ThaiPublica > เกาะกระแส > แผน 5 ปี “มช.” ชู นวัตกรรม-ดิจิทัล สู่มหาวิทยาลัยชั้นนำโลก

แผน 5 ปี “มช.” ชู นวัตกรรม-ดิจิทัล สู่มหาวิทยาลัยชั้นนำโลก

4 กรกฎาคม 2022


ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เปิดวิสัยทัศน์ 5 ปีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งเป้าภายในปี 2570 ถูกจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำโลก 50 อันดับแรกประกาศความพร้อมทั้ง “นวัตกรรม-ดิจิทัล” สู่ความเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาที่ยั่งยืน

ในสถานการณ์ที่การพัฒนาเทคโนโลยีและโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว มหาวิทยาลัยซึ่งถือเป็นศูนย์กลางการศึกษาจึงจำเป็นต้องปรับตัวให้ทันการเรียนรู้ใหม่ๆ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่(มช.)เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยภาคเหนือที่เน้นความยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนการเรียนการสอน ให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อตอบโจทย์ผู้เรียนและความต้องการของประเทศ

ศ.คลินิก นพ.นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บอกถึงเป้าหมายของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในการสัมภาษณ์ผ่าน ระบบ ZOOM เมื่อเร็วๆ นี้ว่าเป้าหมายของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่คือการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำ ที่รับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาที่ยั่งยืน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จัดทำแผนพัฒนาการศึกษาเคียงคู่กับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของประเทศ โดยได้ดำเนินการตามแผนพัฒนาการศึกษาระยะที่ 12 (พ.ศ. 2560-2565 ) และกำลังจะเริ่มแผนพัฒนาการศึกษาฉบับที่ 13 ในปี พ.ศ. 2566-2570

แผนฯ 12 ชู มช. มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก กำหนดเป้าหมายเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยดำเนินการตามยุทธศาสตร์ 3 ด้านหลัก ประกอบด้วย 1. นวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน 2. นวัตกรรมด้านอาหารและสุขภาพและการดูแลผู้สูงอายุ และ 3. สุดท้ายคือล้านนาสร้างสรรค์ นอกจากนี้ยังมียุทธศาสตร์ตามพันธกิจซึ่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้นำเอาหลักเกณฑ์ SDGs หรือการพัฒนาที่ยั่งยืนมาใช้เป็นหลักในการบริหารจัดการ ได้แก่

    1. การจัดการศึกษาส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง
    2. การวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการและนวัตกรรม
    3. บริการวิชาการทางวิชาการแก่สังคม

ผลการดำเนินการตามแผนฯ 12 ศ.คลินิก นพ.นิเวศน์ บอกว่า ประสบความสำเร็จแม้ว่าขณะนี้ยังไม่สิ้นสุดการดำเนินการในปี 2565 ก็ตาม

โดยแผนฯ 12 ได้กำหนดเกณฑ์การประเมิน (KPI) เอาไว้ 3 ด้าน ดังนี้

1. ต้องได้รับการจัดอันดับเป็นมหาวิทยาลัยในลำดับที่ 100 จาก Time Higher Education Impact Rankings 2022 ซึ่งในการประกาศการจัดลำดับที่ผ่านมามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อยู่ในอันดับที่ 70 ของโลก

2. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ ประจำปี 2563 Thailand Quality Class: TQC 2020 จากสำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติกระทรวงอุตสาหกรรมที่มีระดับคะแนนมากกว่า 300 คะแนน

3. การประเมินคุณค่าทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีผลการประเมิน social return on investment (SROI) เกินมูลค่า 16,500 ล้านบาทมากกว่าที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้ในแผนฯ 12

“ถือเป็นความสำเร็จ เพราะแผนฯ 12 ได้บรรลุเป้าหมายเรียบร้อยตั้งแต่กลางปีนี้ก่อนที่จะสิ้นสุดแผนฯ 12 ในปี 2565 ซึ่งเป็นเพราะความร่วมมือจากทุกฝ่ายของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่”

ส่วนความสำเร็จ ใน 3 ยุทธศาสตร์ ศ.คลินิก นพ.นิเวศน์ บอกว่า แต่ละด้านมีคความก้าวหน้าไปค่อนข้างมาก

อ่างเก็บน้ำตาดชมพู

ยุทธศาสตร์ที่ 1 นวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ผลิตโซลาร์รูฟทอปทุกอาคาร ทำให้ประหยัดไฟฟ้าไปจำนวนมาก และมีการกำจัดขยะครบวงจรโดยจัดทำเป็นศูนย์จัดการขยะที่นำมาผลิตไฟฟ้าได้ นอกจากนี้ ยังจัดบรรยากาศร่มรื่นปรับถนนให้มีแสงสว่าง พัฒนาแหล่งน้ำเพื่อเป็นแหล่งพักผ่อนออกกำลังกาย นอกจากอ่างแก้ว ได้พัฒนาอ่างตาดชมพู เพื่อให้นักศึกษา บุคลากรมหาวิทยาลัย ประชาชน มาใช้พักผ่อนออกำลังกาย

ยุทธศาสตร์ที่ 2 คือนวัตกรรมด้านอาหารและสุขภาพและการดูแลผู้สูงอายุได้จัดสร้างศูนย์ส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ บนพื้นที่ 7 ไร่ ริมแม่น้ำปิง มีโรงพยายาลผู้สูงอายุโดยกำลังดำเนินการร่วมกับรัฐบาลสร้างศูนย์สุขภาพเมดิคัลฮับ ที่เชียงใหม่ และลำพูน

ยุทธศาสตร์ที่ 3 ล้านนาสร้างสรรค์มหาวิทยาลัยจะเป็นศูนย์กลางที่รวบรวมความรู้ด้านลานนา พัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และอาหารล้านนา เพื่อเพิ่มมูลค่ามากขึ้น

มหาวิทยาลัยแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต เมื่อโลกเปลี่ยนการเรียนรู้จึงเกิดขึ้นตลอดเวลา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ตั้งวิทยาลัยการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อให้ทุกคนทุกช่วงวัยเข้ามาเรียนรู้ ซึ่งปัจจุบันมีผู้นิยมเข้ามาเรียนจำนวนมาก

ส่วนผลงานด้านการวิจัยและนวัตกรรม ศ.คลินิก นพ.นิเวศน์ บอกว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้ที่จะพัฒนาการเรียนการสอนแบบใหม่ๆ และให้ความสำคัญกับการวิจัยตั้งแต่ต้นน้ำกลางน้ำ ปลายน้ำ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ เช่น การวิจัยระบบราง นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับ pure research หรือ การวิจัยพื้นฐานเพื่อนำไปสู่การวิจัยในเชิงลึกต่อไป

แผนฯ 13 สู่มหาวิทยาลัยดิจิทัลเต็มรูปแบบ

ศ. ดร. นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.)

ความสำเร็จของแผนพัฒนาการศึกษาระยะที่ 12 ที่กำลังจะสิ้นสุดในเดือนตุลาคม 2565 และการสานต่อของแผนฯ 13 จะเดินหน้าอย่างไร

ศ. ดร. นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) บอกว่าการทำงานของแผนฯ 13 (2566-2570) ซึ่งจะเป็นทิศทางการพัฒนาการศึกษาในอีก 5 ปีข้างหน้า ยังคงเป็นเรื่องของจากแผนสู่แผน ที่ส่งต่อในเรื่องเดิมและริเริ่มเรื่องใหม่เพื่อสร้างความไว้วางใจ เป้าหมายของแผนระยะ 13 คือยังคงเป็นเรื่องของการมุ่งสู่มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกด้วยความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมและ digital transformation

“แผน 13 เน้นการสานต่อเรื่องเดิมซึ่งได้เริ่มไปแล้วในแผนฯ 12 คือการส่งเสริมให้เชียงใหม่เป็นเมืองส่งเสริมสุขภาพ หรือเมดิคัลฮับ การสร้างเชียงใหม่ให้เป็นเมืองสมาร์ทซิตี้ รวมถึงการส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือก ที่ต้องสานต่อความสำเร็จออกไปสู่สังคมภายนอกด้วย”

ศ. ดร. นพ.พงษ์รักษ์ บอกว่าการเดินหน้าแบบเดิมตามแผนฯ 12 ไม่เพียงพอ ทุกด้านต้องใส่เครื่องมือที่เรียกว่านวัตกรรมเข้าไปด้วย ทำให้เรื่องใหม่ที่เป็นเรื่องต้องเร่งดำเนินการ คือ การจัดการศึกษาที่ไม่ใช่การศึกษาในระบบ โดยการทำให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตในวิทยาลัยการเรียนรู้ตลอดชีวิต การนำเอาเทคโนโลยีมาจัดการเรียนการสอน รวมไปถึงการสร้างสตาร์ทอัป

“เรื่องใหม่ที่เราต้องทำเพิ่มมากขึ้นคือเรื่องของการสร้างความไว้วางใจหรือการสื่อสารให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น โดยกลุ่มเป้าหมายของเราคือนักเรียน ศิษย์เก่า บุคลากร พร้อมทั้งการเปิดพื้นที่ให้มีการรับฟังความคิดเห็นแตกต่างทั้งสองฝ่ายมากขึ้น นำไปสู่วิสัยทัศน์เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบกับสังคม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน”

เดินหน้า 6 วัตถุประสงค์สู่มหาวิทยาลัยดิจิทัล

ส่วนการเดินหน้าสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัลตามวัตถุประสงค์ทางยุทธศาสตร์ 6 ด้าน ประกอบด้วย

1. Biopolis Platform สร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านนวัตกรรมเศรษฐกิจฐานชีวภาพ ซึ่งที่ผ่านมา มช. มีฐานข้อมูลด้านชีวภาพตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ที่สามารถนำไปต่อยอดเพื่อเป็นประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและชุมชนได้

2. Medicopolis Platform สร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านนวัตกรรมการแพทย์ สุขภาพ และการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งมีองค์ความรู้วิทยาศาสตร์สุขภาพการแพทย์สั่งมา 50 ปี โดยจะพัฒนาวิจัยด้านนี้มากขึ้น รวมไปถึงความท้าทายในการผลิตยาใช้เองในอนาคต

3. Creative Lanna Platform สร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านล้านนาสร้างสรรค์ โดยจะพัฒนา Soft Skills ทั้งการอบรมและการให้ความรู้และการทำกิจกรรมและการสร้างอาชีพใหม่ โดยนำเอาความรู้หลายคณะมาใช้ เพื่อสร้างผู้ประกอบการใหม่ตามแบบลานนาสร้างสรรค์

4. Educational Platform สร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการจัดการศึกษา มุ่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีศักยภาพทั้งในระดับปริญญาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ผ่านการพัฒนาหลักสูตรที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้เรียนและผู้ใช้งานบัณฑิต

“เราขยายโอกาสการศึกษาให้คนสองกลุ่ม คือ กลุ่มด้อยโอกาสและกลุ่มผู้สูงอายุ คนทำงานที่ไม่ใช่นักศึกษา เพื่อเปิดโอกาสให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต”

5. Research and Innovation Platform สร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งนอกจากสร้างนวัตกรรมแล้วจะสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่เรียกว่า pure research เป็นองค์ความรู้เชิงลึกเพื่อต่อยอดในอนาคตตอีก 10 ปีข้างหน้า

6. การบริหารจัดการมหาวิทยาลัยไปสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัล โดยการนำเอานวัตกรรมเทคโนโลยีมาใช้ทุกองคาพยพ หรือ CMU Excellence Management Platform มุ่งเน้นในการยกระดับประสิทธิภาพการบริหารจัดการและการดำเนินการในระบบสนับสนุนต่างๆ ของมหาวิทยาลัย สู่การเป็น Agile and Resilient Organization

“จะเห็นว่า ภารกิจการขับเคลื่อน 6 วัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ จะมีคำว่าดิจิทัลแทรกอยู่ในทุกส่วน โดยเราจะใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเสริมกลยุทธ์แต่ละเรื่องให้ทำได้ดีขึ้น เนื่องจากเรามีข้อมูลจำนวนมาก เมื่อนำเอาดิจิทัลแพลตฟอร์มมาใช้จะให้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ นำไปต่อยอดเพื่อใช้ในการผลิตได้ ในช่วง 100 วันแรกของการดำเนินการตามแผนฯ 13 ที่จะเริ่มขึ้นในเดือนตุลาคม 2565 คือการเร่งจัดทำข้อมูลที่มีจำนวนมากมาทำให้เกิดเชื่อมโยงกัน นำมาใช้ให้เกิดการบูรณาการ แต่ละหน่วยงานมาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ในเชิงรูปธรรมให้มากที่สุด นอกจากนี้ ต้องเร่งหาวิธีการสื่อสารให้ถึงกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายมากขึ้น โดยการสร้างพื้นที่รับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง”

รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวต่อว่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีแนวทางพัฒนาระบบดิจิทัลในการดำเนินการใน 5 ด้าน คือ

1.Organized and Ready Digital Infrastructure ยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน (Hardware) ระบบเครือข่าย (Networks) ระบบปฏิบัติงานดิจิทัล (Software) ในมหาวิทยาลัย

2.Integrated Digital Operation and Administrations: SMART OFFICE and SMART CAMPUS เพิ่มประสิทธิผลและประสิทธิภาพของกระบวนการทำงาน ปรับปรุงกระบวนการทำงานด้วยเทคโนโลยีและระบบดิจิทัล

3.Digital Platforms for Learning and Human Development พัฒนาการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยด้วยเทคโนโลยีและแพล็ตฟอร์มดิจิทัล

4.Digital platforms for Collaboration and Wisdom ส่งเสริมการบูรณาการการข้ามส่วนงาน เพิ่มขีดความสามารถของการทำงานวิจัย พัฒนาและสร้างนวัตกรรม

5.Digitalized mindset and Digital Ready Culture ส่งเสริมบุคลากรของมหาวิทยาลัยให้ตระหนักรู้ถึงประโยชน์และความสำคัญของเทคโนโลยีดิจิทัลและระบบที่เกี่ยวข้อง

“แนวทางทั้ง 5 ประการ ก่อให้เกิดการสนับสนุนทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งการจัดการฐานข้อมูลสารสนเทศ ช่วยเสริมความพร้อมทั้งเรื่องเชิงนโยบายที่เกี่ยวกับด้านดิจิทัล อาทิ การใช้ลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ หรือการใช้เอกสารอิเล็กทรอนิกส์แทนเอกสารที่เป็นกระดาษ การจ่ายค่าเทอม หรือเงินเดือนผ่านทางออนไลน์ ฯลฯ โดยสิ่งสำคัญคือการนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาปรับใช้ให้เหมาะสมต่อการดำเนินงาน โดยที่ยังอยู่ภายใต้กฎอยู่ในเกณฑ์ของกฎหมาย”

“สถานการณ์โลก ในช่วงที่ทำแผนปลายปีที่แล้วเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ต่างๆ แผน 66 มีการคากการณ์ว่าสิ้นปีนี้อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงอีกระดับ อาจจะต้องปรับวิธีการเดิน เราจะมีทีมพยากรณ์ในอนาคต หากสถานการณ์แย่สุดคนคนมาเรียนน้อยมาก ไม่อยากเรียนแต่ะอยากทำงานมากกว่า เราจะปรับแผนอย่างไร หากเขาเรียนที่บ้าน เราจะเข้าส่งเสริมอย่างไรให้เขาสามารถเรียนรู้มากขึ้น ทำงานมากขึ้น จะมีตัวเร่งอะไร อาจจะมุ่งเน้นพัฒนาข้างนอก อาจจะต้องปรับ วิธีการเราต้องปรับ จากนี้ไปวิธีการแผนงานโครงการเราจพททบวนค่อนข้างถี่ อะไรที่ต้องยกเลิก ยุบเลิก ปรับแผน เพราะทุกอย่างเปลี่ยนแปลง รวดเร็ว ท้าทายมาก จนเราไม่สามารถบอกได้ว่าทำแบบนี้จะอยู่นิ่งๆได้

ศ. ดร. นพ.พงษ์รักษ์ บอกว่า แผนฯ 13 คือการร้อย การรวบรวม และการต่อยอดสิ่งที่มีอยู่แล้วให้ดีเพิ่มมากขึ้นไป และนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง และมากไกกว่านั้นแผนงาน วิธีการ จะทบทวนค่อนข้างถี่ อาจจะมีอะไรที่ต้องยกเลิกหรือปรับแผนเข้ามาใหม่ เพราะสิ่งที่ท้าทาย คือสถานการณ์ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงเร็วจนเราไม่สามารถนับหนึ่ง สอง สาม แต่อาจจะต้องกระโดดข้ามไปอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นให้ได้