ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสนโยบายการเงิน > “ดร.โกร่ง”ฟันธง ธปท. “ไม่ลดดอกเบี้ย” เดิมพันด้วยตำแหน่ง “ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ”

“ดร.โกร่ง”ฟันธง ธปท. “ไม่ลดดอกเบี้ย” เดิมพันด้วยตำแหน่ง “ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ”

18 มีนาคม 2013


ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการธปท.
ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการ ธปท.

“ดร.วีรพงษ์ รามางกูร” ฟันธง แบงก์ชาติไม่ลดดอกเบี้ย สกัดเงินไหลเข้า เสี่ยงสร้างปัญหาฟองสบู่แตก ฉุดเศรษฐกิจเจ๊ง คาด-ถ้าไม่ระมัดระวังอาจเห็นผลช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า กระทบโอกาสเศรษฐกิจไทยใน AEC

งานเปิดตัวโครงการ “SMEs & OTOP สู่เวทีโลก” และการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “SMEs Roadmap: เปิดแนวรุก บุก AEC” ในวันที่ 18 มีนาคม 2556 “ดร.วีรพงษ์ รามางกูร” ประธานคณะกรรมการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “เปิดแนวรุก บุก AEC” โดยวาดภาพเศรษฐกิจไทยในอีก 10 ปีข้างหน้ามีโอกาสสามารถแข่งขันได้ใน AEC (ASEAN Economic Community) และในเวทีโลก โดยเสนอให้มีปฏิรูปภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจในอนาคต แต่ตอนสุดท้ายกลับ “หักมุม” ว่า

“ที่บรรยายเป็นคุ้งเป็นแคว วาดภาพสวยงาม ถ้าฟองสบู่แตกเจ๊งหมดเลย ไม่ต้องทำ”

ดร.วีรพงษ์เชื่อว่า ทุกอย่างจะ “พังหมด” ถ้าเกิดภาวะฟองสบู่ขึ้น “ปลายปีนี้” หรือ “ต้นปีหน้า” ถ้าไม่ระมัดระวัง เนื่องจากเมื่อดอกเบี้ยเราสูงกว่าดอกเบี้ยดอลลาร์ ก็จะทำให้เงินดอลลาร์ไหลเข้ามา โดยดอกเบี้ยนโยบายของต่างประเทศอยู่ที่ 0.25% แต่ของไทยอยู่ที่ 2.75% เหมือนมีส่วนต่างไม่มาก แต่เมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของ 0.25% ก็หลายร้อยเปอร์เซ็นต์ของผลตอบแทนที่ต่างกัน

ตอนนี้เริ่มเห็นปัญหาของ “คลื่นดอลลาร์” ที่ไหลเข้าประเทศไทยจากมาตรการ QE3 ของยุโรปและญี่ปุ่น และปัญหาฟองสบู่ เนื่องจากเราเป็นประเทศที่ต้องเปิดตลาดการเงินเสรีทางด้านตลาดเงินตามพันธะของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) มาตรา 8 แต่เราไม่มีเครื่องมืออะไรเลยที่จะป้องกัน

“ผมเห็นแล้วมันส่ออาการมาที่ตลาดหุ้นเป็นที่ชัดเจน 3 เดือน ดัชนีหุ้นจากไม่ถึง 1000 เดี๋ยวนี้แตะ 1600 ขณะที่พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย ต่างชาติซื้อไปถือไว้ 15% แล้ว และกำลังจะซื้อมากขึ้นเรื่อยๆ และเงินตราต่างประเทศที่ไหลเข้ามาจะเป็นอุปสรรคที่สำคัญที่สุด” ดร.วีรพงษ์กล่าว

ดร.วีรพงษ์บอกว่า ในชีวิตมีโอกาสได้เห็นปัญหาทั้ง 2 ข้าง คือ “สมัยป๋า” (พลเอกเปรม ติณสูลานนท์) เราอยากให้เงินไหลเข้า แต่เงินก็ไม่กลับไม่เข้ามา เพราะเราขาดดุลการค้า ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ส่วน “ขณะนี้” เราเกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดมา 15 ปี เราไม่อยากให้เงินเข้า เงินมันก็เข้ามา

“เงินไหลเข้ามีผล 2 อย่าง หนึ่ง ทำให้เงินบาทแข็ง สอง ทำให้เกิดฟองสบู่ในภาคการเงินและภาคอสังหาริมทรัพย์ และอย่างไรเสียแบงก์ชาติก็ไม่ลดดอก ผมกล้าพนันได้ เพราะผมเป็นประธานแบงก์ชาติเอง” ดร.วีรพงษ์กล่าว

ดังนั้น ถ้าสถานการณ์เป็นอย่างที่เห็น คือ เงินต่างประเทศค่อยๆ เข้ามาเรื่อยๆ ดร.วีรพงษ์กล่าวว่า ก็ “บักโกรก” และส่วนที่บอกว่า ลดดอกเดี๋ยวการใช้จ่ายการบริโภคจะเพิ่มขึ้น อะไรต่างๆ นั้น ประเทศเราประเทศเล็กและเปิด ถ้าอุปสงค์เพิ่มขึ้น ราคาไม่ขึ้นหรอก แต่การนำเข้าจะเพิ่มขึ้นเท่านั้นเอง การนำเข้าเพิ่มขึ้นก็ดี เราจะได้ลดการเกินดุลการค้า เกินดุลบัญชีเดินสะพัดลงบ้าง

นั่นคือความเป็นห่วงของ ดร.วีรพงษ์ ที่แสดงความคิดเห็นหลังบรรยายเกี่ยวกับการปรับตัวของเศรษฐกิจไทยในอีก 10 ข้างหน้า

ทั้งนี้ เมื่อพูดถึงโลกในอีก 10 ปีข้างหน้า ดร.วีรพงษ์กล่าวว่า อเมริกาคงไม่ฟื้น และยุโรปก็คงอีกนาน เพราะฉะนั้น จีนและเอเชียเป็นความหวังเดียวที่จะเป็นหัวใจดึงเศรษฐกิจของโลก ขณะเดียวกัน จีนต้องเตรียมตัวรับมือกับเศรษฐกิจอเมริกาและยุโรปที่ไม่ฟื้นเป็นเวลาอีกนาน ดังนั้น ความหวังจะพึ่งส่งออกเป็นตัวนำเศรษฐกิจจีนคงค่อยๆ เปลี่ยนไปเป็นเน้นการลงทุนในประเทศเพิ่มมากขึ้น ประเทศไทยก็ต้องเปลี่ยนด้วย

โดย “หัวใจ” ในอีก 10 ปีข้างหน้า ที่ประเทศไทยต้องเปลี่ยนไป เรื่องแรก คือ จะมี “ระบบการขนส่งที่ทันสมัย” ที่ลดการใช้พลังงาน ลดค่าใช้จ่ายการขนส่งลงให้ได้ และทำให้ประเทศไทยเป็นตัวที่จะเชื่อมตลาดใหญ่ในภูมิภาค ดังนั้น การใช้จ่ายในประเทศในช่วงข้างหน้าคงจะเพิ่มขึ้น เมื่อเพิ่มขึ้นบทบาทของสถาบันการเงินทั้งของภาครัฐและของภาครัฐบาลก็ควรจะเปลี่ยนไปด้วย

“โฉมหน้าระบบการขนส่งทางบกของเราจะเปลี่ยนไปอย่างไรนั้น เอสเอ็มอีและโอทอปจะได้ประโยชน์มหาศาลในการคิดหาการผลิตใหม่ๆ และการสร้างตลาดในโลกข้างหน้านี้ตลาดของคนรวยจะมีความสำคัญมากขึ้น และสินค้าที่คนรวยบริโภคจะเป็นสินค้าที่ใช้สมอง หรือครีเอทีฟ ซึ่งเชื่อว่าภูมิปัญญาของเรา วัฒนธรรมของเราจะเอื้ออย่างมากที่จะใช้ประโยชน์ในเรื่องเหล่านี้” ดร.วีรพงษ์กล่าว

เรื่องที่สองที่จะเกิดขึ้นใน 10 ปีข้างหน้า คือ “การปฏิรูปภาคการผลิตทั้งภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ” ขนานใหญ่

โดยการปฏิรูปภาคเกษตร ดร.วีรพงษ์ “ไม่เห็นด้วย” ที่จะอุดหนุนสินค้าเกษตรที่ควรจะลดการผลิต หรือเลิกการผลิต เช่น ข้าวนาปรัง เนื่องจากมีความเห็นว่า เมื่อโลกกำลังเปลี่ยนไป เอเชียกำลังเปลี่ยนไป และตัวเรากำลังเปลี่ยนไป ไม่มีทางที่ไทยจะผลิตข้าวแข่งกับพม่า แข่งกับเวียดนาม แข่งกับประเทศอื่นๆ และเราไม่ควรจะแข่ง เราควรจะไปผลิตของที่มีราคาดีกว่า มีมูลค่าเพิ่มมากกว่า

เพราะเกษตรของเราเดี๋ยวนี้ไม่ใช้แรงงานแล้ว ใช้แต่เครื่องจักรหรือใช้แรงงานเพื่อนบ้าน เพราะฉะนั้นต้นทุนสูงแน่ ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านที่มีระดับการพัฒนาต่ำกว่าเรามีแรงงานมากกว่าและค่าแรงถูกกว่า ดังนั้น ดร.วีรพงษ์เสนอว่า เราต้องเปลี่ยน “วิธีคิด” โดยมองไปที่จีน ไต้หวัน และเกาหลีใต้ แทนที่จะมามองว่าจะแข่งกับพม่าและเวียดนาม

“เสียดายเงินที่ไปอุดหนุนสินค้าเกษตร ก็เท่ากับอุดหนุนคนกินข้าวราคาถูกจากประเทศไทย ส่วนข้าวราคาแพงควรจะสนับสนุนมากกว่านี้ เช่น ข้าวหอมมะลิ หรือข้าวไร้สารพิษ ซึ่งแพง และพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังควรเปลี่ยนไปปลูกไม้โตเร็วที่ให้ราคาดีกว่าข้าวนาปรัง เช่น ยูคาลิปตัส หรือพืชพลังงาน เป็นต้น หรือเปลี่ยนจากปลูกเป็นเลี้ยงปลา หรือเลี้ยงอะไรที่มีมูลค่าสูงกว่าข้าวนาปรัง” ดร.วีรพงษ์กล่าว

ส่วนการปฏิรูปภาคอุตสาหกรรม ดร.วีรพงษ์มีความเห็นว่า ต้องเตรียมฟื้น “อีสเทิร์นซีบอร์ด” เนื่องจากชายทะเลของไทย 4,000 กิโลเมตร ไม่มีที่ไหนทำท่าเรือน้ำลึกได้เลย ยกเว้นที่แหลมฉบังกับมาบตาพุด แต่ไม่ได้หมายความว่าจะให้กระจุกตัวอยู่ที่แหลมฉบัง จะต้องขยายไปทางกบินทร์บุรีและสูงเนิน

นอกจากนั้นเสนอว่า ควรมีการบริหารจัดการเรื่องน้ำ เพราะปัญหาในอีสเทิร์นซีบอร์ดคือขาดแคลนน้ำ โดยควรใช้ประโยชน์จากแม่น้ำบางปะกงให้มากกว่านี้ เพื่อให้เป็นแหล่งน้ำสำหรับอุตสาหกรรมและการอุปโภคบริโภค

“พื้นที่ชายฝั่งตะวันออกตั้งแต่ชลบุรี ระยอง มาบตาพุด โคราช พื้นที่นี้หนีไม่พ้นที่จะเป็นแหล่งรองรับคลื่นการลงทุนของญี่ปุ่นที่จะเกิดขึ้นข้างหน้านี้” ดร.วีรพงษ์กล่าว

ขณะที่ภาคบริการ ดร.วีรพงษ์มีความเห็นว่า สนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมืองในระยะต่อไปคงไม่เพียงพอรองรับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะ “กองทัพนักท่องเที่ยวจีน” กำลังถล่มไทย เดินทางเข้ามาเที่ยวเมืองไทยเป็นจำนวนมาก ดังนั้นควรฟื้น “สนามบินอู่ตะเภา” เอามาทำใหม่เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นมาก

รวมถึงมีความเห็นว่า แหล่งท่องเที่ยวของไทยหมดแล้ว ควรสนับสนุนให้นักลงทุนไทยขยายไปลงทุนในแหล่งท่องเที่ยวประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมานักลงทุนไทยออกไปบ้างแล้ว แต่รัฐบาลควรสนับสนุนกว่านี้

“สิ่งต่างๆ เหล่านี้ โอกาสจะเปิดของมันเอง และยิ่งเข้าสู่ยุค AEC โอกาสก็ยิ่งเปิดมากขึ้น หลายท่านบอกว่าไม่น่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลง ผมว่าไม่จริง จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงเยอะโดยไม่รู้ตัว เมืองไทยส่วนมากสิ่งไหนวางแผนไว้ไม่เกิดหรอก อะไรที่จะเกิดคือไม่ได้วางแผนไว้ ผมทำงานทางเศรษฐกิจมา 30 ปี ดูเหมือนจะเป็นอย่างนั้น” ดร.วีรพงษ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ดร.วีรพงษ์เชื่อว่าคนไทยเก่งมาก โดยยกสุภาษิตแต้จิ๋ว แปลเป็นไปไทยว่า “ตายไม่กลัว กลัวไม่ได้กำไร”

“เพราะฉะนั้น คนไทยเก่งในเรื่องนี้ แต่ทั้งหมดจะพังหมดถ้าเกิดภาวะฟองสบู่ขึ้น ถ้าเกิดไม่ระมัดระวัง”

นั่นคือที่มาของการแสดงความคิดเห็นเรื่องดอกเบี้ยของ “ดร.วีรพงษ์” ในเวทีสาธารณะเป็นครั้งแรก หลังจากเงียบไปนับตั้งแต่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ย 2.75% เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2556 และ กนง. กำลังจะประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 3 เมษายนนี้

ทั้งนี้ ก่อนการประชุม กนง. เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา “ดร.วีรพงษ์” วิพากษ์วิจารณ์ ธปท. เรื่องดอกเบี้ยอย่างรุนแรง