ThaiPublica > เกาะกระแส > เมื่อ “จอดำ” ไม่ใช่แค่เรื่องธุรกิจ แต่เป็นสิทธิและการแข่งขันที่เป็นธรรม

เมื่อ “จอดำ” ไม่ใช่แค่เรื่องธุรกิจ แต่เป็นสิทธิและการแข่งขันที่เป็นธรรม

15 มิถุนายน 2012


งานเสวนาเรื่อง “ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค: กรณีจอดำ ฟุตบอลยูโร 2012” - ภาพจาก voicetv
งานเสวนาเรื่อง “ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค: กรณีจอดำ ฟุตบอลยูโร 2012” - ภาพจาก voicetv

ประเด็นเรื่องไม่สามารถชมการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2012 ในช่องฟรีทีวี ผ่านช่องทางอื่นนอกเหนือจากช่องทางของแกรมมี่ หรือปัญหา “จอดำ” เริ่มส่อเค้าเป็นปัญหาระดับชาติแล้ว รัฐบาลไทยได้ทำจดหมายไปถึงยูฟ่า เพื่อขอเปิดเผยสัญญาการเจรจาระหว่างยูฟ่าและแกรมมี่ และขอให้ยูฟ่าพิจารณาให้ผู้บริการรายอื่นนอกจากแกรมมี่ สามารถถ่ายทอดการแข่งขันได้ในช่องฟรีทีวี ผ่านระบบการให้บริการของผู้บริการรายอื่นๆ

ล่าสุด วันที่ 14 มิถุนายน 2555 ในงานเสวนา “ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค: กรณีจอดำ ฟุตบอลยูโร 2012” ที่จัดโดย กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมกับคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ได้มีนำประเด็นเรื่อง “จอดำ” มาถกเถียงกันอีกครั้ง โดยมีการหยิบยกประเด็นเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภค และการกีดกันทางการค้า มาพูดในวงเสวนา

ดร.นิพนธ์ นาคสมภพ นายกสมาคมโทรทัศน์ดาวเทียม (ประเทศไทย) ได้กล่าวในวงเสวนาว่า ตนคิดว่าปัญหาเรื่องทีวีจอดำ เป็นปัญหาที่มีปัจจัยทางด้านเทคโนโลยีและเศรษฐกิจมาเกี่ยวข้อง แต่เราพยายามเอาเรื่องของการเมืองมาแก้ไข ซึ่งตนคิดว่าการทำแบบนี้จะไม่ทำให้ปัญหาจบ

ที่ผ่านมา ในเรื่องของการควบคุมฟรีทีวี มีกฎหมายของ กสทช. ที่ประกาศมาแล้วคือ พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 แต่ไม่เคยถูกนำมาใช้ ซึ่งคิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะนำกฎหมายเหล่านี้มาใช้ โดยข้อกฎหมายฉบับนี้ที่ตนคิดว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรงคือ มาตราที่ 32 ซึ่งบอกว่า

“การกระทำอันเป็นการผูกขาด ลด หรือจำกัดการแข่งขันในการประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ ให้หมายความรวมถึงการถือครองธุรกิจในกิจการที่เกี่ยวเนื่องกันหรือการใช้ วัสดุหรืออุปกรณ์ที่ติดตั้งเป็นพิเศษเพื่อรับสัญญาณเสียงหรือภาพในลักษณะที่กีดกันการแข่งขันอย่างเป็นธรรม”

ดร.นิพนธ์กล่าวว่า หากตีความตามนี้ก็จะพบว่า ช่อง 3,5,7 และ 9 ที่เป็นฟรีทีวี มีหน้าที่ในการเป็นสื่อสารมวลชน ซึ่งการเป็นสื่อสารมวลชนหมายถึง การส่งสารไปถึงมวลชนทั้งหมดโดยไม่มีขีดจำกัด เพราะฉะนั้น ช่องฟรีทีวี เมื่อรับถ่ายทอดเรื่องอะไรมาก็ตาม จะต้องไม่มีขีดจำกัดในด้านเทคโนโลยีมาป้องกันไม่ให้คนเข้าถึงสารเหล่านั้น ในอดีต คนส่วนใหญ่ใช้เสาสัญญาณแบบหนวดกุ้งในการรับชม แต่ปัจจุบัน จานดาวเทียมมีราคาถูกกว่าหนวดกุ้งและก้างปลา ทำไมจึงต้องไปบังคับให้คนซื้อมาใช้

ส่วนประเด็นในเรื่องถ้านำสัญญาณขึ้นดาวเทียมแล้วนำมาออกอากาศ จะเป็นการออกอากาศซ้ำ (Re-broadcasting) ดร.นิพนธ์เห็นว่า เรื่องนี้ไม่ใช่การออกอากาศซ้ำ จากประสบการณ์ที่เคยทำงานอยู่กับองค์การโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท.) การออกอากาศซ้ำในการให้นิยามของ ทรท. หมายถึง การออกอากาศหลังจากถ่ายทอดสดไปแล้ว 24 ชั่วโมง

“คนมักจะชอบอ้างว่าเรื่องทำนองนี้เป็นเรื่องที่เกิดมาหลายสิบปีแล้ว แต่ตอนนี้จะอ้างแบบนี้ไม่ได้ เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีระเบียบมากำกับดูแล แต่วันนี้เรามีกฎหมายที่มากำกับดูแลเรื่องนี้แล้ว จึงควรถึงเวลาต้องหยิบมาใช้ ไม่ใช่ไปโทษว่าเป็นปัญหาทางเทคโนโลยีหรือธุรกิจ แล้วมาจับคนดูเป็นตัวประกัน” ดร.นิพนธ์กล่าว

ด้าน นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์เพื่อผู้บริโภค ได้พูดถึงการออกมาเคลื่อนไหวของเครือข่ายผู้บริโภคในครั้งนี้ เนื่องจากสิทธิของผู้บริโภคกำลังถูกละเมิดโดยฝ่ายธุรกิจ โดยฟรีทีวีที่เป็นผู้ได้รับสัมปทาน ควรดำเนินการให้ประชาชนสามารถเข้าถึงฟรีทีวีได้ แต่ที่ผ่านมา ฟรีทีวีกลับละเลย ไม่ทำหน้าที่ของตัวเอง คือ การทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสัญญาณที่ชัดและมีคุณภาพได้ ปัจจุบันผู้บริโภคจึงต้องดิ้นรนเสียเงินไปซื้อจานดาวเทียมมาใช้

“แต่วันนี้กลายเป็นว่า คนที่ไปซื้อจานดาวเทียมกลับมีความผิด จึงดูการถ่ายทอดไม่ได้ จึงมีคำถามว่าเราทุกคนมีสิทธิหรือไม่ที่จะได้ดูฟรีทีวี และเรื่องนี้ผิดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ที่บอกว่าประชาชนสามารถเข้าถึงคลื่นความถี่ แต่คลื่นความถี่ที่ถ่ายทอดฟุตบอลครั้งนี้กลับดูไม่ได้ สิ่งที่สำคัญคือทำอย่างไรให้ผู้บริโภคได้สิทธิในการดูตามที่เขาสมควรได้ โดยคนที่ได้สัมปทานต้องจัดการให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิ มีทีวีที่ชัด โดยไม่ต้องซื้อจานดาวเทียม เรื่องนี้ไม่ใช่การสงเคราะห์ผู้ยากไร้ เป็นสิทธิตามปกติที่ทุกคนมี แต่มาถูกกีดกัน กสทช. ที่มีหน้าที่ดูแลต้องจัดการเรื่องนี้ให้ได้” นางสาวบุญยืนกล่าว

ขณะที่ นายเดียว วรตั้งตระกูล กรรการผู้จัดการสายงาน Platform Strategy บริษัท จีเอ็มเอ็ม แซท จำกัด กล่าวว่า สิทธิที่แกรมมี่ได้รับมา เป็นสิทธิแบบ all rights ที่ทุกช่องทางยูฟ่าได้นิยามความหมายไว้อย่างชัดเจน ในมุมสากล ที่บ้านเราต้องเรียนรู้ว่าจะสอดคล้องกับความหมายในบ้านเราหรือไม่ นิยามช่องฟรีทีวีที่ยูฟ่ากำหนดไว้เป็นสิทธิการรับชมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ส่วนการรับชมเคเบิล แซทเทิลไลท์ จะเป็นคนละสิทธิกัน ซึ่งการที่แกรมมี่จะได้สิทธิมา ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมหาศาลกว่า 400 ล้านบาท

“ดังนั้นแกรมมี่จึงบริหารจัดการ โดยการหาพาร์ทเนอร์มาตามสิทธิที่ยูฟ่ากำหนดไว้ โดยมีการแบ่งรายได้ และมีการหาโฆษณาผ่านทางฟรีทีวี เช่น ช่อง 3, 5 และ 9 ในช่องทางการส่งสัญญาณภาคพื้นดินตามปกติ แต่การออกอากาศในระบบแซทเทิลไลท์ที่สัญญาณอาจแพร่ไปถึงประเทศอื่น จะทำให้มีปัญหากับยูฟ่าที่อนุญาติให้ถ่ายทอดเฉพาะในประเทศไทย การรับชมช่องฟรีทีวีผ่านระบบแซทเทิลไลท์จึงต้องมีการให้เข้ารหัสสัญญาณ” นายเดียวกล่าว

ในการเสวานา มีการถกเถียงกันถึงประเด็นที่ยูฟ่าอนุญาติให้ถ่ายทอดเฉพาะในประเทศไทย โดยยังคงพบว่า มีประเทศเพื่อนบ้านในบริเวณที่ใกล้เคียงกับแนวชายแดนมีการซื้อกล่องของแกรมมี่ไปติด สามารถรับชมการถ่ายทอดได้ ทั้งที่อยู่นอกประเทศไทย มีการตั้งคำถามว่า ประเด็นนี้ไม่ได้เป็นเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ของยูฟ่า แต่เป็นปัญหาผลประโยชน์ขัดกันระหว่างแกรมมี่กับทรูใช่หรือไม่

ทางฝ่ายแกรมมี่ได้ให้คำตอบว่า กล่อง GMMZ และกล่อง GMMZ by Dtv ก็ไม่สามารถดูช่อง 3 ได้เหมือนกันในขณะที่มีการแข่งขัน แต่ทางแกรมมี่จะมีช่องสัญญาณพิเศษที่ถ่ายทอดการแข่งขัน ให้ช่องทางของแกรมมี่สามารถดูได้ และเรื่องการล้ำพรมแดนในประเทศเพื่อนบ้าน เป็นเรื่องปกติที่ทางยูฟ่าสามารถยอมรับได้ แต่หากสัญญาณหลุดไป 22 ประเทศ หรือทั่วโลก เรื่องนั้นไม่สามารถยอมรับได้