ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > คัดเลือกประธานบอร์ดธปท. : จุดเปลี่ยน (เสี่ยง) แบงก์ชาติ (2)

คัดเลือกประธานบอร์ดธปท. : จุดเปลี่ยน (เสี่ยง) แบงก์ชาติ (2)

8 พฤษภาคม 2012


ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ที่มาภาพ : http://news.mcot.net
ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ที่มาภาพ : http://news.mcot.net

ศึกชิง “ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ” ระหว่าง “หม่อมเต่า” กับ “ดร.โกร่ง” หากพิจารณาตามเนื้อผ้าไม่ว่าจะเป็นวัยวุฒิ คุณวุฒิ และประสบการณ์ความรู้ความสามารถ ถือว่า เหมาะสมทั้งคู่ แต่มีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นที่จะได้รับคัดเลือก

โดยหากมองในมุมคนแบงก์ชาติหรือคนคุ้นเคยแบงก์ชาติ ก็อาจเชียร์ให้คะแนนหม่อมเต่ามีภาษีดีกว่าตรงที่เป็นอดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติ และเคยเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติมาแล้วหนึ่งวาระ (ครบวาระแรก 3 ปี เมื่อ 1 เมษายน 2555 ) ซึ่งทำหน้าที่ได้ดีมาโดยตลอด และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์

ตามกฎหมายธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 กำหนดว่า ผู้ดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติสามารถเป็นได้ไม่เกิน 2 วาระ “หม่อมเต่า” จึงมีสิทธิต่อได้อีกวาระหนึ่ง หากได้รับการคัดเลือกกลับเข้ามา และด้วยความเหมาะสมทั้งปวง ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการแบงก์ชาติ จึงเสนอชื่อหม่อมเต่าให้คณะกรรมการคัดเลือกประธานบอร์ดแบงก์ชาติพิจารณา แข่งกับคนของกระทรวงการคลังที่เสนอชื่อ “ดร.โกร่ง”

แต่ความหวังที่หม่อมเต่าจะได้รับคัดเลือกให้กลับเข้ามาเป็นวาระที่สองมีโอกาสน้อยมากเมื่อเทียบกับ ดร.โกร่งที่กระแสมาแรง ว่ากันว่า “นอนมา” เลยทีเดียว และอาจมีภาษีเหนือกว่าหม่อมเต่าในฐานะ “กุนซือ” เศรษฐกิจของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มิหนำซ้ำยังเข้าขากับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคลัง “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” เป็นอย่างดี

การคัดเลือกประธานบอร์ดแบงก์ชาติและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการแบงก์ชาติ เริ่มขึ้นครั้งแรกหลังจากกฎหมายธนาคารแห่งประเทศไทยฉบับปรับปรุงใหม่ พ.ศ. 2551 มีผลบังคับใช้เมื่อ 11 สิงหาคม 2551 หรือเริ่มในสมัย นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นรัฐมนตรีคลัง ภายใต้รัฐบาลที่มี “นายสมัคร สุนทรเวช” เป็นนายกรัฐมนตรี

คณะกรรมการคัดเลือกในสมัย นพ.สุรพงษ์ ได้คัดเลือกนายพรชัย นุชสุวรรณ อดีตผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ และเสนอตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย นายชัยเกษม นิติสิริ, พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ, นายวุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์, ดร.คณิศ แสงสุพรรณ และนายจรุง หนูขวัญ

แหล่งข่าวระดับสูงแบงก์ชาติเล่าให้ฟังว่า รายชื่อกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 6 คนนั้นมี “นายจรุง หนูขวัญ” เพียงคนเดียวที่ผู้ว่าการแบงก์ชาติเสนอชื่อไป แต่ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นเพราะชื่อนายจรุงตรงกับชื่อที่ปลัดกระทรวงการคลังเสนอเหมือนกัน จึงทำให้นายจรุงได้รับคัดเลือกเข้ามาเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

“มีการตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าชื่อนายจรุงไม่ตรงกับชื่อที่ปลัดกระทรวงการคลังเสนอมา ก็อาจไม่มีรายชื่อกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ผู้ว่าแบงก์ชาติเสนอไปเลยก็ได้” แหล่งข่าวระดับสูงแบงก์ชาติกล่าว

ทั้งนี้ กฎหมายธนาคารแห่งประเทศไทยฉบับปรุงปรุงใหม่ พ.ศ. 2551 มาตรา 28/5 ระบุว่า ให้ผู้ว่าการแบงก์ชาติและปลัดกระทรวงการคลังพิจารณาเสนอรายชื่อสำหรับการดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการ ธปท. ต่อคณะกรรมการคัดเลือก เพื่อแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ธปท. โดยให้ผู้ว่าการเสนอเป็นจำนวนไม่เกินสองเท่า และปลัดกระทรวงการคลังเสนอเป็นจำนวนไม่เกินหนึ่งเท่าของจำนวนกรรมการที่จะได้รับแต่งตั้ง

ในครั้งแรก คณะกรรมการที่จะได้รับแต่งตั้งมีทั้งหมด 6 คน ดังนั้น ผู้ว่าการแบงก์ชาติมีสิทธิ์เสนอชื่อได้ไม่เกิน 12 ชื่อ และปลัดกระทรวงการคลังเสนอชื่อได้ 6 ชื่อ แต่ผลการคัดเลือกที่ออกมาปรากฏว่า ผู้ที่ได้รับคัดเลือกแทบไม่มีรายชื่อคนที่แบงก์ชาติเสนอ ส่วนที่ได้มาก็เพราะเสนอชื่อตรงกัน

อย่างไรก็ดี การแต่งตั้งประธานบอร์ดแบงก์ชาติและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิชุดดังกล่าวมีอันต้องยกเลิกไป เพราะมาจากคณะกรรมการคัดเลือกที่มีคุณสมบัติไม่เหมาะสม และบางคนมีคุณสมบัติขัดต่อกฎหมายธนาคารแห่งประเทศไทย มาตรา 28/1 ที่กำหนดว่า

“กรรมการคัดเลือกจะต้องไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือมีส่วนได้เสียที่ขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติในขณะที่ได้รับการแต่งตั้ง และในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่”

ทั้งนี้ คณะกรรมการคัดเลือกชุดที่มีปัญหาประกอบด้วย นายวิจิตร สุพินิจ เป็นประธาน และกรรมการอีก 6 คน ได้แก่ ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์, นายนิพัทธ พุกกะณะสุต, นายสมใจนึก เองตระกูล, ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์, นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ และนายมนู เลียวไพโรจน์

ปรากฏว่า คนที่เข้าข่ายขาดคุณสมบัติเพราะเป็นกรรมการธนาคารพาณิชย์ในขณะนั้นคือ นายวิจิตร (ประธานคณะกรรมการตรวจสอบธนาคารทหารไทย) ดร.สถิตย์ (ประธานคณะกรรมการธนาคารทหารไทย) และ ดร.ชัยวัฒน์ (ประธานคณะกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย)

นอกจากคณะกรรมการคัดเลือกจะมีคุณสมบัติไม่เหมาะสมแล้ว นายพรชัยซึ่งถูกคัดเลือกให้เป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติก็มีมลทินถูกดำเนินคดีหวยบนดิน

อย่างไรก็ตาม นพ.สุรพงษ์ รัฐมนตรีคลังในสมัยรัฐบาลนายสมัคร ได้ดำเนินการทูลเกล้าฯ ถวายชื่อผู้ดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติเพื่อโปรดกล้าฯ แต่งตั้ง แต่เรื่องผ่านไปเกือบ 3 เดือนก็ยังไม่ทรงโปรดเกล้าฯ ลงมา จนเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีเป็น “นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์” และ “ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช” เป็นรัฐมนตรีกระทรวงคลัง จึงมีการขอถอนเรื่องจากสำนักราชเลขาธิการคืนมา และนายสุชาติได้แต่งตั้งกรรมการคัดเลือกชุดใหม่ โดยมี ดร.พนัส สิมะเสถียร อดีตปลัดกระทรวงคลัง เป็นประธานคณะกรรมการคัดเลือก

จากนั้นไม่นาน มีการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง พรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาล “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” เป็นนายกรัฐมนตรี และ นายกรณ์ จาติกวานิช เป็นรัฐมนตรีคลัง จึงเริ่มต้นกระบวนการคัดเลือกประธานบอร์ดแบงก์ชาติอีกครั้ง เพราะการดำเนินการของรัฐบาลที่ผ่านมามีปัญหา และพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นฝ่ายค้านขณะนั้นได้ยื่นเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบและได้วินิจฉัยไว้ชัดเจน ทำให้ต้องคัดเลือกใหม่โดยมี ดร.พนัส เป็นประธานคณะกรรมการคัดเลือก อาจนับเป็นการคัดเลือกประธานบอร์ดแบงก์ชาติครั้งที่สองก็ว่าได้ และผู้ได้รับคัดเลือกคือ “หม่อมเต่า” ซึ่งได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนแรก และในขณะนั้น ดร.ธาริษา วัฒนเกส เป็นผู้ว่าการแบงก์ชาติ

แหล่งข่าวระดับสูงแบงก์ชาติกล่าวว่า ชื่อของหม่อมเต่าเป็นชื่อที่ผู้ว่าแบงก์ชาติเสนอ ซึ่งตรงกับที่ปลัดกระทรวงการคลังเสนอ ทำให้การคัดเลือกประธานบอร์ดแบงก์ชาติครั้งนั้นผลออกมาพอใจทั้งสองฝ่าย

จะเห็นว่า การคัดเลือกประธานบอร์ดแบงก์ชาติและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในอดีต ผู้ที่ได้รับคัดเลือกจะเป็นตัวแทนจากกระทรวงการคลัง หรืออาจกล่าวได้ว่า เป็นฟากทางการเมืองเป็นส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมด จึงไม่แปลกที่การคัดเลือกครั้งนี้ชื่อของ ดร.โกร่งจึงมาแรงแซงหม่อมเต่า

ส่วนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ครบวาระแรกเมื่อ 1 เมษายน 2555 พร้อมหม่อมเต่า คือ นายนนทพล นิ่มสมบุญ กับ ดร.คณิศ แสงสุพรรณ ซึ่งคาดว่า ดร.คณิศจะได้รับการต่ออายุวาระ 2 แน่นอน ส่วนนายนนทพลก็มีสิทธิ์ต่ออีกวาระเช่นกัน เว้นแต่กระทรวงการคลังจะมีตัวเลือกอื่น

ทั้งนี้ คณะกรรมการคัดเลือกประธานบอร์ดแบงก์ชาติและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่แต่งตั้งโดยรัฐมนตรีคลัง “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” ประกอบด้วย ดร.พนัส สิมะเสถียร เป็นประธาน และกรรมการอีก 6 คนได้แก่ นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล, นายศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์, นายพรชัย นุชสุวรรณ, นายวุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์, นายสวัสดิภาพ กันทาธรรม และ นายปรีชา อรรถวกัชน์

จากรายชื่อดังกล่าว มีกรรมการคัดเลือกชุดแรกที่มีปัญหาอยู่ด้วย 1 คน คือ นายสวัสดิภาพ และยังมีนายพรชัย อดีตว่าที่ประธานบอร์ดที่ไม่ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ขณะที่อีก 2 คน คือ นายศุภรัตน์ กับ นายศิโรตม์ แม้จะเป็นลูกหม้อกรมสรรพากรลูกน้องเก่าหม่อมเต่า แต่ชื่อกระฉ่อนว่ายืนข้างตระกูลชินวัตร และอีก 1 คน คือ นายวุฒิพันธุ์ ซึ่งได้รับคัดเลือกเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากกรรมการคัดเลือกชุดแรกที่มีปัญหา

หากดูจากบทเรียนในอดีตและวัดขุมกำลังกันแล้ว ชื่อ “ดร.โกร่ง” คงไม่ผลิกโผ!

นั่นหมายความว่า อาจเป็น “จุดเปลี่ยน” อีกครั้งของแบงก์ชาติก็เป็นได้