ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ซีรีส์ 15 ปี วิกฤติ 2540 “ธาริษา วัฒนเกส” ถอดบทเรียนผู้ทำนโยบาย ต้อง“มองไกล-มีความกล้า” ตัดสินใจเพื่อประโยชน์ชาติ

ซีรีส์ 15 ปี วิกฤติ 2540 “ธาริษา วัฒนเกส” ถอดบทเรียนผู้ทำนโยบาย ต้อง“มองไกล-มีความกล้า” ตัดสินใจเพื่อประโยชน์ชาติ

13 สิงหาคม 2012


ในโอกาสครบรอบ 15 ปี วิกฤติ 2540 ซึ่งถูกบันทึกเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์วิกฤติเศรษฐกิจการเงินโลก ที่มีผลกระทบรุนแรงและสร้างความเสียหายมหาศาลให้กับประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะประเทศไทย ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของวิกฤติ แต่ 15 ปีผ่านมา ผู้ที่เกี่ยวข้องกับวิกฤติครั้งนั้น ทั้งผู้ก่อวิกฤติ ผู้แก้วิกฤติ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ มีการปรับตัว และได้เรียนรู้อะไรจากวิกฤติครั้งนี้บ้าง และประเทศไทยซึ่งฝ่ามรสุมวิกฤติครั้งนั้นมาได้จนถึงปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่อย่างไร เพื่อตอบโจทย์คำถามดังกล่าว สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้รวบรวมบทสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้องมานำเสนอในซีรีส์ “15 ปี วิกฤติ 2540 ประเทศไทยอยู่ตรงไหน”

ซีรีส์นี้พบกับบทสัมภาษณ์พิเศษ “ดร.ธาริษา วัฒนเกส” อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผู้ว่าการหญิงคนแรกของ ธปท. ที่ผ่านวิกฤติเศรษฐกิจใหญ่ๆ 2 ครั้ง ทั้งวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 กับ วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2551 และเกษียณอายุไปเมื่อ 30 กันยายน 2553

ในช่วงวิกฤติ 2540 ดร.ธาริษาไม่ได้ทำงานรับผิดชอบด้านเศรษฐกิจและด้านสถาบันการเงินโดยตรง แต่ช่วงจังหวะที่ต้องการ “มือดี” มาทำงานแก้ไขปัญหาวิกฤติสถาบันการเงิน ดร.ธาริษาคือผู้ที่ถูกเลือกให้เข้าร่วมทีมในครั้งนั้น ส่วนวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ 2551 เธออยู่ในตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท. รับผิดชอบบริหารนโยบายการเงินและนโยบายสถาบันการเงินอย่างเต็มตัว ได้ดำเนินนโยบายการเงินที่ช่วยประคองเศรษฐกิจไทยให้ถูกกระทบน้อยที่สุด

ประเด็นสัมภาษณ์จึงเจาะลึกถึงแนวทาง กระบวนการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะมาตรการที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) นำมาใช้กับไทยในขณะนั้นอยู่ภายใต้แนวคิดอย่างไร ทำไมถึงผิดพลาด รวมถึงแนวคิดการตั้งองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) เพื่อแก้ปัญหาสถาบันการเงิน และการปรับตัวของ ธปท. ในด้านการกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงิน หลังได้รับบทเรียนที่แสนสาหัสในปี 2540 แล้วเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด

ทั้งหมดนี้ติดตามได้จากบทสัมภาษณ์พิเศษ “ดร.ธาริษา วัฒนเกส” โดยมี ดร.ภาวิน ศิริประภานุกูล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้สัมภาษณ์ ทั้งหมด 11 ตอน ดังนี้

คนภายนอก ธปท. ไม่มากก็น้อยอาจสงสัยว่า วิกฤติ 2540 ที่เกิดขึ้นนั้น มีคนใน ธปท. รู้หรือเห็นสัญญาณว่าจะเกิดวิกฤติครั้งนั้นมากกว่าคนนอกหรือไม่ หรือรู้กันเฉพาะผู้ที่รับผิดชอบโดยตรงเท่านั้น ความจริงเรื่องนี้เป็นอย่างไร ติดตามได้จากบทสัมภาษณ์พิเศษ “ดร.ธาริษา วัฒนเกส” ตอนที่ 1

วิกฤติ 2540 ส่งผลกระทบสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจมหาศาล เนื่องจากมี 2 วิกฤติเกิดขึ้นพร้อมกัน คือ วิกฤติภาคการเงินกับวิกฤติภาคสถาบันการเงิน โดยเฉพาะวิกฤติสถาบันการเงิน ที่ทางการต้องเร่ง “ดับไฟ” สกัดปัญหาไม่ให้ลุกลาม ช่วงนั้น ธปท. ต้องเจอแรงกดดันอะไรบ้าง และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องทำคืออะไร ติดตามได้ในตอนที่ 2

แนวทางแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินในปี 2540 โดยการจัดตั้งองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) เพื่อประมูลขายสินทรัพย์ของสถาบันการเงินที่ถูกปิดออกไปในราคาถูกมาก จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงว่าเป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ถูกจุด แต่เบื้องหน้าเบื้องหลังที่มาของแนวคิดในการตั้ง ปรส. เป็นอย่างไร ติดตามได้ในตอนที่ 3

สาเหตุที่ทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ 2540 หลายคนอาจโยนความผิดทั้งหมดให้ ธปท. และอีกหลายคนก็โทษสถาบันการเงินที่ไม่ระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ ขณะที่อีกจำนวนไม่น้อยมองว่าบริษัทในตลาดหุ้นคือตัวร้าย แต่ในมุมมองของ ดร.ธาริษา เชื่อว่า วิกฤติที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความผิดพลาดของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่ “ทุกคนมีส่วนทำให้เกิดวิกฤติโดยไม่ได้ตั้งใจ” ติดตามได้ในตอนที่ 4

การแก้ไขปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจการเงิน และวิกฤติสถาบันเงินปี 2540 ภายใต้เงื่อนไขโปรแกรมขอความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ซึ่งนำวิธีการแก้ปัญหาในวิกฤติลาตินอเมริกาเป็นสูตรสำเร็จมาใช้กับไทย และประเทศอื่นในเอเชีย เป็นที่ประจักษ์ในปัจจุบันแล้วว่า”ผิดพลาด” แต่ไอเอ็มเอฟคิดอย่างไรในตอนนั้น ทำไมเราถึงไม่มีทางเลือก และเราได้บทเรียนสำคัญอะไรจากการเข้าโปรมแกรมไอเอ็มเอฟ ติดตามได้ในตอนที่ 5

หลังวิกฤติ 2540 นอกจาก ธปท. จะปรับเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยน และหันมาใช้นโยบายกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ หรือ Inflation Targeting แล้ว ธปท. ยังได้ปฏิรูประบบการกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงินครั้งใหญ่ โดยเฉพาะบทบาทของ ธปท. จากเดิมที่ชอบทำตัวเป็นตำรวจที่คอยเข้าไปจับผิด มาเป็นการทำงานร่วมกันกับสถาบันการเงิน ตอนนั้น ธปท. ทำอะไรบ้าง และสถาบันการเงินปรับตัวเข้มแข็งได้อย่างไร ติดตามได้ในตอนที่ 6

การดำเนินนโยบายของ ธปท. หลังวิกฤติ 2540 มีการนำมาตรการ “Macro prudential” หรือมาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะด้านมาใช้ควบคู่กับการดำเนินนโยบายดอกเบี้ย และนโยบายอัตราเปลี่ยน มาตรการนี้ทำให้การกำกับดูแลสถาบันการเงินของไทย “ล้ำ” หน้าประเทศพัฒนาแล้ว ขณะเดียวกันธนาคารพาณิชย์ก็ตระหนักถึงความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ระบบการเงินไทยแข็งแกร่งมากขึ้น ซึ่งผ่านการพิสูจน์มาแล้วจากวิกฤติการเงินโลกในปี 2551 ที่สถาบันการเงินไทยแทบไม่ถูกกระทบเลย รายละเอียดเรื่องนี้เป็นอย่างไร ติดตามได้ในตอนที่ 7

การดูแลเงินทุนเคลื่อนย้ายที่มีความผันผวนมากยิ่งขึ้น กำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่แต่ละประเทศในเอเชียต้องเผชิญ และประเทศไทยเองก็มีประสบการณ์อันเลวร้ายในช่วงปลายปี 2549 จนต้องออกมาตรการสำรอง 30% เพื่อสกัดเงินทุนไหลเข้า ซึ่งเป็นช่วงที่ ดร.ธาริษา เป็นผู้ว่าการ ธปท. แต่การควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้ายเป็นทางออกที่ดีที่สุดหรือไม่ ติดตามได้ในตอนที่ 8

15 ปี วิกฤติ 2540 ถือเป็นบทเรียนราคาแพงที่ไม่ควรให้เกิดขึ้นอีก ซึ่งมีหลายบทเรียนหลายเรื่องที่ควรจดจำไว้เป็นเครื่องเตือนใจ แต่บทเรียนใดจะเป็นเกราะป้องกันไม่ให้ไปสู่หนทางการเกิดวิกฤติอีกครั้ง ติดตามได้ในตอนที่ 9

วิกฤติ 2540 ที่เกิดขึ้น มีสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งมาจากการตัดสินใจเชิงนโยบายที่ผิดพลาด ดังนั้น ผู้มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินนโยบาย หรือมีอำนาจตัดสินเชิงนโยบายที่สำคัญ ไม่ควรผิดพลาดซ้ำสอง แต่จะเป็นเรื่องใด ติดตามได้ในตอนที่ 10

จากประสบการณ์การทำงานผ่านวิกฤติครั้งสำคัญมาถึง 2 ครั้ง ทำให้ชีวิตหลังเกษียณของ ดร.ธาริษา ไม่ได้ห่างหายไปจากแวดวงการเงินการธนาคาร โดยได้รับเชิญให้ไปถ่ายทอดประสบการณ์ในหลายๆ เวทีในต่างประเทศ เรื่องราวช่วงนี้จะเป็นอย่างไร ติดตามได้ในตอนที่ 11

ซีรี่ส์ 15 ปีวิกฤติ 2540 สนับสนุนโดย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)