ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > “เดชา ศิริภัทร” ปราชญ์ชาวนา (2): “ทำนาผิดวิธี” อนาคต “สิ้นนา สิ้นชาติ”

“เดชา ศิริภัทร” ปราชญ์ชาวนา (2): “ทำนาผิดวิธี” อนาคต “สิ้นนา สิ้นชาติ”

27 พฤษภาคม 2012


ที่มาภาพ: http://www.dailynews.co.th
ที่มาภาพ: http://www.dailynews.co.th

แม้ว่า “มูลนิธิข้าวขวัญ” จะจดทะเบียนเป็นมูลนิธิในปี 2541 แต่ อาจารย์ “เดชา ศิริภัทร” เริ่มต้นการทำงานอย่างจริงจังเพื่อแก้ปัญหาชาวนาตั้งแต่จัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีเพื่อสังคมในปี 2532

อาจารย์เดชาเล่าว่า การทำงานพัฒนาหรืองานช่วยท้องถิ่นจะเริ่มต้นที่ “ปัญหา” เป็นตัวตั้ง ซึ่งเมื่อกลับมาก็เห็นปัญหาของสุพรรณคือ “ชาวนา” ที่มีจำนวนมาก และปัญหาของชาวนาคือทำงานไม่ถูกวิธี ซึ่งเมื่อนำเทคนิคที่เราถนัดมาจับ พบว่าเทคนิคของชาวนาผิดหมดเลย

การทำนาในปัจจุบันกับทำนาในสมัยโบราณต่างกันมาก อาจารย์เดชาเล่าว่า ก่อนจะไปเรียนมหาวิทยาลัยขอนแก่นปี 2508 ตอนนั้นการทำนายังเป็นสมัยโบราณ ใช้พันธุ์ข้าวพื้นบ้าน คือ ปลูกปีละหน ใช้ควายไถนา วิธีการก็หว่านให้มันขึ้นเอง พอน้ำท่วมก็ปล่อยให้จมไป พอน้ำลดก็เกี่ยว วิธีการแบบนี้ทำมาเป็นพันปีไม่เป็นไร เพราะไม่ใช้ปัจจัยอะไรเลย เกี่ยวข้าวได้เท่าไรก็เท่านั้น แม้จะได้กำไรน้อยมาก แต่ได้เท่าไรก็เป็นกำไรหมด

แต่พอเรียนจบมหาวิทยาลัยปี 2512 อาจารย์เดชาเล่าว่า มีข้าวพันธุ์ใหม่มา คือ ข้าว กข.1 เป็นข้าวนาปรัง ปลูกได้ทั้งปี แต่ถ้าน้ำท่วมจะปลูกไม่ได้เพราะมันไม่จมน้ำ ก็กลายเป็นว่า แทนที่จะปลูกหน้าฝนถึงหน้าน้ำ ก็เปลี่ยนมาปลูกหน้าแล้งตลอด พอหน้าน้ำจะมาก็เลิกปลูก ดังนั้น แทนที่จะปลูกข้าวปีละครั้ง ก็ปลูกปีละ 2 ครั้ง โดยปลูกในช่วงหน้าแล้ง 8 เดือน ได้ 2 ครั้ง ยิ่งพื้นที่ที่ไม่มีน้ำท่วมและมีชลประทานมาถึงจะปลูกได้ทั้งปีหรือปีละ 3-4 ครั้ง แต่พันธ์ข้าวพื้นบ้านปลูก 4 เดือนได้ครั้งเดียว

“พันธุ์ข้าวใหม่พวกนี้นำการเปลี่ยนแปลงมาเนื่องจากปลูกได้ปีละหลายๆ หนและผลผลิตสูง แต่ผลผลิตสูงก็ต้องการปัจจัยเยอะ ปุ๋ยเคมีก็เข้ามา ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า ฮอร์โมนต่างๆ ก็มา และ ธ.ก.ส. (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร) ก็เข้ามา”

ช่วงจังหวะเวลาดังกล่าว สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ คือ ประเทศไทยเริ่มมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรก ปี 2504 – 2509 กับแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 2 ตั้งแต่ปี 2510-2514

อาจารย์เดชาสรุปให้ฟังสั้นๆ ว่า แผนพัฒนาฯ ฉบับแรก เป็นการวางแผนเตรียมคน เตรียมเขื่อน เตรียมพันธุ์ข้าว พอมาถึงแผนฯ ฉบับที่ 2 ก็เริ่มส่งเสริม ตั้งกรมส่งเสริมการเกษตร ตั้ง ธ.ก.ส. มีพันธุ์ข้าวใหม่มาส่งเสริมให้ชาวนาทำ มีการตั้งเกษตรตำบล และเขตไหนมีชลประทานไปถึง ทางการก็เอาพันธุ์ข้าวใหม่มาแลกเอาพันธุ์ข้าวเก่าไปเก็บเพื่อให้ชาวนาปลูกพันธุ์ข้าวใหม่แทน ทำให้ชาวนาทิ้งพันธุ์ข้าวเก่า ตอนนี้ชาวนาไม่ปลูกพันธุ์พื้นบ้านกันแล้ว แต่การทำนาสมัยใหม่ทำให้เกิดปัญหาคือ

1. ชาวนามีปัญหาหนี้สินเยอะ

2. ทำนาแล้วมีแต่ขายนา

3. ทำนาแล้วลูกหลานหนีหมด

“ปัญหาดังกล่าวทำให้แทนที่ชาวนาจะเป็นกระดูกสันหลังก็กลับกลายเป็นรากหญ้า แบบนี้เขาเรียกว่า ‘ดูถูก’ และชาวนาก็ช่วยตัวเองไม่ได้ ต้องไปขอให้คนอื่นเขาช่วย เข้าโครงการจำนำข้าวทีก็เอาเงินมาปลดหนี้ที แบบนี้ทั้งตัวเองไม่รอดและเดือดร้อนคนอื่นด้วย”

ประธานมูลนิธิข้าวขวัญแสดงความไม่เห็นด้วยกับนโยบายจำนำข้าว เพราะเห็นว่าเป็นการสร้างเดือนร้อนคนอื่น รัฐบาลต้องเอาเงินภาษีจากคนอื่นมาซื้อข้าวในโครงการรับจำนำมาเก็บไว้ แต่ละปีต้องใช้เงิน 300,000 ล้านบาทขึ้นไป นั่นคือเงินภาษีต้องไปกองไว้ปีละ 300,000 ล้านบาทขึ้นไปเพื่อช่วยชาวนา พอรับจำนำเสร็จแล้วก็ต้องนำไปขาย ซึ่งแต่ละปีรัฐบาลต้องขาดทุนอีกปีละ 100,000 กว่าล้านบาทเป็นอย่างน้อย

แสดงว่าแต่ละปีต้องเสียเงินฟรีๆ ให้ชาวนาเป็น 100,000 ล้านบาท แล้วชาวนาทำอะไรให้บ้าง ชาวนากลายเป็นภาระของสังคมและเบียดเบียนคนอื่น

เพราะฉะนั้น ชาวนาต้องทำนาให้ถูกวิธี คือ ต้องมีต้นทุนต่ำ ไม่ใช่ต้นทุนสูงแบบนี้ และทำงานเสร็จแล้วต้องมีเงินเหลือโดยไม่ต้องไปทำอาชีพอื่น แต่ปัจจุบันชาวนาทำนาได้กำไรนิดเดียว ถ้าขาดทุนจะขาดทุนเยอะ ทำให้มีหนี้สินเป็นล้านบาท

ประธานมูลนิธิข้าวขวัญระบุว่า ชาวนาแถวสุพรรณบุรี ถ้าทำนาปรัง 3 ครั้ง มีหนี้เป็นล้าน แต่ทำนา 2 ครั้ง มีหนี้เป็นแสน ถ้าทำครั้งเดียวมีหนี้เป็นหมื่น เรียกว่า “ยิ่งทำหนี้ยิ่งเยอะ” เพราะยิ่งทำก็ได้เครดิตหรือสินเชื่อเพิ่มขึ้น ยิ่งกู้ก็ยิ่งมีหนี้มาก แต่มีรายได้ไม่เพียงพอ เพราะตัวเองขาดทุนอยู่แล้วจากการทำนาแบบต้นทุนสูง และมีความเสี่ยงเกิดโรคแมลงสูง เนื่องจากใช้วิธีเคมี ไม่ใช้ธรรมชาติ ทำให้โรคแมลงดื้อง่าย

ดังนั้น ปัญหาของชาวนาคือ มีต้นทุนสูง มีความเสี่ยงสูง และข้าวคุณภาพไม่ดี ทำให้ราคาข้าวตกต่ำ ขณะเดียวกันชาวนาไม่กินข้าวที่ตัวเองปลูก เพราะอันตราย ไม่อร่อย ต้องซื้อข้าวกิน ต้องพึ่งตลาด และตัวเองยังได้รับสารเคมีจากการทำนา มีโอกาสเป็นมะเร็ง เป็นเบาหวาน และเป็นโรคสารพัดเต็มไปหมดยิ่งกว่าคนเมืองเสียอีก

“ชาวนามีแต่ของเสียเต็มไปหมด และกระจายไปทั่วประเทศด้วย เพราะเวลาทำนาของเสียต่างๆ ไปกับน้ำ กับลม กับอากาศ คนซื้อข้าวกินก็กินข้าวที่ชาวนาไม่กิน จะเห็นว่าเป็นผลเสียทั้งประเทศ และไปเบียดบังภาษีที่คนอื่นต้องจ่าย แบบนี้ไม่มีอะไร ดีอย่างเดียวคือพวกนี้ประชานิยมง่าย รัฐบาลไหนสัญญาว่าจะให้ ชาวนาก็ไปลงคะแนนเลือกเขาหมด เพราะอ่อนแอ ต้องพึ่งรัฐบาล”

นายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ
นายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ

อาจารย์เดชาแสดงความเป็นห่วงว่า หากปล่อยให้เป็นแบบนี้ไปนานๆ ชาวนาจะไม่รอด ชาวนาจะสูญพันธุ์ เดี๋ยวเขาก็ยึดนาไปหมด ลูกหลานก็หนีหมด ถ้ารัฐบาลทิ้ง ชาวนาก็สูญพันธุ์หมด ถ้าชาวนาสูญพันธุ์ หรือหายไป ความมั่นคงทางอาหารก็จะไม่มี นอกจากนี้ ข้าวเป็นบ่อเกิดวัฒนธรรม วัฒนธรรมบ่งบอกถึงความเป็นชาติ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีข้าววัฒนธรรมก็สูญ และจะสูญชาติไปด้วย

“ที่เขาเรียกว่า ‘สิ้นนา สิ้นชาติ’ ก็แบบนี้แหละ” อาจารย์เดชากล่าวและบอกว่า ถ้าจะช่วยชาวนาต้องช่วยที่ต้นตอ คือการปลูกข้าวที่ถูกวิธี และต้องถูกทั้งทางโลกทางธรรม

ทางโลก คือ ต้นทุนต่ำ ใช้แรงงานน้อย ไม่เสี่ยงต่อการเสียหาย คุณภาพดี ไม่ทำลายธรรมชาติ และชาวนาสามารถมีรายได้พอกับการครองชีพ ไม่ต้องไปทำอาชีพอื่น ส่วนทางธรรม คือ ทำนาแบบไม่โลภ ไม่ต้องไปเบียดเบียนคนอื่น ไม่ต้องไปฆ่าสัตว์ ไม่ต้องไปทำร้ายผู้บริโภค ไม่ไปเอาของมีพิษให้คนอื่นกิน และตัวเองก็ไม่ทำบาป

“เราคิดแบบพุทธ คือ กำไรหรือขาดทุนอยู่ที่ปัจจัย ถ้าเราขายได้ถูกกว่าต้นทุนก็ขาดทุน ทั้งนี้ราคาข้าวเรากำหนดไม่ได้ เป็นปัจจัยภายนอกที่ขึ้นอยู่กับตลาด แต่ต้นทุนเรากำหนดได้ เพราะฉะนั้นเราต้องเน้นที่ต้นทุนหรือสิ่งที่เรากำหนดได้ ถ้าปัจจัยข้างนอกดีเราก็ดีมากขึ้น ถ้าปัจจัยข้างนอกไม่ดีเราก็อยู่ได้เพราะต้นทุนต่ำ แต่ถ้าไม่ลดต้นทุนเลย รอให้ราคาข้าวแพงอย่างเดียวเมื่อไรจะได้ และถึงราคาข้าวจะแพง ถ้าเกิดโรคระบาดก็ไม่มีผลผลิตไปขาย แล้วจะมีรายได้อย่างไร เสียสองต่อเลย”

อาจารย์เดชาเล่าต่อว่า ทำนาวิธีใหม่ไม่มีการสอน ทุกอย่างเราต้องพัฒนาขึ้นมา แล้วเอาไปสอนชาวบ้าน ก่อนจะสอนต้องทำให้ได้ก่อน มีแปลงทดลอง ต้องทดลองจนรู้ได้ผลจริง เมื่อทดลองได้ผลจริงแล้วก็ไปหาชาวนาที่เขาต้องการลองจริงๆ ไปหาสัก 1-2 คน แล้วรับประกันให้เลยว่าถ้าไม่ได้ผลจะจ่ายชดเชยให้ ถ้าชาวนาคนนั้นผ่านได้ผลจริง ก็เอาไปสอนชาวบ้าน เพราะได้ผ่านการพิสูจน์จากชาวนาจริง ไม่ใช่เรา เพราะชาวนาเขามีปัจจัยบางอย่างควบคุมไม่ได้ แต่ถ้าเราควบคุมได้ ถ้าผ่านชาวนาไปแล้วปรับให้เข้ากับชาวนาส่วนใหญ่ก็ทำได้เลย

ชาวนาที่ทำนาตามวิธีใหม่แล้วประสบความสำเร็จคือ “คุณชัยพร พรหมพันธุ์” ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตรให้เป็นเกษตรดีเด่นสาขาทำนา เมื่อปี 2538

“เราทำงานปี ’32 ลูกศิษย์เราได้รางวัลเกษตรกรดีเด่นดีเด่นระดับชาติ ในวันพืชมงคลเมื่อปี 38 เมื่อคุณชัยพรทำได้แล้วเราก็สังเกตดูว่าเป็นแกอย่างไร ตอนนั้นแกเริ่มจากมีที่นา 25 ไร่ ตอนนี้มี 108 ไร่ เขาซื้อเพิ่มเพราะว่ารวยขึ้น ได้กำไรปีละเป็นล้านบาท”

อาจารย์เดชาเล่าต่อว่า ตอนแรกคุณชัยพรมีที่นา 25 ไร่ แต่ถ้ามีที่น้อยกำไรก็น้อย จึงเช่าเขาเพิ่มเป็น 90 ไร่ เมื่อได้ที่ทำนา 90 ไร่ มีกำไรปีละเป็นล้าน ก็ไปซื้อนาเพิ่มขึ้นๆ จนมีนาเป็นของตัวเอง 108 ไร่ แบบนี้แสดงว่าได้ผลแน่ เราก็เอาตัวอย่างนี้ไปสอนต่อ ปรากฏว่าไม่มีใครทำเลย

“อยู่นี่มาตั้งแต่ปี ’32 เพื่อนบ้านเราเป็นสิบรายไม่มีสักคนทำตามเลย เขาใช้เคมีหมดเลย มีคนหนึ่งอยู่แถวนี้ มีหนี้อยู่ล้านสาม (1,300,000 บาท) ต้องเอานามาขายเรา เราก็ต้องซื้อไว้ ไม่นั้นจะโดนยึดนา แต่เหลือนาเท่าไรเขาก็ทำนาใช้เคมีเหมือนเดิม นี่ขนาดจะโดนยึดนายังไม่เข็ด”

ทั้งนี้ วิธีทำนาของมูลนิธิข้าวขวัญไม่ใช้เคมี ผลผลิตจะมากจะน้อยขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ดิน ฟ้า อากาศ และแมลง แต่อาจารย์เดชายืนยันว่า ผลผลิตที่ได้เฉลี่ยมากกว่าใช้วิธีเคมีแน่นอน เนื่องจากต้นทุนต่ำกว่าเขา 2-3 เท่า คือต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2,000 บาทต่อตัน คือ ทำนาได้ข้าว 1 ตันข้าวเปลือกมีต้นทุน 2,000 บาท ขณะที่ชาวนาทั่วไปต้นทุนอย่างน้อย 6,000 บาทขึ้นไป

เพราะฉะนั้น ถ้าคุณชัยพรขายข้าวได้ 2,000 บาทต่อตัน ก็เสมอตัว ถ้าขายได้ 4,000 บาทต่อตัน จะกำไร 100% และถ้าขายได้ 6,000 บาท ก็กำไร 200% ดังนั้นที่รัฐบาลรับจำนำข้าว 15,000 บาทต่อตัน ก็กำไรเกิน 10,000 บาท หรือขายได้ 13,000 บาท แต่ต้นทุน 2,000 บาท ก็กำไรตันละ 11,000 บาท

เหมือนเมื่อปี 2551 ตอนนั้นข้าวขึ้นไปราคา 13,000 บาท คุณชัยพรได้กำไรทั้งหมด 2 ล้านบาท ปีนั้นไม่มีโครงการจำนำข้าวแต่ข้าวแพงขึ้นเอง และเมื่อปี 2554 น้ำท่วม นาที่สุพรรณ ส่วนใหญ่ปรกติจะท่วมปลายเดือนกันยายน แต่ปีก่อนแค่วันที่ 10 กันยายน น้ำก็มาแล้ว คุณชัยพรต้องเกี่ยวข้าววันที่ 10 กันยายน เกี่ยวหลังจากนี้ไม่ได้ ทำให้ได้ข้าวเขียวมาก ขายได้ราคาไม่ดีเพียง 4,000 บาท จากราคาข้าวในตอนนั้น 8,000 บาท

อย่างไรก็ตาม แม้คุณชัยพรจะขายได้ 4,000 บาท แต่ก็ได้กำไร 2,000 บาท เนื่องจากมีต้นทุนเพียง 2,000 บาท แต่คนอื่นขาดทุนเพราะต้นทุนสูงกว่า

ที่มา: http://t0.gstatic.com

จากความสำเร็จของคุณชัยพร ซึ่งทำนาตามวิธีของมูลนิธิข้าวขวัญ ทำให้อาจารย์เดชามั่นใจว่า โมเดลการทำนาแบบคุณชัยพรจะทำให้ชาวนาไทยอยู่รอด และสามารถแข่งขันสู้ต่างประเทศได้หากเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจประชาคมอาเซียน (เออีซี) เนื่องจากต้นทุนต่ำ แต่ปัญหาคือ ชาวนาคนอื่นๆ ไม่ทำตามโมเดลคุณชัยพร แม้แต่ชาวนารอบบ้านคุณชัยพรก็ไม่ทำตาม ทั้งที่เห็นชัดเจนว่าทำแบบคุณชัยพรแล้วกำไรดี ต้นทุนต่ำ ใช้แรงงานน้อย ไม่เป็นโรคแมลง

“ทุกอย่างดีหมด แต่ชาวบ้านบอกว่าไม่ทำหรอก เพราะทำแบบนี้ต้องเลิกใช้ปุ๋ยใช้ยา เขาเลิกไม่ได้ เขาบอกทำใจไม่ได้ นอนไม่หลับ ที่ทำใจไม่ได้ เพราะมีโฆษณาทุกวัน คนเมื่อถูกใส่โปรแกรมที่เขาเรียกว่า ‘ย้ำคิดย้ำทำ’ คุณต้องทำแบบนี้ดี ก็ลังเลว่าถ้าเราไม่ทำแบบนี้ก็ไม่ดีสิ โฆษณาแบบนี้ชาวนาไม่รอดหรอก เพราะคนเราไม่ได้อยู่ที่เหตุผล แต่อยู่ที่การให้ข้อมูล ผมพยายามส่งเสริมมาหลายปีแล้ว จะได้ผลก็เฉพาะกับคนที่ฉลาดจริงๆ เห็นโฆษณาแล้วไม่เชื่อ แต่คนส่วนใหญ่ 99.99% ไม่ฉลาดแบบนี้”

ทั้งนี้ อาจารย์เดชาบอกว่า ทำงานที่สุพรรณมากว่า 20 ปี แต่เครือข่ายลูกศิษย์ของมูลนิธิข้าวขวัญยังมีน้อยมาก หรือมีจำนวนเป็นเพียงหลักพันคนเท่านั้น แต่ชาวนามีตั้ง 18 ล้านคน

มีลูกศิษย์ที่มารับแนวคิดของมูลนิธิข้าวขวัญจากทั่วสารทิศ มีทั้งชาวนาแท้และไม่แท้ ชาวนาแท้ก็คือคนที่ทำนาเป็นอาชีพ ส่วนชาวนาไม่แท้คือคนทั่วๆ ไป ส่วนใหญ่เป็นคนทำงานกรุงเทพฯ ดูรายการ “ฉันอยากเป็นชาวนา” ของอุ้ม (สิริยากร พุกกะเวส) ก็อยากมาเรียนที่นี่ ซึ่งโรงเรียนชาวนา มูลนิธิข้าวขวัญ ได้เปิดหลักสูตรสำหรับคนกลุ่มนี้ 2 วัน 2 คืน เฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์

“มาตั้งแต่เย็นวันศุกร์ สอนแค่ 2 วันก็ทำนาได้แล้ว และพาไปเยี่ยมชมนาคุณชัยพรครึ่งวันด้วยซ้ำ กลับเย็นวันอาทิตย์ไปทำนาเป็นแล้ว คนกลุ่มนี้ไม่มีที่นาก็ให้เราหาซื้อที่นาให้ เราก็ไปหาซื้อที่นาชาวบ้านให้ กลุ่มนี้จะเยอะขึ้น เพราะเขาอยากอิสระจากงานประจำ”

ประธานมูลนิธิข้าวขวัญกล่าวว่า เรามีทางเลือกที่ถูกต้องให้แล้ว แต่ชาวนาไม่เลือกเพราะถูกล้างสมอง เชื่อว่าถ้าไม่ถูกล้างสมองและโฆษณาได้เช่นกันในเวลาที่เท่าๆ กันชาวนาก็คงเลือก ถ้าไม่ให้โฆษณาก็ไม่เหมือนกัน แต่เราไม่มีเงินเหมือนบริษัทขายปุ๋ยขายยาฆ่าแมลง แบบนี้จึงเหมือนถูกมัดมือชก เขามีเงินทุนโฆษณาได้ทั้งวันทั้งคืน

“จริงๆ โครงการจำนำข้าวไม่ควรจะมีอยู่ เพราะทำให้ชาวนาไปหวังผิดๆ รัฐบาลไม่ต้องทำอะไรเลย แค่ห้ามไม่ให้โฆษณาก็ช่วยได้มากแล้ว จากนั้นชาวนาจะไปดูกันเองว่าทำนาแบบไหนที่ไหนดีก็ทำตามเขา ง่ายนิดเดียว ไม่เช่นนั้นจะแข่งกับเวียดนามกับพม่าได้อย่างไร ถ้าจะแข่งขันได้รัฐบาลต้องปล่อยให้คนของเราสู้กับเขาได้จริง ไม่ใช่อุ้ม ถ้าอุ้มจะเอาเงินที่ไหนมามากมาย เพราะไม่ได้ช่วยแต่ชาวนาอย่างเดียว”

ปัญหาของชาวนานั้น นอกจากเรื่องต้นทุนสูง มีความเสี่ยงโรคแมลง และคุณภาพข้าวแย่ จนทำให้ชาวนาเป็นหนี้สินล้นพ้น ต้องขายที่นาและลูกหลานทิ้งแล้ว ปัญหาเรื่องการที่ชาวนาไม่มีที่นาเป็นของตัวเอง ต้องเช่าที่เขาทำนา ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ต้องแก้ไข เพราะทำให้ชาวนามีต้นทุนเพิ่มขึ้น และไม่มีความมั่นคงในอาชีพ แต่อาจารย์เดชามองว่า ปัญหาเช่าที่นาเป็นเรื่องหลัง เพราะดูอย่างคุณชัยพรก็เช่าที่นา แล้วทำไมสามารถซื้อที่นาเป็นของตัวเองได้ตั้ง 108 ไร่ เพราะเขามีกำไร

ดังนั้น ถ้าชาวนามีกำไรก็สามารถซื้อที่นาเป็นของตัวเองได้เช่นกัน แต่ตอนนี้ยิ่งเช่ายิ่งขาดทุนก็ยิ่งไปใหญ่ เรื่องปัญหาเช่าที่นาก็ต้องทำ แต่ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนแบบที่ว่า ทำนาแบบผิดๆ เรื่องนี้ต้องเร่งแก้ไขก่อนเป็นอันดับแรก

“การทำนาแบบผิดๆ เป็นปัญหาเร่งด่วน แต่รัฐบาลกลับไม่ช่วยอะไรเลย มัวแต่จะไปช่วยที่ไม่ได้ผล คือไปช่วยอะไรที่ถ้าบริษัทปุ๋ยและบริษัทยาฆ่าแมลงไม่ว่าก็ช่วย อย่างโครงการจำนำข้าว บริษัทไม่ว่าและยิ่งชอบ แต่ถ้าห้ามโฆษณา บริษัทไม่ชอบ เพราะขายของไม่ได้ กลายเป็นว่าขึ้นอยู่กับบริษัท ถ้ารัฐบาลจะช่วยชาวนา ก็ควรห้ามโฆษณา ไม่ต้องสนใจบริษัทว่าจะมีกำไรหรือขาดทุน”

เพราะฉะนั้น หากยังปล่อยให้ชาวนาถูกล้างสมองแบบนี้ไปเรื่อยๆ และรัฐบาลไม่ให้ความสำคัญในการเร่งแก้ไขปัญหาเช่นนี้ อาจารย์เดชาฟังธงว่าคงต้องให้ชาวนา “ล่มสลาย” ไปก่อน เพราะสุดท้ายคือตัวชาวนาเองต้องช่วยตัวเอง ถ้าชาวนาไม่ช่วยตัวเองก็ไม่มีใครช่วยได้ จะรอให้รัฐบาลหรือใครมาช่วยคงไม่มีทาง

ดังนั้นชาวนาต้องช่วยตัวเองถึงจะรอด แล้วคนส่วนใหญ่ก็จะรอด และจะเป็นคนนอกวงการที่ต้องการอิสระที่จะมาแทนชาวนาแท้ ซึ่งปริมาณอาจจะน้อยลง แต่คุณภาพจะเพิ่มขึ้น

มิฉะนั้นอาจ “สิ้นนา สิ้นชาติ” ก็คราวนี้