ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ซีรีส์ 15 ปีวิกฤติ 2540 ดร.ธาริษา วัฒนเกส (5) : มาตรการไอเอ็มเอฟที่ใช้กับไทย “Naive”

ซีรีส์ 15 ปีวิกฤติ 2540 ดร.ธาริษา วัฒนเกส (5) : มาตรการไอเอ็มเอฟที่ใช้กับไทย “Naive”

28 สิงหาคม 2012


ในโอกาสครบรอบ 15 ปี วิกฤติ 2540 ซึ่งถูกบันทึกเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์วิกฤติเศรษฐกิจการเงินโลก ที่มีผลกระทบรุนแรงและสร้างความเสียหายมหาศาลให้กับประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะประเทศไทย ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของวิกฤติ แต่ 15 ปีผ่านมา ผู้ที่เกี่ยวข้องกับวิกฤติครั้งนั้น ทั้งผู้ก่อวิกฤติ ผู้แก้วิกฤติ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ มีการปรับตัว และได้เรียนรู้อะไรจากวิกฤติครั้งนี้บ้าง และประเทศไทยซึ่งฝ่ามรสุมวิกฤติครั้งนั้นมาได้จนถึงปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่อย่างไร เพื่อตอบโจทย์คำถามดังกล่าว สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้รวบรวมบทสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้องมานำเสนอในซีรีส์ “15 ปี วิกฤติ 2540 ประเทศไทยอยู่ตรงไหน”

นางธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
นางธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

แนวทางการแก้ไขปัญหาวิกฤติ 2540 ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่ใช้มาตรการเข้มงวดด้านการเงิน การคลังในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาสถาบันการเงินในประเทศไทย ถูกวิพาษณ์วิจารณ์ว่าให้ “ยาผิด” แต่เบื้องหลังแนวคิดตอนนั้นของไอเอ็มเอฟเป็นอย่างไร แล้วทำไมตอนนั้นประเทศไทยจึงยอม มีสาระสำคัญดังนี้

ภาวิน: มาตรการของไอเอ็มเอฟที่เอามาประยุกต์ใช้ในช่วงนั้น หลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์มากว่าอาจเป็นการจ่ายที่ผิดของไอเอ็มเอฟ คุณธาริษาเห็นด้วยไหมครับ

เห็นด้วยค่ะ คือองค์กรระหว่างประเทศเขาเห็นปัญหาของหลายๆ ที่และเหมาเอาว่าที่เราเจอก็คงเหมือนกับหลายๆ ที่ที่เขาเห็น ซึ่งความจริงไม่ใช่ เพราะยุคนั้นวิกฤติเศรษฐกิจเกิดขึ้นมากที่ลาตินอเมริกา เนื่องจากรัฐบาลใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย ไม่มีวินัยทางการคลัง

ปัญหาจึงมาจากภาครัฐ วิธีแก้คือรัฐบาลต้อง “รัดเข็มขัด” และนโยบายการเงินต้อง “เข้มงวด” ทำยังไงให้เศรษฐกิจที่เคยเฟื่องฟูหดตัวลงมาในระดับที่ไม่มากเกินไป

“แต่ของเราไม่ใช่ แล้วจะเอามาตรการนี้มาใช้กับเรา”

ของเราคือหนี้จากภาคเอกชนทั้งสิ้น แล้วภาครัฐในแง่การคลังของเราวินัยดี ตั้งแต่อดีตแล้ว แต่เมื่อเราเป็นลูกหนี้แล้วไม่มีทางออก เจ้าหนี้บังคับเราก็ต้องทำ

ทางนโยบายการคลังก็ต้องรัดเข็มขัด ทำให้เกินดุล เช่นเดียวกับนโยบายการเงินที่รัดเข็มขัดสุดๆ ตอนนั้นดอกเบี้ยขึ้นไปสูงสุดประมาณ 21% อัตราดอกเบี้ยขนาดนี้ธุรกิจดีๆ เขาอยู่ไม่ได้

แนวคิดของเขา (ไอเอ็มเอฟ) ถ้าเอานโยบายเข้มงวดมาใช้ ดึงดอกเบี้ยสูงขึ้นก็จะเป็นการจูงใจให้นักลงทุนต่างประเทศเอาเงินมาลงทุนทางนี้ หรือคนที่เป็นเจ้าหนี้เดิมอยู่ทางภาคเอกชนอาจจะเห็นว่าดอกเบี้ยดีก็เอามารวบใหม่ยังไม่เอาเงินออกไป ซึ่งแนวคิดแบบนี้มัน “นาอีฟ” (Naive) นะค่ะ”

เพราะเมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจคนห่วงแต่เงินต้น อย่าว่าแต่ดอกเบี้ย 21% เลยต่อให้ 40-50% เขาก็ถอนเงินเพื่อความปลอดภัยไว้ก่อน ซึ่งเป็นแนวคิดที่ไม่ถูกต้อง แล้วเขาก็ใช้สูตรนี้ไปแก้ปัญหาที่ตามมาในอินโดนีเซียด้วย

จนกระทั่งเกิดเหตุที่เกาหลีเพิ่งรู้ตัวว่าแนวคิดนี้ “ผิด” พอผิดแล้วมันจะลามไปเรื่อยหากไม่มีการปรับแก้ และนโยบายพวกนี้ทำให้เกิดตันทุนทางเศรษฐกิจมากเกินจำเป็น วันรุ่งขึ้นดิฉันจำได้ว่า GDP ติดลบ 10%

อันนี้ก็เป็นข้อ เตือนสติว่า “อย่าเป็นหนี้ใครเลยดีที่สุด”

เพราะพอตกอยู่ในกำมือเจ้าหนี้แล้วลำบากค่ะ เขาสั่งให้ทำอะไรแม้จะไม่ถูกต้องเราก็ทำอะไรไม่ได้

ซีรี่ส์ 15 ปีวิกฤติ 2540 สนับสนุนโดย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)