จากการที่สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้มีการนำเสนอข่าว “ปมขัดแย้งผลประโยชน์ในการจัดสรรโควต้าของสลากกินแบ่งรัฐบาล” มาอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่นายสมชาติ วงศ์วัฒนศานต์ เข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2554 ต่อจากนายวันชัย สุระกุล ที่มีปัญหาสุขภาพจนต้องยื่นใบลาออก และเป็นช่วงจังหวะเวลาสัญญาตัวแทนจำหน่ายสลากฯ ทั้งหมด 8 ราย กำลังจะหมดอายุ
ในสมัยที่นางเบญจา หลุยเจริญ ประธานคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล (บอร์ด) ที่ประชุมบอร์ดมีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาตรวจสอบว่ามูลนิธิทั้ง 8 ราย ที่ได้รับการจัดสรรโควตาสลากฯ ไปขาย ทำตามระเบียบของสำนักงานสลากฯ หรือไม่ ปรากฏว่ามี 4 ราย ไม่ได้ทำตามระเบียบ จึงไม่ต่อสัญญาและโอนโควตาสลากกินแบ่งรัฐบาล 4 ล้านฉบับ ไปให้มูลนิธิสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นผู้จัดจำหน่ายทั้งหมดตามมติบอร์ด ทำให้ครอบครัวของทหารผ่านศึกขาดรายได้ และเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือ และล่าสุดบอร์ดสลากฯ แก้ปัญหาโดยพิมพ์สลากการกุศลชุดใหม่เพิ่ม 2 ล้านฉบับ ให้กับองค์การทหารผ่านศึกและสมาคมสงเคราะห์ทหารพิการผ่านศึกนำไปขายเป็นรายได้
แต่โควต้าสลากกินแบ่งรัฐบาล 4 ล้านฉบับที่ถูกยึดคืนมา และมีการจัดสรรโควตาออกไปให้กับตัวแทนจำหน่ายรายอื่นๆทำสัญญากับไว้ 2 ปี เป็นประเด็นเผือกร้อน เพราะมีผลประโยชน์จากการขายสลากเกินราคาคิดเป็นค่ามูลค่าหลายพันล้านบาท
ช่วงระยะเวลาแค่ 5 เดือน มีคนถูกเด้งออกจากตำแหน่งไปหลายคน ตั้งแต่นางเบญจา หลุยเจริญ ถูกโยกออกจากตำแหน่งและแต่งตั้งนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลังเข้ามาทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการสลากฯ แทน และยังลุกลามขยายวงไปถึงขั้นปลดนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และให้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีนั่งควบตำแหน่งขุนคลังแทน (อ่าน “ปมปลด”ธีระชัย” – คลังวงแตกแก้โควตาสลาก 4 ล้านใบ ‘กิตติรัตน์’ โยน ‘ทนุศักดิ์’ แก้ลำ หักดิบทหาร–ห้าเสือเอื้อนักการเมือง”และ“อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม” ปลัดคลัง สอบ ผอ. กองสลาก ออกโควตาล่วงหน้า 4 หมื่นเล่ม ปมปริศนาเงิน 250 ล้านล่องหน) และสุดท้ายหวยก็เลยมาออกที่นายสมชาติ วงศ์วัฒนศานต์ ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลตามความคาดหมาย
เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2555 ปลัดกระทรวงการคลังทำหนังสือเลิกจ้างส่งตรงถึงนายสมชาติอย่างเป็นทางการ พอช่วงเช้าของวันที่ 12 เมษายน 2555 สหภาพแรงงานสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พร้อมกับพนักงานอีกหลายร้อยคน นัดชุมนุมหน้าสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เพื่อให้กำลังใจนายสมชาติ
สหภาพแรงงานสำนักงานสลากฯ เชิญนายสมชาติขึ้นเวทีชี้แจงกรณีที่กระทรวงการคลังมีคำสั่งเลิกจ้างกับพนักงาน โดยนายสมชาติกล่าวว่า “ข้อหาของผมคือไม่ทำตามนโยบาย ซึ่งผมพิจารณาดูแล้ว ถ้าผมทำตาม ทั้งผมและสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจะถูกบริษัทคู่สัญญาฟ้องเรียกค่าเสียหาย เพราะไปบอกเลิกสัญญากับตัวแทนจำหน่ายสลากฯ ผมก็บอกบอร์ดไปหลายครั้งแล้ว ขอให้บอร์ดสลากฯ มีมติออกมา แต่บอร์ดสลากก็ไม่ทำ มาบีบให้ผมทำ ส่วนข้ออ้างที่ว่าผมไม่มีภาวะผู้นำ ผมทำงานที่นี่มา 37 ปี เพื่อนๆ พนักงานทุกคนรู้จักผมดีว่ามีภาวะผู้นำหรือไม่ แต่เรื่องนี้มันมีอะไรลึกๆ หลายอย่าง ไม่สามารถพูดคุยกันในที่สาธารณะนี้ได้ เพราะอาจจะถูกฟ้องหมิ่นประมาท”
หลังจากนั้น นายสมชาติได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวไทยพับลิก้า ถึงเบื้องลึกของการปลดออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการสลากกินแบ่งรัฐบาล
ไทยพับลิก้า : กรณีคลังมีคำสั่งเลิกจ้าง ต้นเหตุมาจากเรื่องการจัดสรรโควตาหวยใช่ไหม
การจัดสรรโควตาสลากฯ เริ่มมีปัญหาขัดแย้งกันมาตั้งแต่ปลายปี 2554 ขอเรียนว่าถ้าเกี่ยวกับการจัดสรรโควตาต้องมีมติบอร์ดรองรับ ผู้อำนวยการสำนักงานสลากฯ ไม่สามารถทำได้โดยพลการ และหลังจากผมทำตามที่บอร์ดมีมติไปแล้ว ทำเรื่องเสนอบอร์ดกลับเข้าไปใหม่ ปรากฏว่าบอร์ดไม่รับรองนานกว่า 2 เดือน แต่ข้อเท็จจริงสลากฯ ต้องพิมพ์ออกขายทุก 15 วัน ไม่มีคนมารับไปขายไม่ได้ จากนั้นก็บีบให้ผมบอกเลิกสัญญากับตัวแทนจำหน่ายสลากฯ หากจะให้ผมทำผมก็ไม่ขัดข้อง แต่ต้องออกเป็นมติบอร์ด
สลากฯ ที่มีปัญหาล็อตนี้ประมาณ 4 ล้านฉบับ เป็นสลากกินแบ่งรัฐบาล ไม่ใช่สลากการกุศล ได้ทำสัญญากับตัวแทนจำหน่ายไปแล้ว สัญญามีอายุ 2 ปี อย่างไรก็ตาม ผมก็แก้ไขปัญหาโดยการหาโควตาสลากการกุศลให้กับองค์การทหารผ่านศึกไปแล้ว แต่ยังไม่ยอมหยุด ทั้งๆ ที่เคลียร์โดยหาโควตาสลากฯ ให้ทหารผ่านศึกไปแล้ว ยังจะเอาเรื่องนี้ให้ได้อีก
ไทยพับลิก้า : โควตาสลาก 4 ล้านฉบับ มีความเป็นมาอย่างไร
เดิมที่โควตาสลากฯ เป็นของมูลนิธิและองค์กรการกุศล 8 แห่ง เป็นโควตาขององค์การทหารผ่านศึก 2.6 ล้านฉบับ ส่วนที่เหลืออีก 1.4 ล้านฉบับ เป็นของ 7 หน่วยงาน ซึ่งมีมูลนิธิสำนักงานสลากฯ รวมอยู่ด้วย พอดีสัญญาโควตาสลากฯ กำลังจะหมดอายุ บอร์ดจึงมีมติให้ตั้งอนุกรรมการฯ เข้าไปตรวจสอบทั้ง 8 ราย ว่าทำถูกต้องตามระเบียบของสำนักงานสลากฯ หรือไม่ ปรากฏว่ามีอยู่ 4 ราย ทำถูกต้องตามสัญญา ส่วนอีก 4 ราย ผิดระเบียบ ก็ไม่ต่อสัญญาตัวแทนจำหน่ายให้
คำถามต่อมา คือโควตาสลากฯ ของรายที่ทำผิดสัญญาทำอย่าไร คำตอบคือบอร์ดสลากอีกนั่นแหละ ที่มีมติให้โอนโควต้าสลากของรายที่ทำผิดสัญญามาให้มูลนิธิสลากกินแบ่งรัฐบาลทั้งหมด ผมไม่ได้ทำตามอำเภอใจ จากนั้นมูลนิธิของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจะจัดสรรโควตาสลากฯ ต่อไปให้ตัวแทนใดเป็นอำนาจของเขา ไม่เกี่ยวกับผม ผมเพียงแต่นำเรื่องเข้าสู่บอร์ด ฐานะคณะอนุกรรมการฯ และบอร์ดเคยมีมติดังกล่าวออกเท่านั้น แต่ที่มาเป็นปัญหา คือจะมาบีบให้ผมบอกเลิกสัญญากับตัวแทนจำหน่ายสลากฯ ทั้งๆ ที่ทำสัญญาผูกพันไปแล้ว โดยอ้างเหตุผลว่ามติบอร์ดยังไม่สมบูรณ์บ้าง อะไรบ้าง
ขณะที่สลากกินแบ่งรัฐบาลต้องพิมพ์ออกมาขายทุกๆ 15 วัน ที่ผ่านมา สำนักงานสลากฯ ก็ไม่เคยมีระเบียบว่าต้องส่งให้บอร์ดรับรองอีกครั้งถึงจะขายได้ เพราะเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างรวดเร็ว และทำกันมาจนเป็นธรรมเนียมปฎิบัติ หากจะแก้ไขใหม่ต้องทำเรื่องเข้าบอร์ด ขอให้ยกเลิกมติหรือทบทวนมติเดิม ซึ่งกรรมการในบอร์ดทุกคนสามารถทำเรื่องเสนอที่ประชุมได้เองเลย แต่ไม่ยอมทำ
ไทยพับลิก้า : จะฟ้องปลัดกระทรวงการคลังหรือไม่
รู้สึกว่าจะยาก เพราะสัญญาว่าจ้างผมเป็นแบบฟอร์มมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ใช้กับผู้บริหารรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง ระบุว่าผู้ว่าจ้างสามารถบอกเลิกโดยการแจ้งล่วงหน้า 1 เดือน โดยไม่ถือว่าเป็นความผิดของผู้ว่าจ้าง ข้อนี้เปิดช่องให้ฝ่ายบริหารเลิกจ้างได้ แต่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อน 1 เดือน และจ่ายค่าชดเชย 6 เดือน ไม่รู้นะ ผมอาจจะคิดเข้าข้างตัวเอง กล่าวคือ ถ้าจะใช้วิธีการประเมินผลงาน คงเล่นงานผมไม่ได้ สุดท้ายจึงมาใช้ช่องทางนี้ พร้อมกับกล่าวอ้างเหตุผลขึ้นมาลอยๆ ว่า ผมไม่มีภาวะผู้นำ ในทางข้ามต้องถามกลับไปว่า คนที่พูดมีภาวะผู้นำหรือเปล่า ส่วนจะฟ้องหรือไม่ ผมต้องขอปรึกษาฝ่ายกฏหมายก่อน แต่อย่างน้อยต้องขอความเป็นธรรม
ที่กล่าวมาทั้งหมดคือที่มาของปมปัญหา ลึกๆ มากกว่านี้คงจะพูดไม่ได้ แต่ผมยืนยันว่าไม่เคยไปวิ่งขอตำแหน่งผู้อำนวยการจากใคร เพราะตอนแต่งตั้งผมบอร์ดก็ไม่ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ โดยมีกรรมการถึง 3 ท่าน ที่ไม่เห็นด้วย ขณะเดียวกันมีเสียงสนับสนุนผม 5 ท่าน และผมไม่เคยรับผลประโยชน์จากใคร แม้แต่สตางค์เดียวก็ไม่เคยแตะ เพราะถ้ามีหลักฐานผมถูกเล่นงานไปนานแล้ว นับจากวันที่ 11 เมษายน 2555 เป็นต้นไป ผมคงทำหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานสลากฯ ต่อไปได้อีก 30 วัน ถ้าไม่ทำหน้าที่ต่อไป ก็ถือว่าผมทำผิดสัญญา