ThaiPublica > คอลัมน์ > ทะเลยุคแมงกะพรุนเบ่งบาน?

ทะเลยุคแมงกะพรุนเบ่งบาน?

1 พฤศจิกายน 2012


สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์

เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ข่าวฝูงแมงกะพรุนถ้วยหลากสีลอยล่องหยุบหยับตามทะเลชายฝั่งตำบลแหลมกลัด จังหวัดตราด เผยแพร่จากเฟซบุ๊กสู่สื่อกระแสหลัก พัดพานักท่องเที่ยวจำนวนมากแห่ไปเยี่ยมชม แถมลงสัมผัสแมงกะพรุนตัวลื่นๆ ด้วยความหรรษาเปรมปรีดา คันนิดคันหน่อยก็ไม่เป็นไร เอาผักบุ้งทะเลทาถู ทาถู

นับเป็นเสน่ห์พิเศษของคนไทย ประเทศอื่นๆ เวลาเกิดปรากฎการณ์ “แมงกะพรุนเบ่งบาน” (jellyfish bloom) ไม่ว่าจะเป็นแมงกะพรุนไฟมีพิษหรือแมงกะพรุนไม่มีพิษก็ตาม การท่องเที่ยวมักจะซบเซา ถ้าเป็นชนิดร้ายแรงก็สั่งปิดหาด ถ้าไม่มีพิษก็ยี้แหวะ

แต่การท่องเที่ยวไทยกลับเบ่งบานตามแมงกะพรุน

รายงานว่าช่วงปลายฝนต้นหนาว กระแสน้ำจะพัดพาแมงกะพรุนเข้ามาสู่ชายฝั่งแถบนี้ทุกปี แต่ปีนี้ดูจะมีจำนวนมากเป็นพิเศษ และมีหลากสี ไม่ใช่แต่สีขาว ตามข่าวเจ้าหน้าที่กรมประมงให้ความเห็นว่า เป็นปรากฏการณ์ที่น่าจะแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่

ด้วยความเคารพ ผู้เขียนไม่ได้อยากจะขัดแย้งอะไรกับนักวิชาการกรมประมง และที่แน่ๆ ผู้เขียนไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญระบบนิเวศทะเล ที่สำคัญ ผู้เขียนไม่มีความรู้และข้อมูลท้องถิ่นนี้เลย แต่กระนั้นก็อยากขออนุญาตเล่าสู่กันฟังถึงปรากฏการณ์แมงกะพรุนเบ่งบานที่นักวิจัยทางทะเลทั่วโลกกำลังวิตกและถกเถียงกัน

ปรากฏการณ์แมงกะพรุนเบ่งบานเป็นภาวะที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราวตามธรรมชาติ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย อย่างไรก็ตาม ช่วงสิบกว่าปีมานี้ หลายคนได้ตั้งข้อสังเกตว่ามีแนวโน้มเกิดขึ้นบ่อยและจัดหนักกว่าปกติ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมามันรุนแรงมากในพื้นที่หลายแห่ง สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจมหาศาล มันเยอะจนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หลายโรงต้องปิดดำเนินการชั่วคราวเพราะทางส่งน้ำอุดตัน มันทำลายการประมงหลายแห่ง ทั้งฟาร์มปลาแซลมอนในไอร์แลนด์ ทำลายเครื่องมือจับปลาในญี่ปุ่น ติดแหจับกุ้งในอ่าวเม็กซิโกเสียหายหลายล้านดอลลาร์ และแมงกะพรุนต่างถิ่นที่หลุดเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการลดจำนวนประชากรของปลาสเตอร์เจียนในทะเลแคสเปียน และการล่มสลายของธุรกิจไข่ปลาคาเวียร์ที่นั่น

นักวิจัยหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า การกระทำชำเราของมนุษย์ต่อระบบนิเวศทะเล กำลังทำให้สังคมชีวิตในทะเลเปลี่ยนแปลงไป จากทะเลที่เคยเต็มไปด้วยปลา กลับไปสู่ทะเลยุคดึกดำบรรพ์ มีแมงกะพรุนเป็นเจ้าสมุทร

ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา เราจับปลาจนเกือบหมดทะเล ประเมินว่าปลาขนาดใหญ่ถูกจับหมดไป 90 เปอร์เซ็นต์รวมทั้งปลาหลายชนิดที่กินแมงกะพรุนเป็นอาหาร (เต่าทะเลที่กินแมงกะพรุนก็ลดจำนวนลงไปมากเช่นกัน)

เราปล่อยมลภาวะลงทะเลปริมาณมหาศาล โดยเฉพาะจากการเกษตร จนชายฝั่งทะเลหลายแห่งมีปุ๋ยลงมามากเกินไป ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของชนิดแพลงตอน และลดปริมาณออกซิเจนในน้ำ หนักมากๆ ก็ก่อให้เกิด “แดนตาย” (dead zone) ในทะเล ซึ่งขยายขอบเขตทวีคูณสองเท่าทุกๆ สิบปีตั้งแต่ทศวรรษ 60

การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกยังทำให้อุณหภูมิผิวน้ำร้อนขึ้นและน้ำทะเลเป็นกรดมากขึ้น

ภาวะทั้งหมดนี้เอื้อต่อการเบ่งบานของแมงกะพรุน มันทนมลภาวะได้ดีกว่าปลา เพราะมันกินแพลงตอนที่บลูมกับมลภาวะได้ ในขณะที่แพลงตอนอาหารหลักของปลาหายไป มันทนภาวะออกซิเจนละลายในน้ำต่ำได้ และมันหดตัวได้เมื่อขาดอาหาร นอกจากนี้มันยังแพร่พันธุ์ได้หลากหลายวิธี หลายชนิดแบ่งตัวได้ และมันโตได้เร็ว อุณหภูมิที่ร้อนขึ้นก็ช่วยให้แมงกะพรุนบางชนิดแพร่กระจายไปได้กว้างขวางขึ้นและในระดับน้ำที่ลึกขึ้น (อ่านรายละเอียดได้จาก “The Jellyfish Joyride” โดย Richardson และคณะ, 2009 ตามลิงค์ )

แมงกะพรุนเป็นสัตว์ผู้ล่า กินอาหารหลากหลายไม่เลือกมาก ทั้งแพลงตอน ไข่ปลา ลูกปลา เมื่อปลาตัวโตบางชนิดที่ล่ามันหายไป แมงกะพรุนที่เคยถูกปลากินกลับเป็นต่อ จึงกลายเป็นผู้กินปลาเสียเอง

พื้นที่ทางนิเวศที่ปลาเคยครอบครอง ก็ถูกแมงกะพรุนเบ่งบานเข้ามาแทนที่ โดยมีมนุษย์เป็นผู้สนับสนุน

นักวิจัยกำลังตรวจสอบข้อสังเกตเหล่านี้ ปัจจุบันมีความพยายามรวบรวมหลักฐานการเบ่งบานของแมงกะพรุน เป็นโครงการทีมใหญ่ชื่อ JEDI (Jellyfish Database Initiatives) ซึ่งสรุปว่ามีการเบ่งบานมากเป็นพิเศษในบางพื้นที่ เช่น ญี่ปุ่น บางที่มีเพิ่มขึ้นบ้าง เช่น แถวบ้านเรา มหาสมุทรอินเดีย ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทะเลเหนือ North Sea ฯลฯ หากไม่เห็นเป็นแนวโน้มทั่วไปทั่วโลก แต่เนื่องจากว่าเทคนิคการติดตามดูปรากฏการณ์แมงกะพรุนเบ่งบานมีข้อจำกัดมากมาย ข้อสรุปที่ได้มาจึงไม่ใช่ข้อสรุปที่สามารถสรุปฟันธงอะไรได้

นักวิทยาศาสตร์คงต้องทำหน้าที่ศึกษาวิจัยต่อไป แต่สังคมไม่ต้องรอคำตอบสุดท้ายจากนักวิทยาศาสตร์ เราควรถือหลักการระวังไว้ก่อน

ปัญหาสิ่งแวดล้อมในทะเลเกิดจากการที่เรา 1) เอาของออกมาจากทะเลมากเกินไป 2) ใส่ของแปลกปลอมลงไปในทะเลมากเกินไป และ 3) ทำลายพื้นที่ชายขอบทะเลที่ปกป้องมัน

วิธีแก้ไขก็แค่กลับสมการ 1) จับสัตว์ทะเลน้อยลง (ยกเว้นแมงกะพรุน กินเยอะๆ เลย) 2) หยุดปล่อยมลภาวะและขยะลงทะเล สนับสนุนเกษตรธรรมชาติ/เกษตรอินทรีย์อย่างจริงจัง ลดละเลิกอุดหนุนเกษตรปุ๋ยเคมี 3) ฟื้นฟูธรรมชาติชายฝั่ง

หรือถ้าไม่คิดมาก ปล่อยมันไป ทำตัวเหมือนแมงกะพรุน ล่องลอยไปตามกระแส กินอะไรก็ได้ อาหารห่วยๆ ไม่กี่อย่างก็ได้ จู้จี้อะไรนักหนากับความหลากหลาย มลภาวะก็ดมๆ มันไปก็อยู่ได้ เป็นมะเร็งมั่งไรมั่งก็ไม่เป็นไร ออกลูกมาเรื่อยๆ ก็สืบพันธุ์ต่อไปได้

ฤาคนที่มีชีวิตเยี่ยงแมงกะพรุนจะอยู่รอดได้ดีกว่าคนที่มีชีวิตเหมือนปลาแซลมอนว่ายทวนน้ำ