ThaiPublica > คนในข่าว > “ครูใหญ่จรัส” แจก “สมุดพก ส.ส.” ฟ้องประชาชน ชี้ระบบอุปถัมภ์ยังสูง เปรียบไร้เสรีชนเหมือนดินที่มีพิษ ปลูกประชาธิปไตยไม่ขึ้น

“ครูใหญ่จรัส” แจก “สมุดพก ส.ส.” ฟ้องประชาชน ชี้ระบบอุปถัมภ์ยังสูง เปรียบไร้เสรีชนเหมือนดินที่มีพิษ ปลูกประชาธิปไตยไม่ขึ้น

30 กรกฎาคม 2012


ดร. จรัส สุวรรณมาลา  อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดร. จรัส สุวรรณมาลา อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“ยาของเราไปรักษาโรคนั้นไม่ได้โดยตรง แต่ถ้าไปตัดข้อต่อมันได้ข้อหนึ่ง ก็จะไปช่วยแก้ปัญหาได้ ผมจะทำให้นักการเมืองเปลี่ยน โดยที่ไม่ได้เปลี่ยนคนแต่เปลี่ยนพฤติกรรม เปลี่ยนคนทำให้คนดีไม่ได้ อาจจะเป็นคนเลว เป็นเจ้าพ่อ แต่เมื่อมารับหน้าที่เป็นนักการเมือง เขาต้องหยุดพฤติกรรมของเขาด้วยการคุมแบบนี้…ถ้าเราไม่คุมมันทำแน่”

การเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญทั่วไป ที่จะเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 1 สิงหาคมนี้ การ “ขับเคี่ยว” ทางการเมืองคงจะเกิดขึ้นอีกครั้ง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพิจารณากฎหมายสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ ที่ค้างอยู่ระเบียบวาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร รวมไปถึงการ “เดินหน้า” ผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ของพลพรรคในซีกฝั่งรัฐบาล

ยังไม่นับรวมการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคประชาธิปัตย์ ที่เตรียมพร้อมในการ “ลากไส้” รัฐมนตรีในรัฐบาลภายใต้การนำของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ออกมาแฉกลางสภา หลังจากที่บริหารบ้านเมืองมาครบ 1 ปี

ปัจจัยเหล่านี้ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเป็น “ชนวน” สำคัญที่จะทำให้เกิดความวุ่นวายในการประชุมสภาเหมือนในสมัยประชุมที่ผ่านมา ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึง “ภาพลักษณ์” ที่ตกต่ำของผู้ทรงเกียรติ

ในขณะที่บทบาทการทำหน้าที่ในการพิจารณากฎหมายนั้น “แอคชั่น” จากตัวแทนของประชาชนลดน้อยลง โดยได้ให้ความเห็นชอบกฎหมาย (ผ่านวาระที่ 3) ไปเพียง 7 ฉบับเท่านั้น

ในห้วงเวลานับถอยหลังสู่การ “เปิดเทอม” ของบรรดา ส.ส. สำนักข่าวออนไลน์ ไทยพับลิก้า ได้พูดคุยกับ “จรัส สุวรรณมาลา” อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะ “ครูใหญ่” หัวหน้าโครงการเครือข่ายข้อมูลการเมืองไทย (www.tpd.in.th) ที่เป็นผู้อาสาจัดทำ “สมุดพก ส.ส.” เพื่อเป็น “ช่องทาง” ให้ประชาชนได้ติดตามการทำงานของ ส.ส. และ ส.ว. ทุกคนที่ตัวเองเป็นผู้เลือกเข้าสภา ว่าได้ทำงานเต็มที่คุ้มกับเงินเดือนที่มาจากภาษีของประชาชนหรือไม่

ไทยพับลิก้า : ที่มาของสมุดพก ส.ส.

ที่จริงในตอนต้นเราตั้งใจที่จะทำฐานข้อมูลนักการเมืองเชิงลึกมากกว่า นอกจากประวัติแล้วยังทำข้อมูลเชิงพฤติกรรมลึกๆ ว่า ส.ส. ที่ทำงานมาในสภาให้ความสนใจในงานในหน้าที่แค่ไหน และทำงานในพื้นที่อย่างไรบ้าง ตั้งแต่การรักษาฐานเสียงไปจนถึงการทำมาหากิน เช่น ฮั้วงบประมาณกับกระทรวงต่างๆ งานที่เราทำเก็บข้อมูลโดยใช้อาสาสมัครในพื้นที่ที่จะช่วยรายงานมาให้ ข้อมูลเหล่านี้เราต้องการที่จะเอาไว้ใช้ในการแคมเปญ ตั้งแต่การเลือกตั้ง ไปจนถึงการตรวจสอบพฤติกรรม ส.ส.

ทำมาได้สักปีกว่าๆ มีการเลือกตั้งปี 2554 เราคิดว่าเราควรทดลองใช้ข้อมูลอย่างนี้ในการจัดแคมเปญทางการเมือง เพื่อให้ข้อมูลกับประชาชนว่าเลือกตั้งคราวหน้าอย่าเลือก ส.ส. ที่ไม่ได้ความมา ทีนี้เลยเป็นที่มาของสมุดพก เป็นไอเดียมาจากสมุดพกนักเรียน ถ้าผู้ปกครองส่งลูกไปโรงเรียนพอเข้าโรงเรียนปุ๊บ ก็ไม่รู้ว่าหนีเรียนหรือเปล่า หรือทำการบ้านหรือเปล่า คนที่จะคอยรายงานว่านักเรียนจะเรียนหนังสือหรือไม่เรียน ได้ผลดีแค่ไหนก็คือครู สมุดพกเป็นสื่อระหว่างครูกับนักเรียน ครูซึ่งดูแลนักเรียนที่โรงเรียนกับผู้ปกครอง เหมือนกับประชาชนที่เลือก ส.ส. มา พอเลือกเสร็จ ส.ส. จะเข้าสภาไปดูกฎหมาย หรือไปนั่งหลับ ไปทำอะไรอยู่ ชาวบ้านไม่มีทางรู้

ทีนี้ สภาควรทำสมุดพกนี้ให้ประชาชน แต่สภาไม่ได้ทำ และเราก็รู้ว่าที่สภาไม่ได้ทำสภาก็ถูกควบคุมโดย ส.ส. ซึ่ง ส.ส. ไม่อยากให้สภารายงานเรื่องชาวบ้านรู้หรอกว่าตัวเองทำงานไม่ได้ความในสภา นั่งหลับบ้าง เซ็นชื่อแล้วหายไปบ้าง ทำสภาล่มบ้าง เราก็เลยคิดว่าในฐานะที่เราเป็นองค์กรภาคประชาชน เราควรทำสมุดพกนี้ขึ้นมา ก็เอาข้อมูลสภานี่แหละมาทำเป็นสมุดพกแล้วก็บอกประชาชน

เล่มหนึ่งทำก็อปปี้ 300 ชุด ทำเป็นรายจังหวัด ทุกจังหวัด ผลก็คือว่าคิดว่า ส.ส. ที่ไม่เข้าประชุมเลย ขาดเกินครึ่ง คนไม่เลือกแน่ ตรงกันข้าม พวกที่ไม่ได้ความกลับถูกคัดเลือกเข้ามาหมดเลย แปลว่าคนไม่ได้ดูข้อมูล อาจจะไม่ได้เห็นสมุดพกเรา คิดว่าการทำเว็บไซต์คนในชนบทจะไม่ได้อ่าน คงไม่ได้ดูเว็บ เลยทำเป็นเล่ม

ไทยพับลิก้า : เกรดของ ส.ส. เป็นอย่างไรบ้าง

ในช่วงก่อนสภาปัจจุบัน ส่วนมากไม่ได้เรื่อง มีที่เข้าประชุมสภาเยอะนะ 80 กว่าเปอร์เซ็นต์ แต่ว่าพอไปดูแล้ว มีการเซ็นชื่อแต่การลงมติไม่ลง ไม่รู้หายไปไหน เซ็นชื่อแล้วหาย ในสภาก็ไม่ค่อยมีคน คนลงมติแค่ 30 เปอร์เซ็นต์นี่เยอะมาก เป็นอะไรที่บ่งบอกว่า ส.ส. ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติตามที่กฎหมายเขียนไว้ แต่ก็ยังได้รับการเลือกตั้งเข้ามา ประชาชนอาจจะไม่รู้ว่า ส.ส. เขาไม่มาทำงาน หรือว่าอาจจะรู้แต่ไม่สนใจว่าจะมาทำงานในสภาหรือไม่มา ก็ไม่เกี่ยว เลือกมาแล้วก็เท่านั้น

พอสภาใหม่เข้ามาเราก็เริ่มตาม การเมืองก็เปลี่ยนขั้ว รัฐบาลเป็นเพื่อไทย สภาก็จะเป็นสภาเพื่อไทย (พท.) ประชาธิปัตย์ (ปชป.) ก็จะเป็นฝ่ายค้าน ก็จะเห็นพฤติกรรมคล้ายๆ กัน ก็คือว่า ส.ส. ฝ่ายค้านก็จะเข้าประชุมสภาน้อยกว่า ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล ตอน ปชป. เป็นรัฐบาลก็จะเข้าประชุมสูงมาก น่าพอใจ เพื่อไทยเบี้ยวไม่เข้าประชุม ทำสภาล่มประจำ บางทีภูมิใจไทย (ภท.) ก็ผสมโรงทำสภาล่ม พอมาเป็นสภาปัจจุบัน ปชป. ก็ขาดประประชุมเยอะ เทียบสัดส่วนการขาดประชุมของ ปชป. จะต่ำกว่าตอนที่เพื่อไทยเป็นฝ่ายค้านนะ

ต้องมาวิเคราะห์ว่าทำไมฝ่ายค้านจึงไม่เข้าประชุม หรือเข้าประชุมแต่ไม่ลงมติ คืออยู่ในห้องประชุมแต่ไม่ลงมติ ไม่แสดงตัว เพราะเขาใช้เป็นแทคติก ในการคานอำนาจ พท. ก็ใช้วิธการเดียวกันนี้ ปชป. ก็ใช้วิธีการนี้ ถ้าเขาต้องการให้กฎหมายมันตก บางทีทั้ง ปชป. ทั้ง เพื่อไทย พร้อมใจกันทำองค์ประชุมไม่ครบกฎหมายก็ตกได้ เข้าใจว่ากฎหมายบางฉบับตกไปด้วยเหตุนั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่แย่มาก โดยหลักการประชาธิปไตยนี่ วิธีการที่ทำอยู่อย่างนี้มันไม่ถูกต้อง ส.ส. ในสภา 1. ต้องเข้าประชุม 2. ต้องลงมติ เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยเป็นอีกเรื่องหนึ่ง การไม่ทำหน้าที่เป็นปัญหาของสภา เพราะประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไร มีแต่ ส.ส. กับพรรคการเมืองที่ได้

ส่วนสถิติในการเข้าประชุมการลงมตินั้นพบว่ามันดีขึ้น ไม่รู้ว่าเพราะเรามอนิเตอร์หรือเปล่านะ อย่างน้อยการมอนิเตอร์การประชุมสภา ถึงแม้ประชาชนได้ข้อมูลแล้วจะไม่ช่วยในการตัดสินใจในการเลือกตั้ง แต่มีผลกับ ส.ส. ในสภา ส.ส. รับผิดชอบมากขึ้น เพราะ ส.ส. กังวลภาพพจน์ของตัวเองในสื่อ ของเรามีการจัดอันดับ ส.ส. ยอดแย่ประจำเดือน จัดทำสถิติการเข้าประชุม แต่ละครั้งก็จะมีการจัดอันดับว่าพรรคไหนเข้าประชุม พรรคไหนขาดประชุม พรรคไหนลงมติหรือไม่ลงมติ นับทั้งพรรค และเป็นคน ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ก็ต้องฝ้าดูว่าใครเป็น ส.ส. ที่ถูกจัดอันดับ ให้เป็น ส.ส. ที่ยอดแย่

ความจริงเราก็พยายามที่จะเช็คไปยังเจ้าตัวคนที่ขาดประชุมด้วย โดยการโทรศัพท์ไปถามว่าเกิดอะไรขึ้น เขาทำภารกิจของสภาข้างนอกไหม ถ้าอธิบายได้เราจะได้ขึ้นจอได้ว่าคนนี้สถิติการเข้าประชุมต่ำเพราะอะไร หรือไม่มีเหตุผล ถ้าลาเฉยๆ เราก็ขึ้น ส.ส. ยอดแย่เลย แม้เราไม่สามารถเปลี่ยน ส.ส. คุณภาพต่ำให้คุณภาพสูงขึ้นมาได้ด้วยวุฒิภาวะ แต่ด้วยความรับผิดชอบนี่ดีขึ้น

ไทยพับลิก้า : ถ้าให้ประเมินคุณภาพของ ส.ส. สัดส่วนที่ด้อยคุณภาพมีมากน้อยเพียงใด

ถ้าพูดถึงคุณภาพการเข้าประชุม การลงมติ ผมคิดว่าสวนใหญ่ ส.ส. ใช้ได้นะ คือรับผิดชอบในเรื่องการเข้าประชุม และการลงมติ 100 เปอร์เซ็นต์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ ส.ส. ที่ไม่เขาประชุมก็เปลี่ยนหน้าไป อย่างบางครั้งในบางตระกูลไม่เข้าประชุมทั้งพ่อทั้งลูกเลย แน่นอน พอตระกูลไหนโดนขึ้นจอก็จะเปลี่ยนพฤติกรรม ทำให้ดีขึ้น

ขณะเดียวกัน มี ส.ส. บางคนที่เข้าประชุมไม่ได้เพราะอยู่โรงพยาบาลเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว สิ่งนี้ก็ถือเป็นเรื่องหนึ่งของจริยธรรม คือว่า ถ้าเป็นหลักสากล เมืองนอกนี่นะ คนที่รู้ตัวว่าตัวเองป่วยเรื้อรังไม่ดีขึ้น ทำงานไม่ได้ 3 เดือน เขาลาออกนะ เพราะเขารู้ว่าทำให้การทำหน้าที่ ส.ส. ของเขาในจังหวัดนั้นเสียโอกาสที่จะมีตัวแทนในสภา เพื่อที่จะให้คนอื่นมาเป็น ส.ส. แทน แต่ของไทยนี่เราเจอมากเลยทีเดียว ที่ ส.ส. มีสุขภาพไม่ดี เป็น ส.ส. และป่วยตายในสภาเลยก็มี คือป่วยเรื้อรัง ไม่ทำงาน ทำงานไม่ได้เป็นหลายๆ เดือน เป็นปี อยู่โรงพยาบาล เราก็เจอเคส 2 เคส อาจจะตายในตำแหน่งก็มี

เราต้องสร้างวัฒนธรรม ประการแรก ถ้าคุณรู้ตัวว่าคุณไม่สบาย อย่าลงเลือกตั้ง ส.ส. ได้ไหม ให้รู้ว่าจะทำได้ไหม ที่เราจะต้องมีการตรวจสุขภาพหรือมีกฎหมายกำหนดว่าคนที่จะลงเลือกตั้ง ส.ส. ต้องสุขภาพดี ไม่เป็นโรคเจ็บป่วยเรื้อรังหรือทำงานไม่ได้ อายุมากจนทำงานไม่ได้แล้วยังเป็น ส.ส. ก็มี บางคนอัลไซเมอร์แล้ว พูดไม่รู้เรื่องแล้วก็ไม่น่าที่จะมาเป็น ส.ส. พรรคการเมืองที่คัดคนลงเลือกตั้งก็น่าจะมีกฎข้อนี้ ถ้าพรรคการเมืองยังปล่อยไปตามเวรตามกรรมแบบนี้นะ หรือ ส.ส. แต่ละคนยังอยากที่จะเป็น ส.ส. จนวันตาย ต่อไปก็ต้องมีการใช้ในเรื่องของข้อบัญญัติทางกฎหมาย กำหนดเรื่องการตรวจสุขภาพของ ส.ส. บางคน เป็น ส.ส. ขี้เมาอย่างนี้ คำถามคือ ส.ส. ที่ติดเหล้า ขี้เมา เป็นแอลกอฮอลิกควรจะเป็น ส.ส. ไหม นี่ไม่นับพวกไม่ติดเหล้าแต่ไปติดการพนันก็มีไหม

ไทยพับลิก้า : ภูมิหลังของ ส.ส. บางคนที่ไม่ใช่คนดี แต่ได้รับเลือกมาทำหน้าที่และใช้ตำแหน่งในการหาประโยชน์

อันนี้เรามีข้อมูล ทำข้อมูล ถอดรหัสนักการเมือง บอกภูมิหลังนักการเมือง วิธีการรักษาฐานเสียง ที่เขาเรียกว่า ส.ส. ซูเปอร์มาเก็ต แจกทั้งปี งานศพ งานแต่งงาน ไม่ต้องไปเอาจากไหน เอาจากบ้าน ส.ส. จนคนเขารู้กัน ส.ส. เจ้าของบ่อนการพนัน ส.ส. เงินกู้นอกระบบ รวมทั้งที่มีร้านค้าให้เชื่อนอกระบบ มีหลายแบบ ส.ส. ค้าของเถื่อน ส.ส. เกี่ยวข้องกับการหาผลประโยชน์จากงบประมาณของรัฐ พวกมีบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ส.ส. พวกนี้ชื่อคุณก็ว่าใคร ถ้าพูดถึงอีสานใต้ หมายถึงจังหวัดไหน

ในภาคเหนือก็มี ส.ส. ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ภาคใต้ ส.ส. ที่เกี่ยวข้องกับการค้าของเถื่อนน้ำมันเถื่อน ภาคลางก็มี ส.ส. ตะวันตกก็มี ส.ส. การพนัน เราเก็บข้อมูลพวกนี้ เสร็จแล้วเรามาทำสถิติ เรารู้ว่าเป็นใครแต่เอาชื่อขึ้นจอไม่ได้ ถูกฟ้อง เราเคยทำเป็นสถิติ ว่าเจ้าของบ่อน เจ้าของหวย ในภูมิภาคมีกี่เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่บอกว่าอยู่จังหวัดไหน เพราะบางจังวัดมี ส.ส. แค่คนเดียว แต่ในช่วงหลังเรายังไม่ได้ทำอีก ข้อมูลพวกนี้เรากะว่าทำให้คนไม่อยากเลือก ทำให้เขาอายว่า ส.ส. บ้านตัวเองเป็นพวกนี้ แต่ปรากฏว่าไม่ได้ผลเลย

พูดง่ายๆ คือ แทบจะปลุกกระแสประชาชนในระดับทั่วๆ ไปไม่ขึ้น ว่าเขาต้องลุกขึ้นมารับผิดชอบ ส.ส. ของเขา เหมือนผู้ปกครองที่ลูกเกเร ส่งเข้าโรงเรียนลูกแย่ตีกับเพื่อน พ่อแม่ก็เฉยๆ ไม่ได้ทำอะไรกับ ส.ส. ตัวเอง ไม่ประท้วงว่า “กูไม่เลือกมึง” แต่คนรุ่นใหม่จะมีพฤติกรรมที่ไม่เลือก ส.ส. หรือพรรคการเมืองที่ติดลบแบบนี้ ชาวบ้านทั่วๆ ไปไม่สนใจ บางทีก็รู้ แต่เขาก็เฉยๆ

ไทยพับลิก้า : ส่วนหนึ่งเป็นเพราะระบบอุปถัมภ์

ระบบอุปถัมภ์เขาแรงกว่าข้อมูลพวกนี้ เขาอุปถัมภ์คนได้ คนก็จะเลือกเขาโดยไม่ได้คำนึงว่าเงินที่เขาเอามาอุปถัมภ์จะมาจากไหน นี่คือข้อเท็จจริง เพราะระบบอุปถัมภ์เป็นเชื้อโรคที่แรงกว่าข้อมูลและความรู้ที่ให้เราให้ หรือการแคมเปญที่บอกให้เลือกคนดีไม่มีความหมายอะไรเลย

ผมจำนักวิชาการของอเมริกาเขาบอกว่า สังคมที่ไม่เป็นเสรีชน คุณปลูกประชาธิปไตยก็ปลูกไม่ขึ้น เหมือนดินที่มีพิษปลูกต้นไม้ก็ไม่ขึ้น เสรีชนก็คือสภาวะที่ประชาชนมีความเป็นเสรี ไม่ถูกควบคุมกำกับหรือขึ้นต่อคนอื่น เงื่อนไขพื้นฐานอย่างหนึ่งในความเป็นเสรีชนก็คือการไม่พึ่งพาทางเศรษฐกิจ การที่เขาสามารถทำมาหากินเลี้ยงตัวเองได้ จะเป็น ส.ส. นักการเมือง หรือ นายทุน อะไรก็ตาม ที่มีอิทธิพลกว่ารวยกว่า แต่เขาไม่จำเป็นที่จะต้องไปพึ่งพาคนพวกนั้น เขาพึ่งตัวเองได้ เขามีความสัมพันธ์ในเชิงการค้าขาย ถ้าไม่ค้ากับคนนี้เขาค้ากับคนอื่นได้ การผูกขาดทำให้คนต้องพึ่งพานี่ต้องไม่มีในสังคมเสรีชน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เคยตรัสอย่างนี้ตั้งแต่ปี 2517 หรือ 2518 ท่านพูดว่า ถ้าคนไทยยังยากจนยังพึ่งตัวเองไม่ได้ ยังต้องพึ่งพาคนอื่นอยู่ คนไทยยังไม่มีวันที่เป็นประชาธิปไตยได้ เราฟังก็เฉยๆ ไม่เห็นสำคัญอะไร ยังมีเลือกตั้งได้ แต่ผมเพิ่งมานั่งคิดมาค้นพบในตอนนี้ว่า จริงๆ แล้วอิทธิพลของการไม่เป็นเสรีชนสำคัญมาก คือเรามีเสรีชนทางกฎหมาย มีสิทธิเลือกตั้ง มีสิทธิจะพูด แต่จริงๆ แล้วพวกนั้นไม่มีความหมายอะไรเลย ถึงเวลาที่จะต้องตัดสินใจสำคัญๆ ทางการเมือง คนพวกนี้ต้องพึ่งพา

ไทยพับลิก้า : รูปแบบของการอุปถัมภ์ในแต่ละภูมิภาคต่างกันหรือไม่

ภาคอีสาน ภาคเหนือ ภาคใต้ นี่ชัดเลย ภาคใต้ครัวเรือนจะพึ่งพาตัวเอง มีรายได้พอที่จะพึ่งตัวเองได้ เขามีสวนยาง หรือไม่ก็รับจ้าง นายจ้างเขาก็คนในหมู่บ้าน ไม่ใช่นักการเมือง ข้าวปลาอาหารเขาก็ไม่ต้องลำบาก สังคมเป็นสังคมที่เท่าเทียมสูง อย่างในช่วงสมัยประชุม เขาเห็นในสภามีประชุมแต่นักการเมืองเดินที่บ้านนี่ ชาวบ้านจะถามเลยนะว่าไม่ไปประชุมหรือ ถ้าบอกว่ามางานศพ งานแต่งงาน ชาวบ้านโกธรนะ แต่เราจะเห็นคนเหนือคนอีสานเขาลำบาก มีความเสี่ยงในชีวิตสูง ทำนาทำไร่และล้มละลาย สภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย ดังนั้นสิ่งที่เขาต้องพึ่งก็คือแหล่งเงินและปัจจัยการผลิตทั้งหมด เขาเลยต้องเกิดการพึ่งพา การพึ่งพาเราจะเจอว่านักการเมืองท้องถิ่นเป็นนายทุนที่จะดูแลเรื่องพวกนี้ด้วย เพราะฉะนั้น โอกาสที่เขาจะมีชีวิตรอดหรือจะพอยังชีพไปได้ ต้องมีคนมาช่วย ถ้าใครใช้ตรงนี้เป็นโอกาสในการแสวงหาอำนาจทางการเมืองก็ไม่ยาก

จะเห็นได้ว่าอีสานมีพรรคการเมืองหลายพรรคเข้าไปครองเป็นช่วงๆ เช่น ประชาธิปัตย์เคยครองอีสาน และก็เปลี่ยนเป็นความหวังใหม่ มาเพื่อไทย อนาคตจะเป็นอะไรก็ไม่รู้ ปัญหาคือพรรคพวกนี้ไม่ได้เป็นพรรคที่ในพื้นที่ ไปซื้อ ส.ส. เอา โดยที่ ส.ส. พวกนี้เป็นคนในพื้นที่ เกื้อกูลประชาชนตลอดเวลา การอุปถัมภ์ก็มีหลายแบบ คนอุปถัมภ์แบบช่วยชาวบ้านก็มี คือนักกฎหมาย ทนายความ ยุคคุณแคล้ว นรปติ ยุคนักการเมืองเก่าๆ ที่ไม่ได้เอาเงินไปซื้อ แต่เอาความผูกพันในเชิงช่วยเหลือได้ พึ่งพาในเรื่องกฎหมายได้ ตอนหลังก็ไม่ใช่เรื่องทนายความแล้ว เป็นเรื่องของเงินทอง เพราะชาวบ้านไม่มีอะไรเหลือแล้ว

ไทยพับลิก้า : กับวลีที่ว่า ในปักษ์ใต้ ปชป. ส่งเสาไฟฟ้าลงก็ชนะ

จริงๆ แล้วไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสมอไป ที่ ปชป. ชนะไม่ใช่คนปักษ์ใต้เลือก ปชป. ทั้งหมดนะ คนปักษ์ใต้ไม่ชอบ ปชป. นะ แต่พรรคอื่นมันแย่กว่า คือในบรรดานักการเมืองที่ส่งๆ ไปพรรคอื่นไม่ได้ส่งคนดีไป เข้าใจว่าภาคใต้บางครั้งก็ส่งพรรคอื่นไปแซมได้ เช่น พรรคชาติไทย สมัยก่อน คุณนิกร จำนง ไปอยู่ชาติไทย ไปลง ส.ส. ก็ได้รับเลือกนะ ที่สงขลา เพราะคุณนิกรเป็นคนดี เป็นนักการเมืองที่ดีใช้ได้เลย

เมื่อไม่มีทางเลือก คนก็จะเลือก ปชป. แต่ถ้าคุณไปฟังเสียงคนปักษ์ใต้นะ ก็จะบ่น ปชป. ตลอดเวลาส่งใครมาไม่ได้ความ แต่ว่านักการเมือง ปชป. ดีขึ้นในช่วงหลัง เนื่องจากว่าพื้นที่อื่นมันไม่มีคนอยู่ เหลือเฉพาะที่ปักษ์ใต้ แต่คนใต้นี่ไปซื้อเสียงเขาไม่ได้ คุณจะแจกเงินเขาก็รับ แต่ไม่ได้ช่วยเท่าไหร่

ไทยพับลิก้า : เหนือกับอีสานต้องเป็นเพื่อไทยเท่านั้น

การซื้อเสียงไม่ได้แตกต่างนะ ส.ส. ของเพื่อไทยเป็น ส.ส. ที่อยู่ในพื้นที่ มีความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ที่แนบแน่นอยู่นาน คนแบบนี้ไปอยู่พรรคไหนก็มีโอกาสจะได้สูง แต่เขาก็อยู่เพื่อไทยเป็นธรรมดา เพราะ ปชป. เป็นศัตรูอยู่เยอะ

ไทยพับลิก้า : จะทำอย่างไรให้ข้อมูลที่อาจารย์ทำฉีดเขาไปในตัวคนได้

เรารู้ว่ายาเราใช้ทำอะไรได้ ยาของเราไปรักษาโรคนั้นไม่ได้โดยตรง แต่ถ้าไปตัดข้อต่อมันได้ข้อหนึ่งก็จะไปช่วยแก้ปัญหาได้ เราจะช่วยกันอย่างไร ผมจะทำให้นักการเมืองเปลี่ยน โดยที่ไม่ได้เปลี่ยนคนแต่เปลี่ยนพฤติกรรม เปลี่ยนคนทำให้คนดีไม่ได้ อาจจะเป็นคนเลว เป็นเจ้าพ่อ แต่เมื่อมารับหน้าที่เป็นนักการเมือง เขาต้องหยุดพฤติกรรมของเขาด้วยการคุมแบบนี้ มาคุมที่ปลายทางของมัน ทำข้อมูลแบบนี้อาจจะมีการตรวจสอบที่เข้มข้นมากขึ้น ถ้าเราไม่คุมมันทำแน่ ชาวบ้านคุม ส.ส. ไม่ได้ เราจะคุมได้ต้องอาศัยคนที่ไปสร้างเครือข่าย ส.ส. ในสภา ส.ส. ดีๆ ช่วยส่งข้อมูลตรงหน้าให้หน่อย

ตอนนี้เรากำลังทำเรื่องธุรกิจการเมือง ตอนนี้เก็บข้อมูลกันได้ตัวใหญ่ๆ มีหลายกระทรวงที่เราจับได้แล้ว มีกี่บริษัทที่มีการทำสัญญาซ้ำๆ แต่เราไม่รู้ว่ามันเชื่อมโยงผ่านคนไหน มีบริษัทต่างจังหวัดเยอะที่รับเหมาก่อสร้างข้ามพื้นที่ภูมิภาค และงบประมาณปีหนึ่งเป็นหมื่นล้าน และมีบริษัทใหญ่ๆ ในกรุงเทพฯ มีโครงการใหญ่ๆ เหมือนกัน แต่นับจำนวนเงิน มีนายทุนในพื้นที่อีกเยอะ เรากำลังชวนนักข่าวในภูมิภาคทำเวิร์กช็อปว่าเราเจอบริษัทนี้รับเหมาพื้นที่นี้ อยากรู้ว่าบริษัทนี้เกี่ยวข้องกับนักการเมืองไหม ของใคร

ไทยพับลิก้า : ถือเป็นยุคที่สภาตกต่ำมากที่สุด

เราจะเห็นพฤติกรรมเหล่านี้ มี 2 กฎหมายที่เข้าสภาพร้อมกัน พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ กับการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ พูดง่ายๆ ว่าถ้าสภาไม่เอากฎหมาย 2 ฉบับนี้เข้าไป เรื่องก็คงไม่เกิดขึ้น 2 เรื่องนี้เป็นเชื้อโรคตัวใหญ่จริงๆ แล้วก็ทันทีที่เข้าไปในร่างกาย มันมีระบบอนุมูลที่แน่นนอน ว่ามันต้องซัดกันแน่ คนต้องป่วยแน่ๆ ถ้ากฎหมายนี้เบรกตั้งแต่ฝ่ายบริหารก็ไม่มีปัญหา แต่ปัญหาคือคุณยิ่งลักษณ์ (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี) เล่นบทหนูไม่รู้ เวลากฎหมายพวกนี้เข้าสภานายกฯ ก็จะไม่อยู่

จริงๆ คุณยิ่งลักษณ์เป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่ไม่ยุ่งกับการเมืองมาแต่ไหนแต่ไร จะให้แกมาทำอะไร แกมาเป็นนายกฯ ไม่ใช่งานสนุก ไม่ใช่งานขายข้าวแกง มันเป็นงานที่คนต้องเตรียมตัวมาเป็น อย่างคุณอภิสิทธิ์ (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน) แกเตรียมตัวมาเป็น ถ้าคุณอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ ที่ดี ผมก็เฉยๆนะ เพราะควรจะดีอยู่แล้ว แกเก่งขนาดนั้น

ในสภามันเป็นการต่อสู้ที่ไม่คำนึงถึงความเสียหายที่จะตามมา รัฐบาลกะว่าจะใช้เสียงข้างมาก ดังนั้น กระบวนการเขาพยายามที่จะลากให้มีการโหวตเพราะเมื่อโหวตปุ๊บคือชนะปั๊บ เพราะเขาคุมเสียงข้างมากเด็ดขาดอยู่ ปัญหาคือว่า ปชป. จะรู้สึกว่าตัวเองถูกมัดมือชก ถูกข่มขืน การค้านไม่มีความหมาย ปชป. ก็เริ่มจะตีรวน จากการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 2 พิจารณาเป็นรายมาตรา เกือบทุกมาตราเลยเป็นไปตามที่กรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่เอาตามนั้น ยืนตามที่เพื่อไทยเขาปูพื้นมา ปชป. รู้ว่าตัวเองนี่โหวตทีไรก็แพ้ ตัวเองสู้ไม่ได้ค้านไม่ได้ และก็รู้ว่ากฎหมายฉบับนี้ถ้าพลาดไม่แสดงท่าทีค้านผิดกฎหมายนะ ปชป. ก็โดนด้วยนะ ถ้ามีคนฟ้องศาล ปชป. รู้ตัวว่าร่วมหัวจมท้ายด้วยไม่ได้

แต่ผมคิดว่าเขาเล่นเกินบท ค้านอย่างไรไม่ชนะก็เริ่มมีอาการนักเลง กูแพ้ในเกมกูก็ป่วนข้างนอก ซึ่งถ้า ปชป.จะเสียก็เสียภาพพจน์ เมื่อ รธน.จะเข้าวาระ 3 กฎหมายปรองดองก็เข้ามาเลย เป็นกฎหมายที่พร้อมจะระเบิด แรงกว่าอีก เพราะเป็นเรื่องของคุณทักษิณชัดๆ ไม่มีเหตุผลกว่าเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญเสียอีก รัฐบาลต้องเดินเกมว่าชนะได้ด้วยเสียงส่วนใหญ่ ข่มเหงเขาได้ ปชป. ก็มองว่าเป็นเผด็จการเสียงส่วนใหญ่ เขาก็ล้มกระดาน สภาก็หกลายเป็นสงครามการต่อสู้ระหว่างคนที่สู้ได้กับคนที่สู้ไม่ได้

ถ้าคุณดูมวยชกกัน 2 คนขึ้นไปชกบนเวทีตัวใหญ่ไม่มีทางแพ้ตัวเล็กอยู่แล้ว และมันใหญ่กว่ากันเยอะ เพราะฉะนั้นไอ้ตัวใหญ่ก็ไล่ทุบไปเรื่อยๆ ไอ้ตัวเล็กก็สู้ไม่ได้ เลยไปเอามีดมาแทง นึกออกไหม แต่คนก็ไปดูตอนท้ายว่าไอ้นี่มันฟาวล์นี่หว่า เอามีดมาไล่แทง แต่ตอนที่ตัวใหญ่ไล่ทุบเราก็ไม่ค่อยแฮปปี้ ไม่ถูกนี่หว่า ปล่อยให้มันชกอย่างนั้นได้อย่างไร มันไม่ใช่มวยคู่นะ เรื่องนี้ไม่ควรที่จะตัดสินให้มันชกกันระหว่างใหญ่กับเล็ก นี่เป็นอะไรที่เลวทั้งคู่ ไม่มีได้กำไร ปชป. ก็เสีย

เพราะฉะนั้นเรื่องมันมีที่มา ถ้าเป็นผมๆ เข้าใจได้นะ ถ้าเรานึกไปถึงยุคสมัยฮิตเลอร์สมัยสภาเยอรมัน ใช้วิธีตั้งหลายอย่างเพื่อที่จะเอาชนะได้ ขอยกเว้นไม่ใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา และทำหลายอย่าง ใช้เสียงส่วนใหญ่บังคับเอา เสียงส่วนน้อยก็ทำอะไรไม่ได้ โวยวายเหมือนกัน แต่ก็แพ้ แล้วก็จากที่เบรกไม่อยู่ ทำให้ฮิตเลอร์กลายเป็นเผด็จการ ประวัติศาสตร์แบบนี้เกิดขึ้นหลายๆ เคส

ไทยพับลิก้า : วิบากกรรมอะไรบ้างที่จะเกิดขึ้นในทันทีที่เปิดสภา

เชื่อว่าสภาจะเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราขึ้นมา ที่ป่วนอาจะไม่มี เสื้อแดงอาจจะโวยวายนิดหน่อย เขาอาจจะเริ่มตะหนักว่าตัวเองรุกมากแบบนั้นไม่ได้ และพอไปถึงมาตราที่ดุๆ หน่อย ทะเลาะกันแน่ แต่คงจะมีการดีเบตกัน การเมืองมันก็อย่างนี้ เราไม่ต้องกังวลล่วงหน้า มันต้องมีแน่ๆ

อีกอย่าง นายกฯ ทำงานมานานแล้วก็น่าจะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจได้แล้ว การไว้วางใจก็เป็นแค่เกม เปิดเวทีให้คนมาด่า ไม่มีผลหรอก ผมคิดว่าลูกค้าของ ปชป. ไม่ใช่ประเภทที่สร้างความวุ่นวายได้ เป็นลูกค้าแบบชนชั้นกลาง พวกนี้อย่างดีก็คือเกลียด ไม่ชอบ แต่ถ้าจะบอกว่าคุณมาประท้วงกับผมไหม ไม่เอา ถ้าจะมีผลทำให้รัฐบาลมีความชอบธรรมที่จะปรับ ครม. อยากปรับอยู่แล้ว ให้ฝ่ายค้านช่วยพูดหน่อย จะได้ทำให้การปรับดูดีขึ้น แต่คนที่ ปชป. อภิปรายไม่ใช่คนที่เขาจะปรับหรอก

คิดว่าในช่วงนั้นเหตุการณ์ต่างๆ มันน่าจะราบรื่นนะ จะมีปัญหาเรื่องกฎหมายปรองดองถ้ารัฐบาลยังตั้งใจที่จะเสนออยู่ แต่ผมเดาว่าคงจะไม่มีการพิจารณาในช่วงสั้นๆ นี้ เขาคงจะไม่ดื้อ ถ้ารัฐบาลฉลาดนะ ช่วยเวลานี้น่าจะปรับ พ.ร.บ. ปรองดองให้ราบรื่นขึ้น ให้มีการแยกแยะมากขึ้น เช่น ส่วนที่ไม่ดี ยกเลิกคดี คดีแบบไหนที่จะสามารถยกเลิกได้ คดีที่เป็นตัวการในขั้นผู้นำจะรับได้แค่ไหน รับได้ก็โอเค รับไม่ได้ก็ว่ากันไป แต่คดีของคุณทักษิณที่พิพากษาเสร็จแล้วก็คงยาก

ไทยพับลิก้า : อะไรเป็นเครื่องสะท้อนผลการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 ที่ พท. ชนะการเลือกตั้ง

ที่สำคัญคือกระแส พท. มันมีกระแสตลอดเวลา พท. เป็นพรรคการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย สร้างภาพขึ้นมาว่าเป็นพรรครากหญ้า คนจน เราจะเห็นว่านโยบายของคุณทักษิณ (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี) ได้ผลนะ ไปทำเรื่องกองทุนหมู่บ้าน ระบบ 30 บาทรักษาทุกโรค มีผลกระทบกับสังคม ทำให้สังคมมีความปลอดภัยสูงขึ้น เป็นจุดขายที่เกาะติดเลย

ถ้ามองในแง่ของการพัฒนาทางการเมืองนะ เป็นการพัฒนาทางการเมืองที่ดี ก็คือว่าคนเริ่มเอานโยบายไปขายกัน จริงๆ แล้ว ปชป. ก็ใช้นโยบายคล้ายๆ กัน เช่น ในช่วงตอนเลือกตั้งปี 2554 มหาวิทยาลัยขอนแก่นทำวิจัยด้วยการถามให้ว่าจะเลือกพรรคการเมืองใด ปรากฏว่า 70 เปอร์เซ็นต์เลือก พท. เพราะชื่อของพรรคติดแล้ว แต่พอถามว่าคุณจะเลือกนโยบายไหนต่อไปนี้ เขาก็ลิสต์นโยบายมา ที่คนเลือกประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์เป็นนโยบายของ ปชป. แต่เขาไม่รู้ว่าเป็นของ ปชป. จริงๆ แล้ว นโยบาย ปชป. หลายเรื่องทำแล้วคนชอบ

ไทยพับลิก้า : แสดงว่าแบรนด์สำคัญกว่าตัวโปรดักส์

ตอนนี้สังคมกำลังติดภาพของแบรนด์ดิ้ง สังคมจะฉาบฉวยมากขึ้น ข้อมูลในเชิงลึกแบบนี้กลายเป็นว่ามีผลน้อย

ไทยพับลิก้า : แบรนด์ทักษิณจะใช้ได้อีกกี่ปี

ผมว่าไม่ได้มากกว่านี้แล้ว ประชานิยมสูงกว่านี้คงทำไม่ได้แล้ว เพราะว่าประเทศชาติเจ๊งแล้ว ผมว่าแบรนด์ทักษิณยังขายได้ไปอีกสักพัก ยังไม่น่าจะหยุด เว้นแต่ว่าข้อมูลของคุณทักษิณจะเปิดออกมามากขึ้น และการต่อสู้ที่แหลมคมมากขึ้นทำให้คนรู้สึกว่าต้นทุนมันสูงเกินคนอาจจะไม่เอา

ไทยพับลิก้า : อะไรเป็นจุดเสี่ยงของ พ.ต.ท.ทักษิณที่จะถูกใช้ในการต่อสู้

อย่างการนิรโทษกรรม มีการคืนทรัพย์สินก็จะเห็นทันทีเลย จะกลายเป็นปัญหา เฮ้ย ทำไม คำโฆษณาที่บอกว่ามันไม่เป็นธรรมทักษิณถูกแกล้ง แต่ถ้าเกิดเอาเฉพาะข้อมูลด้านบวก เช่น นโยบายดีๆ ปี 2544 อันนี้ก็ขายได้แน่

ส่องเบื้องหลังนักการเมือง

จากข้อมูลในเว็บไซต์เครือข่ายข้อมูลการเมืองไทย ที่มี 2 นักวิชาการ อย่าง “จรัส สุวรรณมาลา” อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ “อรรถสิทธิ์ พานแก้ว” อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกันปลุกปั้นเว็บไซต์ www.tpd.in.th เพื่อตรวจสอบการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา

ที่น่าสนใจคือนอกจากการแจกสมุดพกให้กับบรรดา ส.ส. และ ส.ว. แล้ว ยังมีการสำรวจข้อมูลเชิงลึกถึงภูมิหลังนักการเมืองไทยว่าแต่ละคนมี “ที่มา” อย่างไร

เพราะในบางครั้ง “ที่มา” จะเป็นตัวบ่งบอกของ “คุณภาพ” และ “พฤติกรรม”ของนักการเมืองได้

จากผลสำรวจของเครือข่ายข้อมูลการเมืองไทย พบว่า ส.ส. จำนวน 35.29 % หรือประมาณ 176 คนจากจำนวน ส.ส. ทั้งหมดที่มีอยู่ 500 คนเป็นคนที่อยู่ในตระกูลพ่อค้าคหบดีในจังหวัด

รองลงมาเป็นพวกที่อยู่ในตระกูลการเมือง ที่มีพ่อแม่หรือปู่ย่าตายายอยู่ในแวดวงการเมืองทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น จำนวน 22.06 % หรือประมาณ 110 คน

ที่น่าตกใจคือ สัดส่วนของบุคคลที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานก่อนมาเป็น ส.ส. มีเพียง 14.29 % หรือ 71 คนจาก 500 คนเท่านั้น!!!

ขณะที่ “ช่องทาง” ในการเข้าสู่การเมืองนั้น พบว่ากว่า 45 % หรือ 225 คน ได้รับการชักชวนจากพรรคการเมืองเพราะเคยรู้จัก มีสายสัมพันธ์กับคนในพรรคการเมือง หรือแม้กระทั่งการเคยเป็นคน “หิ้วกระเป๋า” ตามนักการเมืองมากก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากเกิดการยุบพรรคการเมืองและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค ซึ่งทำให้สัดส่วนคน “หิ้วกระเป๋า” ได้รับอานิสงจากเหตุการณ์ดังกล่าวจำนวนไม่น้อย

ส.ส. 21 % หรือ 105 คน เป็น ส.ส. เพราะได้รับมรดกจากคนใน “ตระกูล” ส.ส. ร้อยละ 8 หรือ 40 คน เป็น ส.ส. แถว 2 และ แถว 3 ที่เข้ามาทดแทนบ้านเลขที่ 111 หรือ 109 ซึ่งถูกใบแดง
และมี ส.ส. เพียง 3 % หรือ 15 คนเท่านั้นที่เข้ามาด้วยจิตอาสา

สำหรับพฤติกรรมการหาเสียงและรักษาฐานเสียงนั้น พบว่า ส.ส. ส่วนใหญ่ หรือ 86.21 % เป็น ส.ส. อิงพวก ที่ใช้ฐานคะแนนเสียงเดียวกันทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ รองลงมาคือ ส.ส. พึ่งหัวคะแนน ฐานเสียงในการจัดตั้ง ภายใต้ระบบอุปถัมภ์

นอกจากนี้ยังมี ส.ส. ที่ใช้ความพึ่งพาอาศัยของประชาชนในเขตพื้นที่ด้วยการ “แจก” เป็นหลัก โดยจะมี 2 ส่วน คือ “ส.ส.งานวัด-งานบุญ” จำนวน 81.15 % ซึ่งสามารถพบเห็น ส.ส. กลุ่มนี้ได้ตามงานดังกล่าว แต่อาจจะไม่เห็นในการปฏิบัติหน้าที่ในสภา ขณะที่ “ส.ส.ซูเปอร์มาเก็ต” ซึ่งมีจำนวน 57.38 % ที่จะเน้นการใช้วิธีแจกข้าวของ อาทิ น้ำดื่ม น้ำแข็ง เต็นท์ เพื่อให้ได้มาซึ่งคะแนนเสียงในพื้นที่

ดังนั้น ส.ส. ชุดต่อไปจะมี “คุณภาพ” อย่างไร “คุณ” เป็นผู้กำหนด!!!