ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > แพทย์หวั่นปัญหาหมอกควันภาคเหนือเกินค่ามาตรฐาน ชี้ฝุ่นขนาดเล็กเสี่่ยงเป็นมะเร็ง ยอดผู้ป่วยทางเดินหายใจ เพิ่ม 4 เท่า

แพทย์หวั่นปัญหาหมอกควันภาคเหนือเกินค่ามาตรฐาน ชี้ฝุ่นขนาดเล็กเสี่่ยงเป็นมะเร็ง ยอดผู้ป่วยทางเดินหายใจ เพิ่ม 4 เท่า

18 มีนาคม 2012


หมอกควันทางภาคเหนือ ที่มาภาพ : http://media.thaigov.go.th
หมอกควันทางภาคเหนือ ที่มาภาพ : http://media.thaigov.go.th

เป็นประจำทุกปี ที่พื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน จะต้องประสบกับปัญหาหมอกควันปกคลุม โดยในปี 2555 นี้ กรมควบคุมมลพิษได้เปิดเผยว่า พื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย ครอบคลุมจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน น่าน แพร่ พะเยา และตาก ได้ประสบกับปัญหาหมอกควันเกินค่ามาตรฐาน (120 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร) จากข้อมูลที่เก็บตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนมีนาคม พบว่ามีค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน หรือค่า PM 10 เกินค่ามาตรฐาน มีค่าสูงสุดที่จังหวัดเชียงราย 437.6 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร และมีจำนวนวันที่เกินมาตรฐานถึง 25 วัน

สาเหตุหลักของปัญหามลพิษหมอกควันในภาคเหนือเกิดจากการเผาป่า เผาเศษวัสดุในภาคการเกษตรเพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูก และเผาขยะมูลฝอยในพื้นที่โล่ง แต่เหตุผลที่ทำให้เกิดขึ้นในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน มีสาเหตุหลักมาจากความแห้งแล้งในช่วงนี้ ทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของไฟป่าทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบกับมีปัจจัยเสริมจากเกษตรกรที่เผาวัสดุเพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับการเกษตรในหน้าฝน และด้วยภูมิประเทศของภาคเหนือส่วนใหญ่เป็นที่ราบมีภูเขาล้อมรอบ หรือที่เรียกว่าที่ราบในแอ่งกระทะ เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว ความกดอากาศที่สูง สภาพอากาศที่แห้งและนิ่ง จะทำให้ฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นสามารถลอยตัวอยู่ในอากาศและสะสมอยู่ในพื้นที่ได้นานกว่าปกติ

โดยทั่วไปการประเมินคุณภาพอากาศจะใช้มาตรฐานค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน หรือค่า PM 10 เป็นมาตรฐานการตรวจวัด คำนวนโดยใช้เครื่องมือดูดอากาศผ่านแผ่นกรอง แล้วนำฝุ่นที่ติดอยู่ในแผ่นกรองนั้นมาหาน้ำหนัก ซึ่งมาตรฐานกำหนดให้ใน 24 ชั่วโมงของพื้นที่ตรวจ ค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอนที่ตรวจวัดได้ต้องไม่เกิน 120 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร

เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า แม้ว่าสถานการณ์หมอกควันในปีนี้จะไม่รุนแรงเท่ากับเหตุการณ์ในปี 2553 ที่มีการพบฝุ่นละอองสูงเกินเกณฑ์มาตรฐานมากกว่า 30 วัน ในจังหวัดเชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา และแม่ฮ่องสอน โดยจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่มีการตรวจพบค่าฝุ่นละอองสูงถึง 518 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2553

สถานการณ์หมอกควันในปี 2555 เริ่มเป็นปัญหาส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่มาตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2555 โดยมีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กเพิ่มขึ้นสูงสุด 2 ช่วง ช่วงแรกระหว่างวันที่ 25 กุมภาพันธ์ – 3 มีนาคม และช่วงสองระหว่างวันทื่ 7 – 10 มีนาคม

ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับข้อมูลการตรวจหาจุด Hotspots หรือจุดที่มีค่าความร้อนสูงกว่าปกติบนพื้นผิวโลก (อาจเกิดจากไฟและสาเหตุอื่นๆ) ด้วยอุปกรณ์ตรวจวัดค่าความร้อนที่ติดอยู่บนดาวเทียม NOAA-18 และจากการแปรผลภาพถ่ายดาวเทียม ได้พบจุด Hotspot ใน 2 ช่วงเวลาดังกล่าว คือวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2555 มีการตรวจพบจุด Hotspot สูงสุดถึง 1,128 จุด และวันที่ 3 มีนาคม 2555 ที่มีการตรวจพบจุด Hotspot 902 จุด

จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ ที่รวบรวมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 จนถึงวันที่ 16 มีนาคม 2555 พบว่า จังหวัดที่มีค่า PM 10 สูงสุดอันดับแรกคือ จังหวัดเชียงราย 437.6 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ตรวจวัดวันที่ 10 มีนาคม อันดับที่สอง จังหวัดแม่ฮ่องสอน 359.4 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ตรวจวัดวันที่ 11 มีนาคม และอันดับที่สาม จังหวัดตาก 295.2 ตรวจวัดวันที่ 1 มีนาคม

จังหวัดที่มีจำนวนวันเกินเกณฑ์มาตรฐานสูงสุด อันดับหนึ่งคือ จังหวัดเชียงราย มีจำนวนวันเกินเกณฑ์มาตรฐาน 25 วัน อันดับสอง จังหวัดลำปาง เกินมา 23 วัน และอันดับสาม จังหวัดพะเยา เกินมา 22 วัน

จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า หากสูดฝุ่นละอองเล็กเข้าสู่ร่างกาย จะเกิดผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ ตั้งแต่อาการไอ จาม มีน้ำมูก จนถึงการอักเสบของไซนัส เจ็บคอ หายใจลำบาก ทำให้หลอดลมอักเสบ ปอดเป็นพังผืดจากการระคายเคืองเรื้อรัง และอาจเกิดโรคมะเร็งของระบบทางเดินหายใจ โดยฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีส่วนผสมของสารบางอย่าง เช่น สารกัมมันตรังสี สารอาเซนิก สารโครเมท เมื่อสัมผัสกับเนื้อปอดจะทำให้เป็นมะเร็งปอดได้

โดย รศ.ดร.นพ.พงศ์เทพ วิวรรธนะเดช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เปิดเผยว่า จากผลการศึกษาทั่วโลกพบว่า หากฝุ่นละอองขนาดเล็กสูงกว่าค่ามาตรฐาน จะส่งผลให้การตายด้วยระบบทางเดินหายใจเพิ่มขึ้น 7% – 20% การป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจเพิ่มขึ้น 5.5% การตายและป่วยด้วยโรคหัวใจเพิ่มขึ้น 2% – 5% การตายและป่วยด้วยโรคหัวใจหลอดเลือดเพิ่มขึ้น 5.3% ผู้สูงอายุป่วยด้วยระบบทางเดินหายใจเพิ่ม 17% ผู้สูงอายุป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่ม 7.6% และยังทำให้สภาพปอดในเด็กแย่ลง

สถิตินี้สอดคล้องกับข้อมูลของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ในปีนี้ ที่หน่วยระบบหายใจเวชบำบัดวิกฤติและภูมิแพ้ ภาคอายุรเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่ามีผู้ป่วยโรคหืดเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า ผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพองเพิ่มขึ้น 3 เท่า โดยเพิ่มมากกว่าปีที่แล้วถึง 4 เท่า นอกจากนั้น ยังพบว่าผู้ป่วยทั่วไปที่มารับการตรวจจากอาการแสบตา แสบจมูก หายใจไม่สะดวก ไอ จาม มึนศีรษะ จำนวนมากในแต่ละวัน

ล่าสุด แม้ปัญหาหมอกควันจะยังไม่คลี่คลาย แต่ข้อมูลจากครมควบคุมมลพิษได้ชี้ให้เห็นว่า ขณะนี้ แนวโน้มสถานการณ์หมอกควันในภาคเหนือกำลังเริ่มดีขึ้นจากช่วงก่อนหน้า หลังจากมีฝนตกตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2555 เป็นต้นมา ในทั่วทุกจังหวัดที่มีปัญหาหมอกควัน ทำให้จุด Hotspot บริเวณดังกล่าวลดลง ปริมาณฝุ่นละอองลดต่ำลง โดยข้อมูลวันที่ 17 มีนาคม 2555 ได้บ่งชี้ว่า ปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน เฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่าระหว่าง 58.8 – 167 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร คุณภาพอากาศโดยรวมอยู่ในระดับปานกลางถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ มีการตรวจพบค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานที่จังหวัดเชียงรายแลจังหวัดแม่ฮ่องสอน พบจุด Hotspot ใน 8 จังหวัดภาคเหนือ 48 จุด

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวจากคณะกรรมาธิการสาธารณสุขเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2555 ทางกรรมาธิการสาธารณสุขได้เชิญกรมควบคุมมลพิษ กรมอนามัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาหมอกควันทางภาคเหนือ โดยชี้แจงว่า ปีนี้มีผู้ป่วยกลุ่มทางเดินหายใจทุกชนิดเพิ่มขึ้น 24,837 คน เพิ่มขึ้น 25.94% จากปีที่แล้ว โดยเฉพาะมีเด็กป่วยมากขึ้น พร้อมยืนยันว่า ปัญหาหมอกควันครั้งนี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากประเทศไทย ไม่ใช่มาจากประเทศเพื่อนบ้านแต่อย่างใด

ทั้งนี้ กรรมาธิการสาธารณสุขได้ตั้งข้อสังเกตุว่า ปัญหาหมอกควันกระทบต่อโรคที่เป็นอยู่แล้วของประชาชนในพื้นที่มากน้อยแค่ไหน จะส่งผลกระทบระยะยาวก่อให้เกิดเป็นโรคมะเร็งหรือไม่ และค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน ต้องสูงถึงระดับไหนจึงจะต้องประกาศอพยพประชาชน (มาตรฐานสากลประมาณ 500 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร)พร้อมแนะนำว่ากรมควบคุมมลพิษไม่ควรแจ้งค่าเฉลี่ยของฝุ่นขนาดเล็ก แต่ต้องให้ข้อมูลแต่ละวัน เพราะบางวันที่ค่าฝุ่นขนาดเล็กสูงเกินค่ามาตรฐาน อาจจะทำให้ผู้ป่วยที่ป่วยอยู่แล้ว เมื่อค่าฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน อาจจะส่งผลกระทบให้เขาเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้ทราบข้อมูลและสามารถป้องกันได้