ThaiPublica > เกาะกระแส > “โสฬส” แจงทุกประเด็น ไม่ฝืนมติบอร์ด เดินหน้าปล่อยกู้ดอกเบี้ยคงที่ 5% อ้างลืมเปลี่ยนชื่อใหม่

“โสฬส” แจงทุกประเด็น ไม่ฝืนมติบอร์ด เดินหน้าปล่อยกู้ดอกเบี้ยคงที่ 5% อ้างลืมเปลี่ยนชื่อใหม่

28 มีนาคม 2012


ปมปัญหาความขัดแย้งในสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (แบงก์รัฐ) เริ่มก่อตัวขึ้นช่วงปลายปี 2554 หลังจากธนาคารโลกตรวจพบว่า แบงก์รัฐหลายแห่งหันไปปล่อยสินเชื่อรายใหญ่แข่งกับแบงก์เอกชน และยังมีการอนุมัติสินเชื่อให้กับลูกหนี้บางรายในลักษณะที่ผิดปกติ และถ้าหากเศรษฐกิจโลกประสบปัญหาเกิดการชะลอตัว อาจจะส่งผลกระทบตามมาในภายหลัง

ช่วงปลายปี 2554 ในสมัยนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จึงสั่งตัวแทนกระทรวงการคลังที่นั่งเป็นกรรมการตามแบงก์รัฐ ชะลอการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้ารายใหญ่ พร้อมกับแต่งตั้งคณะกรรมการเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการปล่อยสินเชื่อที่ผิดปกติ โดยเริ่มนำร่องที่ธนาคารออมสิน และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.)

จนกระทั่งมีการเปลี่ยนตัวขุนคลังเป็นนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ได้ไม่นานนัก ปรากฏว่า ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) โดยนายโสฬส สาครวิศว กรรมการผู้จัดการ ธพว. ถูกกระทรวงการคลังสั่งให้คณะกรรมการธนาคารแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท้จจริง ตามข้อเสนอแนะของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และข้อร้องเรียนของกระทรวงอุตสาหกรรม กรณีปล่อยสินเชื่อ “โครงการสินเชื่อชะลอการเลิกจ้างแรงงาน” เกินวงเงิน

รายงานผลการตรวจสอบของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีประเด็นหลักๆ คือ กรณีตกแต่งตัวเลขทางบัญชี กรณีอนุมัติสินเชื่อโครงการชะลอการเลิกจ้างแรงงานเกินวงเงินที่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการ การปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ไม่สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งกระทรวงการคลังต้องจัดงบประมาณมาเพิ่มทุนให้ ธพว. ภายในสิ้นปี 2555 อีก 3,500 ล้านบาท เพื่อให้ธนาคารใช้เป็นแหล่งทุนในการขยายธุรกิจต่อไป (อ่านเพิ่มเติม “หลักฐาน “เอ็มดีเอสเอ็มอีแบงก์” ฝืนมติบอร์ด อนุมัติเงินกู้ “โครงการสินเชื่อชะลอการเลิกจ้างฯ” เกินวงเงิน”)

และก่อนที่ธนาคารจะมีการประชุมคณะกรรมการในวันที่ 28 มีนาคม 2555 นี้ ธพว. ได้จัด “กิจกรรมเลี้ยงขอบคุณสื่อมวลชน ประจำปี 2555” ที่พัทยาเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2555 โดยไฮไลต์ของงานนี้เกิดขึ้นในช่วงค่ำ ธนาคารจัดงานแถลงข่าวในหัวข้อ “เจาะลึก เปิดใจ หนุ่มใหญ่ใจดี พี่โสฬส” เพื่อเปิดโอกาสให้นายโสฬสได้ชี้แจงประเด็นต่างๆ ตามที่ถูกกล่าวหา

นายโสฬส สาครวิศว กรรมการผู้จัดการ ธนาคารวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.)
นายโสฬส สาครวิศว กรรมการผู้จัดการ ธนาคารวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.)

เริ่มจากเรื่องการตบแต่งตัวเลขทางบัญชี ประเด็นนี้นายโสฬสชี้แจงว่า บัญชีงบดุลของธนาคารจะต้องผ่านการตรวจรับรองจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทุกปี ประเด็นนี้คงจะเป็นไปไม่ได้

ส่วนข้อกล่าวหาที่ว่า ธนาคารถอนเงินสำรองหนี้สงสัยจะสูญกลับมาเป็นรายได้แล้วนำไปจ่ายโบนัสให้พนักงาน ข้อเท็จจริงก็คือ ในปี 2552 ครม. มีมติให้ธนาคารของรัฐทุกแห่งจ่ายเงินเพิ่มพิเศษให้กับพนักงาน ธนาคารจึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการตามที่ ครม. มีมติ ส่วนแหล่งเงินที่นำมาจ่ายโบนัสนั้น ธนาคารใช้เงินสภาพคล่องของธนาคาร ไม่ได้ถอนเงินสำรองหนี้มาจ่ายโบนัสให้กับพนักงานตามที่เป็นข่าว

ต่อกรณีที่มีผู้ร้องเรียนผ่านกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวหาว่าตนฝ่าฝืนมติคณะกรรมการธนาคาร อนุมัติสินเชื่อ “โครงการสินเชื่อชะลอการเลิกจ้างแรงงาน” จนเกินวงเงินกว่าที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) นำมาฝาก ประเด็นนี้นายโสฬสได้ชี้แจงว่า “ผมไม่ได้ฝ่าฝืนมติบอร์ด และไม่ได้อนุมัติสินเชื่อเกินวงเงิน กล่าวคือ หลังจากที่ธนาคารอนุมัติสินเชื่อภายใต้โครงการนี้ไปจนครบวงเงินที่ สปส. นำมาฝากแล้ว ธพว. ยังคงดำเนินการอนุมัติสินเชื่อดอกเบี้ยคงที่ 5% ต่อไป เพียงแต่ไม่ได้เปลี่ยนชื่อโครงการใหม่เท่านั้น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิด คิดว่าธนาคารปล่อยสินเชื่อเกินวงเงินที่ สปส. นำมาฝาก ข้อเท็จจริงคือเป็นสินเชื่อโครงการใหม่ แต่ยังใช้ชื่อเดิมอยู่”

ส่วนกรณีที่ธนาคารเดินหน้าปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยคงที่ 5% เป็นระยะเวลา 5 ปี โดยที่ สปส. ไม่ได้นำเงินมาฝากกับธนาคารจะทำให้ธนาคารขาดทุนหรือไม่ นายโสฬส ตอบว่า “ไม่ขาดทุน แต่ก็ได้กำไรไม่มากนัก เนื่องจากแหล่งเงินที่ธนาคารนำมาใช้ในการปล่อยกู้ในอัตราดอกเบี้ย 5% นั้น ส่วนหนึ่งเป็นเงินงบประมาณแผ่นดินมีต้นทุนเท่ากับ 0% ซึ่งธนาคารได้รับการจัดสรรจากกระทรวงการคลังให้มาเพิ่มทุน และเมื่อนำมารวมกับแหล่งเงินปกติของธนาคารแล้ว จึงไม่มีผลทำให้ธนาคารขาดทุน กรณีนี้มีหลักการคล้ายกับของโครงการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยดอกเบี้ย 0%”

ส่วนกรณีที่มีข่าวว่าธนาคารปรับโครงการหนี้ให้กับลูกหนี้ 6-7 ครั้ง โดยที่ลูกหนี้ไม่ทราบเรื่อง หรือปรับโครงสร้างหนี้โดยไม่ได้พิจารณาถึงความสามารถในการชำระหนี้ นายโสฬสปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง เพราะก่อนที่จะมีการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ ธนาคารต้องเรียกลูกหนี้มาเซ็นสัญญา ซึ่งลูกหนี้เองก็ต้องทำให้ธนาคารเกิดความมั่นใจว่าสามารถปฎิบัติตามแผนการปรับโครงสร้างหนี้ได้ และจะต้องแสดงความตั้งใจจริง โดยการนำเงินมาชำระหนี้ให้กับธนาคารก้อนแรกก่อน ลูกหนี้ถึงได้รับการอนุมัติให้มีการปรับโครงสร้างหนี้

“ลูกหนี้บางราย เมื่อพิจารณาจากเงินทุนหมุนเวียนแล้วพอรับได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป 6 เดือน – 1 ปี ปรากฏว่าภาวะเศรษฐกิจเกิดการเปลี่ยนแปลง ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามแผนฯ ก็ต้องมาปรับแผนการกันใหม่ บางรายต้องผ่อนปรน เพราะถ้าเข้มงวดจนเกินไป ลูกหนี้ต้องถูกฟ้องล้มละลาย ปิดกิจการ ยกตัวอย่าง บางรายผลิตสินค้าชนิดหนึ่ง เมื่อดำเนินการไปแล้วไม่ประสบความสำเร็จ ก็ต้องเปลี่ยนมาผลิตสินค้าอีกชนิดหนึ่ง ปรากฏว่าทำไม่ได้อีก ก็ต้องปรับแผนกันใหม่ จริงๆ แล้วมันไม่มีมาตราฐานตายตัวว่าต้องปรับโครงสร้างหนี้ให้ครั้งเดียวแล้วต้องเอาอยู่ ปรับกัน 5-10 ครั้ง ก็ไม่มีปัญหา เพราะแบงก์พาณิชย์เอกชนเองก็ปรับกันหลายครั้ง” นายโสฬสกล่าว

นายโสฬสกล่าวต่อไปอีกกว่า การปรับโครงสร้างหนี้ ธนาคารไม่ได้นั่งเทียนก่อนที่จะปรับ แต่จะเชิญลูกหนี้มาหารือกันก่อน สอบถามกันให้แน่ใจว่าปัญหาอยู่ตรงไหน เพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขร่วมกัน จนกระทั่งลูกหนี้ทำให้ธนาคารเกิดความเชื่อมั่นว่าสามารถปฎิบัติตามแผนฯ ได้ถึงจะอนุมัติให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งธุรกิจเอสเอ็มอีส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่ค่อนข้างจะอ่อนแอ หากดำเนินการตามกฏหมายกันจริงๆ ก็ต้องปิดกิจการ ทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจและสังคมตามมา

ส่วนกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประมาณการว่า ภายในสิ้นปี 2555 เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารจะปรับตัวลดลงเหลือ 3.03% ทำให้กระทรวงการคลังต้องหาเงินมาเพิ่มทุนให้กับธนาคารอีก 5,000 ล้านบาทนั้น นายโสฬสกล่าวว่า สัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง(Bis ratio) ขณะนี้อยู่ที่ 7% ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ 8.5% โดยธนาคารได้ทำเรื่องขอให้กระทรวงการคลังหางบประมาณมาเพิ่มทุนให้ธนาคาร 5,000 ล้านบาท ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2554 แต่เพิ่งจะมาได้รับการจัดสรรงบฯ แค่ 600 ล้านบาท ในปีงบฯ 2555 ส่วนในปีงบฯ 2556 ที่กำลังจะเริ่มในเดือนตุลาคม 2555 ธนาคารทำเรื่องของบฯ ไปที่กระทรวงการคลัง 4,400 ล้านบาท

“ล่าสุดได้รับแจ้งจากกระทรวงการคลังว่าจะจัดสรรงบฯ มาเพิ่มทุนให้กับธนาคารแค่ 3,500 ล้านบาท หากได้รับการจัดสรรงบฯ ตามจำนวนดังกล่าว คาดว่าจะทำให้สัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารขึ้นไปอยู่ที่ 9-10% ซึ่งคำนวณภายใต้สมมุติฐานธนาคารมีการขยายสินเชื่อปี 2555 วงเงิน 10,000 ล้านบาท”