ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์: “สหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP ไทย เผยเหตุ ‘ไม่คุ้มครองแรงงาน’ เตรียมเจรจาทบทวนสิทธิ” และ “สหรัฐฯ ประกาศ ผู้นำไอเอสเสียชีวิตแล้ว”

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์: “สหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP ไทย เผยเหตุ ‘ไม่คุ้มครองแรงงาน’ เตรียมเจรจาทบทวนสิทธิ” และ “สหรัฐฯ ประกาศ ผู้นำไอเอสเสียชีวิตแล้ว”

2 พฤศจิกายน 2019


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 26 ต.ค. – 1 พ.ย. 2562

  • สหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP ไทย เผยเหตุ “ไม่คุ้มครองแรงงาน” เตรียมเจรจาทบทวนสิทธิ
  • อาลัย “เดือนเด่น นิคมบริรักษ์” นักวิชาการทีดีอาร์ไอ เสียชีวิต
  • ปารีณาพาชาวบ้านร้องขอที่ดินคืนจากแม่ธนาธร 500 ไร่ เจ้าตัวยินดี ขอเวลาดำเนินการ
  • มงคลกิตติ์ยอมรับ “รู้เท่าไม่ถึงการณ์” นำสารประกอบระเบิดเข้าสภา
  • สหรัฐฯ ประกาศ ผู้นำไอเอสเสียชีวิตแล้ว
  • สหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP ไทย เผยเหตุ ‘ไม่คุ้มครองแรงงาน’ เตรียมเจรจาทบทวนสิทธิ

    นายกีรติ รัชโน ผู้ตรวจราชการ กระทรวงพาณิชย์

    วันนี้ (28 ตุลาคม 2562) นายกีรติ รัชโน ผู้ตรวจราชการ กระทรวงพาณิชย์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ได้แถลงข่าวกรณีสหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP ไทย โดยกล่าวว่า ตามที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกแถลงการณ์ประธานาธิบดีระงับสิทธิพิเศษทางการค้าภายใต้ระบบสิทธิพิเศษภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (Generalized System of Preferences – GSP) ที่ยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้าต่างประเทศ โดยจะระงับการให้สิทธิ GSP เป็นการชั่วคราว สำหรับสินค้านำเข้าจากไทยจำนวน 573 รายการ มีผลบังคับ 6 เดือนนับจากการประกาศแถลงการณ์นี้ หรือในวันที่ 25 เมษายน 2563

    นายกีรติกล่าวต่อว่า มีประเด็นที่จะขอชี้แจงและทำความเข้าใจ 2-3 เรื่อง เนื่องจากในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมามีการนำเรื่อง GSP ไปโยงกับหลายเรื่อง เรื่องแรก ขอทำความเข้าใจเกี่ยวกับ GSP โดย GSP คือสิทธิพิเศษที่ไทยได้รับจากประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งไทยไม่ได้รับจากสหรัฐฯ ประเทศเดียว แต่ยังได้รับจากสหภาพยุโรป รัสเซีย สวิตซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ญี่ปุ่น

    “ประเทศเหล่านี้เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ได้ให้สิทธิแก่ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศด้อยพัฒนา ในการที่จะได้รับการลดหย่อนภาษี GSP เป็นสิทธิเพื่อการส่งของไปขาย ซึ่งมีความหลากหลายตามประเทศที่ให้” นายกีรติกล่าว

    สหรัฐฯ ได้ให้ GSP แก่ประเทศไทยตั้งแต่ปี 2519 ซึ่งไทยได้ใช้สิทธิเรื่อยมา และแต่ละช่วงเวลาเป็นแผนงานของสหรัฐฯ ที่มีการทบทวน มีการตัดบ้าง เพิ่มบ้าง ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการค้า ปัจจุบันโครงการที่สหรัฐฯ เป็นการต่ออายุครั้งที่ 10 มีอายุ 1 มกราคม 2561 ถึง 31 ธันวาคม 2563

    “สิ่งที่สำคัญที่สุดเกี่ยวกับ GSP คือเป็นการให้ฝ่ายเดียวต่อประเทศ ซึ่งมีทั้งสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่แล้วเป็นสินค้าอุตสาหกรรม พร้อมกับกำหนดคุณสมบัติการได้รับสิทธิ GSP ไว้ว่า หากยอดการส่งออกภายใต้ GSP เกิน 185 ล้านดอลลาร์ เขาก็มีสิทธิที่จะตัดสิทธิได้ หรือการส่งออกของเราไปกระทบอุตสาหกรรมภายในของเขา หรืออาจจะพิจารณาจากรายได้ประชาชาติต่อหัวที่กำหนดไว้ประมาณ 12,000 ดอลลาร์ต่อหัว ซึ่งของประเทศไทยอยู่ที่ 6,600 ดอลลาร์ต่อหัว หรือแม้กระทั่งหากมีการทบทวนที่จะตัด เราต้องมีการดูแลทรัพย์สินทางปัญญา มีการดูแลสิทธิแรงงาน ซึ่งก็ตรงกับที่เขากำลังพิจารณาอยู่ตอนนี้ แม้กระทั่งเรื่องอื่น เป็นเรื่องที่เขาจะพิจารณาในแต่ละช่วงเวลา” นายกีรติกล่าว

    โดยหลักการแล้วสหรัฐฯ จะมีหลักในการทบทวนพิจารณา GSP กับประเทศผู้ที่ได้รับสิทธิ เช่น ระดับการพัฒนาประเทศ ซึ่งวัดจากรายได้ประชาชาติต่อหัว การเปิดตลาดสินค้าและบริการ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การคุ้มครองสิทธิแรงงาน การกำหนดนโยบายลงทุนที่ชัดเจน และการสนับสนุนสหรัฐฯ ในการต่อต้านการก่อการร้าย รวมถึงการการกำหนดมูลค่านำเข้าไม่เกินกฎว่าด้วยความจำเป็นด้านการแข่งขัน (competitive need limitations – CNLs) โดยถือว่า สินค้านั้นมีความสามารถแข่งขันสูงในตลาดสหรัฐฯ และไม่จำเป็นต้องได้รับสิทธิ GSP ซึ่งกำหนดไว้ 2 กรณี คือ

    1) มูลค่านำเข้าสหรัฐฯ เกินมูลค่าขั้นสูงที่สหรัฐฯ กำหนดไว้ในแต่ละปี โดยในปี 2561 กำหนดไว้ที่ 185 ล้าน ดอลลาร์ (โดยให้เพิ่มขึ้นทุกปี ปีละ 5 ล้านดอลลาร์) และ 2) ส่วนแบ่งตลาดนำเข้าจากสหรัฐฯ เกิน 50% แต่มูลค่านำเข้าสหรัฐฯ ของสินค้าดังกล่าวต่ำกว่ามูลขั้นต่ำ (de minimis value) ที่สหรัฐฯ กำหนด ซึ่งในปี 2561 มีจำนวน 24 ล้านดอลลาร์

    ปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาสิทธิพิเศษทางการค้า GSP มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งจากประเทศที่สหรัฐฯ ให้สิทธิ GSP ทั้งหมด 119 ประเทศ ขยับขึ้นมาแทนอินเดียที่ถูกตัดสิทธิไปในวันที่ 5 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา

    นายกีรติกล่าวต่อว่า ประเด็นที่สองที่จะชี้แจงคือ เรื่องที่มีการประเมินการตัดสิทธิ GSP ว่ามีผลกระทบ 40,000 ล้านบาท โดยที่ผ่านมาไทยซึ่งได้สิทธิ GSP มาต่อเนื่องมีทั้งตัดสิทธิบางรายการ เพิ่มบางรายการ นั้น สถิติการใช้สิทธิ GSP เฉลี่ยของไทยตั้งแต่ปี 2519 อยู่ที่ระดับ 70% ส่วนอีก 30% ไม่ได้ใช้สิทธิ

    ทั้งนี้สหรัฐฯ ได้ให้สิทธิ GSP แก่ไทย 3,500 รายการ ซึ่งไทยได้ใช้สิทธิ 1,285 รายการ

    การประเมินผลกระทบ 40,000 ล้านบาท หรือ 1,300 ล้านดอลลาร์เป็นมูลค่ารวม 573 รายการที่ถูกตัด ดังนั้นสหรัฐฯ คำนวณจากฐานการส่งออกภายใต้โครงการ GSP ของปีที่แล้วทั้งปี ไม่ได้หมายความว่าเมื่อมีการตัด GSP แล้วไทยไม่สามารถส่งออกไปสหรัฐฯ หรือสูญเสียมูลค่าที่ได้รับสิทธิ GSP ประมาณ 40,000 ล้านบาท

    “ไทยยังคงส่งออกได้เพียงแต่ต้องเสียภาษีในอัตราปกติหรือ MFN Rate เฉลี่ยประมาณ 4.5% ขึ้นอยู่กับสินค้าหรือคิดเป็นมูลค่าราว 1,500-1,800 ล้านบาท เป็นผลกระทบที่เราต้องจ่ายภาษีเพิ่ม ซึ่งบางกลุ่มสินค้าอัตราภาษี 1% อาจจะมีนัยสำคัญ หากปริมาณการส่งออกภายใต้ GSP สูง แต่ขอย้ำว่า GSP เป็นสิทธิที่เขาให้ฝ่ายเดียว วันหนึ่งเขาอาจจะไม่ให้เราก็ได้” นายกีรติกล่าว

    สินค้าสำคัญที่ถูกระงับสิทธิ GSP ได้แก่ มอเตอร์ไซค์ แว่นสายตา เครื่องจักรกลและอุปกรณ์ไฟฟ้า พลาสติกและของที่ทำด้วยพลาสติก อาหารปรุงแต่ง เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์ที่ทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า ทองแดง ผลิตภัณฑ์เซรามิก เครื่องประดับ

    กลุ่มสินค้าที่ถูกเรียกเก็บภาษีสูงสุดคือ เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและเครื่องครัวเซรามิกในอัตรา 26% และอัตราต่ำสุดคือเคมีภัณฑ์ 0.1%

    ไทยใช้สิทธิ GSP จากสวิตเซอร์แลนด์สูงเป็นอันดับสอง และใช้สิทธิ GSP จากรัสเซียสูงสุดเป็นอันดับสาม นอร์เวย์เป็นอันดับสี่ ส่วนสหภาพยุโรปได้ตัดสิทธิ GSP ไทยไปตั้งแต่ปี 2558 รวมทั้งญี่ปุ่นที่ได้ตัด GSP ไปเมื่อเร็วๆ นี้

    ใน 8 เดือนแรกของปีนี้ ไทยได้ใช้สิทธิ GSP รวมมูลค่า 3,200 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 13% จาก 2,800 ล้านดอลลาร์ในระยะเดียวกันของปีก่อน

    “กรมการค้าต่างประเทศได้มีการพูดคุยกับผู้ประกอบการมาตลอดเวลาว่า สิ่งนี้วันหนึ่งอาจจะหายไปได้ แล้วเราต้องกลับมาพัฒนาตัวเองเพื่อให้แข่งขันได้ ต้องไม่พึ่งพาราคาอย่างเดียว” นายกีรติกล่าว

    สำหรับประเด็นที่สามที่นายกีรติชี้แจง ได้แก่ การตัดสิทธิ GSP เพราะการค้ามนุษย์ ซึ่งมีการแสดงความเห็นกันว่าไทยได้ดำเนินการจนได้รับการยกระดับมาอยู่ใน Tier 2 โดยกล่าวว่า ขอแยกออกเป็น 3 ประเด็น หนึ่ง การค้ามนุษย์ เรื่องนี้กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ รับผิดชอบ โดยฝั่งไทยที่ประสานงานเจรจาคือกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นงคงของมนุษย์ สอง แรงงานเด็ก กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ดำเนินการ สาม สวัสดิการแรงงาน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ไทยถูกตัด GSP ครั้งนี้ โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เป็นผู้ดำเนินการ

    “วิธีการที่เริ่มที่จะไต่สวนหรือพิจารณา มีด้วยกัน 2 วิธี คือ หนึ่ง self-initiate หรือเริ่มโดยกระทรวงแรงงานสอบถามโดยตรงว่าแต่ละประเทศมีการดูแลสวัสดิการแรงงานหรือไม่ อีกวิธีหนึ่งคือ มีคนมาร้องเรียน ซึ่งของไทยเข้ากรณีนี้คือมีคนมาร้องเรียน ได้แก่ AFL-CIO” นายกีรติกล่าว

    สมาพันธ์แรงงานและสภาอุตสาหกรรมแรงงานสหรัฐฯ (American Federation Labor & Congress of Industrial Organization – AFL-CIO) ได้ยื่นคำร้องให้ตัดสิทธิ GSP ไทยเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2562 และวันที่ 16 ตุลาคม 2562 เนื่องจากเห็นว่าไทยมิได้คุ้มครองสิทธิแรงงานตามมาตรฐานระหว่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาไทยได้ปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ และมาตรฐานองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) แต่สหรัฐฯ มองว่าไทยยังไม่สามารถดำเนินการตามข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ

    “สหรัฐฯ เรียกร้องให้เราดำเนินการหลายด้าน ซึ่งเรามีการดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2556 รายละเอียดอยู่ที่กระทรวงแรงงาน ดังนั้นเรื่องนี้มีมานานแล้ว เราเองก็ทราบมาช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้วจากการประชุมในเวทีต่างๆ ที่สหรัฐฯ ส่งสัญญานมาว่า ช่วงปลายตุลาคมหรือต้นพฤศจิกายนจะประกาศผลการพิจารณา ซึ่งเราก็พอทราบมาก่อน” นายกีรติกล่าว

    เร่งเจรจาสหรัฐฯ ขอคืนสิทธิ

    นายกีรติกล่าวว่า กรมการค้าต่างประเทศได้มีการพูดคุยหารือกับผู้ประกอบการมานานแล้ว และตระหนักดีว่า GSP เป็นสิทธิที่เขาให้ฝ่ายเดียว และมีโอกาสจะหมดไป ดังนั้นต้องมีการปรับตัว คือ ทำสินค้าให้มีคุณภาพมากขึ้น เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า ที่ไม่ใช่การแข่งขันด้านราคา อีกประเด็นหนึ่งที่ผู้ประกอบการรับรู้ว่าต้องมีการลดความเสี่ยง ด้วยการกระจายตลาด หาตลาดใหม่ ซึ่งก็ต้องดำเนินการอย่างแข็งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดที่คิดว่าจะกระจายความเสี่ยง 10 แห่ง เช่น ตะวันออกกลาง ยุโรปตะวันออก แอฟริกา ซึ่งเอกชนสามารถแจ้งความจำนงได้ว่าต้องการที่จะไปตลาดไหน ฝ่ายรัฐก็จะสนับสนุน

    นอกจากนี้ยังได้แนะนำผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากการที่ประเทศไทยจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี FTA 13 กรอบความตกลงจากอาเซียน จีน ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี และเปรู ซึ่งผู้ประกอบการสามารถทั้งนำเข้าวัตถุดิบและสามารถส่งออกสินค้าโดยใช้สิทธิพิเศษทางภาษีได้จากข้อตกลง FTA รวมั้งขยายการลงทุนไปยังประเทศที่ยังได้รับสิทธิ GSP จากสหรัฐฯ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ซึ่งได้รับสิทธิภาษีมากกว่าไทย

    นายกีรติกล่าวว่า ไทยจะดำเนินการเจรจาไปทุกเวทีทุกช่องทางที่จะเจอกับสหรัฐฯ ซึ่งจากการประสานงานกับสำนักทูตพาณิชย์ที่วอชิงตันก็พบว่าสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ก็ยินดีที่จะรับฟัง แต่จะมีการนัดหมายเพื่อพูดคุยหารือเมื่อไรยังไม่สามารถบอกได้ อีกทั้งยังมีอีกหลายเวทีที่ไทยสามารถเจอกับสหรัฐฯ ได้

    ภาครัฐจะดำเนินการเจรจาขอคืนสิทธิโดยเร็วที่สุด โดยคาดว่าจะยื่นขอเจรจากับสหรัฐฯ หลังช่วงการประชุม East Asia Summit ภายใต้การประชุมสุดยอดอาเซียนในประเทศไทยที่กำหนดจะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ รวมทั้งเจรจาภายใต้กรอบความตกลงการค้าและการลงทุนไทย-สหรัฐฯ (Trade and Investment Framework Agreement Joint Council – TIFA-JC) ต่อไป

    “ความเป็นไปได้ที่เร็วที่สุดที่ไทยจะเจอกับสหรัฐฯ คือ การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 ซึ่งมีตัวแทนจากสหรัฐฯ เข้าร่วม” นายกีรติกล่าว

    นายกีรติกล่าวว่า การตัดสินสิทธิ GSP ครั้งนี้เป็นการตัดชั่วคราว มีเวลา 6 เดือนที่จะเจรจาทำความเข้าใจในหลายเรื่อง ซึ่งกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพยายามทำให้ดีที่สุด เพราะมีหลายมิติที่ต้องพิจารณาไม่ใช่เรื่องแรงงานอย่างเดียว การประกาศครั้งนี้ไม่ใช่มีไทยประเทศเดียว แต่มีหลายประเทศ เช่น โบลิเวีย อิรัก ยูเครน อุซเบกิสถานที่มีการทบทวน GSP โดยไทยมีประเด็นสิทธิแรงงาน แต่ยูเครนและอุซเบกิสถานมีประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา ที่ผ่านมาไทยเคยถูกตัดสิทธิ GSP จากประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา

    นายกีรติกล่าวอีกว่า การตัดสิทธิ GSP ของประเทศไทยครั้งนี้ไม่ใช่การกีดกันทางการค้า เป็นเรื่องที่มีการดำเนินการมาต่อเนื่องเพื่อให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์และกฎหมายของสหรัฐฯ ไทยเป็นผู้ส่งออกที่มีสหรัฐฯ เป็นลูกค้า จึงต้องดำเนินการภายใต้หลักเกณฑ์ที่สหรัฐฯ กำหนด และเป็นเรื่องของผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองฝ่าย

    “ผมไม่สามารถพูดได้ว่าเรายอมรับเหตุผลด้านสิทธิแรงงานของสหรัฐฯ ในการตัดสิทธิ GSP ครั้งนี้เนื่องจากยังไม่ได้เห็นรายละเอียด รวมทั้งต้องหารือกับกระทรวงแรงงานก่อน แต่เราต้องหาตลาดใหม่”

    จุรินทร์ยันไม่เกี่ยวแบนสารเคมี

    เมื่อวานนี้ (27 ตุลาคม 2562) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงกรณีสหรัฐฯ ตัดสิทธิทางภาษีหรือ GSP ว่า ปัจจุบันนี้สหรัฐฯ ให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรหรือ GSP สำหรับการส่งออกสินค้าไทยไปยังสหรัฐฯ รวมทั้งหมดราคา 1,800 ล้านดอลลาร์ แต่ไทยไม่ได้ใช้สิทธิเต็มตามจำนวนที่ให้สิทธิ โดยมีการใช้สิทธิเพียง 1,300 ล้านดอลลาร์

    “การตัด GSP หมายความว่าต่อไปนี้สินค้าของไทยที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ ที่มียอดขายรวมกัน 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐนั้นจะต้องเสียภาษีนำเข้าสหรัฐฯ จากเดิมที่ไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งภาษีที่ต้องเสียตก 4-5% โดยประมาณ ซึ่งทั้งหมดนี้หมายความว่า ต่อไปนี้สินค้าไทยที่จะส่งไปขายสหรัฐอเมริกาจะต้องมีภาระภาษีแทนที่จะไม่ต้องจ่ายภาษี ซึ่งภาระทางภาษีแต่ละปี เมื่อคำนวณแล้วตกประมาณ 1,500 ถึง 1800 ล้านบาท” นายจุรินทร์กล่าว

    นายจุรินทร์กล่าวว่า ประเด็นที่เป็นที่มาของสหรัฐฯ ใช้เป็นเงื่อนไขในการตัดสิทธิ์ ทำให้ไทยต้องเสียภาษีคือเรื่องแรงงาน สหรัฐฯ ต้องการให้ไทยเปิดโอกาสให้แรงงานต่างด้าวที่มาทำงานอยู่ในประเทศไทยสามารถตั้งสหพันธ์แรงงานได้ อันนี้เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญ

    นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า ช่วงนี้เป็นช่วงพิจารณาประจำปีของสหรัฐฯ แต่ไทยสามารถที่จะอุทธรณ์หรือขอให้ทบทวนใหม่ได้ ซึ่งหลายครั้งที่ผ่านมาอย่างเช่นปีที่แล้วก็ทบทวนรายการสินค้าคืนมาให้ 7 รายการ และปีนี้ไทยก็จะยื่นขอทบทวนอีก ถ้าสหรัฐฯ ไม่ทบทวนถือว่าเป็นอำนาจของเขาเช่นกันเพราะมีสิทธิฝ่ายเดียว สามารถให้หรือไม่ให้ประเทศใดก็ได้

    นายจุรินทร์กล่าวว่า สำหรับการที่ไทยห้ามการใช้ 3 สารเคมีอันตรายในภาคเกษตร คือ พาราควอต คลอไพริฟอส และไกลโฟเซต เท่าที่ติดตามไม่ได้เป็นเงื่อนไขของครั้งนี้ สิ่งที่ทราบเป็นทางการ คือ เกี่ยวกับประเด็นแรงงาน

    USTR เปิดให้ทบทวนสิทธิ

    เอกสารข่าวของสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ที่เผยแพร่วันที่ 25 ตุลาคม 2562 ระบุว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศระงับสิทธิพิเศษ GSP ที่ให้กับประเทศไทยสำหรับการส่งออกภายใต้โครงการรวมมูลค่า 1,300 ล้านดอลลาร์ เนื่องล้มเหลวในการดำเนินการด้านสิทธิแรงงานระหว่างประเทศ

    สำนักงานผู้แทนการค้า (Office of the United States Trade Representative) ยังระบุว่า การประกาศของประธานาธิบดีทรัมป์ครั้งนี้ เป็นผลจากการดำเนินการใน 3 ด้าน ได้แก่ 1) การพิจารณาต่อการทบทวนสิทธิ GSP ที่ยังมีผลอยู่ 2) การประเมินประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับผลประโยชน์ตามปกติ บวกกับความเห็นจากสาธารณะ เพื่อพิจารณาว่าจะทบทวนสิทธิใหม่หรือไม่ และ 3) การทบทวนสินค้าภายใต้ GSP ประจำปี

    สำหรับประเทศไทย แม้ได้มีการดำเนินการมา 6 ปี แต่ยังไม่สามารถจัดการด้านสิทธิแรงงานให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลในหลายด้านที่มีความสำคัญตามที่ AFL-CIO เรียกร้องมา เช่น การให้เสรีภาพในการตั้งสมาคมและการต่อรอง ดังนั้นจึงระงับการให้สิทธิ GSP เป็นเวลา 6 เดือน สำหรับสินค้า 1 ใน 3 ของการส่งออกสินค้าภายใต้โครงการ GSP ซึ่งมีมูลค่าส่งออกรวมกัน 4.4 พันล้านดอลลาร์ในปี 2018 นับจากวันที่การประกาศแถลงการณ์นี้

    รายการสินค้าที่ถูกตัดสิทธิ GSP เน้นไปที่สินค้าที่ไทยส่งออกมาสหรัฐฯ จำนวนมาก แต่สหรัฐฯ มีส่วนแบ่งในตลาดไทยน้อยมาก นอกจากนี้โดยที่ประเด็นสิทธิแรงงานในอุตสาหกรรมอาหารทะเลและชิปปิ้งที่มีมายาวนาน จึงระงับสิทธิ GSP ที่ให้กับสินค้าอาหารทะเลทุกประเภทจากไทย แต่ก็ยังคงเปิดให้มีการทบทวนสิทธิ GSP ของไทย

    สำหรับสินค้าที่ถูกระงับสิทธิ GSP ที่จะมีผลในวันที่ 25 เมษายน 2563 ได้แก่

    อาลัย “เดือนเด่น นิคมบริรักษ์” นักวิชาการทีดีอาร์ไอ เสียชีวิต

    ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ที่มาภาพ: เว็บไซต์ทีดีอาร์ไอ http://bit.ly/36s0oyW

    เว็บไซต์ไทยรัฐรายงานว่า เมื่อเวลา 07.30 น. วันที่ 31 ต.ค. 2562 ร.ต.อ. สามารถ แก้วทอง รอง สว. (สอบสวน) สน.คลองตัน รับแจ้งเหตุต้นไม้ล้มทับมีผู้เสียชีวิตเป็นหญิง 1 ราย ภายในบ้านเลขที่ 30 ซอยเอกมัย 12 แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กทม. จึงรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบก่อนรุดไปตรวจสอบพร้อม พ.ต.อ. ปรเมษฐ โพยนอก ผกก.สน.คลองตัน และตำรวจชุดสืบสวน สน.คลองตัน

    จุดเกิดเหตุเป็นบ้านเดี่ยว 5 หลังปลูกอยู่ในพื้นที่เดียวกันบนเนื้อที่กว่า 1 ไร่ มีรั้วรอบขอบชิด ทั่วบริเวณร่มรื่นไปด้วยต้นไม้นานาพันธุ์ ที่สนามหญ้าหน้าบ้านสีขาวครึ่งตึกครึ่งไม้ 2 ชั้นใกล้โต๊ะม้าหิน มีเครื่องเล่นประเภทชิงช้าและบันไดโค้งตั้งอยู่ พบต้นปาล์มลำต้นสูงกว่า 3 เมตรโค่นพาดม้านั่งหินอ่อนและชิงช้าได้รับความเสียหายบางส่วน ส่วนผู้บาดเจ็บเป็นเจ้าของบ้าน ทราบชื่อนางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ หรือ ดร.เดือนเด่น นักวิชาการชื่อดัง อายุ 54 ปี ผอ.การวิจัยด้านบริหารการจัดการระบบเศรษฐกิจฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจรายสาขา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) บาดเจ็บมีบาดแผลถูกกระแทกที่ศีรษะและขานอนหมดสติตรงจุดเกิดเหตุ คนในบ้านช่วยกันปฐมพยาบาลก่อนนำส่ง รพ.คามิลเลี่ยน แต่เสียชีวิตในเวลาต่อมา

    ร.ต.อ. สามารถเปิดเผยว่า เมื่อช่วงเช้ามืดก่อนเกิดเหตุ ดร.เดือนเด่นพร้อมคนรับใช้เดินออกกำลังกายบริเวณสวนหน้าบ้านตรงจุดเกิดเหตุ ที่มีโต๊ะม้าหิน ชิงช้าและเครื่องเล่นที่ทำด้วยเหล็กสีเหลืองตั้งอยู่ จู่ๆต้นปาล์ม 1 ใน 2 ต้นที่ปลูกอยู่ในบริเวณนั้น ค่อยๆเอนล้มมาตรงจุดที่ ดร.เดือนเด่นยืนอยู่พอดี เป็นจังหวะเดียวกับที่เจ้าตัวเห็น พยายามเอี้ยวตัวหลบต้นปาล์มแต่ไม่พ้นถูกต้นปาล์มทับที่ขาจนเสียหลักล้ม ศีรษะฟาดเข้ากับชิงช้าอย่างแรงจนหมดสติ ก่อนคนรับใช้ที่อยู่ในเหตุการณ์จะตามคนมาปฐมพยาบาล นำร่างหมดสติส่ง รพ.คามิลเลี่ยน และเสียชีวิตในเวลาต่อมา ตรวจสอบเพิ่มเติมพบต้นปาล์มดังกล่าวยืนต้นตายมาเป็นเวลานาน คาดปลวกกินเนื้อไม้จนผุพังจากด้านในเป็นเหตุให้โค่นล้ม เบื้องต้นญาติไม่ติดใจสาเหตุการเสียชีวิต ส่งศพให้แพทย์นิติเวชฯ รพ.จุฬาลงกรณ์ ชันสูตรหาสาเหตุการเสียชีวิตอย่างละเอียดอีกครั้ง

    ประวัติ ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ เป็นนักเรียนดีเด่นของ ร.ร.มาแตร์เดอีฯ เมื่อปี 23 ได้รับทุนการ ศึกษามัธยมปลายจากรัฐบาลแคนาดา เมื่อปี 25-27 ทุนการศึกษาในการเข้าเรียนปีแรกจาก Queen’s University เมื่อปี 27 ทุนการศึกษาปริญญาโทจากคณะเศรษฐศาสตร์ Queen’s University เมื่อปี 30-31 ทุนการศึกษาปริญญาเอกจากรัฐบาลแคนาดา ปี 32-38 เริ่มทำงานที่ทีดีอาร์ไอ ในตำแหน่งรองนักวิจัย ฝ่ายอุตสาหกรรม การค้าและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ผอ.การวิจัย ทีดีอาร์ไอ ด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจฝ่ายวิจัย เศรษฐกิจรายสาขา มีความเชี่ยวชาญการวิจัยเกี่ยวกับปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทย นโยบายการแข่งขัน การป้องกันการผูกขาดและการคุ้มครองผู้บริโภค นโยบายรัฐวิสาหกิจ นโยบายการค้าบริการและการลงทุนระหว่างประเทศ นโยบายโทรคมนาคมและการขนส่ง ธรรมาภิบาลภาครัฐและภาคเอกชน

    ปารีณาพาชาวบ้านร้องขอที่ดินคืนจากแม่ธนาธร 500 ไร่ เจ้าตัวยินดี ขอเวลาดำเนินการ

    วันที่ 31 ต.ค. 2562 เว็บไซต์วอยซ์ทีวีรายงานว่า นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พร้อมด้วยชาวบ้าน อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ยื่นหนังสือถึง ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรณีขอที่ดิน 500 ไร่ คืนจากนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดาของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เนื่องจากเอกสารสิทธิที่ถือครองไม่ใช่ น.ส.3 ก หรือ น.ส.3

    ทั้งนี้ นางสาวปารีณาให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า ส่วนตัวได้เป็นตัวแทนชาวบ้าน เนื่องจากที่ดังกล่าวไม่สามารถครอบครองเป็นเจ้าของได้ เพราะเข้าลักษณะป่าชุมชุน แต่กลับพบว่ามีผู้นำไปใช้เพื่อหาประโยชน์ ทางด้านนายสมบูรณ์ ไทยทอง ผู้ใหญ่บ้าน กล่าวเพิ่มเติมว่า แต่เดิมที่ดินนี้เป็นของสหกรณ์ แต่พบว่าที่ผ่านมาทั้งบริษัทและบุคคลทั่วไปมาซื้อขายกันมาหลายครั้ง

    ขณะที่ ร้อยเอกธรรมนัส กล่าวว่า น่าจะเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดินของชาวบ้าน ทั้งนี้ตนขอตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน อย่างไรก็ตาม ตนขอยืนยันว่านายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้

    ต่อรเื่องดังกล่าว นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ เปิดเผยกับ ‘วอยซ์ออนไลน์’ ว่า ที่ดินในพื้นที่ดังกล่าว ตนซื้อต่อมาจากบริษัท มิตรผล ตั้งแต่ปี 2534 และถือครองมาตลอด 28 ปี โดยมีพื้นที่ทั้งหมด 3,500 ไร่ ซึ่งขณะที่ซื้อมามีหลักฐานกรรมสิทธิ์หลายแบบ ทั้งที่เป็น น.ส. 3ก, น.ส. 3, น.ส. 2 และ ภ.บ.ท5 และตลอดเวลาที่ถือครองมาตลอด 28 ปี ตนไม่เคยเข้าไปในพื้นที่ แต่ให้เจ้าหน้าที่ที่บริษัทดูแลเรื่องเอกสาร โดยมีครอบครัวคนเก่าคนแก่ของมิตรผลอยู่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าว 2 ครอบครัว ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมาไม่เคยมีปัญหา

    กระทั่ง เมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา มีผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ติดต่อผ่านคนดูแลที่ดินมาแจ้งตนว่า ที่ดินแถบนั้นมีลักษณะเป็นที่ป่าสงวนและต้องการแปลงที่ดินแถบนั้นเป็นป่าชุมชนของหมู่บ้าน ซึ่งน่าจะใช้เนื้อที่ประมาณ 400-450 ไร่ ซึ่งตนได้ให้เจ้าหน้าที่และทนายไปพูดคุยพร้อมกับแสดงเจตจำนงชัดเจนว่า ยินดียกพื้นที่ดังกล่าวให้กับชุมชน แต่เนื่องจาก สภาพที่ดินเนื้อที่ 400 ไร่เศษนั้น แบ่งเป็นเอกสารประเภท น.ส. 2 จำนวน 7 แปลง เนื้อที่ 350 ไร่ กับ ภ.บ.ท. 5 จำนวน 4 แปลง เนื้อที่ 100 ไร่ ต้นขั้วไม่ใช่ชื่อของตน จึงให้ทนายและเจ้าหน้าที่ไปคุยกับผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่รวมถึงเจ้าหน้าที่ป่าไม้ว่า ต้องหาเจ้าของเดิมเพื่อดำเนินการเปลี่ยนชื่อให้เรียบร้อย จึงจะทำให้กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของชุมชนอย่างถูกต้อง

    “เวลาที่ผ่านมา ได้ให้เจ้าหน้าที่และทนายความหารือกับผู้นำชุมชน และเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่มาตลอดในเรื่องกระบวนการส่งมอบ เพื่อให้ถูกต้อง เพราะดิฉันบอกตั้งแต่วันแรกที่มีคนมาแจ้งแล้วว่า ฉันยกให้ ไม่ติดขัดเลย แต่เพราะชื่อเดิมไม่ใช่ชื่อดิฉัน ดังนั้นก็ต้องจัดการเรื่องกระบวนการเอกสารให้เรียบร้อยก่อน แต่พอมามีประเด็นนี้ ดิฉันก็พร้อมจะชี้แจง และหากกล่าวหาดิฉันมากกว่านี้ ดิฉันก็พร้อมดำเนินการตามกฎหมาย” นางสมพร กล่าว

    มงคลกิตติ์ยอมรับ “รู้เท่าไม่ถึงการณ์” นำสารประกอบระเบิดเข้าสภา

    จากกรณีที่นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ ได้นำสารประกอบระเบิดเข้าไปในรัฐสภาเพื่อทดสอบระบบการรักษาความปลอดภัย จนทำให้เกิดเสียงตำหนิมากมายนั้น

    ล่าสุด เว็บไซต์ข่าวสดรายงานว่า นายมงคลกิตติ์ชี้แจงว่า ว่า วันที่ 1 พ.ย.นี้ ตนจะเข้าพบนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานรัฐสภา เพื่อขอโทษที่ไม่ขออนุญาตนำสารประกอบระเบิดเข้ามาแถลงภายในรัฐสภา

    ยอมรับว่าเป็นความผิดพลาดที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ หากประธานสภาจะตัดสินลงโทษอย่างไรก็พร้อมยอมรับ เพราะนายชวน ก็เปรียบเสมือนพ่อคนหนึ่ง แต่หลังจากนี้จะรอบคอบมากขึ้นในการขออนุญาตรัฐสภาเพื่อแถลงข่าว

    นายมงคลกิตติ์กล่าวยืนยันว่า เหตุผลที่นำสารประกอบระเบิดมาแถลงนั้น เพราะปัจจุบันระบบรักษาความปลอดภัยของรัฐสภายังไม่ดีพอ อยากให้ปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น เพราะรัฐสภาคือศูนย์รวมของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ระบบการรักษาความปลอดภัยต้องสูงสุด เหมือนท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

    ส่วนที่มีเจ้าหน้าที่อีโอดี (หน่วยเก็บกู้และตรวจสอบวัตถุระเบิด) จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นำสารประกอบระเบิดเข้ามาด้วยนั้น เป็นความหวังดีของลูกน้องตนที่อยากจะทดสอบข้อเท็จจริง ว่าเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดของสหรัฐฯ นำมาใช้งานได้จริงหรือไม่ จึงประสานเจ้าหน้าที่ให้มาช่วยทดสอบ ซึ่งกรณีนี้จะขอพูดคุยกับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เพื่อยืนยันว่าการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่อีโอดี ทำตามที่ตนร้องขอในฐานะ กมธ.การทหาร

    ส่วนข้อวิจารณ์ได้รับผลประโยชน์จากบริษัทขายเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดของสหรัฐฯนั้น นายมงคลกิตติ์ กล่าวปฏิเสธยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง ตนเองไม่เคยมีผลประโยชน์ใดกับบริษัท และไม่รู้จักส่วนตัว เพิ่งเจอกับเจ้าหน้าที่บริษัทดังกล่าวครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2562 ที่ผ่านมาตอนแถลงข่าว ทั้งนี้ หากสภาจะตัดสินซื้อเครื่องตรวจตรวจจับวัตถุระเบิดจากบริษัทดังกล่าวจริง จะต้องมีระบบจัดซื้อจัดจ้างที่ตรวจสอบได้อยู่แล้ว

    สหรัฐฯ ประกาศ ผู้นำไอเอสเสียชีวิตแล้ว

    เว็บไซต์บีบีซีไทยรายงานว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ได้กล่าวถึงการเสียชีวิตของหัวหน้ากลุ่มที่เรียกตัวเองว่ารัฐอิสลาม (Islamic State–IS) ที่กำลังหลบหนีจากปฏิบัติการของทหารสหรัฐฯ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของซีเรีย

    นายทรัมป์กล่าวจากทำเนียบขาวว่า นายอาบู บาการ์ อัล-บักห์ดาดี ได้จุดชนวนระเบิดฆ่าตัวตาย ระหว่างที่กองกำลังพิเศษบุกจู่โจม

    นายบักห์ดาดี เริ่มเป็นที่รู้จักในปี 2014 หลังจากประกาศก่อตั้ง “รัฐอิสลาม” ในพื้นที่ที่อยู่ในอิรักและซีเรีย ไอเอสได้ปฏิบัติการที่โหดเหี้ยมหลายครั้ง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหลายพันคน

    กลุ่มไอเอสได้ปกครองประชาชนเกือบ 8 ล้านคนในพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การควบคุมเหล่านั้นอย่างโหดร้ายทารุณ และยังอยู่เบื้องหลังการโจมตีในหลายเมืองทั่วโลกด้วย โดยก่อนหน้านี้ในปีนี้ สหรัฐฯ ได้ประกาศว่า “รัฐอิสลาม” พ่ายแพ้แล้ว

    การเสียชีวิตของนายบักห์ดาดี เป็นชัยชนะครั้งสำคัญของนายทรัมป์ ซึ่งถูกวิจารณ์อย่างหนักจากการตัดสินใจถอนกำลังทหารสหรัฐฯ ออกมาจากทางเหนือของซีเรียก่อนหน้านี้ในเดือนนี้ และขณะนี้เขากำลังเผชิญกับการไต่สวนที่ฝ่ายเดโมแครตได้ยื่นถอดถอนเขาออกจากตำแหน่งด้วย

    ในแถลงการณ์ช่วงเช้าวันอาทิตย์ นายทรัมป์ กล่าวว่า นายบักห์ดาดี เสียชีวิต หลังจากวิ่งเข้าไปในอุโมงค์ที่เป็นทางตัน “ส่งเสียงคร่ำครวญ ร้องไห้ และกรีดร้องไปตลอดทาง” ขณะที่สุนัขของกองกำลังสหรัฐฯ กำลังวิ่งไล่เขา

    นายทรัมป์ กล่าวว่า ลูก 3 คนที่ยังเล็กอยู่ของนายบักห์ดาดี อยู่กับเขาด้วยขณะเกิดเหตุ เขาได้จุดชนวนระเบิดเสื้อกั๊กติดตั้งระเบิดฆ่าตัวตายทำให้พวกเขาทั้งหมดเสียชีวิต แรงระเบิดทำให้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายนายบักห์ดาดี ขาดกระจัดกระจายออกเป็นชิ้น ๆ แต่จากการตรวจสอบได้ยืนยันแล้วว่า เป็นนายบักห์ดาดี

    “วายร้ายที่พยายามข่มขู่คนอื่นอย่างหนัก ได้ใช้เวลาในช่วงสุดท้ายของชีวิตอย่างน่าหวาดกลัว ตื่นตระหนก อกสั่นขวัญแขวน และกลัวว่า กองกำลังของสหรัฐฯ จะจู่โจมเขา” นายทรัมป์ กล่าว