จากที่สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้นำเสนอข่าวเกี่ยวกับธุรกิจซื้อขายเบอร์โทรศัพท์สวย ที่มีมูลค่าตลาดหลายล้านบาท ขณะที่ กสทช. ผู้บริหารจัดการเลขหมาย คิดค่าธรรมเนียมการขอเลขหมาย 5,000 บาทต่อครั้ง สะท้อนปัญหาการจัดการทรัพยากรสาธารณะ ที่ไม่ได้คำนึงถึงมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ ความคุ้มค่า และความขาดแคลนของทรัพยากร ทำให้เงินจำนวนมหาศาลตกไปอยู่ในมือของภาคเอกชน แทนที่จะเป็นของภาครัฐ
ปัจจุบัน แผนเลขหมายโทรคมนาคม กำหนดให้เลขหมายหรือเบอร์ของโทรศัพท์มือถือมีจำนวน 10 หลัก จากข้อมูลการจัดสรรเลขหมายให้ผู้ประกอบการ หรือผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือล่าสุดจาก กสทช. ณ วันที่ 15 มิถุนายน 2555 พบว่ามีหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่ในแผนโทรคมนาคมทั้งหมด (ขึ้นต้นด้วยเลข 08 และ 09) มีจำนวนทั้งสิ้น 200,000,000 เลขหมาย (สองร้อยล้านเลขหมาย) มีการจัดสรรไปแล้ว 112,080,000 เลขหมาย และเหลือเลขหมายที่รอการจัดสรรอีก 87,920,000 เลขหมาย
กลุ่มเลขหมายที่มีการจัดสรรไปแล้ว 112,080,000 เลขหมาย อยู่ในหลักเลขหมายที่ขึ้นต้นด้วยเลข 08 ทั้งหมดคือ ขึ้นต้นด้วย 080 ไปจนถึง 089 และขึ้นต้นด้วย 090 ไปจนถึง 091 โดยกลุ่มเลขหมายตั้งแต่ 092–099 ยังไม่มีการจัดสรรให้ผู้ประกอบการแต่อย่างใด
เมื่อพิจารณาถึงเลขหมายที่มีการจัดสรรไปแล้ว กับสัดส่วนที่ผู้ประกอบการแต่ละรายได้รับ พบว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการได้รับการจัดสรรเลขหมายไปแล้วทั้งสิ้น 7 ราย โดยผู้ประกอบการที่ได้รับการจัดสรรเลขหมายสูงสุด 3 รายใหญ่ คือ อันดับหนึ่ง บมจ. แอดวานซ์อินโฟร์ 44,510,000 เลขหมาย (39%) อันดับสอง บมจ. โทเทิ่ลแอ็คเซ็สคอมมูนิเคชั่น 34,010,000 เลขหมาย (30%) และอันดับสามคือ บจ. ทรูมูฟ 24,650,000 เลขหมาย (21%) ทั้ง 3 ค่ายใหญ่ รวมกันแล้วได้รับการจัดสรรเบอร์โทรศัพท์ไปกว่า 92% ของเลขหมายทั้งหมดที่มีการใช้งานในปัจจุบัน
แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ในการจัดสรรหมายเลขโทรศัพท์มือถือของ กสทช. พบว่ามีการเก็บเลขหมายบางกลุ่มที่เข้าข่ายเป็นเบอร์สวย ที่มีมูลค่าในท้องตลาดไว้ ไม่นำออกมาจัดสรรตามปกติ เป็นจำนวนทั้งสิ้น 1,640,000 เลขหมาย แบ่งเป็น กลุ่มที่ขึ้นต้นด้วยเลข 080, 088, 089 จำนวน 340,000 เลขหมาย และกลุ่มที่ขึ้นต้นด้วย 0900 ถึง 0909 และ 0910 ถึง 0912 จำนวน 1,300,00 เลขหมาย โดยมีเบอร์โทรศัพท์สวยที่ถูกเก็บไว้ในกลุ่มนี้ เช่น 080-0000000, 088-8888888, 089-9999999 หรือ 090-0000000 เป็นต้น
ทั้งนี้ การสงวนหรือเก็บเลขสวยไว้ กสทช. สามารถทำได้ด้วยอำนาจตามกฎหมาย (ประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดสรรและบริหารเลขหมายโทรคมนาคม พ.ศ. 2551) มาตรา 34 ที่ระบุว่า “การจัดสรรเลขหมายโทรคมนาคมมาตรฐาน ให้จัดสรรเป็นไปตามลําดับก่อนหลัง หรือตามความเหมาะสมในการบริหารเลขหมายโทรคมนาคม เว้นแต่ในกรณีที่มีเลขหมายขาดแคลนหรือในกรณีกลุ่มมีเลขหมายโทรคมนาคมที่เป็นเลขหมายสวย กทช. อาจกําหนดหลักเกณฑ์และวิธีการพิเศษเป็นรายกรณีสําหรับการจัดสรรเลขหมายโทรคมนาคมดังกล่าวก็ได้ กรณีเลขหมายโทรคมนาคมมาตรฐานขาดแคลนหรือถือเป็นกลุ่มเลขหมายสวย กทช. จะประกาศกําหนดเป็นคราวๆ ตามความเหมาะสม”
จากการประเมินเบื้องต้น พบว่าในกลุ่มตัวเลขที่มีการเก็บไว้ มีตัวเลขที่มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นบาท อย่างน้อย 1,500 เลขหมาย มีตัวเลขที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อตามดวงชะตาอีกหลายแสนเลขหมาย และเมื่อไปรวมกับเลขสวยที่มีอยู่หนึ่งในสิบล้านเลข หรือหนึ่งในร้อยล้านเลข อีกอย่างน้อย 5 เลขหมาย ซึ่งเลขหมายเหล่านี้ มีมูลค่าในท้องตลาดไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาทต่อเลขหมาย เช่น 080-0000000, 089-9999999 มูลค่าของเลขหมายทั้งหมดที่ กสทช. เก็บไว้ คาดว่าจะมีมูลค่ารวมกันอยู่ในระหว่างร้อยล้าน จนถึงหลักพันล้านบาท
อย่างไรก็ตามกสทช. ยังไม่เคยออกมาประกาศ หรือชี้แจงถึงจุดประสงค์ที่แท้จริงอย่างเป็นทางการ ในเรื่องของการเก็บเบอร์โทรศัพท์สวยเหล่านี้ แต่มีการคาดการณ์กันว่า กสทช. เตรียมนำเบอร์โทรศัพท์สวยเหล่านี้ออกประมูล เนื่องจากเบอร์โทรศัพท์สวยมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากการใช้งาน สร้างความสะดวกในการเข้าถึง และจดจำง่าย ทำให้เป็นที่ต้องการของตลาด
วิธีการที่มีการพูดถึงคือ จัดการประมูลคล้ายกับการประมูลทะเบียนสวยของรถยนต์ ของกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ที่เปิดให้มีผู้จัดการประมูล มาจัดประมูลเพื่อให้เบอร์โทรศัพท์สวยที่มีมูลค่ามากที่สุด ไปอยู่ในมือของผู้ที่ให้ราคาสูงสุด โดยมีการนำรายได้จากการประมูลส่งให้ กสทช. หรือนำไปใช้ในการพัฒนากิจการโทรคมนาคมของประเทศ ที่เป็นประโยชน์ของสาธารณะต่อไป
แนวคิดในการจัดการประมูลเบอร์สวย มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและผู้ที่คัดค้าน ในฝ่ายที่เห็นด้วยกับการประมูลเบอร์โทรศัพท์สวยให้เหตุผลสนับสนุนว่า เบอร์โทรศัพท์ ไม่ว่าจะสวยหรือไม่ ก็สามารถใช้โทรได้เหมือนกัน ดังนั้น เบอร์สวยจึงเป็นสินค้าที่ฟุ่มเฟือย เกินความจำเป็น ที่ผ่านมา กสทช. นำเบอร์โทรศัพท์สวยที่มีมูลค่ามหาศาลในท้องตลาด ไปจัดสรรให้เอกชนจำหน่ายโดยไม่ได้คิดมูลค่าเพิ่ม ทั้งที่ความเป็นจริงเบอร์สวยในท้องตลาดมีมูลค่าสูงกว่าเบอร์โทรศัพท์ธรรมดาทั่วไปมาก การที่ กสทช. จัดสรรแบบนี้ทำให้รายได้ที่รัฐควรจะได้กลับไปอยู่ในมือภาคเอกชนแทน ดังนั้น เมื่อมีคนต้องการมากจึงควรจัดให้มีการประมูล เพื่อให้ได้มูลค่าที่แท้จริง และเป็นการดูดซับกำไรจากภาคเอกชนเข้าสู่ภาครัฐ
ขณะที่ ผู้ที่ไม่เห็นด้วยให้มีการประมูลเบอร์สวยให้เหตุผลว่า กสทช. ไม่ควรเป็นองค์กรที่มุ่งแสวงหารายได้ในเชิงธุรกิจ การจัดสรรเลขหมาย ควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด ขณะที่ปัจจุบัน ยังไม่มีประกาศของ กสทช. เรื่องการจัดสรรเลขหมายสวยมีผลทางปฏิบัติ ทำให้ต้องมีการออกประกาศใหม่ และต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 4 เดือนในการรับฟังความเห็นสาธารณะ ทำให้เบอร์สวยที่ถูกเก็บไว้ไม่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ เป็นอุปสรรคในการแข่งขันของเอกชน และการประมูลเป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อน กสทช. อาจถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการจัดการเงินในภายหลังได้
แม้ปัจจุบัน กฎหมายที่ให้อำนาจ กสทช. ในการจัดสรรเลขหมายสวยด้วยวิธีพิเศษหรือการประมูล จะมีผลบังคับใช้มากว่า 4 ปีแล้ว แต่พบว่า ในทางปฏิบัติ กสทช. ยังคงไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการ หรือจัดทำหลักเกณฑ์จัดสรรเบอร์สวย ให้ชัดเจนว่าจะจัดให้มีการประมูลจริงหรือไม่ เมื่อไหร่ และเป็นไปในลักษณะใด เพียงแต่มีการสงวนเบอร์สวย 1.64 ล้านเลขหมายไว้เท่านั้น