“มูลนิธิข้าวขวัญ” ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเมล็ดพันธุ์ข้าว และระบบการปลูกข้าวที่ถูกที่วิธี ให้ผลผลิตสูง ต้นทุนต่ำ และปลอดสารเคมี ชาวนาที่ทำตามวิธีของมูลนิธิข้าวขวัญได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตรให้เป็นเกษตรกรดีเด่นสาขาทำนา 2 คน คือ ชัยพร พรหมพันธุ์ ปี 2538 และทองเหมาะ แจ่มแจ้ง ปี 2549
ที่สำคัญกว่ารางวัลเกษตรกรดีเด่นคือ ทำให้ชาวนาที่เคยยากจน กลายเป็นชาวนารวย “ชัยพร พรหมพันธ์” คือตัวอย่างที่ชัดเจนและเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางผ่านสื่อต่างๆ มากมาย แต่ทำไมชาวนาจำนวนมากไม่ยอมเปลี่ยนวิถีการทำนาให้ถูกวิธีตามวิถีของมูลนิธิข้าวขวัญ ทั้งที่เห็นชัดเจนว่า ทำแล้วชีวิตมั่นคงขึ้น
อะไรคือปัญหาหรืออุปสรรคที่ชาวนาไม่ยอมเปลี่ยนวิถีการทำนาให้ถูกต้อง และนโยบายของรัฐบาลที่ทำกันมาตลอดทำไมยังแก้ปัญหาความยากจนของชาวนาไม่ได้สักที
คำถามต่างๆ ดังกล่าวหาคำตอบจาก “เดชา ศิริภัทร” ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “อาจารย์เดชา” ผู้ก่อตั้งมูลนิธิข้าวขวัญ และ โรงเรียนชาวนา ผู้ซึ่งคุ้นเคยกับชาวนามาตั้งแต่เกิด
วันพืชมงคล 9 พฤษภาคม 2555 ที่ผ่านมา “สำนักข่าวไทยพับลิก้า” มีโอกาสคุยกับอาจารย์เดชา ที่มูลนิธิข้าวขวัญ จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งอาจารย์เดชาได้เล่าประสบการณ์ต่างๆ ให้ฟังอย่างน่าสนใจ ตั้งแต่แนวคิดการทำมูลนิธิข้าวขวัญได้รับยกย่องเป็น “ปราชญ์ชาวนา” เผยแพร่การทำนาถูกวิธีแก้จนได้
อาจารย์เดชาเล่าที่มาของการก่อตั้งมูลนิธิข้าวขวัญว่า ส่วนหนึ่งเป็นเหตุผล “เรื่องส่วนตัว” เนื่องจากเป็นคนสุพรรณที่บ้านมีอาชีพให้เช่านา ทำโรงสี มาตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นย่า มีทีนาเยอะเป็น 10,000 ไร่ และรุ่นพ่อรุ่นแม่มี 8,000 ไร่ จึงมีลูกนา (คนรับจ้างทำนา) เยอะ
“เกิดมาก็เห็นนา เห็นโรงสี เห็นลูกนา เรียกว่า อยู่กับข้าวมาตลอด”
อาจารย์เล่าต่อว่า ตอนแรกไม่ได้คิดอะไร จนกระทั่งไปเรียนเกษตรที่มหาวิทยาลัยข่อนแก่น เรียนเรื่องเกี่ยวกับสัตว์ พอเรียนก็ไปทำงานที่กรมปศุสัตว์อยู่ 4 ปี อยู่ศูนย์เกษตรภาคกลางที่จังหวัดชัยนาท แต่ปรากฏว่าทำราชการแล้วไม่ชอบ ไม่ถูกจริต ก็ลาออกไปทำงานที่บ้านซึ่งเป็นกงสี ไปขอที่นาพ่อแม่มา 200 ไร่ เพื่อมาทำฟาร์ม เพราะต้องการเลี้ยงสัตว์ ตามที่เล่าเรียนมา ตอนนั้นเริ่มทำปี 2519
“จากที่นา 200 ไร่ ก็ขุดเป็นบ่อเลี้ยงปลา บนคันบ่อก็เลี้ยงหมูไว้เป็น 1,000 ตัว จุดประสงค์คือต้องทำให้ครบวงจรเพื่อขายทำกำไร การเลี้ยงหมูก็จะได้ขี้หมูเอาให้ปลากิน จะได้ไม่เหม็น ส่วนปลาก็สามารถจับไปขายได้ด้วย หมูก็ขายด้วย และเลี้ยงวัว แต่ไม่มีอะไรให้วัวกิน ก็จ้างคนงาน 2 คน พาวัวเดินตามคันคลองเช้ามาเย็นกลับ วัวก็อิ่มแล้ว และก็ได้ขี้วัวอีก เราคิดว่าทำธุรกิจแบบนี้ทำร่ำรวย”
นั่นคือ แนวคิดแรกๆ ในการทำงานของอาจารย์เดชา
แต่จุด “หักเห” ที่ให้อาจารย์เดชา เลิกเลี้ยงสัตว์ คือ การได้ไปบวชที่วัดสวนโมกข์เพื่อตอบแทนบุญคุณคุณแม่ที่เสียชีวิต
อาจารย์เดชาบอกว่า แม่เป็นคนธรรมะ ธรรมโม ก็กลัวว่าเราจะตกนรก เนื่องจากเวลาเอาหมูไปขายมันร้องส่งเสียงสนั่นสั่นไหว ส่วนปลาจับวันละ 1,000 ตัน เอาใส่รถกระบะ และเอาน้ำแข็งใส่ทับข้างบน ทำให้ปลาตายเย็น จะได้ปลาสดเอาไปขายที่สะพานปลา ส่วนวัวพอจูงไปขายมันก็น้ำตาไหล แม่เห็นก็ไม่สบายใจ แต่แม่ไม่กล้าห้าม เพราะเราเรียนมา แต่ขอให้บวช ซึ่งเราไม่ยอม เพราะพี่ชาย 2 คนบวชไปแล้ว แต่เมื่อแม่เสีย รู้สึกเสียใจเลยจะบวชให้ท่าน
อาจารย์เดชาเล่าต่อว่า ตอนนั้นอ่านหนังสือเยอะ ส่วนใหญ่อ่านของท่านพุทธธาตุ จึงเลือกไปบวชที่สวนโมกข์ แต่ต้องรออีกตั้งปีถึงได้บวช เนื่องจากปีนั้นที่สวนโมกข์คนสมัครเต็มแล้ว และต้องไปผ่านที่วัดชลประธานก่อนเพื่อคัดเลือก ก็รอจนได้ไปบวช เมื่อได้บวชก็เคร่ง เพื่อให้แม่ได้บุญ ไม่รู้หรอกว่าดีไม่ดี แต่ปรากฏว่าได้ และว่าที่ปฏิบัติดีจริง คือกินมื้อเดียว นอนหมอนไม้ ตื่นตีสีทำวัดเช้าเย็นไม่เคยขาด ไม่นอนกลางวัน
“ถ้าไม่แต่งงาน ไม่มีลูกเสียก่อนก็คงไม่สึก แต่เราเอางานฝากเขาไว้ ธุรกิจเราก็ลงทุนเยอะและต้องดูแลครอบครัว แล้วจะทิ้งมาได้อย่างไร และสัญญาแค่พรรษาเดียว แต่ไปหาท่านพุทธทาส ท่านบอกว่า สึกได้ไม่เป็นไร ไม่บวชก็ปฏิบัติธรรมได้ เราต้องทำงานให้เป็นการปฏิบัติธรรม หมายความว่า การทำงานที่ถูกต้องคือการปฏิบัติธรรม”
อาจารย์เดชาอธิบายว่า งานมีหลายระดับ งานที่เบียดเบียนตน เบียดเบียนท่าน เลวสุด แต่ส่วนใหญ่คนจะทำงานที่เบียดเบียนท่าน ถือประโยชน์ตนอย่างเดียว ประโยชน์ท่านไม่ได้ แต่ทำงานอะไรที่ไม่เบียดเบียนตน ไม่เบียดเบียนท่าน จะดีที่สุด และทำอย่างไรจะไม่เบียดเบียน และได้ประโยชน์ด้วย ก็เป็นการปฏิบัติธรรม และมาเจออาจารย์อีกท่านสอนว่า รู้ไหมว่าความชั่ว กับ ความเลว ต่างกันตรงไหน เราก็ว่าไม่ต่างกัน ท่านถามอีกว่าแล้ว คนชั่ว กับ คนเลว ต่างกันไหม เราก็ว่าเหมือนกัน ท่านก็ว่าไม่เหมือน คนชั่ว คือ คนที่เบียดเบียนตัวเอง คนเลว คือ คนที่เบียดเบียนผู้อื่น แต่บางคนมีอยู่ในตัวคนเดียว
อาจารย์เดชาบอกว่า พอสึกออกมารู้ทันทีว่างานที่ทำอยู่ไม่ใช่ เพราะเบียดเบียนคนอื่น ถ้าทำต่อไปจะไม่ได้ปฏิบัติธรรม ถ้าอยากปฏิบัติธรรมต้องหางานใหม่ที่ไม่เบียดเบียน และเป็นประโยชน์ด้วย คือเอาการ “เบียดเบียน” เป็นตัวตั้ง และหากทำงานเป็นประโยชน์ด้วย คือ การทำบุญ ทำดี
อย่างไรก็ตาม อาจารย์เดชายอมรับว่า ไม่ง่าย เพราะต้องรับผิดชอบงานเก่า ขณะเดียวกันก็ต้องมองหางานใหม่ แต่หาเท่าไรก็ไม่เจอเพราะอยู่บ้านนอก และคิดไม่ออกนอกจากปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ แต่วันหนึ่งโอกาสก็มาถึง มีเพื่อนคนหนึ่งที่ไปทำงานเอกชนมาขอให้ไปเป็นวิทยากรเลี้ยงปลาใช้ความรู้ที่มีอยู่ คือให้ไปสอนชาวนาเลี้ยงปลาในนาข้าว
“ไปทำแล้วรู้สึกดีก็ถามเพื่อนว่างานที่เขาทำเกี่ยวกับอะไร เพื่อนก็บอกว่า ก็ช่วยชาวบ้านให้เขาพ้นทุกข์ เพราะเขาด้อยโอกาส ความทุกข์เยอะ เรามีโอกาสเราก็ช่วยเขา จึงบอกเพื่อนว่าถ้ามีตำแหน่งบอกด้วย จากนั้นไม่นานเพื่อนก็บอกให้ไปสมัครหน่วยศูนย์เทคโนโลยีที่เหมาะสม เขาให้ส่งเสริมเลี้ยงปลาในนาข้าว แต่ให้ไปทำที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ขอนแก่น สุรินทร์ ก็ไปลองดูว่าเหมาะสมไหม”
อาจารย์เดชาเล่าว่า การไปทำงานที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขาให้ไปช่วยส่งเสริมชาวนาปลูกข้าวแทนที่จะเอายาฆ่าแมลงไปฉีด ก็เอาลูกปลาไปปล่อยให้กินแมลง กินแหน พอต้นข้าวโตขึ้นมาก็ไม่มีแมลง เกี่ยวข้าวเสร็จไปจับมากิน ปลาที่ปล่อยก็ปลานิล ปลาตะเพียน หรือปลากินพืช แล้วก็สอนเขาเพาะลูกปลาด้วย ทำอยู่ 5 ปี รู้สึกว่าดีจัง ชาวบ้านเก่งๆ จำนวนมาก เป็นครูเราก็มี และรู้จักคนดีๆ มากมายแบบนี้แหละทำแล้วได้ทั้งประโยชน์คุณ ประโยชน์ท่าน
“ทำอยู่ 5 ปี ก็เริ่มคิดถึงบ้านที่สุพรรณ ซึ่งมีชาวนาเยอะ แต่ชาวนาจนลงทุกวัน เป็นหนี้เป็นสิน ใช้ยาฆ่าแมลงจำนวนมาก มองดูแล้วแบบนี้ไม่รอดหรอก จึงคิดกลับมาช่วยบ้านเราดีกว่า เป็นการตอบแทนบุญคุณบ้านเกิดด้วย และญาติพี่น้องที่นี่ก็เยอะ ลูกนาเราก็เยอะ เขาช่วยให้เราครอบครัวเรารวยมาเป็น 3 ชั่วคน ก็ต้องตอบแทนเขา ก็เลยกลับสุพรรณ ซึ่งคนสุพรรณด้อยโอกาส ทำนาไม่เป็น”
จากจุด “หักเห” ยอมบวชเพื่อทดแทนคุณมารดา กลายมาเป็น “จุดเปลี่ยน” ชีวิตของอาจารย์เดชา และมาสู่จุดเริ่มต้น “มูลนิธิข้าวขวัญ”
อาจารย์เดชาบอกว่า เริ่มกลับมาทำงานที่สุพรรณเมื่อปี 2532 ตอนนั้นยังไม่ได้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิ เพราะช่วงเริ่มต้นไม่แน่ใจว่ายั่งยืนหรือไม่ และถ้าจดทะเบียนเป็นมูลนิธิต้องใช้เงิน 2 แสนบาท จึงลองดูก่อนโดยตั้งเป็น “ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อสังคม” ทำมาได้ 10 ปีก็อยู่ตัว มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ จึงจดทะเบียนเป็นมูลนิธิ จะได้มีความยั่งยืน น่าเชื่อถือ ทุกคนยอมรับ ตรวจสอบบัญชีได้ และทรัพย์สินจะได้เป็นของมูลนิธิ
“ตอนเป็นศูนย์ฯ ต้องเอาชื่อคนนั้นคนนี้มาใช้ ไม่รู้ใครโกงไม่โกง เขาเอาทรัพย์สินไปขายเมื่อไรก็ได้ และไม่โปร่งใส เมื่อเป็นมูลนิธิก็เป็นทางการ มีการตรวจบัญชีทั้งปี รู้ว่าทรัพย์สินมีเท่าไร อยู่ที่ไหน จริงๆ แล้วก็เหมือนเดิม แต่แบบนี้ทำให้เป็นทางการเฉยๆ”
นั่นคือจุดเริ่มต้นและความเป็นมาของมูลนิธิข้าวขวัญ และโรงเรียนชาวนา ที่ทำหน้าที่ “บ่มเพาะ” เมล็ดพันธุ์ข้าว และชาวนาให้ความรู้เกี่ยวกับการทำนาอย่างถูกต้องเพื่อยกระดับชาวนาไทยให้มีฐานะดี และมีศักยภาพแข่งขันในตลาดโลก
(อ่านต่อตอนที่2)