ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > สถาปัตยกรรมสีเขียว ไม่ใช่แฟชั่น — “it’s a must”

สถาปัตยกรรมสีเขียว ไม่ใช่แฟชั่น — “it’s a must”

31 มีนาคม 2012


งานสัมนาเรื่อง “Green and Eco Design for Sustainable Future and LEED Preparetion” โดย โครงการคริสตัลดีไซน์เซ็นเตอร์ (ซีดีซี)
งานสัมนาเรื่อง “Green and Eco Design for Sustainable Future and LEED Preparetion”

ในปี 1987 องค์การสหประชาชาติได้ให้นิยามของคำว่า “การพัฒนาที่ยั่งยืน” (Sustainable Development) หมายถึง การพัฒนาที่ตอบสนองความต้องการของคนในยุคปัจจุบันได้ โดยไม่ทำให้คนรุ่นหลังต้องสูญเสียความสามารถในการตอบสนองความต้องการของตนเอง

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โลกตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปรากฎการณ์เรือนกระจก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปัญหาโลกร้อน ล้วนเป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่า วิถีการพัฒนาที่มุ่งเน้นแต่ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอที่จะทำให้คนรุ่นต่อๆ มาสามารถอยู่ได้อย่างปกติสุข เพราะสิ่งที่ตามมาจากการพัฒนาแต่เพียงเศรษฐกิจโดยไม่สนใจธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมคือ ชีวิตความเป็นอยู่ของคนรุ่นหลังที่ยากลำบากมากขึ้น ในยุคสมัยที่พลังงานธรรมชาติกำลังจะหมดและปรากฎการณ์ธรรมชาติรุนแรงมากขึ้น เราจะสามารถทำอย่างไรได้บ้าง เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของเราในวันนี้ให้เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อลูกหลานของเราในวันพรุ่งนี้

ทุกคนรู้ว่า ทางออกเดียวในการจะช่วยเหลือสิ่งแวดล้อมได้คือ ต้องลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะพลังงาน แต่เราจะลดการใช้พลังงานได้อย่างไร ในเมื่อที่อยู่อาศัยและที่ทำงานของเราทุกวันนี้ไม่ได้เอื้อต่อการใช้ชีวิตประจำวันของเรา อากาศร้อนในบ้านทำให้ต้องเปิดแอร์ ในห้องไม่สว่างทำให้ต้องเปิดไฟ เราจะไม่สามารถลดการใช้พลังงานได้เลยหากไม่มีการปรับเปลี่ยนอาคาร สถานที่อยู่อาศัย และสถานที่ทำงาน ให้เหมาะสมกับการใช้ชีวิตและประหยัดพลังงาน เมื่อเราไม่สามารถเปลี่ยนธรรมชาติได้ ก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติ

จึงนำมาสู่แนวคิดการออกแบบสถาปัตยกรรม ให้คนสามารถอยู่ได้อย่างสบายโดยใช้พลังงานน้อยที่สุด หลักการออกแบบนี้คือ สถาปัตยกรรมสีเขียว (Green Architecture)

ผศ.ดร.อรรจน์ เศรษฐบุตร อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นในงานสัมนาเรื่อง “Green and Eco Design for Sustainable Future and LEED Preparetion” ที่จัดโดยโครงการคริสตัลดีไซน์เซ็นเตอร์ (ซีดีซี) วันที่ 27 มีนาคม 2555 ว่า

“ที่ผ่านมาคนจะชอบเข้าใจว่า สถาปัตยกรรมสีเขียวหรืออาคารสีเขียวจะต้องใช้พลังงานให้น้อยที่สุด ปิดไฟ ปิดแอร์ เมื่อไม่จำเป็น แต่ไม่ดูความเหมาะสม ผลที่ได้คือประหยัดพลังงานจริง แต่คนอยู่ไม่ได้ ส่งผลเสียต่อสุขภาพ แทนที่จะประหยัดกลับต้องเสียมากขึ้น”

ดังนั้น สิ่งที่สำคัญสำหรับการออกแบบอาคารสีเขียวก็คือ ความสมดุลระหว่างการประหยัดพลังงานและการอยู่อาศัย หากนึกไม่ออกว่าอาคารสีเขียวมีหน้าตาเป็นอย่างไร ลองกลับไปนึกถึงบ้านเรือนไทยในสมัยก่อน ที่การออกแบบและก่อสร้างให้ความสำคัญกับวัสดุที่นำมาใช้ คำนึงถึงสภาพแวดล้อม ลม การถ่ายเทอากาศ ทำให้คนสมัยก่อนสามารถอยู่บ้านได้โดยไม่ต้องใช้พลังงานมาก ไม่มีแอร์ ไม่มีพัดลม ก็สามารถอยู่ได้ ไม่ร้อน

“บ้านเรือนไทยเป็นตัวอย่างของอาคารพื้นถิ่นที่ออกแบบให้สอดคล้องกับภูมิประเทศ ภูมิอากาศ แต่ด้วยปัจจัยต่างๆ ที่เปลี่ยนไป ทำให้บ้านเรือนไทยไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้ รูปแบบของอาคารก็เปลี่ยนไปจนถึงปัจจุบัน ทำให้มีการบริโภค มีการใช้พลังงานจึงมากขึ้น แต่อาคารสีเขียวคือการนำหลักการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสอดคล้องกับสภาพอากาศ ความสบาย และการใช้พลังงานจากธรรมชาติ มาประยุกต์กับอาคารในยุคปัจจุบัน” ดร.อรรจน์กล่าว

ผศ.ดร.อรรจน์ เศรษฐบุตร อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผศ.ดร.อรรจน์ เศรษฐบุตร อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในขณะที่หลายคนมองว่า กระแสสีเขียวที่เกิดขึ้นในวงการต่างๆ อาจเป็นเพียงกระแส หรือแฟชั่นที่ทำตามๆ กันเพื่อภาพลักษณ์ขององค์กร แต่นางลักขณา อภิชน จากบริษัทอินเตอร์เฟซฟลอร์ กลับมองว่าเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่กระแส แต่คือความจำเป็น

“ทรัพยากรของเรากำลังจะหมดไป ขณะที่การใช้ชีวิตของเรากลับปล่อยของเสียให้กับโลกใบนี้เพิ่มขึ้น หากเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ เราจะไม่สามารถอยู่ต่อไปได้ เราต้องทำอะไรสักอย่าง ตึกสีเขียวจึงเป็นเรื่องจำเป็น เพราะเรามีโลกแค่ใบเดียว” นางลักขณากล่าว

แต่อาคารหรือตึกที่ได้ชื่อว่าเป็นตึกสีเขียวนั้น นอกจากคำอวดอ้างของผู้ก่อสร้างที่พิสูจน์ได้ยากแล้ว องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ ได้เห็นตรงกันว่า ควรจะมีการกำหนดมาตรฐานสำหรับอาคารสีเขียวอย่างถูกวิธี เพื่อรักษาคุณภาพและมาตรฐานของอาคารเหล่านี้ องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมในสหรัฐอเมริกาจึงได้กำหนดแบบประเมินอาคารที่เรียกว่า LEED (Leadership in Energy and Environmental Design) ขึ้นมา เพื่อประเมินและรับรองอาคารสีเขียว โดยมีการให้คะแนนเป็นข้อๆ เช่น ความเหมาะสมของที่ตั้ง ประสิทธิภาพในการจัดการน้ำ จัดการพลังงานในอาคาร สภาพแวดล้อมภายในตึก

“ในประเทศไทย อาคารแห่งแรกที่ได้รับมาตรฐาน LEED ในระดับแพลทินัม ซึ่งเป็นระดับคะแนนที่สูงที่สุดคือ อาคาร Energy Complex ของ ปตท.”

นายประภากร วทานยกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทสถาปนิก 49 พูดถึงการสร้างอาคารอนุรักษ์พลังงานในประเทศไทย โดยตึก Energy Complex หรือที่เรียกกันว่า ENCO นี้ ใช้พลังงานไฟฟ้าน้อยกว่า 100 กิโลวัตต์/ตารางเมตร/ปี ทรัพยากรในตึกสามารถนำกลับมาหมุนเวียนได้มากกว่า 3% ต่อปี โดยสิ่งที่ถือว่าเป็นจุดเด่นสำหรับตึกนี้คือ การออกแบบที่คำนึงถึงการใช้พลังงาน กระจกที่ใช้ติดรอบอาคารเป็นกระจกหนา 7 ชั้นที่ได้รับการออกแบบให้ประหยัดพลังงาน กันความร้อน และรักษาความเย็นภายในตัวตึก

“การก่อสร้างอาคารแบบนี้มีต้นทุนที่สูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับอาคารโดยทั่วไป สิ่งที่ผู้ออกแบบต้องทำก็คือ การโน้มน้าวและทำความเข้าใจกับผู้ลงทุนว่า การก่อสร้างที่มีต้นทุนสูงนี้ ในระยะยาวจะช่วยให้เจ้าของตึกสามารถประหยัดพลังงาน และสามารถคืนทุนได้ในระยะเวลาที่ชัดเจน” นายประภากรกล่าว

อาคาร Energy Complex อาคารอนุรักษ์พลังงานของไทยแห่งแรก ที่ได้รับมาตรฐาน LEED ระดับสูงสุด ภาพจาก http://exposureddd.multiply.com
อาคาร Energy Complex อาคารอนุรักษ์พลังงานของไทยแห่งแรก ที่ได้รับมาตรฐาน LEED ระดับสูงสุด ภาพจาก http://exposureddd.multiply.com

แต่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่า การจะสร้างอาคารสีเขียวได้นั้น จะต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญและมีเงินทุนจำนวนมากเท่านั้นจึงจะทำได้ แต่ มร.เมอร์เรย์ ดาร์ลิ่ง กรรมการผู้จัดการบริษัทสตาร์บัคส์คอฟฟี่ (ประเทศไทย) กลับบอกว่า การทำอาคารสีเขียวนั้น สามารถเริ่มทำได้ตั้งแต่จุดเล็กๆ อย่างก๊อกน้ำ หรือหลอดไฟ

“ไม่จำเป็นจะต้องต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลในการสร้างความยั่งยืน แต่คุณสามารถเริ่มต้นได้ในจุดเล็กๆ อย่างเช่นร้านสตาร์บัคส์ ที่เลือกใช้ก๊อกน้ำแรงดันสูง ทำให้ใช้น้ำในปริมาณน้อยลงในการทำความสะอาด หรือหลอดไฟที่มีการติดตั้งเซ็นเซอร์เพื่อวัดแสง ในตอนกลางวันไฟก็จะปิดเองอัตโนมัติ การใช้พลังงานจึงคุ้มค่า ขณะที่การเลือกวัสดุอุปกรณ์ก็มีส่วนสำคัญในการอนุรักษ์ วัสดุทำความเย็น พวกตู้เย็น เราก็พยายามเลือกวัสดุที่ไม่มีสาร CFC หรือถ้ามีก็ให้น้อยที่สุด” มร.เมอร์เรย์กล่าว

และไม่ใช่เฉพาะฝ่ายผู้ประกอบการและผู้ออกแบบเท่านั้นที่สนใจสิ่งแวดล้อม ฝ่ายผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างก็สามารถใส่ใจสิ่งแวดล้อมได้เช่นกัน บริษัทเอสซีจีถือเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ นานยชัชวาล เศรษฐบุตร กรรมการผู้จัดการ บริษัทเอสซีจีเอ็กซพีเรียนซ์ จำกัด ได้พูดถึงกระแสความต้องการวัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่กำลังมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆว่า

“ที่ผ่านมา เอสซีจีได้ทำสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และพบว่ามีผู้ที่สนใจตอบรับเป็นอย่างดี ทุกวันนี้รายได้ทั้งหมดของบริษัท มีสัดส่วนของสินค้าอีโค หรือสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมอยู่ประมาณ 10% ในปี 2015 บริษัทตั้งเป้าไว้ว่า จะทำให้รายได้ของสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมให้มีสัดส่วนสูงขึ้นที่ 30% แต่ฝ่ายผู้ผลิตเพียงด้านเดียวคงไม่สามารถผลักดันให้เกิดขึ้นได้ ฝ่ายผู้ซื้อก็ต้องให้การสนับสนุนด้วยเช่นกัน ซึ่งหากจำนวนการใช้วัสดุเพื่อสิ่งแวดล้อมมีเพิ่มขึ้นจะเกิดผลดีกับทุกฝ่าย ทั้งประหยัดพลังงานและโลกของเราก็ดีขึ้น” นายชัชวาลกล่าว

มาตรฐานอาคารสีเขียวของไทย

อาคารสีเขียว (Green Buildings) นอกจากจะมีผลประโยชน์ทางตรงในด้านการอนุรักษ์พลังงานแล้ว ในอีกทางหนึ่ง จากการตื่นตัวเรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจนเกิดเป็นกระแสรักษ์โลกขึ้น ทำให้มีหลายองค์กรพยายามที่จะโฆษณาชวนเชื่อว่าอาคารของตนเอง เป็นอาคารสีเขียว เพื่อโหนกระแสสิ่งแวดล้อมสร้างภาพลักษณ์ที่ดี และหวังผลทางด้านการตลาด หรือแม้กระทั่งใช้เพื่อสมัครเข้ารับการช่วยเหลือจากภาครัฐหรือองค์กรนานาชาติด้านสิ่งแวดล้อม

องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆจึงได้พยายามกำหนดมาตรฐานอาคารสีเขียวขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องมือในการรับรองว่าอาคารสีเขียวที่มีการอวดอ้างนั้น มีมาตรฐานและการออกแบบที่ถูกวิธี ปัจจุบัน มีองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมของชาติต่างๆมากมายได้กำหนดมาตรฐานและหลักเกณฑ์ในการประเมินอาคารขึ้นมา เพื่อใช้ในการประเมินอาคารสีเขียว ตัวอย่างเช่น ประเทศอังกฤษ ที่มีมาตรฐานอาคารสีเขียว เรียกว่า BREEAM (Building Research Establishment’s Environmental Assessment Method) หรือในสหรัฐอเมริกา มีหน่วยงาน USGBC (The U.S. Green Building Council) ได้พัฒนาแบบประเมินอาคารที่เรียกว่า LEED (Leadership in Energy & Environmental Design) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ได้รับความน่าเชื่อถือที่สุดสำหรับอาคารสีเขียวในระดับโลก และสำหรับประเทศไทย กระทรวงพลังงานและมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านสถาปนิกทั่วประเทศ ได้ร่วมมือกันออกแบบวิธีประเมินอาคารสีเขียวในชื่อ TEEAM (Thailand Energy and Environmental Assessment Method)

มาตรฐานอาคารสีเขียว ประเทศสหรัฐอเมริกา

หน่วยงาน USGBC (The U.S. Green Building Council) ของสหรัฐอเมริกาได้กำหนดให้มาตรฐาน LEED (Leadership in Energy & Environmental Design) ซึ่งมีเกณฑ์การให้คะแนนเป็นข้อๆ ดังนี้

ที่ตั้งโครงการ (14 คะแนน) ที่ตั้งโครงการที่ดีจะต้องไม่ลุกล้ำพื้นที่ทางธรรมขาติ มีความสามารถในการดูแลหน้าดินที่ดี มีการวางระบบระบายของเสียออกจากอาคาร และมีที่ตั้งโครงการที่ขนส่งมวลชนสามารถเข้าถึงได้สะดวก เพื่อลดการใช้พลังงานจากการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว

การจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ (5 คะแนน) โครงการที่ดีจะต้องมีระบบจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ และมีระบบการบำบัดน้ำเสียที่ดี

การใช้พลังงานและระบบอาคาร (17 คะแนน) โครงการที่ดีต้องมีการจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีการนำพลังงานทดแทนมาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยตัวอาคารจะต้องมีการวางระบบและตรวจสอบสภาพอุปกรณ์ต่างๆอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้การใช้พลังงานต่อพื้นที่เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

วัสดุก่อสร้างอาคาร (13 คะแนน) วัสดุก่อสร้างที่ดีต้องเป็นวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงตั้งแต่การผลิตวัสดุที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ในการใช้งาน วัสดุนั้นต้องช่วยให้เกิดการประหยัดพลังงาน และต้องสามารถรีไซเคิลได้เมื่อไม่ใช้งานแล้ว

สภาพแวดล้อมภายในอาคาร (15 คะแนน) สภาพแวดล้อมที่ดี ต้องมีการออกแบบ ก่อสร้าง และบริหารจัดการให้ผู้อยู่อาศัยภายในอาคารรู้สึกสบาย และปลอดภัย ด้วยการเลือกวัสดุและตกแต่งอย่างเหมาะสม ปลอดสารพิษ มีการระบายอากาศที่ดี ใช้แสงไฟจากธรรมชาติ และมีระบบการจัดการของเสียภายในอาคารที่ดี

นวัตกรรมและความสร้างสรรค์ (5 คะแนน) เป็นการให้คะแนนเพิ่มเติมจากมาตรฐานข้างต้น

จากเกณฑ์การให้คะแนนทั้งหมด 69 คะแนน เมื่อมีการประเมินแล้ว จะมีการจัดระดับคะแนน แบ่งเป็น 4 ระดับด้วยกันคือ Certified 26 – 32 คะแนน, Silver 33 – 38 คะแนน, Gold 39 – 51 คะแนน และ Platinum 52 – 69 คะแนน

มาตรฐานอาคารสีเขียว ประเทศไทย

สำหรับประเทศไทย กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ได้มอบหมายให้คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ ออกแบบวิธีการประเมินอาคารสีเขียวในแนวทางที่คล้ายกับ LEED ในชื่อ TEEAM TEEAM (Thailand Energy and Environmental Assessment Method)

TEEAM ได้กำหนดการให้คะแนนตั้งแต่การเลือกสถานที่ตั้งโครงการที่สามารถเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนได้สะดวก การออกแบบผังบริเวณและภูมิสถาปัตยกรรมที่ช่วยลดความร้อนโดยรอบอาคาร และไม่สิ้นเปลืองทรัพยากรน้ำในการบำรุงรักษาต้นไม้ ทางด้านตัวอาคารได้มีการกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำของการติดตั้งฉนวนกันความร้อนในเปลือกอาคาร หลังคา ผนังทึบและกระจกหน้าต่าง โดยอ้างอิงกับกฎหมาของไทย และได้มีการกำหนดเกณฑ์ประสิทธิภาพขั้นต่ำที่สูงกว่าทั่วไปในเรื่องระบบอาคาร ได้แก่ ระบบไฟฟ้าสว่าง ระบบปรับอากาศ และระบบสุขาภิบาล เพื่อกระตุ้นให้มีการเลือกใช้ระบบที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมีคะแนนเต็มทั้งสิ้น 100 คะแนน มีเกณฑ์ 4 ระดับคือ ผ่านเกณฑ์ ดี ดีมาก และดีเด่น