การพัฒนาไปสู่สังคมที่ยั่งยืนจำเป็นต้องแตกต่างด้วยการสร้างใหม่ จะสร้างใหม่ด้วยการต่อยอดจากของเดิมหรือสร้างใหม่ในมิติใดก็ตาม เพื่อตอบโจทย์สังคม ชุมชน ตามที่เขาต้องการ ไม่ใช่ประเภท “เจ็บเข่าแต่ผ่าหัว” ซึ่งสังคมไทยก็กำลังก้าวไปสู่วิถีนั้นมากขึ้นๆ

โลกเปลี่ยน สิ่งแวดล้อมเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน หากเรายังไม่เปลี่ยน อะไรจะเกิดขึ้น

มีโอกาสได้พูดคุยกับ รศ.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ในวาระที่คณะแพทยศาสตร์ มช.จัดกิจกรรมงานมหิดล’55 “สวนดอกร้อยดวงใจ…เพื่อผู้สูงวัย ใส่ใจสุขภาพ” ช่วยเหลือผู้ป่วยสูงวัยยากไร้ 17 จังหวัดภาคเหนือ และรองรับสังคมผู้สูงวัยในอนาคต

ไทยพับลิก้า : คณะแพทย์มีส่วนในการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืนที่เป็นรูปธรรมอย่างไร

ในฐานะโรงเรียนแพทย์ มช. มีพันธกิจหลักเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคม เมื่อสังคมมีแนวโน้มที่เปลี่ยนไปสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น เราก็ต้องหาระบบมารองรับ ระบบปัจจุบันที่ใช้อยู่ ผู้สูงอายุมาพบแพทย์เหมือนผู้ป่วยอื่นๆ ถ้าเราเห็นว่ามีคนไข้นอกเป็นผู้สูงอายุ 28-30 % ต่อปี ทำไมเราไม่จัดระบบการดูแลเฉพาะขึ้นมา การจัดระบบดูแลเฉพาะ เป็นที่ไปที่มาของการมี “ศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ” อยู่ภายใต้แนวคิดศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ คือการนำองค์ความรู้จากหลากหลายสาขามาทำงานร่วมกัน และเป็นการทำเพื่อสร้างสรรค์ให้เกิดมิติการให้บริการที่ดีขึ้น มิติการวิจัยและสร้างองค์ความรู้ต่อมา เพราะสังคมที่ยั่งยืน การพัฒนาที่ยั่งยืน ต้องการองค์ความรู้ที่ตอบโจทย์สังคมนั้นๆ ได้ และอาจจะไม่เพียงพอแค่นำองค์ความรู้จากต่างชาติมาประยุกต์ใช้ ในเมื่อเราต้องการการพัฒนาคนของเรา สังคมของเรา เราต้องมีองค์ความรู้ของเราเอง

ฉะนั้น ศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุก็คือ การนำองค์ความรู้ที่มีอยู่จากหลากหลายสาขามาทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างสรรค์องค์ความรู้ที่เป็นคำถาม เป็นโจทย์ ของประเทศไทยในเรื่องการดูแลผู้สูงอายุ ฉะนั้น สิ่งที่ต้องถามคือว่า เราจะจัดระบบการดูแลผู้สูงอายุอย่างไรให้เหมาะสม

สิ่งหนึ่งที่เราเชื่อคือ จัดให้เป็นสัดส่วนสำหรับผู้สูงอายุ แต่การดูแลการเจ็บป่วยของผู้สูงอายุมีหลายระยะ หลายขั้นตอน

1. เริ่มจากระยะเริ่มแรกที่ยังเจ็บป่วยไม่มาก เราต้องหาองค์ความรู้ ฝึกอบรมผู้ที่จะดูแล องค์ความรู้ว่าทำอย่างนี้เถอะจะเจ็บป่วยน้อย จะสุขภาพดี เช่น บอกว่าการออกกำลังกาย แต่ผู้สูงอายุที่เป็นพระภิกษุ เราจะให้ท่านเต้นแอโรบิก จ๊อกกี้ จะดีไหม ฉะนั้นเราต้องหาวิธีว่าทำอย่างไร เช่น รำจี้กง โยคะ เหมาะสมไหม จะปรับท่าอย่างไร มาประยุกต์ให้ผู้สูงอายุทำ และต้องพิสูจน์ว่า เมื่อทำแล้วเพียงพอต่อการดูแลสุขภาพของเขา หากเราตอบสิ่งเหล่านี้ได้ นั่นแสดงว่าเราสร้างองค์ความรู้สำหรับผู้สูงอายุในสังคมไทย ผู้สูงอายุไทยจะออกกำลังเหมือนผู้สูงอายุต่างประเทศไหม เราไม่สามารถตอบได้ เพราะวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน

นั่นคือการเตรียมพร้อมสำหรับระยะเจ็บป่วยน้อย

2. สเตปถัดมา เมื่อเจ็บป่วยต้องมาที่โรงพยาบาล เราจัดระบบการดูแลผู้ป่วยนอกแบบองค์รวม ปัจจุบันเวลาไปโรงพยาบาลจะเจอแพทย์หัวใจ 1 คน แพทย์โรคกระดูก 1 คน แพทย์โรคไต 1 คน หลากหลายมาก และผู้สูงอายุได้รับยามา 1 โหล หากในระบบที่ดูแลผู้สูงอายุแบบองค์รวม แพทย์ผู้นั้นต้องมีความรู้เฉพาะที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุไม่ว่าโรคหัวใจ โรคไต โรคต่างๆ เขาสามารถเอาองค์ความรู้มาประยุกต์รวมเพื่อจะตอบปัญหาคนไข้สูงอายุได้มากขึ้น แทนที่จะให้แพทย์ 4-5 คน มาดูแล ต่างคนต่างสั่งยา ซึ่งมีผลกระทบต่อป่วยสูงอายุมากขึ้น

นอกจากนี้ ผู้ป่วยในที่อาการหนักมากขึ้น ยังไม่พร้อมที่จะกลับบ้าน แต่อาจจะไม่ต้องนอนในโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ บางครั้งก็มีความเสี่ยงการติดเชื้อ ระบบนี้เป็นจุดกลางระหว่างบ้านกับโรงพยาบาล ก็มาอยู่ที่ศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ

นี่คือบทบาทของโรงเรียนแพทย์ในการช่วยการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน เรามองว่าในอีก 15 ปีข้างหน้า จะมีผู้สูงอายุ 25 %ของประชากรทั้งหมด ประชากร 4 คน เป็นสูงอายุ 1 คน ดังนั้น เราไม่สามารถดูแลผู้สูงอายุได้ทั้งประเทศ แต่สิ่งที่เราจะทำได้ในฐานะโรงเรียนแพทย์ซึ่งมีศักยภาพในการพัฒนาองค์ความรู้ ต้องพัฒนาและสร้างรูปแบบที่เหมาะสมขึ้นมา ต่อจากนั้นโรงพยาบาลอื่นไม่ต้องเสียเวลาไปทดลอง หรือลองถูกลองผิด สามารถเอารูปแบบที่พัฒนาแล้วและเหมาะสมกับสังคมไทยแล้วไปประยุกต์ใช้ได้เลย

แนวคิดการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม เป็นแนวคิดการดำเนินการที่ดูแลทุกมิติของผู้ป่วย รวมทั้งโรคภัยไข้เจ็บที่อาจจะเกิดขึ้น จะมีการเรียนรู้ในศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ แพทย์ มช. ไม่ได้ดูแลผู้สูงอายุทั้งประเทศ แต่สร้างองค์ความรู้ขึ้นมา เพื่อให้เกิดการพัฒนาสังคมไทยต่อไป

ไทยพับลิก้า : การรักษาแบบองค์รวมมีมานานแค่ไหน แล้วจะสร้างแพทย์ที่มีความรู้แบบองค์รวมอย่างไร

ที่จริงเรื่องนี้มีการพูดกันมา 6-7 ปี ที่ผ่านมาพยายามสร้างกระแสนี้ให้เป็นจริงในทางปฏิบัติ อาจจะยากลำบากนิดหนึ่ง เพราะสังคมไทยมีแต่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แพทย์เฉพาะทาง ฉะนั้น คนไข้คนหนึ่งมาหาหมอจะได้รับการดูแลแบบองค์รวม อาจจะไม่ครบ ในการประชุมแพทย์ฯ ที่ผ่านมาก็มีการพยายามพูดเรื่องการดูแลคนไข้แบบองค์รวม หรือ holistic เราพยายามพัฒนาอยู่ในหลักสูตรคณะแพทย์ มช. แต่ด้วยสาขาวิชาที่มีเนื้อหามากมาย ดังนั้น กรณีปัญหาในส่วนผู้สูงอายุ คิดว่าต้องมีการรักษาแบบองค์รวม ส่วนจะทำได้สักแค่ไหน อุปสรรคคืออะไร คำตอบคือต้องลองทำ

กระบวนการสร้างแพทย์องค์รวม ยกตัวอย่างเช่น การรักษาแบบองค์รวม ในฐานะแพทย์ 1 คนดูหลายโรคได้ ในเมืองนอกมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญผู้สูงอายุ ถ้าเราส่งแพทย์ไปฝึกอบรมแล้วมาใช้ได้ไหม ตอบโจทย์ไหม หรือได้แค่ทางกาย แต่ขาดทางใจ แล้วเราจะเติมเต็มให้แพทย์ของเราได้ไหม ให้มีมิติทางกายในทุกโรคและทางใจด้วย
ถามว่าเป็นที่นี่เป็นที่แรกไหม โดยแนวคิดไม่ใช่ที่แรก

ถามว่าเป็นโมเดลได้ไหม ก็ไม่เชิง แต่เป็นสิ่งที่ท้าทาย จะทำได้สำเร็จหรือไม่ หากจะทำให้สำเร็จ ปัจจัยคืออะไร ปัจจุบันคณะแพทย์ มช. มีภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว พยายามทำโครงการผู้สูงอายุอยู่แล้ว แต่อยู่ในกรอบเฉพาะทางมาก การทำงานอาจจะทำลำบาก ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์จึงทำอีกแบบหนึ่ง คือ เป็นศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ที่รักษาแบบองค์รวม

ไทยพับลิก้า : ความพร้อมของคุณหมอที่จะรักษา

วิธีแรก ส่งคนไปรับการฝึกเป็นแพทย์เฉพาะทางผู้สูงอายุ อันนี้ต้องใช้เวลา วิธีที่สอง เอาแพทย์เฉพาะทาง เอาผู้เชี่ยวชาญที่มีอยู่แล้วมาทำความคิดเรื่องผู้สูงอายุ ว่าวันนี้คุณช่วยคิดในฐานะเป็นแพทย์เชี่ยวชาญสมอง แต่ต้องการเน้นเรื่องผู้สูงอายุ หรือแพทย์เชี่ยวชาญโรคกระดูก แต่มาเน้นผู้สูงอายุ เพราะฉะนั้นอาจจะมีแพทย์ 5-6 คน ที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านแต่มุ่งผู้สูงอายุ ทำเนื้อหาเดียวกัน ถัดจากนั้นเราค่อยผลิตลูก (นักศึกษาแพทย์) ที่เป็นผลผลิตของแพทย์ที่ดูแลผู้สูงอายุออกมา เบื้องต้นเราคงใช้ใช้วิธีนี้ในการสร้างแพทย์รักษาแบบองค์รวม

เมื่อเห็นรูปร่างหน้าตาว่าการเป็นแพทย์ที่ดูแลผู้สูงอายุเป็นอย่างไร ซึ่งการเป็นแพทย์เชี่ยวชาญผู้สูงอายุ ก็ถือว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญเหมือนกัน มีความรู้เฉพาะทาง ถึงตอนนั้น หากจะส่งแพทย์คนนั้นไปเรียนต่อ คนก็ยอม แต่ถ้าอยู่ๆ บอกว่าไปเรียนแพทย์ผู้สูงอายุ เขาไม่ค่อยอยากไป เขาจะบอกว่าไปเป็นเป็ดสิ เพราะเขาเรียนรู้ตั้งหลายอย่าง

กระบวนการสร้างแพทย์แบบบูรณาการนี้ ทางคณะแพทยศาสตร์ มช. เราทำมาแล้วและประสบความสำเร็จ อย่างกรณีกระบวนการสร้างแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน ของแพทย์ มช. ดูแลห้องฉุกเฉิน เรามีแพทย์ศัลยศาสตร์ เรามีแพทย์ระบบประสาท มีแพทย์เฉพาะทาง หากมาฉุกเฉินถ้าจะผ่าตัดสมองก็ส่งไปหา เขาถึงมาดู แต่เมื่อ 8 ปีที่ผ่านมาเราเอาแพทย์ศัลยศาสตร์ที่สนใจเรื่องฉุกเฉิน แพทย์ผู้หญิงที่สนใจห้องฉุกเฉิน แพทย์ทางอายุรศาสตร์สนใจด้านฉุกเฉิน เป็นต้น มาช่วยกันคิดว่า ถ้าเป็น “แพทย์ห้องฉุกเฉิน” จะทำอย่างไร เพราะครึ่งหนึ่งของเขามีความรู้ในวิชาชีพอยู่แล้ว และเอาความคิดแพทย์ห้องฉุกเฉินเข้ามาใส่ เอามารวมกัน เราสร้างองค์ความรู้ขึ้นมา แล้วเราเริ่มสร้างลูก (นักศึกษาแพทย์) ขึ้นมา ตอนนี้มีผลผลิตว่าเขาเป็นแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน ดูแลฉุกเฉินอุบัติเหตุ เหมือนหนัง ER

และตอนนี้สร้างแพทย์ที่มีความรู้องค์รวมสำหรับห้องฉุกเฉินเกิดขึ้นได้แล้ว นี่คือกระบวนการเราได้สร้างแบบนี้

วิธีคิดการเตรียมแพทย์ผู้ดูแลผู้สูงอายุก็ใช้วิธีนี้ เอาผู้เชี่ยวชาญมาปรับวิธีคิด อาจจะยาก แต่ต้องใช้เวลา เป็นการปรับกระบวนทัศน์ของทีมแพทย์ ตอนนี้ เราฟอร์มทีมแล้ว เพื่อสร้างแพทย์สายนี้ขึ้นมา

นอกจากสร้างแพทย์ที่มีความรู้องค์รวมแล้ว อีกประเด็นที่เราคิดว่าเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน คือ ถ้าเราคิดว่าการดูแลผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยระดับกลางที่ต้องการผู้ดูแล หากเรายังพึ่งคนอายุหนุ่มสาว เรื่องนี้เราอาจจะต้องกลับมาทบทวน เพราะอีก 15 ปีข้างหน้าที่มีผู้สูงอายุ 25% ของประชากร แสดงว่าคนหนุ่มสาวจะน้อยลง หากเอาคนกลุ่มนี้มาดูแลผู้สูงอายุ ผลผลิตมวลรวมของประเทศอาจจะน้อยลง เพราะเขาอยู่ในช่วงของกำลังของการสร้างผลผลิต เราต้องเอาเขากลับไปใช้ให้เกิดผลิตภาพ (productivity) ของประเทศ

ดังนั้น เราต้องมามองประเด็นผู้สูงอายุ จะสร้างคนมาช่วยดูแลอย่างไร เรามองว่าคนอายุ 60 ปี ไม่ใช่คนที่ไม่มีประสิทธิภาพ เขาไม่ได้หมดเรี่ยวแรง ทำอย่างไรให้คนอายุ 60 ปี พร้อมดูแลคนอายุ 70-75 ปี ขณะเดียวกัน สาขาวิชาอื่น อาทิ วิศวกรรม จะสร้างเครื่องมือสำหรับให้คนอายุ 60 ปี มาช่วยคนอายุ75-80 ปี ได้อย่างไร
ดังนั้น องค์ความรู้ไม่ได้แค่ต้องการเฉพาะความรู้ทางแพทย์ ศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุสร้างโดยเป็นมิตรกับผู้สูงอายุและมีความทันสมัย การออกแบบต้องให้ผู้สูงอายุที่มาใช้บริการสามารถจะไปได้ทุกที ทั้งราวจับ ล้อเข็น ห้องน้ำ ควรเป็นอย่างไร วัสดุที่ใช้

“เรื่องเหล่านี้เรามองว่าสถาปัตยกรรม วิศวกรรม ของไทยต้องเรียนรู้ ปัจจุบันมีแต่ยังน้อย สถาบันในเมืองไทยที่สอนไม่ได้เน้นเรื่องผู้สูงอายุ ปัจจุบันมีคณะสถาปัตยกรรม จุฬาฯ ที่เน้นในเรื่องนี้ ทางศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ มช. ก็ลิงค์กับสถาปัตยกรรม จุฬาฯ และลิงค์กับสถาปัตยกรรม มช. เข้ามาด้วย ทำให้เขามีการทำงานร่วมกัน พอเสร็จโครงการนี้เขาจะมีความรู้มากขึ้น หากมีการทำอีก เขาจะมีความรู้มากขึ้นอีกว่าในเชิงวิศวกรรมควรทำอย่างไร สถาปัตยกรรมต้องเป็นอย่างไร วัสดุที่จะใช้เป็นอย่างไร

อาคารศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ
อาคารศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ

“ที่เราเห็นในเมืองไทย มีการออกแบบเพื่อผู้สูงอายุ แต่ไม่มีคนใช้ เพราะทางลาดชันมาก จึงไม่มีคนใช้ หรือออกแบบประตูแคบไป ไม่มีราวจับ เป็นต้น เพราะฉะนั้น องค์ความรู้ในเรื่องนี้ของผู้สูงอายุไม่ใช่เฉพาะแพทย์ แต่ต้องมีเรื่องโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ด้วย การออกแบบทุกครั้งต้องรู้ว่าสังคมไทยไม่ได้มีแต่คนเดินขึ้นบันไดได้ ต้องมีทางเลือกอื่นได้ รวมทั้งการออกแบบที่อื่นๆ อาทิ ถนนต่างๆ ก็ต้องคนถึงคนกลุ่มนี้ด้วย”

ไทยพับลิก้า : ที่ทำอยู่เป็นการสร้างองค์ความรู้ที่บูรณาการจริง จับต้องได้จริง

ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ เรามีพันธกิจของการสร้างและพัฒนาองค์ความรู้จากสิ่งที่อยู่มาต่อยอดกัน จริงๆ ขบวนการมันเกิดขึ้นอยู่แล้วโดยตัวของมันเอง เช่น สาขาวิชาการกระดูกและข้อ อาจจะไม่ได้ทำงานร่วมกับวิชาสาขาชีวะ เคมี ต่างคนต่างเดินในทางลึกลงไป แต่วันดีคืนดีอาจารย์สองคนรู้จักกันก็มาเชื่อมกันเองโดยอัตโนมัติ
แต่ถ้าเราในฐานะบริหารจัดการองค์กร ถ้ามองว่าเรื่องกระดูกและข้อต้องการงค์ความรู้อะไรเข้ามาเชื่อม เราจับสองเรื่องนี้มาอยู่ภายใต้ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ เพื่อทำงานข้ามพรมแดน

ถามว่าทำไมสาขาแพทย์ไม่สามารถทำงานกับสาขาวิศวกรรรม ทำไมคณะแพทย์ไม่ทำงานร่วมกับสถาปัตยกรรม เพราะดูเนื้อเหมือนไม่เกี่ยวกันเลย แต่หากมองมิติใดมิติหนึ่งของสังคม มันเชื่อมโยงกัน แต่ความยากของสังคม เมื่อเชื่อมกันแล้วจะทำอย่างไรให้มาทำงานด้วยกันได้ เป็นเรื่องท้าทายมากกว่าการหาองค์ความรู้ เป็นการท้าทายที่ให้แต่ละสาขามาทำงานภายใต้กรอบความคิดเป้าหมายเดียวกันได้

ตอนนี้เราได้ทำให้เกิดขึ้นจริง ทำงานด้วยกัน เป็นที่มาของการสร้าง “โครงการชีววิศวกรรมศาสตร์” ขึ้นแล้ว

นอกจากนี้ การพัฒนาสังคมที่ยั่งยืนต้องพัฒนาเรื่องการสื่อสารด้วย เพราะต้องทำงานร่วมกันหลายฝ่าย ผมเชื่อว่าเราคงปลูกข้าวได้เยอะถ้าเราปลูกคนเดียว แต่ถ้าทำเป็นสหกรณ์เราก็เจ๊งทุกที ผมยังเชื่อว่าการพัฒนาอย่างยั่งยืนคือการสื่อสาร พูดคุยกัน มีวิธีการทำงานด้วยกันได้ แต่จะทำอย่างไรคำตอบคือผมไม่รู้ แต่สิ่งเราทำคือต้องเรียนรู้ ว่าเราทำอย่างนี้ได้ไหม แก้อย่างนี้ได้ไหม บางคนแก้ไม่ได้ เลิกทำ บางทีติดที่ระบบก็เลิกทำ ที่เราทำมีทั้งที่กรณีที่สำเร็จและไม่สำเร็จ แต่ผมว่าน่าจะเป็นประเด็นที่จะช่วยพัฒนาสังคมพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน

ไทยพับลิก้า : ที่ไม่สำเร็จเพราะอะไร ถอดเป็นบทเรียนได้ไหม

ที่ผ่านมา บางโครงการที่บูรณาการศึกษาวิจัย เช่น บอกว่าประเทศไทยมีปัญหาเรื่องโรคมะเร็ง มีโครงการของสมเด็จพระนางเจ้าฯ อยากให้มีการปลูกเห็ดหลินจือให้มีราคาถูกลงเพื่อให้คนไทยได้ใช้ป้องกันโรคมะเร็ง โครงการนี้เป็นร่มใหญ่ มีการทำงานข้ามหน่วยงานมากมาย ทั้ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คณะแพทยศาสตร์ มช. คณะเภสัชศาสตร์ มช. สำนักตำหนักภูพิงค์ฯ กระทรวงสาธารณสุข การวิจัยถึงขั้นมาใช้ในคน หากได้ผลอย่างไรก็จะต่อยอดต่อไป นี่คือความสำเร็จที่ทุกคนกล้าแชร์ข้อมูล แต่บางโครงการ คนที่จะมาช่วยมีงานหลักอยู่แล้ว เวลาที่เขาต้องสละมา และวัฒนธรรมการทำงานไม่เหมือนกับต่างประเทศ หากมีโครงการใดมา เขาถูกมอบหมายให้ทำเรื่องนั้นไปเลย แต่ของไทยเป็นงานเพิ่มๆๆ จากงานประจำก็มีอยู่ สรุปงานเพิ่ม งานประจำก็เสีย งานเพิ่มก็ไม่ดี ดังนั้น เรื่องเวลาที่ต้องสละเวลา ไม่ได้ทุ่มเต็มที่ นอกจากนี้การสืบค้นของคนไทยด้อยกว่า ไม่สามารถสืบค้นได้ พอการทำงานหากความเห็นไม่ลงรอยก็จะมีอารมณ์เข้ามา ต่างจากต่างประเทศที่มีการสืบค้นข้อมูล มีความรู้มาพูดคุย การทำงานด้วยเหตุผล ถกเถียงกันบนฐานข้อมูล ต่างจากของไทย

ไทยพับลิก้า : สรุปแล้วศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ มีเป้าหมายเพื่ออะไร

จัดตั้งขึ้นมาเพราะเห็นว่า ในคณะแพทย์มีหลากหลายสาขาวิชา หากจะบูรณาการโดยระบบปกติเดิมมันไปได้ช้า เราจึงตั้งขึ้นมาเพื่อบูรณาการข้ามสาขาวิชามากขึ้น บูรณาการทำงานบริการให้มาเป็นงานวิจัยมากขึ้น ณ ปัจจุบันเราถูกมอบหมายให้ทำวิจัย ถูกบังคับให้ทำโดยหน้าที่ แต่หากบอกว่างานบริการบางเรื่องมาผสมให้เกิดงานวิจัยได้หรือไม่ เราพยายามเข้าไปทำเรื่องเหล่านี้ เป็นการบูรณาการหลายสาขา และพยายามทำสิ่งที่มีอยู่ในคณะแพทย์เพื่อมาต่อยอด เช่น มีภาควิชาโรคกระดูกและข้อทำได้ดี เราก็มีคิดว่าจะต่อยอดว่าควรจะเชื่อมโยงกับเรื่องอื่นไหม เราจะไม่ตั้งหน่วยงานซ้ำซ้อน แต่หยิบแต่ละอันมาต่อยอดให้ได้ หรือบูรณาการงานวิชาการกับงานวิจัย โดยไม่พยายามคิดแยกส่วน
ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ต้องตอบโจทย์ว่าสังคมได้อะไร ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น เราเปิดศูนย์การแพทย์ผสมผสาน มีทั้งแพทย์แผนไทย จีน ปัจจุบัน มารวมกัน เพื่อเลือกสิ่งดีๆ ให้คนไข้ คนไข้ปวดหลัง หากหมอเขามีความคิดเรื่องแผนทางเลือกอื่น ก็บอกว่าเอาไปประคบ หรือนวด แบบนี้น่าจะดีขึ้น ก็ลดการใช้ยาลง นี่เป็นตัวอย่าง เมื่อมีการให้บริการก็ทำงานวิจัยควบคู่ไปด้วย เช่น แผนปัจจุบันให้ใช้ฮอร์โมนรักษา ถ้าไม่ใช้ แต่ใช้การแนะนำร่วมกับฝังเข็มจะเป็นอย่างไร นี่ก็กำลังทำการวิจัยอยู่ อันนี้เป็นการตอบโจทย์การนำองค์ความรู้มาบูรณาการ เป็นต้น

อีกศูนย์ที่กำลังจะเปิดในปลายปีนี้ เรื่องการตรวจวินิจฉัยด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง (PET) นี่คือภารกิจหนึ่งในเรื่องการตรวจหาเซลล์มะเร็งว่ามันแพร่กระจายหรือไม่ ปัจจุบันในประเทศไทยมี 3 แห่ง เราเอามาตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งที่มีหลากหลายสาขา เราต้องบูรณาการหลากหลายสาขาวิชา อันนี้คนไข้ต้องจ่ายเอง ในเบื้องต้นให้บริการคนไข้จ่ายได้ เราเก็บเงินคนไข้ที่จ่ายได้ 4 ราย จะช่วยคนไข้ไม่มีเงินได้ 1 ราย อย่างน้อยเราตอบสังคมได้ว่าแม้เครื่องมือจะแพง แต่เรามีเงินส่วนหนึ่งกันไว้สำหรับคนไข้ที่ไม่สามารถจ่ายได้ด้วย

และอีกศูนย์หนึ่งที่เราจะเปิดปลายปีนี้คือ ศูนย์เลสิก แก้ปัญหาเรื่องสายตา ปัจจุบันในภาคเหนือยังไม่มีให้บริการ เป็นสิ่งที่ต้องการของผู้ป่วย เครื่องมือที่ใช้ทำเลสิกสามารถใช้รักษาโรคอื่นได้ด้วย เช่น โรคกระจกตาบางอย่าง โรคการเปลี่ยนถ่ายกระจกตา ดังนั้น ต้นทุนการทำ หากเก็บเงินก็ต้องเก็บ และต้องกันเงินไว้ส่วนหนึ่งที่ช่วยคนไข้กลุ่มที่จำเป็นแต่ไม่มีเงินด้วย

อันนี้ตอบสังคมได้ว่าเอาจากคนที่มีเงินมาช่วยคนจน เอาส่วนต่างของเงินรายได้มาช่วยคนไข้ที่จำเป็นแต่ไม่มีเงิน

หรือศูนย์การแพทย์ผสมผสาน คนที่บริจาคที่ดินให้คณะแพทย์ มช. เขาต้องการให้ศูนย์ฯ นี้รักษาพระที่อาพาธ ดังนั้นผู้ป่วยที่มาใช้บริการที่ศูนย์นี้ต้องจ่ายเงิน ขณะเดียวกันเราก็กันเวลาไว้เลยว่าจันทร์ พุธ ศุกร์ ช่วงบ่ายเป็นไม่แสวงหากำไรเลย พระมาใช้บริการได้ไม่ต้องจ่ายเงิน เราดูแลฝังเข็มให้ฟรี แต่ละเดือนมีพระอาพาธที่ต้องดูแล 100 -200 รายต่อเดือน และในศูนย์นี้ก็ทำงานวิจัยควบคู่ไปด้วย แต่ที่เราระบุชัดว่าใครมาใช้บริการต้องจ่ายเงิน เพื่อเอาเงินไปช่วยพระอาพาธ

ไทยพับลิก้า : ศูนย์การแพทย์ผสมผสาน เพิ่งเปิดตุลาคมปีที่แล้ว มีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง

คนไข้แต่ละวัน จากเดิมเฉลี่ย 30 – 40 ราย ตอนนี้ 90 รายต่อวัน เช่นเดียวกับพระมาใช้บริการมากขึ้น เป็นการกระจายรายได้มาดูแลพระ ตอบโจทย์คนบริจาค และตอบโจทย์สังคมไทยที่นำเข้ายาประมาณ 6-7 หมื่นล้านบาทต่อปี ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามลดการนำเข้ายาลง โดยเพิ่มแพทย์แผนไทยในโรงพยาบาล แต่ 5 ปีที่ผ่านมาการใช้ยาไม่ได้ลดลง กลับเพิ่มมากขึ้น ทั้งแผนปัจจุบันและแผนไทย ก็มองว่าไม่ถูก ต้องทำให้หมอแผนปัจจุบันตระหนักสัก 20% ใช้การรักษาแผนไทยช่วย เช่น การนวด การฝังเข็ม ก็จะลดการใช้ยาลง สิ่งที่แพทย์ มช. เราทำนั้นเป็นเพียงแค่ติ่งเดียว แต่ต้องการทำให้เห็นว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะแยกแผนไทย แผนปัจจุบัน ออกจากกัน

ตอนนี้กระทรวงสาธารณสุขกำลังมองอยู่ว่าวิธีการนี้น่าเป็นอีกวิธีที่ช่วยได้ กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยซึ่งเป็นเสาหลักแพทย์ทางเลือก และเขากำลังสร้างโรงพยาบาลที่ยศเส เขาจะเอาคอนเซปต์นี้ไปทำที่ยศเส ทำโรงพยาบาลผสมผสาน และในกระทรวงสาธารณสุขเองก็จะทำโรงพยาบาลผสมผสาน ดังนั้น หากเสาหลักของกระทรวงสาธารณสุขที่ดูเรื่องแพทย์แผนไทย พูดเรื่องผสมผสาน อนาคตโรงพยาบาลในกระทรวงสาธารณสุขจะคิดตาม เดินตามแนวทางนี้ด้วย ต่อไปการผลิตแพทย์ต้องพูดเรื่องนี้มากขึ้น

สำหรับคณะแพทย์ มช. หลักสูตรแพทย์ปัจจุบันต้องมาดูงานที่ศูนย์การแพทย์ผสมผสาน ว่าการรักษาโรคๆ หนึ่งไม่ต้องใช้แผนปัจจุบันเท่านั้น แต่มีทางเลือกอื่นอีกในการรักษาได้

ไทยพับลิก้า : คณะแพทย์ มช. ปรับหลักสูตรแล้ว

หลักสูตรยังไม่ปรับแต่เปิดให้นักศึกษาแพทย์เลือก เมื่อก่อนนักศึกษาที่สนใจแพทย์ทางเลือกจะถูกหาว่าบ้า แต่ตอนนี้มีหลักสูตรในกระบวนวิชาหนึ่งในภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว จะสอนเรื่องแพทย์ทางเลือก ตอนนี้เมื่อสอนเสร็จแล้วมาดูงานที่ศูนย์การแพทย์แบบผสมผสาน นักศึกษาจะเห็นแพทย์แผนปัจจุบันที่สั่งยาแผนปัจจุบันและให้คนไข้รักษาแผนไทยด้วย เขาได้เห็นของจริง หากเขาสนใจก็เลือกเป็นแพทย์ทางนี้ได้ ดังนั้นภาคเวชศาสตร์ครอบครัวสอนก็ให้นักศึกษาแพทย์เห็นและมาฝึกงานได้ว่าทำได้จริงๆ

นอกจากนี้ ได้หารือกระทรวงสาธารณสุขว่าอนาคตต้องมีการผสมผสานมากขึ้น ที่ผ่านมาเราผลิตแพทย์แผนไทยปีละ 400-500 คน พอไปถึงโรงพยาบาลอำเภอ อ้าว! แพทย์แผนไทยมาเหรอ ไปเปิดแผนกให้ แผนปัจจุบันอยู่ทางนี้ แพทย์แผนไทยอยู่อีกทาง ต่างคนต่างอยู่ คนไข้มาก็แค่ไปนวด ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการรักษา แพทย์แผนไทยเหมือนลูกเมียน้อย ไม่ได้รับความสนใจ เพราะถูกแยกทั้งความคิด กระบวนการ และวิธีการ แต่หากกระทรวงสาธารณะสุขให้ความสำคัญ เอาแนวคิดนี้ไปใช้ และเขาทำด้วย โดยไม่ต้องแยกเด็ดขาด ผสมผสานกัน จะเกิดการทำงานร่วมกัน แต่อาจจะต้องใช้เวลา

ไทยพับลิก้า : เป็นแนวโน้มที่ดีที่จะมีการบูรณาการหลักสูตร และบูรณาการการทำงาน

โดยส่วนตัวผมมองว่าหากสถาบันการศึกษาไม่เคลื่อน คิดว่าไม่มีใครเคลื่อน ผมยังเชื่อว่าสถาบันการศึกษาคือพลังที่ขับเคลื่อนสังคม ขณะที่กระทรวง ทบวง กรม มีประเด็นการเมืองมาเกี่ยวข้อง ต้องการเห็นผลเร็วๆ แต่การผลักดันสังคมต้องใช้เวลา เพราะสถาบันการศึกษาไม่ได้อิงการเมือง มีมหาวิทยาลัยหลายแห่งที่กล้าตัดสินใจ กล้าผลักดันสังคม กล้าที่จะยืนขึ้นมาต้านบางเรื่อง เช่น การตรวจสอบคุณภาพที่ไม่ได้มาตรฐาน บางแห่งไม่ยอม เพราะคุณเอาไม้บรรทัดเบี้ยวๆ มาวัด คุณก็ไปตอบสังคมเอง แต่บางแห่งก็เปลี่ยนเกณฑ์ให้เข้ากับไม้บรรทัดเบี้ยวๆ

ไทยพับลิก้า : สถาบันการศึกษาต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง

ใช่ แต่เราเป็นแค่จักรเล็กๆ ค่อยๆ เคลื่อนไป

ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์แต่ละที่ไม่เหมือนกัน มีการพัฒนาเชิงลึกมากขึ้น แต่แพทย์ มช. อาจจะเป็นแพทย์บ้านนอก ขณะที่จุฬาฯ ลงทุนศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ มีงบฯ 12,500 ล้านบาท ศิริราช 6,000 ล้านบาท แต่ มช. 600 ล้านบาท แค่ยืนความสูงไม่เท่ากัน เราต้องหาวิธีคิดใหม่ หากทำเหมือนกันก็ตามไม่ทัน สู้ไม่ได้ แค่ตามให้ทันก็ยากแล้ว

ดังนั้น วิธีคิดเราต้องไม่เหมือนเดิม การจะไปทำศูนย์หัวใจ ถ้าจะทำเหมือนที่อื่นๆ ก็ต้องลงทุน 200 ล้านบาท การพัฒนายิ่งลึกก็ยิ่งแพง แต่เราจะทำอย่างไรที่เอาศูนย์หัวใจลิงค์กับศูนย์อื่นให้ได้ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม วิธีนี้จะดีกว่าไหม ต้องหาจุดเชื่อมโยง หยิบขึ้นมาสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นมา ทำอะไรที่ไม่ต้องไปแข่งกัน คอนเซปต์นี้อาจจะยาก ซึ่งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์เรากำลังอยู่ แต่ทำยังไม่ครบ เพราะเพิ่งเริ่มมา 2 ปี

ปีแรกเป็นช่วงการปรับตัวหาวิธีคิดให้ตกผลึก ว่าทำไมต้องมีศูนย์ความเป็นเลิศฯ ผมมานั่งทบทวนว่าองค์กรเรามีอะไร ขาดอะไร จะสู้กับเขาด้วยวิธีไหน เราก็ต้องทำแบบกองโจรเพราะเราเงินน้อย ขอระเบียบให้บริหารคล่องตัว ต้องเลี้ยงตัวเองได้ แต่ไม่ได้มุ่งกำไร และตอบโจทย์สังคมด้วย

“สวนดอกร้อยดวงใจ เพื่อผู้สูงวัย ใส่ใจสุขภาพ ช่วยเหลือผู้ป่วยสูงวัยยากไร้”

อาคารศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ คณะแพทยศาสตร์ มช.
อาคารศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ คณะแพทยศาสตร์ มช.

ปี 2554 มีผู้สูงอายุจำนวน 8 ล้านคน คิดเป็น 10 % ของประชากรทั้งหมดที่เป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และคาดว่าอีก 18 ปีข้างหน้าในปี 2572 จะมีประชากร 17 ล้านคน หรือ 25% เป็นผู้สูงอายุ จากสถิตินี้ทำให้สังคมไทยก้าวสู่ยุคสังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ จึงเกิดคำถามมากมายว่า อะไรจะเกิดขึ้นตามมาในอนาคต ทั้งภาครัฐและเอกชน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้มีการเตรียมการรองรับเรื่องนี้อย่างจริงจังกันหรือไม่ ซึ่งนับเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกภาคส่วนจะต้องเตรียมการและมีแผนรองรับ ถ้าประเทศไทยยังไม่พร้อมจะเริ่มเตรียมการตั้งแต่บัดนี้ สังคมคุณภาพสำหรับผู้สูงวัยไทยคงเกิดขึ้นไม่ได้อย่างแน่นอน

รศ.นพ.นิเวศน์ นันทจิต คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า สังคมไทยกำลังเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งคาดว่าในอีก 18 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมของผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ และเนื่องจากผู้สูงอายุที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ในขณะนี้ มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปี เมื่อเทียบในแต่ละปี โดยนับจากปี 2550 มีผู้อายุเข้ามาใช้บริการประมาณ 70,530 ราย ในปี 2554 มีผู้สูงอายุเข้ามาใช้บริการ 92,903 ราย จะเห็นได้ว่าจำนวนผู้สูงอายุตั้งแต่ปี 2550 – 2554 มีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 22,373 ราย และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ

ด้วยเหตุนี้ คณะแพทยศาสตร์ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการรับมือกับปัญหาดังกล่าว จึงได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุในการรองรับผู้ป่วยได้ 200 คน ต่อวัน เป็นการบริการสุขภาพที่มีรูปแบบทันสมัย และเป็นการบริการผู้สูงอายุให้ได้เข้าถึงการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง เพิ่มความสะดวกสบายแก่ผู้สูงอายุ ลดความแออัดให้กับโรงพยาบาล สามารถใช้เป็นฐานเบื้องต้นในการคัดกรองผู้ป่วยให้กับโรงพยาบาล เป็นสถานที่พักชั่วคราวแบบครบวงจร เป็นศูนย์กลางเครือข่ายของผู้สูงอายุในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งเป็นสถานที่ฝึกอบรมและฝึกปฏิบัติในการให้บริการและดูแลผู้สูงอายุ อีกทั้งยังพัฒนาเป็นอาคารต้นแบบเพื่อเตรียมประเทศไทยเป็นฐานสุขภาพผู้สูงวัยของโลกในอนาคต

อาคารศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุเป็นอาคารขนาด 6 ชั้น และ 1 ใต้ดิน บนพื้นที่ใช้สอยจำนวน 9,000 ตารางเมตร สูง 34.85 เมตร เป็นที่ดินที่ได้รับบริจาคจาก คุณแม่กิมฮ้อ นิมมานเหมินท์ เลขที่ 170 หมู่ 6 ถนนเชียงใหม่-ฮอด ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 200 ล้านบาท ระยะเวลาในการก่อสร้าง 600 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2555 ถึง 21 ตุลาคม 2556

โครงการสร้างศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ เป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อรูปแบบการดูแลรักษาผู้สูงอายุ ตลอดจนการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพของผู้สูงอายุ และการพัฒนาในการดูแลผู้สูงอายุ อาคารแห่งนี้จะให้บริการกับผู้ป่วยนอก เอกซเรย์ ตรวจเลือด ทันตกรรม กายภาพบำบัด และห้องจัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้แก่ผู้สูงอายุและประชาชนทั่วไป และมีแผนกผู้ป่วยใน ประกอบด้วย ชั้นที่ 1 คลินิกตรวจสุขภาพผู้สูงอายุ ผู้ป่วยนอก ชั้นที่ 2, 3 เวชศาสตร์ฟื้นฟูสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ และส่วนบริการสุขภาพผู้สูงอายุครบวงจร ชั้นที่ 3 ส่วนการฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์ ชั้นที่ 4, 5, 6 ส่วนห้องพักสำหรับผู้สูงอายุ และเจ้าหน้าที่ 60 ห้อง 120 คน

อาคารศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2556 แต่ยังขาดทุนทรัพย์ในการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ และครุภัณฑ์ทางการแพทย์อีกเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงขอเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาทุกท่านร่วมกันบริจาค เพื่อช่วยผู้ป่วยสูงอายุยากไร้ และจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ให้กับศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ได้ที่ มูลนิธิโรงพยาบาลสวนดอก โทร. 053-920-400 หรือโอนผ่านบัญชีมูลนิธิโรงพยาบาลสวนดอกร้อยดวงใจ เพื่อผู้สูงวัย…ใส่ใจสุขภาพ ธนาคารกสิกรไทย สาขาถนนสุเทพ เชียงใหม่ เลขที่บัญชี 471-2-33333-8 หรือ ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาคณะแพทยศาสตร์ เชียงใหม่ เลขที่บัญชี 566-4-94611-9

และจะจัดงานถ่ายทอดสด “สวนดอกร้อยดวงใจ…เพื่อผู้สูงวัย ใส่ใจคุณภาพ” ทางโมเดิร์นไนน์ทีวี ในวันศุกร์ที่ 7 กันยายน 2555 เวลา 22.15 น.เป็นต้นไป ขอเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคสมทบทุนให้กับผู้ป่วยสูงวัยยากไร้ได้ โทร. 02-3540101 จำนวน 50 คู่สาย หรือที่มูลนิธิโรงพยาบาลสวนดอก 053-920-400 หรือโอนผ่านบัญชีข้างต้น