งานสัมมนาวิชาการของธนาคารแห่งประเทศไทย ประจำปี 2555 ภายใต้หัวข้อ “บทบาทหน้าที่ของธนาคารกลางท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 24-25 กันยายน ที่ผ่านมา ถือเป็นการสัมมนาวิชาการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ที่พูดเรื่องตัวเองมากที่สุดในรอบ 13 ปีของการจัดสัมมนาฯ
แต่เนื่องในโอกาสครบรอบ 70 ปีของ ธปท. การพูดถึงตัวเองก็คือ การทบทวนตัวเองของ ธปท. ซึ่งได้รับความสนใจมีผู้เข้าร่วมสัมมนาฯ เกือบ 900 คน แต่หนึ่งในนั้นไม่มี ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการ ธปท. เนื่องจากป่วย จึงไม่สามารถมาร่วมงานได้
โดยการเริ่มต้นเสวนา ธปท. ได้เปรียบเปรยตัวเองว่าเป็น “ช้าง” ที่มีงา มีงวง มีขา มีหาง จึงเป็นการทบทวนว่า ช้างเชือกนี้จะต้องเป็นช้างแบบไหน ทำให้ช่วง 2 วันของการสัมมนาฯ จะได้ยินว่า ช้างเชือกนี้ต้องทำอะไรได้บ้าง จากเสียงสะท้อนของผู้เข้าร่วมสัมมนาฯ ที่แสดงความคิดเห็นทั้งบนเวทีสัมมนาฯ ในฐานะผู้วิจารณ์บทความของ ธปท. และผู้เข้าร่วมฟังสัมมนาฯ แต่ที่เข้มข้นไม่แพ้กันและถือเป็นมิติใหม่ของ ธปท. คือ วันรุ่งขึ้นหลังงานสัมมนาฯ ธปท. แสดงปฏิกิริยาตอบสนองต่อข้อเสนอแนะเหล่านั้นทันทีเหมือนกัน
ทั้งนี้ขอไล่เรียงจากเสียงสะท้อนที่ได้ยินตลอด 2 วันสัมมนาฯ ตั้งแต่เช้าวันแรกจนถึงเย็นวันสุดท้ายของการสัมมนาฯ คือ
1. การประสานงานของ ธปท. กับกระทรวงการคลัง
2. การดำเนินนโยบายของ ธปท. กับปัญหาขาดทุนของ ธปท.
3. ความคาดหวังให้ ธปท. เป็นที่พึ่งด้านเศรษฐกิจการเงิน
และ 4. การสื่อสารของ ธปท. กับสาธารณชน เป็นต้น
ความท้าทาย 4 ข้อ ที่ธนาคารกลางต้องเผชิญมากขึ้น
บางตัวอย่างของเสียงสะท้อนที่น่าสนใจ อาทิ ดร.วิรไท สันติประภพ รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้วิจารณ์บทความแรกเรื่อง “หลักการและบทบาทหน้าที่ของธนาคารกลาง” ได้มีข้อเสนอแนะว่าภายใต้บริบทเศรษฐกิจการเงินโลกที่เปลี่ยนแปลงไป มีความท้าทาย 4 เรื่องสำคัญที่ธนาคารกลางต้องเผชิญปัญหาเพิ่มมากขึ้น
1. การประสานนโยบายของธนาคารกลางในประเทศกับธนาคารกลางอื่นๆ โดยเฉพาะธนาคารกลางของประเทศกำลังพัฒนาและมีขนาดเล็ก กับประเทศพัฒนาแล้ว จะประสานกันได้มากน้อยแค่ไหนในการสร้างสมดุลของเศรษฐกิจโลก เห็นได้จากวิกฤติ ปี 2008 เราเห็นธนาคารกลางทั่วโลกประสานนโยบายการเงินเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจโลก แต่ปี 2010-2011 การถอนนโยบายกลับไม่ประสานกัน
2. การประสานนโยบายการเงินการคลังภายในประเทศจะมีความซ้ำซ้อน เพราะรัฐบาลในหลายประเทศส่วนใหญ่มุ่งทำนโยบายประชานิยม และใช้เครื่องมือเศรษฐศาสตร์มหภาคแก้ไขปัญหาจุลภาค ให้ความสำคัญกับมาตรการรายวัน รายเดือน มากกว่าระยะยาว ทำให้การดำเนินนโยบายการเงินให้สอดคล้องกับนโยบายการคลังได้ยากขึ้น และความขัดแย้งระหว่างนโยบายการเงินและการคลังอาจมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น
3. การประสานนโยบายการเงินกับเรื่องตลาดทุน เนื่องจากปัจจุบันตลาดเงินตลาดทุนแยกกันไม่ออก และการเคลื่อนย้ายเงินทุนข้ามประเทศก็ใช้ตลาดทุนเป็นส่วนใหญ่มากกว่าธนาคารพาณิชย์ ขณะที่ธนาคารกลางหลายประเทศดูแลเฉพาะธนาคารพาณิชย์ แยกการกำกับตลาดทุนเป็นอีกหน่วยงานหนึ่ง
4. การรักษาสมดุลระหว่างการใช้บทบาทอำนาจกำกับดูแลสถาบันการเงินกับบทบาทที่เป็นผู้ผลักดันการพัฒนาในลักษณะ proactive (เชิงรุก) เนื่องจากนักธนาคารกลางมักจะเป็นผู้ที่มีความระมัดระวังจนเกินควร อาจนำไปสู่ต้นทุนค่าเสียโอกาสให้กับภาคอุตสาหกรรมสถาบันการเงิน และเสียประโยชน์ของประเทศได้
“ถ้าจะทำแบบนั้นได้ ธนาคารกลางจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องประสิทธิภาพ มีความเข้าใจภาพเศรษฐกิจ และมีความสามารถในการสื่อสาร ถ้าสรุปไว้อย่างตอนต้นว่าจะเป็นช้างแบบไหน ก็ต้องเป็นช้างที่วิ่งเร็ว เป็น proactive มากขึ้น เป็นช้างที่ทำได้หลายอย่าง ลากซุงก็ได้ เตะฟุตบอลก็ได้ ให้นักท่องเที่ยวขี่ก็ได้ ซึ่งในเรื่องการสื่อสารก็เหมือนช้างในปางช้างทั่วไป ต้องวาดรูปให้คนเข้าใจได้ และจ่ายเงินซื้อได้”
สุดท้าย ดร.วิรไททิ้งทายว่า “เรื่องนี้เป็นมุมมองส่วนตัว และความท้าทายนี้พูดถึงธนาคารกลาง ถ้าท่านจะโยงเข้ากับประเทศใดประเทศหนึ่ง ก็เป็นความเสี่ยงของท่านเอง”
ความเห็นต่อไปเป็นเสียงสะท้อนจาก ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) อ่านต่อ ตอนที่ 2