ThaiPublica > คนในข่าว > ตอนที่ 2: บันทึกเหตุการณ์ 2 กรกฎาคม 2540

ตอนที่ 2: บันทึกเหตุการณ์ 2 กรกฎาคม 2540

23 กันยายน 2012


นายบัณฑูร ล่่ำซำ
นายบัณฑูร ล่่ำซำ

รุ่งเช้า 2 กรกฎาคม 2540 ธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) ปลุกนายแบงก์เรียกประชุมด่วน แจ้งเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยน ขณะที่ “บัณฑูร” ยอมรับ ช่วงแรกตีโจทย์ไม่แตก ก่อนพลิกสถานการณ์หาช่องเพิ่มทุนรอดมาได้

ปกป้อง: เวลาคนพูดถึงวิกฤติเศรษฐกิจ 2540 คนก็จะนึกถึงวันที่ประกาศค่าเงินบาท 2 กรกฎาคม 2540 ได้ข่าวว่าวันนั้น เขาบอกว่าทางแบงก์ชาติโทรไปปลุกตั้งแต่เช้ามืด ตี 4 ตี 5 อยากให้เล่าเกร็ดประวัติศาสตร์บันทึกไว้หน่อยครับ ว่ามันเกิดอะไรขึ้น

ใช่ ก็โทรมาตอนตี 4 ที่บ้านก็แม่ครัวรับโทรศัพท์ ก็หาว่าอันนี้ “มันบ้า”

ปกป้อง: แม่ครัวกล้าปลุกไหม

ไม่กล้าปลุก (หัวเราะ)

ปกป้อง: แล้วไปประชุมทันไหม

ในที่สุดก็ทันครับ

ปกป้อง: แล้วทำยังไงครับแม่ครัวไม่กล้าปลุก

ตอนหลังก็โทรตามช่องทางอื่น ก็ตามเจอตัวจนได้ วันแรกยังไม่เท่าไหร่ครับ มันยังช็อก! ไม่มีใครเข้าใจว่ามันแปลว่าอะไร เขาไม่ได้ประกาศลดค่าเงิน เขาบอกแค่ประกาศลอยตัว แล้วมิหนำซ้ำผ่านไปวันสองวันเงินบาทดันแข็งขึ้น ทุกคนก็เลยคิดว่าคงไม่มีอะไร แต่หลังจากนั้นปั๊บเงินบาทลงไปถึง 40-50 บาท ทุกคนก็รู้แล้ว คำนวณแป๊บเดียวก็รู้แล้วว่าระบบเจ๊ง

หลังจากนั้น “พอเริ่มหายจากความชา ความช็อก แล้ว ความเจ็บปวดก็ค่อยๆ เข้ามา” คนทุกคนก็รู้ว่างบของตัวหน้าตาเป็นยังไง ไม่ว่าจะในส่วนของธนาคารพาณิชย์หรือส่วนของบริษัทที่กู้เงินไป บางคนดูแล้วก็รู้แล้วว่า “ฉันล้มละลายแน่นอน”

ปกป้อง: วันที่แบงก์ชาติปลุกนายธนาคารใหญ่ทั้งประเทศมารวมตัวกัน วันนั้นเขาคุยอะไรกันบ้างครับ

ก็ไม่ได้คุยอะไร ก็แค่ประกาศว่า “เราจะเปลี่ยนระบบแลกเปลี่ยนเป็นระบบลอยตัว” ไม่ได้พูดอะไรมากกว่านั้นเลย ประชุมแป๊บเดียวจบ

ปกป้อง: : แล้ววันนั้นได้คิดไหมว่าธนาคารก็เกือบเอาตัวไม่รอด

วันนั้นยังตีโจทย์ไม่ออก

วันนั้น “ยังไม่ได้ตีโจทย์ไปถึงขั้นว่าตามจริงเงินบาทจะไปเป็น 40-50 บาทต่อดอลลาร์ ยังคิดไม่ถึง” ในเมื่อแต่ก่อนเป็นระบบที่อัตราการแลกเปลี่ยนกึ่งๆ จะคงที่มาเป็นระบบลอยตัว คนอื่นอาจจะคิดนะ แต่ตอนนั้นเรายังไม่เป็น

ปกป้อง: แล้วถึงวันที่ค่าเงินบาทมันไปถึง 50 กว่านี้ ตอนนั้นทำยังไงช่วงนั้น

พอไปปุ๊บ คราวนี้ก็ “ถล่มถลาย” แล้วก็ทำการคำนวณกัน ถ้าเป็นอย่างนี้ ลูกค้าที่กู้ไปจะเป็นอย่างนี้ๆ คำนวณออกมาแล้วก็รู้ว่าล้มละลาย

ปกป้อง: วินาทีแรกที่เห็นตัวเลขแล้วนั้น วันนั้นอยู่กับใจตัวเองไหมตอนนั้น

ก็วันนั้น ณ ขณะนั้นเราไม่รู้ว่ามันแปลว่าอะไร ก็คิดว่าก็ต้องค่อยๆ แก้กันไป ก็พูด “ปลอบใจ” ตัวเองไปเป็นอย่างนี้ก่อน แต่อันที่ทำให้ทุกคนตื่นขึ้นคือลักษณะที่ว่าแห่ไปถอนเงินจากธนาคาร อันนี้เป็นภาพที่เหมือนเป็นกลียุค

“การที่คนแห่ไปทุบสถาบันการเงินเพื่อจะเอาเงินมันคือกลียุค” ซึ่งไม่มีใครอยากจะบริหารจัดการในสภาวะอย่างนั้น ไม่ว่าจะภาคเอกชนหรือภาครัฐบาล ไม่มีใครอยากจะเจอในลักษณะอย่างนี้ เพราะไม่รู้จะตอบคำถามยังไง ว่าคุณปล่อยให้มันเป็นอย่างนี้ได้อย่างไร มันก็เกิดขึ้นแล้ว ในที่สุดสักพักเราก็เข้าใจโจทย์ว่าประเทศมันล้ม แต่ถามว่ามีใครรู้ไหมว่าตอนนั้นจะแก้ยังไง “คิดไม่ออก” รัฐบาลก็คิดไม่ออกเพราะตลาดมันปิดหมด

ปกป้อง: เคยมีสักช่วงที่ถอดใจไหมครับ

ถอดใจไม่ถอดใจ มันก็มึนๆ ยังไม่ถึงกับถอนใจ ก็ยังมึนๆ อยู่ แล้วก็ยังคิดว่าคงจะมีทางออก แต่ตอนแรก 2-3 เดือนแรก ก็คิดไม่ออกเหมือนกัน พอเวลาผ่านไปสักพักหนึ่งคำว่า “เพิ่มทุน” โผล่ขึ้นมา ก็มีทีมที่ไปศึกษา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามีความสามารถทำได้ทันทีนะ เพราะจังหวะมันยังไม่ให้

แต่อย่างน้อยก็ต้องศึกษาไว้ก่อนว่า ถ้าตลาดเปิดเราจะเสนอตัวเองในลักษณะอย่างนี้ เอกสารต่างๆ ก็จะเตรียมไป การตัดสินใจจะไปในตอนนั้นก็ 50-50 แม้กระทั่งคนที่นำเราไปเพิ่มทุนคือ โกลด์แมน แซคส์ ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าตัวเองจะทำได้หรือเปล่า เพราะเขาก็ไม่อยากไปหรอก เขาก็เสียชื่อไปด้วย เพราะถ้าเอาไปแล้วขายไม่ออก “ดีลล้ม”อย่างนี้

“แต่ท้ายที่สุดแล้วก็ตัดสินใจที่จะไป เดินทางไปทั่วโลก ไปพูดซ้ำๆๆๆ ทุกวัน ทางเมืองไทยสถานการณ์เป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นเราจะแก้อย่างนี้ ประเทศไทยเป็นอย่างนี้ๆ ก็โชคดีที่หลังจากผ่านไปสองอาทิตย์เขาซื้อหุ้น ก็เบาไปขั้นหนึ่ง”

อ่านต่อตอนที่ 3: ในวิกฤติยังมีโอกาส