ThaiPublica > คอลัมน์ > บ้านไทยเย็น ๒ (ตอน เอาแบบมาฝาก)

บ้านไทยเย็น ๒ (ตอน เอาแบบมาฝาก)

29 มิถุนายน 2012


สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์

หลังจากที่เขียนเรื่องบ้านไทยเย็นไปเมื่อเดือนที่แล้ว มีผู้อ่านหลายคน (เกือบ 10 คน – สำหรับเราถือว่าเยอะแล้วล่ะ) ติดต่อมาว่าอยากดูแบบบ้านและอยากได้รายละเอียดเพิ่มเติม

อันที่จริง หลักการสร้างบ้านให้เย็นสบายเหมาะกับภูมิอากาศประเทศไทยมีให้หาอ่านได้มากมาย แต่บ้านไทยมันก็มีหลายไทยต่างถิ่น จึงสำคัญว่าเรารู้จักพื้นที่ที่จะสร้างบ้านดีแค่ไหน

ที่ของเราอยู่กลางทุ่ง ใกล้แม่น้ำคดเคี้ยวในที่ลุ่ม แต่ถัดขึ้นมาพ้นโซนลำน้ำเปลี่ยนเส้นทาง ดูเผินๆ เหมือนเป็นที่ราบแบน แต่ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่าผืนดินมันเทไปมุมหนึ่ง นี่คือทิศทางไหลของน้ำ เราเลือกจุดที่ได้วิวดีที่สุดเป็นที่ตั้งบ้าน ขุดสระไว้เป็นแหล่งน้ำ เอาดินขึ้นมาถมเฉพาะบริเวณที่จะสร้างบ้านและลงต้นไม้ มีทางน้ำเข้าและออกจากสระตามทางลาดธรรมชาติของพื้นที่ ไหลเชื่อมต่อกับระบบลำเหมืองในทุ่ง ดินที่ขุดคูก็เอาขึ้นมาถมเป็นถนนแคบๆ เข้าออกที่โดยไม่ขวางทางน้ำ เราจึงไม่ต้องขนดินจากข้างนอกเข้ามา ตัวสระน้ำขุดลึกตรงกลางไว้เก็บน้ำ ริมสระตื้นและลาดเพื่อปลูกพืชน้ำชนิดต่างๆ รอบสระ ซึ่งจะช่วยดูดซับมลพิษกลั่นกรองน้ำให้สะอาด (เท่าที่พอทำได้) ที่สำคัญ พืชเหล่านี้จะเป็นบ้านให้สัตว์น้ำและนกในนา หวังว่าจะพอช่วยเรากำจัดศัตรูต้นข้าวในนาได้บ้าง เพราะสระเราไม่กว้างเท่าไหร่ ผืนนาอยู่ตรงกลางที่ เราตั้งใจอนุรักษ์เอาไว้เป็นกองทุนนาส่วนรวม กินพื้นที่ราว 80 เปอร์เซ็นต์ของบริเวณบ้าน ใช้ปลูกข้าวร่วมกับเพื่อนๆ บ้านข้างเคียง ที่เหลือแบ่งเป็นโซนปลูกผักและต้นไม้ใหญ่

ทุ่งแถวนี้ลมแรงมากในบางฤดู บางปีน้ำท่วม แต่ระบายเร็ว หน้าร้อนอากาศร้อนจัด หน้าหนาวเย็นเอาเรื่อง เราจึงต้องออกแบบบ้านใต้ถุนสูงไว้หนีน้ำและหลบร้อน บ้านต้องโปร่งได้ลม แต่ต้องปิดไม่รับลมได้ในหน้าหนาว และอย่าได้คิดติดกระจกบานใหญ่ยักษ์เต็มแนวฝาบ้านด้านนอกแบบบ้านสมัยใหม่ เพราะจะเจอพายุกระหน่ำแตกได้ง่ายๆ แถมร้อนอบอีกต่างหาก

เมืองไทยตั้งอยู่ทางซีกโลกเหนือ จะได้แดดร้อนทางทิศตะวันตกและทิศใต้ เราจึงไม่ควรสร้างบ้านหันไปทางทิศตะวันตก แต่บังเอิญวิวภูเขางามมันอยู่ทางนั้น จึงทำครัวยื่นออกมาพร้อมหลังคายาวคลุมระเบียงในมุมตะวันตก/ตะวันตกเฉียงใต้ ทอดร่มเงาให้แก่ห้องนั่งเล่นและส่วนอื่นๆ ของบ้าน ข้อดีอีกประการของการทำครัวยื่นออกมาคือให้ลมระบายควันทอด-ผัด-คั่ว ฯลฯ ออกไป เพราะลมกระแสหลักบ้านเราจะเป็นลมมรสุม พัดตามแนวเหนือ-ใต้ บ้านจึงต้องมีหน้าต่าง/ช่องทางลมเปิดปิดได้ตามแนวนี้ ช่วงหน้าหนาวก็เปิดรับแดดตอนกลางวัน พอตกเย็นก็ปิดบ้านก่อนมืดเพื่อเก็บความอบอุ่นเอาไว้

ภาพที่เอามาฝากเป็นแปลนและรูปบ้านซึ่งยังสร้างไม่เสร็จดี รายละเอียดเรื่องหลังคาบ้านอ่านได้ในบทความเดือนที่แล้ว

พอได้บ้านเย็นตามธรรมชาติแล้ว เรายังสามารถพัฒนาพื้นที่รอบบ้านให้มีอิทธิพลกำกับดูแลภูมิอากาศจำเพาะถิ่นต่อได้อีก การปลูกดงต้นไม้ใหญ่เป็นแนวใกล้บ้าน โดยเฉพาะทางทิศใต้ นอกจากจะช่วยบังแดดแรงเกินแล้ว ยังสามารถช่วยให้เกิดลมเย็นตามธรรมชาติได้อีก เพราะมันสร้างความแตกต่างของอุณหภูมิในพื้นที่ระหว่างโซนหลังคาบ้านกับยอดไม้ อากาศร้อนกว่าเหนือหลังคาบ้านจะลอยตัวขึ้นสูง อากาศเย็นจากดงไม้จะไหลมาแทนที่ ทำให้เกิดลมเย็นสบายพัดเข้าสู่บ้าน ดงไม้ยังช่วยกันลมแรงจากพายุได้อีกด้วย อย่าปลูกติดบ้านมากนักละกัน เดี๋ยวกิ่งไม้จะหักมาโดนหลังคา

รายละเอียดที่เหลือก็อยู่ไปปรับไป บ้านเราเอง ชอบอย่างไรเรารู้ดีที่สุด

house plan for thaipublica