ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เทียบข้อมูล 2 ชุด กระทรวงพลังงาน – กรรมาธิการธรรมาภิบาล สัมปทานปิโตรเลียมไทย ใครเสียประโยชน์ ?

เทียบข้อมูล 2 ชุด กระทรวงพลังงาน – กรรมาธิการธรรมาภิบาล สัมปทานปิโตรเลียมไทย ใครเสียประโยชน์ ?

25 กรกฎาคม 2012


หลังจากเกิดข้อถกเถียงกันถึงจำนวนผลประโยชน์ปิโตรเลียมที่รัฐได้รับ จากการให้สัมปทานกับบริษัทเอกชนในการขุดเจาะพลังงานธรรมชาติใต้พื้นพิภพของเมืองไทย ว่า “เม็ดเงิน” ที่เข้าหลวงนั้นมีจำนวนที่ “ต่ำมาก” เมื่อเทียบกับผลประโยชน์ที่ประเทศเพื่อนบ้านเรือนเคียงได้รับจาการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม

จนล่าสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานสั่งชะลอการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ออกไปอย่างไม่มีกำหนด เพื่อใช้เวลาเดินสายทำความเข้าใจกับประชาชนในกรณีดังกล่าว

ทั้งนี้ ประเด็นการจัดเก็บผลประโยชน์ตอบแทนที่รัฐได้จากการสัมปทานเป็น “ปมปัญหา” ที่ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าแท้ที่จริงแล้วเป็นเช่นใด

แม้ว่าทุกครั้งในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและการเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ที่มี น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว. กทม. เป็นประธาน จะมีการหยิบยกขึ้นมาหารือทุกครั้ง

ทั้งนี้ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน แจกแจงรายละเอียดการจัดเก็บรายได้รัฐจากกิจการปิโตรเลียมย้อนหลัง 5 ปี ดังนี้

โดยการจัดทำรายได้ดังกล่าว ผู้แทนจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติยืนยันว่า รัฐได้รับผลประโยชน์จากการให้สัมปทานปิโตรเลียมที่ระหว่าง 55-65 % ขณะที่บริษัทผู้ได้รับสัมปทานได้ 35-45 % ตามตาราง

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลกล่าวไม่สอดคล้องกับข้อมูลในชุดของ กมธ. โดยมีอาจารย์ประสาท มีแต้ม นักวิชาการด้านพลังงาน ในฐานะอนุ กมธ. ได้ยืนยันว่าผลประโยชน์ที่รับได้รับอยู่ที่ 29 %

โดยอ้างอิงข้อมูลจากรายงานประจำปี 2553 ของกระทรวงพลังงาน ในการเก็บผลประโยชน์ปิโตรเลียมปี 2553

ดังนั้น หากคำนวนด้วยหลักคณิตศาสตร์จะพบว่า

ก. รายได้ที่รัฐบาลได้รับ คือ ภาษีปิโตรเลียม + ค่าภาคหลวง + ผลประโยชน์พิเศษ จะเท่ากับ 29 % ส่วนบริษัทได้รับ คือ กำไรสุทธิของบริษัท จะเท่ากับ 33.7 % หรือสัดส่วนการได้รับประโยชน์ รัฐ : บริษัท เท่ากับ 46 : 54

ข. กำไรสุทธิของบริษัทเทียบกับเงินลงทุน โดยนำกำไรสุทธิของบริษัท หารเงินลงทุนของบริษัท แล้วคูณด้วย 100 จะเท่ากับ 90.3 %

ค. รัฐได้รับจากมูลค่าปิโตรเลียมทั้งหมด 29 % ส่วนที่เหลือ 71 % เป็นของบริษัท

ทั้งนี้ น.ส.รสนาให้สัมภาษณ์ในกรณีดังกล่าวว่า การที่กรมเชื้อเพลิงธรรมาชาติอ้างอิงส่วนแบ่งผลประโยชน์ที่ไทยได้รับที่ 55-59 เปอร์เซ็นต์นั้นถือว่าเป็นข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง เพราะการคำนวณดังกล่าวเป็นการคำนวนที่หักต้นทุนซึ่งเป็นเงินลงทุนของบริษัทไปจำนวน 50 เปอร์เซ็นต์ ทั้งที่จริงๆ แล้วประเทศไทยก็มีต้นทุนคือทรัพยากรซึ่งเป็นพลังงานของชาติอยู่ด้วย ประเด็นนี้ไม่ต่างอะไรกับการที่รัฐไม่คิดมูลค่าทรัพยากรที่ประเทศไทยต้องเสียไป เสมือนกับทรัพยากรเป็นของฟรี หรือเป็นของที่บริษัทผู้ได้รับสัมปทานขุดขึ้นมา และเมื่อมาหักค่าใช้จ่ายซึ่งคิดกันอย่างเต็มที่แล้วที่เหลือเอามาแบ่งกัน ซึ่งผลประโยชน์ที่ประเทศได้รับอยู่ที่ 29 % ถือว่าอยู่ในกลุ่มประเทศที่ได้รับผลประโยชน์น้อยมากๆ เมื่อเทียบกับประเทศอื่น