ThaiPublica > เกาะกระแส > ไอเอ็มเอฟตั้ง “สำนักงานช่วยเหลือทางวิชาการ” ที่ประเทศไทยแห่งแรกในเอเชีย

ไอเอ็มเอฟตั้ง “สำนักงานช่วยเหลือทางวิชาการ” ที่ประเทศไทยแห่งแรกในเอเชีย

13 กรกฎาคม 2012


วังบางขุนพรหม: นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. (ขวา) กับ นางคริสติน ลาการ์ด กรรมการจัดการไอเอ็มเอฟ (ซ้าย) แถลงข่าวหลังร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจในการจัดตั้งสำนักงานให้ความช่วยเหลือทางวิชาการของไอเอ็มเอฟในประเทศไทย
วังบางขุนพรหม: นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. (ขวา) กับ นางคริสติน ลาการ์ด กรรมการจัดการไอเอ็มเอฟ (ซ้าย) แถลงข่าวหลังร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจในการจัดตั้งสำนักงานให้ความช่วยเหลือทางวิชาการของไอเอ็มเอฟในประเทศไทย

เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2555 คณะรัฐมนตรีภายใต้รัฐบาล “นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ได้อนุมัติเรื่องการจัดตั้งสำนักงานให้ความช่วยเหลือทางวิชาการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ (IMF) ในประเทศไทย ตามที่กระทรวงการคลังเสนอมา

ในวันถัดมา 12 กรกฎาคม 2555 นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงได้ร่วมลงนามกับนางคริสติน ลาการ์ด กรรมการจัดการไอเอ็มเอฟ ในบันทึกความเข้าใจในการจัดตั้ง “สำนักงานให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ” ของไอเอ็มเอฟในประเทศไทย ซึ่งเป็นสำนักงานฯ แห่งแรกของไอเอ็มเอฟในเอเชีย โดยสถานที่ตั้งอยู่ในบริเวณของ ธปท. สำนักงานใหญ่ บางขุนพรหม

ดร.ประสารกล่าวภายหลังการลงนามบันทึกความเข้าใจว่า วัตถุประสงค์ของสำนักงานฯ นี้ ตั้งเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการและเสริมสร้างศักยภาพในหลายด้าน อาทิ การดำเนินนโยบายด้านการเงินและสถาบันการเงินให้แก่ประเทศในภูมิภาค โดยเฉพาะสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ซึ่งอยู่ระหว่างการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และปรับปรุงการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคและระบบการเงินภายในประเทศ

นอกจากนี้ ยังเป็นการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคอย่างครอบคลุมและยั่งยืน ตลอดจนประสานการพัฒนาระบบเศรษฐกิจการเงินของแต่ละประเทศ เพื่อรองรับการรวมตัวทางเศรษฐกิจการเงินของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในระยะต่อไป

“การเปิดสำนักงานให้ความช่วยเหลือทางวิชาการครั้งนี้ เป็นการแสดงบทบาทของประเทศไทยในการสนับสนุนงานของไอเอ็มเอฟ อีกทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง” ดร.ประสารกล่าว

ด้านนางลาการ์ดได้กล่าวขอบคุณว่า “การเปิดสำนักงานแห่งใหม่ของไอเอ็มเอฟในกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ความสนับสนุนทางด้านวิชาการ สำหรับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ โดยความร่วมมือกับ ธปท. เรารู้สึกขอบคุณเป็นอย่างยิ่ง ที่ทางการไทยให้ความสนับสนุนที่ตั้งของสำนักงานแห่งนี้ ในช่วงเวลาสำคัญที่มีความต้องการสนับสนุนทางวิชาการในภูมิภาค”

ทั้งนี้ สำนักงานฯ นี้จะเปิดดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบประมาณเดือนกันยายนปีนี้ใน โดยมติ ครม. ระบุว่า การให้ตั้งสำนักงานฯ ของไอเอ็มเอฟโดยใช้พื้นที่ในอาคารของ ธปท. นั้นไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ทาง ธปท. จะเป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายดำเนินการ และส่งเจ้าหน้าที่ ธปท. ไปเป็นเลขาช่วยประสานงานอีกหนึ่งคน

การตั้งสำนักงานช่วยเหลือทางวิชาการของไอเอ็มเอฟในประเทศไทย โดยสถานที่ตั้งอยู่ภายในพื้นที่ ธปท. สำนักงานใหญ่ บางขุนพรหม ทำให้บางคนหวาดระแวงว่า ไอเอ็มเอฟจะเข้ามาควบคุมหรือแทรกแซงนโยบายการเงินการคลังของประเทศไทย เหมือนที่เคยเสียเอกราชทางเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 หรือไม่

นางสุชาดา กิระกุล รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพนโยบายการเงิน ธปท.
นางสุชาดา กิระกุล รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพนโยบายการเงิน ธปท.

ประเด็นดังกล่าว นางสุชาดา กิระกุล รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยืนยันว่าไม่เกี่ยวกัน เพราะสำนักงานนี้ฯ ตั้งขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือทางวิชาการเป็นสำคัญแก่ประเทศลาวและพม่า นอกจากนั้น ในขณะนี้สถานะของประเทศไทยได้เปลี่ยนจาก “ลูกหนี้” ที่เคยขอความช่วยเหลือทางการเงินมาเป็น “เจ้าหนี้” ที่ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแล้ว

โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติเงินสนับสนุนจำนวน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเข้ากองทุนเพิ่มทรัพยากรทางการเงินของไอเอ็มเอฟ ที่มีวัตถุประสงค์ช่วยเหลือประเทศซึ่งประสบปัญหาต้องขอความช่วยเหลือทางการเงิน โดยเฉพาะบางประเทศในกลุ่มยูโรโซนที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ เช่น กรีซ สเปน เป็นต้น รวมถึงประเทศที่ประสบวิกฤตทางการเงิน หากเข้าเงื่อนไขที่ไอเอ็มเอฟกำหนดไว้ก็จะได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากองทุนส่วนนี้

นางสุชาดาอธิบายเพิ่มเติมว่า การจัดตั้งกองทุนเพิ่มทรัพยากรทางการเงินนั้น มีประเทศสมาชิกของไอเอ็มเอฟให้การสนับสนุนทางการเงินเพื่อจัดตั้งกองทุนดังกล่าวเป็นเงินกว่า 400,000 ล้านดอลลาร์ กองทุนฯ นี้จะมีลักษณะเป็น “กำแพง” ป้องกันปัญหา ดังนั้น หากประเทศใดมีปัญหาทางเศรษฐกิจการเงิน ต้องการความช่วยเหลือทางการเงิน ไอเอ็มเอฟก็จะนำเงินส่วนนี้ไปช่วยเหลือหรือให้กู้ยืม เช่น กรณีในยุโรป เป็นต้น

ดังน้น แม้ประเทศไทยจะมีส่วนสนับสนุนเงินเพียง 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นเงินไม่มากเมื่อเทียบกับจำนวนเงินของกองทุนฯ แต่ก็เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยให้ความช่วยเหลือทางการเงินในลักษณะนี้ ต่างจากอดีตที่ประเทศไทยเคยให้ความช่วยเหลือทางการเงินกับประเทศที่มีฐานะยากจนกว่า (รายละเอียดกองทุนเพิ่มทรัพยากรทางการเงิน และจำนวนเงินที่ประเทศสมาชิกให้การสนับสนุน)

“การตั้งสำนักงานให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ ไม่ได้หมายความว่าเราจะขอกู้เงิน หรือไอเอ็มเอฟจะเข้ามาในฐานะเจ้าหนี้ของไทย แต่เป็นความร่วมมือกันมากกว่า และขณะนี้เราอยู่ในฐานะเจ้าหนี้ รวมทั้งยังให้มีส่วนให้ความช่วยเหลือทางวิชาการด้วย โดยเคยส่งผู้เชี่ยวชาญของ ธปท.ไปเป็นทีมช่วยเหลือทางวิชาการของไอเอ็มเอฟ” นางสุชาดากล่าว

การจัดตั้งสำนักงานให้ความช่วยเหลือทางวิชาการของไอเอ็มเอฟในลักษณะนี้ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพนโยบายการเงิน ธปท. ระบุว่า มีการจัดตั้งกระจายอยู่หลายจุดทั่วโลก เช่น ในแอฟริกา และในจุดที่มีประเทศที่อยู่ในสถานะที่มีการเปลี่ยนแปลงระบบเกิดขึ้น เช่น เปลี่ยนจากระบบสังคมนิยมมาเป็นระบบตลาด เป็นต้น และในกรณีที่ตั้งสำนักงานนี้ในประเทศไทย ซึ่งเป็นแห่งแรกในเอเชีย เนื่องจากประเทศไทยเป็นจุดที่อยู่ตรงกลางของประเทศที่กำลังมีการเปลี่ยนแปลงระบบ ได้แก่ ประเทศลาวและพม่า ที่ไอเอ็มเอฟมุ่งให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการตามที่ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ

นางสุชาดาระบุว่า การที่ประเทศไทยอยู่ตรงกลางระหว่างสองประเทศ ไอเอ็มเอฟจึงเลือกไทยเป็นศูนย์กลางจัดตั้งสำนักงานฯ เพื่อความสะดวกในการดำเนินการจัดการ เตรียมการ และหารือ ของผู้เชี่ยวชาญจากประเทศต่างๆ ที่ต้องเดินทางมาเตรียมงาน วางแผน ก่อนเดินทางออกไปลงพื้นที่จริง เช่น กรณีมีผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นมาช่วยเหลือ หากไม่มีสำนักงานฯ ที่ประเทศไทย เขาก็ต้องเดินทางบินมาลงที่ไทยก่อนจะลาวหรือพม่า เป็นต้น ดังนั้น เพื่อความสะดวกจึงใช้ประเทศไทยเป็นจุดศูนย์กลาง ขณะเดียวกันประเทศไทยก็มีความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือด้วย

“สำนักงานฯ นี้จะมีผู้แทนจากไอเอ็มเอฟมานั่งประจำ 1-2 คน โดยอาจมาอยู่คนละ 2-4 ปี ส่วนสำนักงานนี้จะเปิดชั่วคราวหรือถาวรยังระบุไม่ได้ ขึ้นอยู่กับภารกิจในการให้ความช่วยเหลือประเทศที่อยู่ในภูมิภาคนี้ เพราะนอกจากลาวและพม่าแล้ว ต่อไปอาจขยายไปสู่ประเทศอื่นด้วยก็ได้ เช่น กัมพูชา ดังนั้น หากยังมีความจำเป็นต้องช่วยเหลือพัฒนาทางวิชาการของประเทศในภูมิภาค ธปท. ก็คงให้การสนับสนุนสำนักงานนี้ตลอดไป” นางสุชาดากล่าว

อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า การจัดตั้งสำนักงานฯ ของไอเอ็มเอฟในไทย มีนัยสำคัญในแง่บวกกับประเทศไทยมากกว่าแง่ลบ เพราะเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศผู้รับหรือร้องขอความช่วยเหลือเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือได้ด้วย ตรงนี้น่าจะสร้างเครดิตและภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศไทยมากกว่าผลเสียอย่างที่บางคนเป็นกังวล

เปิดมติ ครม. อนุมัติไอเอ็มเอฟตั้งสำนักงานฯ ในไทยโดย ธปท. สนับสนุนค่าใช้จ่าย

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2555 เรื่อง การจัดตั้งสำนักงานให้ความช่วยเหลือทางวิชาการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ โดยคณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่กระทรวงการคลัง เสนอดังนี้

1.อนุมัติการจัดทำบันทึกความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ตามร่างที่ผ่านการพิจารณาของกระทรวงการต่างประเทศ แล้ว เพื่อให้เอกสิทธิและความคุ้มกันให้ความช่วยเหลือทางวิชาการของ IMF และเจ้าหน้าที่ที่ IMF ส่งมาปฏิบัติงานในสำนักงาน

2.เห็นชอบให้ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยหรือผู้มีอำนาจดำเนินการแทน เป็นผู้ลงนามในบันทึกความตกลงฯ ในนามของรัฐบาลไทย

3.กรณีที่มีการแก้ไขบันทึกความตกลงฯ ในประเด็นที่ไม่กระทบต่อพันธกรณีของรัฐบาลไทยในเรื่องการให้เอกสิทธิและความคุ้มกันและเจ้าหน้าที่ ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง

4.มอบหมายให้กระทรวงการคลัง ดำเนินการออกเอกสารมอบอำนาจให้ ธปท. ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องได้ต่อไป

สำหรับสาระสำคัญของเรื่อง มีดังนี้

1.รายงานความเป็นมา สาระสำคัญ และการดำเนินการเกี่ยวกับการจัดตั้งสำนักงานให้ความช่วยเหลือทางวิชาการของ IMF สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

1.1 IMF ได้หารือกับ ธปท. เพื่อขอจัดตั้งสำนักงานให้ความช่วยเหลือทางวิชาการของ IMF ในประเทศไทย (Thailand Technical Assistance Office) เพื่อเป็นฐานปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่ประเทศเพื่อนบ้านของไทย โดยในระยะแรกจะเน้นให้ความช่วยเหลือแก่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ซึ่งมีความจำเป็นเร่งด่วนในการปฏิรูปนโยบายและระบบเศรษฐกิจหลังจากที่ได้เริ่มเปิดประเทศ และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจและสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

1.2 รูปแบบการดำเนินงานของสำนักงานฯ จะประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จาก IMF ได้แก่ หัวหน้าสำนักงาน (Coordinator) 1 คน ผู้เชี่ยวชาญประจำสำนักงาน (Resident advisors) 2 คน และอาจมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่จะมาประจำการชั่วคราวตามความจำเป็น (Short-term experts) ครั้งละ 1-2 คน รวมทั้งพนักงานชาวไทยเพื่อช่วยงานเลขานุการ 1 คน โดยสำนักงานฯ จะได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณดำเนินงานจาก IMF ประเทศผู้บริจาคและประเทศผู้ขอรับความช่วยเหลือ รวมทั้งประเทศที่เป็นที่ตั้งของสำนักงานฯ

1.3 ธปท. ได้พิจารณาให้สำนักงานของ IMF ดังกล่าวใช้พื้นที่ในอาคารของ ธปท. เป็นที่ตั้ง และสนับสนุนค่าใช้จ่ายดำเนินการ เนื่องจากเห็นว่าการจัดตั้งสำนักงานของ IMF ดังกล่าว จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย

1.4 ในการเตรียมการจัดตั้งสำนักงานดังกล่าว IMF ได้เสนอร่างบันทึกความตกลงให้ ธปท. พิจารณา โดยกำหนดขอบเขตการดำเนินงานที่จะขอรับความสนับสนุนจาก ธปท. รวมทั้งระบุประเด็นการให้เอกสิทธิและความคุ้มกันแก่สำนักงานและเจ้าหน้าที่ของ IMF ที่ปฏิบัติงานในสำนักงาน โดยอ้างถึงข้อกำหนดตามพันธะมาตรา 9 แห่งข้อตกลงว่าด้วยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF Articles of Agreement) และ Convention on the Privileges and Immunities of the Specialized Agencies Approved by the General Assembly of the United Nations on 21 November 1947 ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี

2. กระทรวงการคลังเห็นควรสนับสนุนการจัดตั้งสำนักงานให้ความช่วยเหลือทางวิชาการของ IMF ในประเทศไทย เพื่อเป็นการเพิ่มบทบาทของไทยในเวทีองค์การระหว่างประเทศและในภูมิภาคตามที่ ธปท. เสนอ โดยในส่วนของร่างบันทึกความตกลงฯ ให้เป็นไปตามการพิจารณาของกระทรวงต่างประเทศ ทั้งนี้ ในส่วนของการให้เอกสิทธิและความคุ้มกันแก่สำนักงานให้ความช่วยเหลือทางวิชาการของ IMF และเจ้าหน้าที่ที่ IMF ส่งมาปฏิบัติงานที่สำนักงานในประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับการให้สิทธิ์ทางด้านศุลกากรนั้น เห็นว่าสามารถดำเนินการได้ตามที่ระบุในภาค 4 ของพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 อยู่แล้ว

3. เนื่องจากกรรมการผู้จัดการ IMF มีกำหนดการเยือนประเทศไทยเพื่อร่วมงาน Thailand-ADB-IMF Conference ระหว่างวันที่ 11-12 กรกฎาคม 2555 จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะประกาศความร่วมมือ และลงนามบันทึกความตกลงจัดตั้งสำนักงานให้ความช่วยเหลือทางวิชาการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศในช่วงเวลาดังกล่าว