ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > “อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม” ปลัดคลัง สอบ ผอ. กองสลาก ออกโควตาล่วงหน้า 4 หมื่นเล่ม ปมปริศนาเงิน 250 ล้านล่องหน

“อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม” ปลัดคลัง สอบ ผอ. กองสลาก ออกโควตาล่วงหน้า 4 หมื่นเล่ม ปมปริศนาเงิน 250 ล้านล่องหน

26 กุมภาพันธ์ 2012


นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง ที่มาภาพ: http://124.109.24.121/vayupak/images/news/fulls/001-20120111131543.jpg
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง ที่มาภาพ: http://124.109.24.121/vayupak/images/news/fulls/001-20120111131543.jpg

การลาออกจากเก้าอี้ประธานคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลของนางเบญจา หลุยเจริญ อธิบดีกรมสรรพสามิต เมื่อเดือนธันวาคม 2554 ก่อนที่นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง จะรับเผือกร้อนเข้ามานั่งแทน ถือเป็น “เงื่อนปม” แห่งความขัดแย้งที่สำคัญ อันเกิดจากการจัดสรรโควตาสลากล็อตใหญ่ 4 หมื่นเล่ม

ในเมื่อเก้าอี้คณะกรรมการสลากฯ ล้วนเป็นที่หมายตาของทุกกลุ่มผลประโยชน์ เพราะกองสลากคือขุมทรัพย์มหาศาลทางการเมืองที่ทุกฝ่ายต่างจ้องจะเข้ามากอบโกย แต่นางเบญจากลับนั่งเป็นประธานได้เพียงไม่ถึง 3 เดือน ก็ต้องลาออก หมายความว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นต้องรุนแรงถึงขั้น “แตกหัก”

กองสลากในช่วงที่มีนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เป็น รมว.คลัง ได้ตั้งนางเบญจา เข้ามากุมบังเหียนเมื่อเดือนกันยายน 2554 ก่อนบอร์ดจะมีมติยึดคืนสลากที่เคยจัดสรรให้มูลนิธิและองค์กรการกุศล 8 แห่ง 4 หมื่นเล่ม หรือ 4 ล้านใบ กลับเข้ามาอยู่ในอ้อมอกของ “มูลนิธิสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล” ซึ่งก็คือมือไม้ของรัฐบาลเอง

โควตาล็อตนี้ถือเป็นกุญแจไขปริศนาทั้งหมด เพราะเจือด้วยผลประโยชน์มหาศาลมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลก่อน และได้ “สวิง” กลับมาอยู่กับรัฐบาลพรรคเพื่อไทย โดยอ้างเหตุผลว่า มูลนิธิเหล่านี้ส่วนใหญ่ทำผิดสัญญา ไม่ได้ขายให้แก่รายย่อย กลับนำไปให้กับยี่ปั๊ว ซาปั๊ว รายใหญ่แห่งสี่แยกคอกวัว

บอร์ดสลากชุดของนางเบญจาได้มีการตั้ง “คณะทำงานตรวจสอบหลักฐาน” เพื่อสาวไส้บรรดาองค์กรการกุศลทั้งหมด ก็พบเอกสารข้อเท็จจริงว่า มูลนิธิขนาดใหญ่อย่าง องค์การทหารผ่านศึกและสมาคมทหารผ่านศึกพิการ มีการนำโควตาสลากล็อตนี้ไปขายให้แก่กลุ่ม “ห้าเสือกองสลาก”

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการทำสัญญาขายโควตา “ล่วงหน้า” เพราะคิดว่าตัวเองจะได้รับอนุมัติให้ต่อสัญญาที่ใกล้จะหมดในวันที่ 16 ตุลาคม 2554 ซึ่งตามข้อมูลของกองสลากอ้างว่า มีการเรียกเก็บเงินส่วนต่างจากพ่อค้า หรือที่รู้จักกันดีว่าเป็นวิธีการ “เทคอม” เป็นเวลา 1 ปี

เมื่อได้หลักฐานชัดเจนขนาดนั้น บอร์ดสลากชุดของนางเบญจาจึงมีคำสั่งยึดคืนโควตาองค์กรการกุศลและมูลนิธิ 8 แห่ง เป็นการชั่วคราวจำนวน 5 งวด ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน – 30 ธันวาคม 2554 นำไปให้มูลนิธิสลากกินแบ่งรัฐบาลที่มีนายชัยวัฒน์ พสกภักดี เป็นประธาน จัดจำหน่ายแทนทั้งหมด 4 ล้านใบ

หน่วยงานที่ถูกยึดโควตาชั่วคราว นอกจากทหารผ่านศึก 2 องค์กรแล้ว ยังมีมูลนิธิเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล, มูลนิธิ พล.อ.จินดา ณ สงขลา ของสำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.), มูลนิธิโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์, สมาคมกีฬาคนพิการ และมูลนิธิสงเคราะห์และฟื้นฟูสมรรถภาพเด็กพิการ เป็นต้น

ในช่วงที่มีการยึดโควตาชั่วคราวมานั้น ได้เกิดปรากฎการณ์ “ฝุ่นตลบ” ทั้งที่กองสลากและพรรคเพื่อไทย เพราะหน่วยงานที่ถูกยึดโควตาไปต้องการสินค้ากลับคืน จึงทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้ ขณะที่พ่อค้าซึ่่งหมายตาโควตาลอตนี้ไว้ในมือก็มีการวิ่งไปซบหน้าตักของนักการเมือง

ไฮไลต์ของปัญหานี้คือ บอร์ดสลากชุดที่มีนางเบญจาเป็นประธานได้มีมติเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2554 ให้เปลี่ยนวิธีการยึดคืนโควตาสลากแบบ “ชั่วคราว” เป็นการยึดแบบ “ถาวร” ตลอดไป จำนวน 28,238 เล่ม จาก 4 องค์กรการกุศล ประกอบด้วยองค์การทหารผ่านศึกและสมาคมทหารผ่านศึกพิการ 2.6 หมื่นเล่ม, มูลนิธิเวชศาสตร์เขตร้อน 2,000 เล่ม และมูลนิธิ พล.อ.จินดา ณ สงขลา 238 เล่ม

ส่วนอีก 4 มูลนิธิที่เหลือ ซึ่งเคยถูกควบคุมไว้เป็นตัวประกันด้วยจำนวนประมาณ 1 หมื่นเล่มเศษ บอร์ดมีมติให้จัดสรรคืนกลับไปต้นสังกัดทั้งหมด

แน่นอนว่า มติบอร์ดที่ออกมาสร้างความไม่พอใจให้กับบรรดาทหารหาญที่เคยได้รับการจัดสรรโควตามายาวนานอย่างรุนแรง ขณะที่ยี่ปั๊วรายใหญ่ที่กุมบังเหียนอยู่ข้างหลังก็ไม่พอใจ เพราะได้ “ควักเนื้อ” เทคอมก้อนมโหฬารไปหมดแล้ว

ขณะเดียวกันมีรายงานว่า ผู้กุมบังเหียนในพรรคเพื่อไทยอย่างเจ๊แดง เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ไม่พอใจถึงขนาดเอ่ยปากเรื่องโควตาสลากกลางที่ประชุมผู้บริหารพรรคว่า โควตาล็อตใหญ่ขนาดนี้ ทำไมทางพรรคจึงไม่รู้เรื่องและไม่ได้รับรายงานใดๆ จากทาง รมว. คลังเลย

มีการถามล้วงลึกถึงขนาดว่า โควตา 4 หมื่นเล่ม ที่ทางนายธีระชัยและนางเบญจายึดจากองค์กรการกุศลมานั้น ถูกนำไปจัดสรรให้ใครและมีผลประโยชน์ด้วยหรือไม่?

เรื่องนี้เป็นประเด็นหนึ่งที่สร้างแรงกดดันอย่างหนักให้แก่นายธีระชัย นอกเหนือไปจากความขัดแย้งถึงขั้น “งัดข้อ” กับนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เรื่องการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) โอนหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินไปให้กับธนาคารแห่งประเทศไทย

มรสุมจึงรุมเร้าตัวนายธีระชัยอย่างหนักในช่วงเดือนธันวาคม 2554 ที่ผ่านมา และถือเป็น “ฟางเส้นสุดท้าย” อันนำไปเป็นชนวนในการปลดออกจากตำแหน่ง รมว. คลัง ปิดฉาก “มิสเตอร์ที” ที่คนในแวดวงตลาดทุนเคยตั้งฉายาให้จากการทำหน้าที่องค์รักษ์พิทักษ์หุ้นของ พ.ต.ท.ทักษิณ

หลังจากเก้าอี้ของนายธีระชัยร้อนฉ่า ทางด้านนางเบญจาก็ได้ประกาศลาออกจากเก้าอี้ประธานบอร์ดสลากฯ ตามมา ในวันที่ 23 ธันวาคม 2554 และมีการตั้งนายอารีพงศ์ ปลัดกระทรวงการคลัง มานั่งตำแหน่งนี้แทน เพื่อสะสางปัญหาที่ยังค้างคาอยู่ให้หมด

แต่เผือกร้อนไม่ได้เย็นลงแต่ประการใด เพราะเมื่อนายอารีพงศ์เข้ามาก็เรียกประชุมบอร์ดสลากฯ ชุดใหม่ในเดือนมกราคม 2555 แต่บอร์ดยังคงเป็นหน้าเดิมๆ เพราะไม่มีการเปลี่ยนตัวกรรมการแม้แต่คนเดียว หนึ่งในนั้นรวมถึง พล.ต.ต.สุรสิทธิ์ สังขพงศ์ อดีต ผอ.กองสลาก เพื่อนร่วมรุ่น พ.ต.ท.ทักษิณ อยู่ด้วย

มีการคาดหมายว่า บอร์ดสลากชุดใหม่นี้ได้รับ “ใบสั่ง” มาจากฝ่ายการเมืองที่้ต้องการล้มกระดานการจัดสรรโควตาสลากที่นายธีระชัยเคยจัดการเอาไว้ใหม่หมด เพราะมองว่านายธีระชัยทำไปโดยพลการ ไม่ได้ผูกปิ่นโตกับทางพรรคเพื่อไทย

จึงมีการคาดหมายกันว่า นายอารีพงศ์น่าจะเดินเกมเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน แลกกับการรั้งเก้าอี้ตำแหน่งใหญ่ในกระทรวงการคลังต่อไป เพราะเคยมีข่าวว่านายอารีพงศ์ซึ่งเป็นคนของนายกรณ์ จาติกวณิช อดีตขุนคลังฝ่ายตรงข้าม จะถูกปลดกลางอากาศหลายครั้งหลายครา แต่ก็รอดมาได้ตลอด

โดยนายอารีพงศ์เรียกประชุมบอร์ดสลากฯ นัดแรกก็ต้องตกตะลึงเมื่อพบว่า “โควตา” ที่ยึดมาแบบถาวรแล้ว 28,238 เล่มนั้น ทางมูลนิธิสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล มีการจัดสรรให้คู่ค้าพร้อมทำสัญญาขายไปหมดแล้ว ไม่เหลือแม้แต่ซี่โครงเดียวให้เห็น

ในการประชุมครั้งดังกล่าว นายสมชาติ วงศ์วัฒนศานต์ ผอ.กองสลาก ชี้แจงเหตุผลว่า ที่จัดสรรไปให้กับผู้ค้าหมดแล้ว เพราะได้รับอนุมัติการจัดจำหน่ายจากบอร์ดกองสลากตั้งแต่ในช่วงเดือนธันวาคม 2554 ซึ่งนางเบญจายังนั่งเป็นประธานที่หัวโต๊ะ

“สิ่งที่มีการถกเถียงกันมากก็คือ มติของบอร์ดสลากที่นางเบญจาอนุมัติไว้เมื่อ 14 ธันวาคม ยังไม่ได้มีการเซ็นรับรองมติการประชุมจากบอร์ดสลากเลยแม้แต่คนเดียว เพราะหลังจากที่นางเบญจาอนุมัติแล้วก็ลาออกไป ดังนั้นจึงเท่ากับว่า ผอ.กองสลากอาจมีการจัดสรรโควตาล่วงหน้าอย่างไม่ถูกระเบียบ” แหล่งข่าวระบุ

มีการประเมินกันว่า ถ้ามีการขายโควตาออกไปตามราคา “ขายส่ง” ในท้องตลาดขณะนี้ ฟันกำไรเล่มใหญ่เล่มละ 500 บาท ด้วยสัญญาขายล่วงหน้า 1 ปี จะมีเงินเข้ากระเป๋าคนที่อยู่เบื้องหลังทันทีไม่ต่ำกว่า 250 ล้านบาท และก็เป็นที่มาของการทวงจิกของผู้บริหารพรรคเพื่่อไทย เพราะเงินดังกล่าวยังเป็นปริศนาว่าอยู่ในมือของใคร ทำไมไม่เข้ามาเจือจุนพรรค

นายอารีพงศ์ยืนกรานในที่ประชุมบอร์ดสลากว่า ไม่สามารถไฟเขียวให้มีการจัดสรรโควตาล่วงหน้าได้และสั่งให้นายสมชาติ ผอ.กองสลาก ส่งเอกสารสัญญาทั้งหมดที่กองสลากทำกับมูลนิธิสลากฯ และสัญญาที่มูลนิธิสลากฯ ไปทำกับคู่ค้าไปแล้ว ให้กับสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นผู้ตรวจสอบว่าถูกต้องตามระเบียบกฎหมายหรือไม่

แม้ว่านายสมชาติและนายชัยวัฒน์ พสกภักดี ซึ่งกุมบังเหียนมูลนิธิสลากฯ จะยืนยันว่า ตามประเพณีของสำนักงานไม่จำเป็นที่ต้องรอให้บอร์ดเซ็นรับรองมติการประชุม เพียงแต่อนุมัติแนวทางก็ดำเนินการจัดสรรโควตาใหม่ได้เลย แต่ทางนายอารีพงศ์ก็ยังยึดมั่นกับการตัดสินใจเดิม และจะรอเอกสารรับรองจากทางอัยการสูงสุดก่อนที่จะตัดสินใจใดๆ ต่อไป

โดยจังหวะก้าวของนายอารีพงศ์ครั้งนี้ ได้รับแรงสนับสนุนจากบอร์ดซีกของ พล.ต.ต.สุรสิทธิ์ ที่มีความไม่พอใจการทำงานของนายสมชาติ ที่อดีต รมว.คลังอย่างนายธีระชัยเป็นผู้แต่งตั้งมาก่อนหน้านี้อยู่แล้ว ทำให้ขณะนี้ เก้าอี้ของนายสมชาติเหมือนอยู่ในขอนไม้ที่พร้อมจะปะทุไฟได้ตลอดเวลา

หากอัยการสูงสุดตีความว่า การจัดสรรโควตาล่วงหน้าของกองสลาก “ผิด” จะต้องมีการรื้อโควตาลอตนี้กันใหม่ อาจทำให้เก้าอี้ของนายสมชาติต้องกระเด็นกระดอนไป หลีกทางให้คนของ พล.ต.ต.สุรสิทธิ์ที่วางเอาไว้แล้วเสียบแทน

ไม่เพียงเท่านั้น หากอัยการสูงสุดตีความว่ากองสลากไม่มีอำนาจจัดสรรก่อนจะมีการรับรองมติบอร์ดอย่างถูกต้อง ก็จะนำไปสู่การฟ้องร้องไล่เบี้ยของบรรดาคู่ค้าที่ได้รับสลากตั้งแต่งวดวันที่ 16 มกราคม 2555 จำนวน 340 ราย ซึ่งทั้งหมดเป็นลูกค้าบุคคลและนอมินียี่ปั๊วเต็มไปหมด

ผลลัพธ์ที่ออกมาจะไม่ต่างอะไรกับสำนวนที่ว่า “เละเป็นโจ๊ก” เพราะคู่ค้าที่ไม่พอใจจะมีการแฉโพยว่ากว่าจะได้โควตานี้มาต้องทำอย่างไรบ้าง แถมคู่ค้าเหล่านี้ยังต้องเสีย “สองต่อ” หรือ “สามต่อ” แทนที่จะเอาเวลาไปหารายได้ต้องมาวิ่งนับหนึ่งกับนักการเมืองใหม่อีกรอบ

โดยชื่อที่ปรากฎเข้าหูของคนในพรรคเพื่อไทยบ่อยๆ ถูกมองว่าเป็นคนใกล้ตัวนายธีระชัยที่ชื่อ เจ๊ตุ๋ย หรือ นางรวิฐา พงศ์นุชิต อดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ที่เข้ามาเป็นหัวหน้าผู้ประสานงาน รมว.คลัง สามารถประสานได้ทุกเรื่อง และอาจจะรวมเรื่องงานของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลด้วย

ขณะที่อีกชื่อซึ่งพรรคเพื่อไทยมองว่ามาแรงมาก คือยี่ปั๊วใหม่สดหมาดๆ อย่าง “ผู้กองตุ๋ย” หรือ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เจ้าของบริษัท ธรรมนัสการ์ด และผู้ใกล้ชิดกับ น.ส.ขวัญฤดี กนิษฐสุต ลูกสาวบุญธรรมของเจ๊แดง ปลื้มจิตต์ กนิษฐสุต อดีตห้าเสือกองสลากที่ขณะนี้กลายเป็นเสือลำบากทางธุรกิจลอตเตอรี่ไปแล้ว

ร.อ.ธรรมนัสคือยี่ปั๊วรายใหม่ เป็นเสือตัวที่หกที่ในขณะนี้มีโควตาในมือมากกว่า 1 ล้านใบแล้ว แถมมีแบ็คอัพชั้นดีอย่าง พล.อ.ไตรรงค์ อินทรทัต เพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร 10 รุ่นเดียวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ และผู้กว้างขวางทั้งในแวดวงการเมืองและการทหาร

ทางออกที่มีการเสนอกันเพื่อให้ “วิน-วิน” ด้วยกันทุกฝ่ายก็คือ ให้สำนักงานสลากจัดสรรโควตาใหม่ไปคืนแก่องค์กรการกุศลและมูลนิธิที่ถูกตัดไป หรือไม่ก็ออกโควตาใหม่สนองฝ่ายการเมือง ซึ่งเห็นเวทีนี้เป็น “ตู้เอทีเอ็ม” สามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์ได้ไม่รู้จบ

ตัวเลขที่พูดกันก็คือ การออกโควตาลอตใหม่จำนวน 4 หมื่นเล่ม หรือ 4 ล้านใบ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งจะเป็นช่วงที่สลากราคาแพงและขาดตลาด น่าจะเป็นข้ออ้างในการพิมพ์เพิ่มได้เป็นอย่างดี แม้ขณะนี้จะมีการพิมพ์ออกมาถึง 68 ล้านใบ แต่ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว ก็ยังขายหมดเกลี้ยงแผง แสดงว่าความต้องการยังมีอยู่

ทางออกนี้น่าจะดีที่สุด แต่ขึ้นกับนายอารีพงศ์ว่าจะตัดสินใจอย่างไร และมีวาระงานที่ถูกกำหนดให้เดินอย่างไรจากทางรัฐบาล เพราะบันไดขั้นแรกน่าจะเป็นการตีวัวกระทบคราด ผอ.กองสลากคนปัจจุบัน ก่อนจะเปิดทางให้คนใหม่มานั่งแทน จากนั้นจะเริ่มบันไดขั้นต่อไป คือการรื้อกระดานโควตา เรียกยี่ปั๊วมาเจรจาใหม่

งานนี้ “วงใน” เท่านั้นถึงจะได้โควตา เพราะเจ๊ใหญ่แห่งพรรคเพื่อไทยลงมากำกับดูแลเอง แถมยังมีมือไม้ที่เคยทำงานให้ พ.ต.ท.ทักษิณกุมบังเหียนอีกชั้นหนึ่ง จึงไม่แปลกที่ขณะนี้ข้าราชการและผู้บริหารกองสลากจะอึดอัดคับข้องใจกันไปหมด เพราะการเมืองล้วงลูกจนปั่นป่วน

ทั้งล้วง ทั้งควัก ทั้งตัก ทั้งดูด เพราะรู้ดีว่าหวยออนไลน์ลงหลุมไปแล้ว และรัฐบาลชุดนี้ไม่อยากปลุกขึ้นมาให้คนด่าอีก เล่นตลาดลอตเตอรี่ก็มีกำไร ถึงจะน้อยแต่ก็ดีกว่าไม่ได้อะไรเลย