เดือนเด่น นิคมบริรักษ์
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวคราวเกี่ยวกับการที่บริษัทเอกชนรายหนึ่ง เสนอโทรศัพท์มือถือไอโฟนรุ่น 4s แก่กรรมการในคณะกรรมการกำกับกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคม (กสทช.) เป็นของขวัญวันปีใหม่ พร้อมทั้งให้เป็นของจับสลากในงานปีใหม่ของพนักงาน กสทช. อีกด้วย
ผู้เขียนเองก็มีประสบการณ์โดยตรง เนื่องจากมีผู้ที่รู้จักเสนอว่าสามารถหา ไอโฟน 4s จากญาติที่เป็นพนักงาน กสทช. มาให้ได้ในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด ซึ่ง ณ เวลานั้น โทรศัพท์มือถือดังกล่าวไม่มีจำหน่ายในตลาด ต้องจองคิวกับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ ซึ่งคิวก็เต็มหมดทุกราย
ผู้เขียนมิได้สอบถามรายละเอียดข้อเท็จจริง เพราะได้ตอบปฏิเสธไปตั้งแต่แรกเพราะเห็นว่า การได้มาซึ่งสิ่งของที่มีมูลค่าสูงภายใต้เงื่อนไขที่ดีกว่าที่ประชาชนทั่วไปได้รับ โดยใช้สายสัมพันธ์ส่วนตัวกับผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่เ ป็นผู้กำกับดูแลนั้นไม่น่าจะเหมาะสม
ผู้เขียนเห็นว่า การไม่ปฏิเสธผลประโยชน์ในรูปแบบของสิทธิพิเศษที่ธุรกิจภายใต้การกำกับโดยตรงหยิบยื่นให้ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการลองใช้สินค้า (แบบถาวร หรือ ชั่วคราวก็ตาม) สิทธิในการซื้อสินค้าในราคาที่ต่ำกว่าที่ประชาชนทั่วไปต้องซื้อ หรือ สิทธิในการได้มาซึ่งสินค้า ในขณะที่ประชาชนทั่วไปไม่สามารถหาซื้อได้นั้น แม้อาจไม่ขัดกับกฎหมายที่มีอยู่ แต่ก็ขัดกับหลักจริยธรรมที่ผู้ที่ปฎิบัติหน้าที่กำกับดูแลพึงมี
อนึ่ง หน่วยงานกำกับดูแลด้านกิจการโทรคมนาคมของสหรัฐอเมริกา หรือ FCC มีข้อห้ามมิให้กรรมการและพนักงานขององค์กรรับผลประโยชน์ใดๆ จากบุคคลที่มิใช่ญาติ หรือ มิตรสหาย ยกเว้นในกรณีที่ผลประโยชน์ดังกล่าว มีมูลค่าต่ำกว่า 20 เหรียญ สรอ. หรือ 600 บาท
นอกจากนี้ การรับของกำนัลหรือผลประโยชน์ในรูปแบบอื่นใดแต่ละครั้ง จะต้องมีการแจ้งรายละเอียดเพื่อลงบันทึกเป็นทางการด้วย เนื่องจากในรอบหนึ่งปีนั้น กรรมการ ผู้บริหารและพนักงานของ FCC ไม่สามารถรับผลประโยชน์จากธุรกิจเอกชนได้เกิน 50 เหรียญ สรอ. หรือเพียง 1,500 บาท
นิยามของคำว่า “ผลประโยชน์” ที่ FCC (และหน่วยงานราชการอื่นๆ ของสหรัฐอเมริกา) ใช้ รวมถึงสิทธิพิเศษใดๆ ที่มีมูลค่าทางการเงิน เช่น การได้รับสิทธิในการกู้ยืมเงินในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าอัตราในตลาด หรือ ภายใต้เงื่อนไขที่ดีกว่าเงื่อนไขที่ให้แก่บุคคลทั่วไป หรือ การได้รับสัญญาการจ้างงานเมื่อหมดวาระจากการดำรงตำแหน่งในหน่วยงานกำกับดูแลแล้ว เป็นต้น
นอกจากนี้แล้ว กรรมการ และ ผู้บริหารระดับสูงของ FCC ยังอยู่ในรายชื่อของผู้ที่ต้องเปิดเผยทรัพย์สินต่อสาธารณชนเช่นเดียวกับนักการเมือง สมาชิกสภา และ ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐอื่นๆ ภายใต้กฎหมาย Lobby Disclosure Act อีกด้วย
เป็นที่น่ายินดีว่า กรรมการ กสทช. บางท่านมีดำริให้มีการกำหนดมาตรฐานจริยธรรมของพนักงานขององค์กรเฉกเช่นหน่วยงานกำกับดูแลในต่างประเทศ ทั้งนี้ ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด โดยธรรมจรรยาของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. 2543 ซึ่งบังคับใช้แก่หน่วยงานรัฐทุกแห่งนั้นยังมีจุดอ่อนบางประการ
ประกาศดังกล่าวกำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่สามารถรับทรัพย์สินที่มีมูลค่าเกิน 3,000 บาท ในแต่ละโอกาสจากบุคคลอื่นที่มิใช่ญาติ และหากจำเป็นต้องรับเพื่อรักษามิตรภาพ ก็ต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบ เพื่อที่จะพิจารณาความเหมาะสม (ในกรณีของกรรมการ กสทช. นั้น ต้องแจ้งให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งและถอดถอนทราบ ซึ่งคือ วุฒิสภา) ประกาศดังกล่าวยังมีจุดอ่อนบางประการ
ประการแรก ไม่มีการกำหนดมูลค่าของผลประโยชน์สูงสุดที่กรรมการ ผู้บริหาร และ พนักงานขององค์กรของรัฐสามารถรับได้ในแต่ละปี
ประการที่สอง ซึ่งสืบเนื่องมาจากข้อหนึ่ง ไม่มีข้อกำหนดให้มีการบันทึกรายละเอียดของผลประโยชน์ที่รับในแต่ละโอกาสทำให้ตรวจสอบได้ยาก
และข้อสุดท้าย ประกาศดังกล่าวมิได้ห้ามมิให้คู่สมรสหรือบุตรรับผลประโยชน์จากธุรกิจที่กำกับดูแล
พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 แม้จะกำหนดให้กรรมการ กสทช. เป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งทำให้ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตนและคู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ แต่มิได้กำหนดให้ผู้บริหารระดับสูงของ กสทช. เช่น เลขาธิการ และ รองเลขาธิการ เป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง จึงไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน และกฎหมายของ ปปช. ก็กำหนดให้มีการเปิดเผยทรัพย์สินต่อสาธารณชนเฉพาะสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเท่านั้น ซึ่ง ได้แก่ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. และ ส.ว. แต่ถ้าเป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง จะเปิดเผยได้ก็ต่อเมื่อเจ้าตัวยินยอม หรือศาลมีคำสั่งให้เปิดเผยเท่านั้น ดังนั้น ในภาพรวมแล้ว กฎ กติกาในการป้องกันปัญหาการทับซ้อนของผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่ของรัฐในประเทศไทย ยังไม่เข้มงวดเท่าใดนัก
กสทช. เป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลธุรกิจโทรคมนาคมที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ และผลประโยชน์ทางธุรกิจอันมหาศาล การสร้างความน่าเชื่อถือขององค์กรจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง ข่าวคราวในสัปดาห์ที่ผ่านมาทำให้ภาพลักษณ์ขององค์กรตกต่ำลงในสายตาของสาธารณชน ผู้เขียนหวังว่ากรรมการ กสทช. คงจะให้ความสำคัญแก่การกู้ภาพลักษณ์ขององค์กร โดยการผลักดันให้มีมาตรฐานจรรยาบรรณของ กรรมการ ผู้บริหาร และ พนักงานขององค์กร รวมถึง กฎ ระเบียบต่างๆ เกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อน และ ความโปร่งใสในการปฏิบัติหน้าที่ เช่น การเปิดเผยข้อมูล หรือ การติดต่อ สื่อสารกับธุรกิจที่กำกับดูแล ตามที่เป็นมาตรฐานสากล
ผู้เขียนเชื่อว่า การออก กฎ กติกาเหล่านี้ไม่น่าจะยากเกินไปสำหรับกรรมการและ ผู้บริหาร กสทช. ที่ได้มีโอกาสได้ดูงานในต่างประเทศมาหลายครั้งแล้ว และ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เองก็ได้ศึกษาเกี่ยวกับแนวทางในการสร้างความน่าเชื่อถือของหน่วยงานกำกับกิจการโทรคมนาคม ในโครงการแนวทางปฏิรูประบบโทรคมนาคมของประเทศไทย ที่ได้รับทุนจากสำนักกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2545 ทั้งหมดนี้น่าจะขึ้นอยู่กับกรรมการ กสทช. ทั้ง 11 ท่านว่าจะให้ความสำคัญแก่การยกระดับมาตรฐานจริยธรรมและธรรมาภิบาลขององค์กรมากน้อยเพียงใดเท่านั้น