อุตสาหกรรมการก่อสร้าง เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเป็นอันดับต้นๆ ของปริมาณการปล่อยทั้งหมด นับเป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหา climate change หรือที่เรียกว่าภาวะโลกร้อน-โลกรวน
การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการก่อสร้างจึงมุ่งไปที่แนวคิด green building หรือการพัฒนาอาคารสีเขียว เพื่อลดผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด ประกอบกับการมุ่งไปสู่เป้าหมาย Net Zero ของทั้งโลก ทำให้ทุกภาคส่วนต่างต้องการให้ทุกกระบวนการผลิต-บริการ ต้อง Green ในทุกขั้นตอนตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ อาคารสำนักงานต่างๆจึงจำเป็นที่จะเข้าสู่กระบวนการนี้ด้วย เพื่อตอบโจทย์แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน
รองศาตราจารย์ ดร.พันธุดา พุฒิไพโรจน์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ให้สัมภาษณ์กับไทยพับลิก้า เรื่องมาตรฐานอาคารสีเขียวและการปรับตัวของอาคารสำนักงานในประเทศไทย ว่า แนวคิดอาคารสีเขียวจะศึกษาผลกระทบของการสร้างอาคารเพื่อลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อน อาคารสีเขียว ครอบคลุมตั้งแต่การประหยัดพลังงานและน้ำ โดยปัจจัยทั้งพลังงาน-ไฟฟ้า และน้ำ จะต้องมีคุณภาพที่ดี เพื่อสร้างผล กระทบเชิงบวกควบคู่ไปกับการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนที่อยู่ในอาคาร
“green building” หรือ อาคารสีเขียว คือมาตรฐานใหม่ของสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ แต่ปัจจุบันเกณฑ์ต่างๆ ยังเป็นเพียงทางเลือก ไม่ใช่ทางรอด เพราะยังไม่มีการเข้มงวดให้เกิดการเปลี่ยนผ่านอย่างจริงจัง
มาตรฐานอาคารสีเขียว LEED และ TREES
ปัจจุบันมีมาตรฐานการประเมินอาคารสีเขียวที่นิยมใช้กันทั่วโลก คือ LEED certification หรือเรียกสั้นๆ ว่า LEED (ลีด) ย่อมาจาก Leadership in Energy and Environmental Design จัดทำโดย U.S. Green Building Council (USGBC) ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมาตรฐานนี้จะมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรของอาคาร และช่วยลดผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อม ครอบคลุมตั้งแต่การออกแบบอาคารและการก่อสร้าง, การตกแต่งภายใน, การจัดการอาคารและบำรุงรักษา, การพัฒนาพื้นที่รอบอาคาร รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรของบ้าน ชุมชนและเมือง
“LEED เหมือนกับแอร์เบอร์ 5 อาคารสำนักงานชั้นนำเลยต้องการการรับรอง เพราะตรานี้คือผู้นำเรื่องพลังงานและสิ่งแวดล้อม”
แม้อาคารสำนักงานทั่วโลกจะให้ความสำคัญกับ LEED มากที่สุด แต่ในแต่ละประเทศก็ได้จัดทำมาตรฐานอาคารสีเขียวเป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น
รองศาตราจารย์ ดร.พันธุดา กล่าวถึงมาตรฐาน TREES ว่า เกณฑ์อาคารสีเขียวของไทยฉบับปัจจุบันได้ประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2566 มีผลบังคับใช้กับอาคารทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งหมด 9 ประเภทที่มีพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 2,000 ตารางเมตร โดยกำหนดให้อาคารต้องก่อสร้างตามเกณฑ์ต่างๆ และให้คะแนนโดยแบ่งออกเป็น 8 หมวด ได้แก่ หมวดที่ 1 การบริหารจัดการอาคาร หมวดที่ 2 ผังบริเวณและภูมิทัศน์ หมวดที่ 3 การประหยัดน้ำ หมวดที่ 4 พลังงานและบรรยากาศ หมวดที่ 5 วัสดุและทรัพยากรการก่อสร้าง หมวดที่ 6 คุณภาพของสภาวะแวดล้อมภายในอาคาร หมวดที่ 7 การป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และหมวดที่ 8 นวัตกรรม
รองศาตราจารย์ ดร.พันธุดา อธิบายว่า อาคารต้องออกแบบตามกฎหมาย เช่น การประหยัดพลังงาน การบังคับค่าการถ่ายเทความร้อน การทำหลังคา การใช้แอร์ กระทั่งการใช้หลอดไฟประหยัดพลังงาน ก็มีการคำนวณถึงขนาดนับปริมาณวัตต์คูณด้วยจำนวนหลอดไฟทั้งหมด แล้วนำไปหารกับพื้นที่ เพื่อให้วัตต์ต่อตารางเมตรไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนด
“คุณภาพอากาศเป็นเกณฑ์ที่สำคัญของอาคารเขียว เกณฑ์จะบังคับว่าคุณภาพอากาศข้างในต้องดี ต้องเติมอากาศข้างในเข้าไปเยอะแล้วระบายอากาศ ถ้าไม่มีพัดลมเติมเข้ามา แต่มันอาจออกไปตามประตู เราก็ถือว่ามีอากาศใหม่เข้ามาเติม แต่ถ้าออกแบบอาคารสำนักงานต้องเติมเข้ามาและดูดออก ควบคุมได้ว่าจะให้ความดันเป็นบวกลบหรืออะไร”
รองศาตราจารย์ ดร.พันธุดา เสริมเรื่องคุณภาพอากาศว่า ถ้าอาคารสามารถนำอากาศภายนอกเข้ามาเติมได้ 30% ของอากาศภายในอาคารจะได้คะแนนเพิ่ม เพราะอากาศบริสุทธิ์นอกอาคารจะช่วยเจือจางก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
อาคารแต่ละประเภทจะมีรายละเอียดการบังคับใช้ไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะโรงเรียนจะให้ความสำคัญกับระบบเสียงในอาคาร เพราะสถาบันอาคารเขียวไทยมองว่า ระบบเสียงในห้องเรียนเป็นเรื่องสำคัญของผู้เรียน ขณะที่อาคารสำนักงานจะไม่เข้มงวดเรื่องเสียงมากเท่าโรงเรียน
“ชาวต่างชาติอาจไม่รู้จัก TREES แต่รู้จัก LEED ตึกนั้นก็ต้องขอการรับรอง LEED ด้วย ฉะนั้น อาคารสีเขียวชั้นนำในไทยจะต้องมีทั้ง TREES และ LEED”
นอกจากกระบวนการสร้างอาคารและการใช้พลังงานแล้ว ยังมีเกณฑ์ที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตภายในอาคาร (well-being) ชื่อ WELL Building โดยสถาบัน IWBI (International WELL Building Institute) จากประเทศสหรัฐอเมริกา ส่วนของไทยก็มีมาตรฐานอาคารเป็นสุขชื่อ The SOOK Building Standard เรียกสั้นๆ ว่า “สุข” โดยสถาบันอาคารสีเขียว
“‘WELL’ และ ‘สุข’ จะดูว่าคุณภาพอากาศดีไหม ถ้ามีการจัดการอาหารมาขายในตึก healthy หรือเปล่า คนมีโอกาสออกกำลังกายไหม หรือนั่งโต๊ะทั้งวัน เวลาเข้าออฟฟิศพวกนี้จะเห็นโต๊ะปรับได้ หรือบันไดคือส่งเสริมให้คนเดิน สมัยก่อนออฟฟิศตั้งบันไดมืดๆ ข้างหลัง เดี๋ยวนี้ออกแบบสวยงาม ก็เป็นเทรนด์ที่เปลี่ยนไป บางตึกเลยขอใบรับรองทั้ง LEED และ WELL เพื่อโชว์ให้เห็นว่าตึกนี้ดี ค่าเช่าก็ตั้งราคาได้สูงขึ้น เหมือนสินค้าพรีเมียม”
แนวคิด Adaptive Reuse และพัฒนาตึกร้าง
แนวคิดเรื่องอาคารสีเขียว ยังมีการให้คะแนนพิเศษเรื่อง adaptive reuse building หรือการนำอาคารเก่ามาใช้ใหม่ โดยมาตรฐาน LEED จะให้ความสำคัญกับ adaptive reuse เป็นพิเศษ
เหตุผลคืออาคารเก่าไม่นับเป็นการสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่ม ที่เรียกว่า embodied carbon หรือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากกระบวนการสร้างอาคาร ขณะที่อาคารที่สร้างขึ้นใหม่จะผลิตก๊าซคาร์บอนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้นอย่างมีนัย ผิดกับอาคารเก่าที่ถูกนำมาใช้ใหม่ในลักษณะ reuse ซึ่งไม่ได้มีการผลิตคาร์บอนจากขั้นตอนการสร้างอาคาร
“คาร์บอนในอาคารไม่ได้เกิดในขั้นตอน operation แต่เกิดก่อนที่คนเข้าไปใช้อาคาร มันอยู่ในตึกตั้งแต่ยังไม่ใช้ สร้างตึกมามันเกิดกระบวนการผลิตก็มีคาร์บอน เรียกว่า embodied carbon มันอยู่ข้างใน และคงอยู่ตลอดไป”
หลักการของ embodied carbon คล้ายกับ carbon footprint ที่ยังมีก๊าซเรือนกระจกค้างอยู่ในโลก โดยรองศาตราจารย์ ดร.พันธุดา อธิบายเพิ่มว่า ในกระบวนการก่อสร้างอาคารจะมีการแบ่งการปล่อยก๊าซออกเป็น 2 ส่วน คือ คาร์บอนระหว่างก่อสร้าง (embody) กับคาร์บอนหลังก่อสร้างเสร็จและเข้าไปใช้งาน (operation) ซึ่งคาร์บอนแบบ embody จะมีปริมาณสูงกว่าตอนเข้าไปใช้งาน เนื่องจากในระหว่างการสร้างอาคาร ผู้ผลิตยังคงใช้วิธีการก่อสร้างที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมาก ไม่ว่าจะเป็นการขนส่ง และการเลือกใช้วัสดุอย่างปูน-ซีเมนต์ ยิ่งไปกว่านั้นผู้ผลิตยังคงผลิตมากขึ้นเรื่อยๆ ตามความต้องการของประชากรที่มากขึ้น
“การสร้างอาคารใหม่ มีการผลิตและใช้วัสดุ แต่ถ้าเอาอาคารเก่ามาใช้ เหมือนกับ embody เกิดไปแล้ว คุณเข้าไปใช้มีแต่ operation เท่านั้น ถ้าเราจะรักษาอุณหภูมิโลกให้อยู่ที่ 1.5 ถึง 2 องศา เราต้องเข้มงวดกับการก่อสร้างใหม่ ต้องพยายามลดคาร์บอน อย่าสร้างใหม่เยอะ ควรชะลอการสร้าง โดยเอาอาคารเดิมใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ หรือเอาวัสดุที่มีอยู่มาใช้”
สำหรับอาคารที่สร้างใหม่ มาตรฐาน LEED จึงเข้มงวดเรื่องการปล่อยคาร์บอน โดยมีการให้คะแนนเรื่องการใช้วัสดุที่มีส่วนผสมของวัสดุรีไซเคิล เพราะมีการใช้พลังงานในการผลิตน้อยกว่าวัสดุที่ผลิตขึ้นใหม่ รวมถึงใช้เทคโนโลยีเพื่อประเมินว่าวัสดุที่นำมาใช้มี LCA (life cycle assesment) อย่างไร มีการปล่อยคาร์บอนสูงหรือต่ำ
“ถ้าไม่สร้างใหม่ คาร์บอนก็ไม่เพิ่ม มันเกิดของมันอยู่แล้ว เหมือนยืดเวลาของการไปขุดแร่ ทรัพยากรต่างๆ เพราะเวลาออกแบบอาคารมันมีอายุอย่างน้อย 50 ปีอยู่แล้ว โครงสร้างยังแข็งแรงแต่บางครั้งใช้ไป 20 ปีมันล้าสมัยด้วยฟังก์ชัน เราแค่เอามาใช้แล้วเปลี่ยนฟังก์ชันใหม่ แต่ถ้าสร้างใหม่คือเพิ่มคาร์บอน เพราะผลิตวัสดุใหม่ขึ้นมา”
“ไม้” ทำอาคารขนาดใหญ่
รองศาตราจารย์ ดร.พันธุดา กล่าวต่อว่า สิงคโปร์เอาตึกแแถวมาทำเป็นย่านร้านค้าใหม่ที่ทะลุถึงกันหมด และยังสร้างบ้านด้วยไม้ เพราะมี embody คาร์บอนน้อยกว่าการใช้ปูนและซีเมนต์ อีกทั้งไม้ยังทรัพยากรที่ปลูกทดแทนได้เรื่อยๆ แต่ที่สำคัญคือต้องใช้เทคโนโลยีเพื่อทำให้ไม้ได้มาตรฐาน
“ไม้มีคาร์บอนที่กักเก็บในตัว ถ้าเราไม่เผามันก็ไม่ปล่อยเพิ่ม เลยมีการพัฒนาว่าทำอย่างไรให้สร้างอาคารขนาดใหญ่โดยใช้ไม้ มีเทคโนโลยีหลายอย่าง เช่น เอามาต่อประสานกันด้วยกาว คือ glue lam มาจาก glue laminate จากไม้เล็กๆ สามารถทำเป็นคานใหญ่ๆ และทดสอบแล้วว่าสามารถกันไฟไหม้ โดยคำนวณว่าจะใช้ไม้อ้วน-หนา เท่าไรเพื่อให้ไฟแทรกซึมยาก”
ในประเทศไทยมีอาคารแบบ adaptive reuse ไม่ว่าจะเป็น ‘เอเชียทีค’ ซึ่งพัฒนามาจากโกดังเก่า และ’เก๊าไม้ล้านนา’ รีสอร์ทจังหวัดเชียงใหม่ ส่วนสำนักงานการไฟฟ้านครหลวงที่เขตคลองเตย และอาคารสำนักงาน สผ. สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม ก็กำลังขอการรับรอง LEED และ TREES
รองศาตราจารย์ ดร.พันธุดา อธิบายต่อว่า ในมาตรฐาน LEED ระบุว่า อาคารจะได้รับคะแนนเพิ่มถ้าเอาตึกร้างมาทำ เนื่องจากสภาพแวดล้อมรอบตึกร้างจะค่อนข้างแย่ ดังนั้น เมื่อนำตึกร้างมาพัฒนาเท่ากับการยกระดับชุมชนโดยรอบ หรือแม้แต่การพัฒนาตึกร้างในย่านประวัติศาสตร์ก็จะได้รับการตอบรับดี เพราะเป็นการฟื้นฟูชุมชนไปในตัว
นวัตกรรมประหยัดพลังงาน
สิ่งสำคัญของการพัฒนาอาคารสีเขียวคือ ระบบภายในอาคาร การออกแบบ ที่สำคัญคือเทคโนโลยีและนวัตกรรม
นวัตกรรมที่คนทั่วไปหรือคนที่เข้ามาใช้อาคารสามารถเห็นเป็นลำดับแรกคือ “ประตู” และ “ม่านปรับอากาศ” เพื่อกันไม่ให้อากาศข้างนอกไหลเข้ามามากเกินไป และกันไม่ให้อากาศข้างในไหลออกเกินไป
ม่านปรับอากาศจะตัดกระแสอากาศจากข้างนอก เพราะเมื่อคนเดินเข้าอาคารมาก อากาศก็จะมาตามคนมากขึ้น โดยหลักการของม่านปรับอากาศคือ อากาศฝั่งไหนมีแรงมากกว่าก็จะตัดอากาศไม่ให้ไหลไปฝั่งใดฝั่งหนึ่งเกินไป ช่วยประหยัดพลังงานไม่ให้แอร์ทำงานหนัก
ถัดมาคือ ประตู 2 ชั้นเพื่อกรองอากาศ เมื่อประตูเปิดแล้วอากาศจะตามคนเข้ามา แต่เมื่อมีประตูชั้นที่ 2 จะช่วยกรองอากาศและกันฝุ่นไม่ให้เข้ามาภายในอาคารมากเกินไป แต่ทั้งนี้ ประตูทั้ง 2 บานต้องไม่เปิดพร้อมกัน ขณะเดียวกัน อาคารบางแห่งยังทำประตูหมุนเป็นวงกลม ซึ่งมักจะเห็นในอาคารสำนักงานต่างประเทศ ช่วยให้อากาศไม่ไหลเข้ามา เพราะเวลาเข้าจะเข้าได้ทีละคน ดังนั้น อากาศที่ตามมาจะน้อยลง
ในเกณฑ์ LEED และ TREES ยังมีการให้คะแนน ถ้าอาคารนำพรมดักฝุ่นไปวางตรงประตูทางเข้า เนื่องจากฝุ่นในอาคารมาจากเท้าคนที่เดินเข้ามา เมื่อมีพรมดักฝุ่นก็จะช่วยลดปริมาณฝุ่นได้ และยิ่งออกแบบพรมได้ยาวก็จะได้คะแนนเพิ่มขึ้น โดย LEED กำหนดให้พรมยาว 3 เมตร ส่วน TREES กำหนดเพียง 1 เมตร
ส่วนภายในอาคารสีเขียวจะใช้ energy management system ซึ่งเป็นโปรแกรมประหยัดพลังงาน สามารถตั้งเวลาเปิด-ปิดไฟหรือแอร์ได้ หรือที่เรียกว่า daylight sensor และยังสามารถตั้งระดับความสว่างเมื่อมีคนมาใช้งาน รวมถึงมีเซนเซอร์ตรวจจับคน นอกจากนี้ อาคารบางแห่งในญี่ปุ่นยังให้พนักงานแขวนบัตร โดยหลังบัตรมีเซนเซอร์ที่เชื่อมต่อระบบภายในอาคาร ทำให้สามารถใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ท้ายที่สุด รองศาตราจารย์ ดร.พันธุดา กล่าวว่า ทุกวันนี้อาคารสีเขียวแทบจะเป็นมาตรฐานของอาคารในไทยไปแล้ว ผิดกับอาคารเก่าแบบ adaptive reuse ที่ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักเท่าไรนัก แต่ประเทศไทยก็มีอาคารเก่าที่มีศักยภาพหลายแห่ง โดยเฉพาะอาคารของราชการ และพื้นที่บางส่วนในสนามบินดอนเมือง
ทั้งนี้ ปี 2565 สถาบันฯ ได้ให้การรับรองตึกที่ผ่านเกณฑ์เป็นจำนวนถึง 77 โครงการ แบ่งเป็น 4 ระดับ ได้แก่ Certified Silver Gold และ Platinum ดังนี้
ระดับ Certified ได้แก่ SL Estate Head Office, CPF Bang Nam Priao DC, โชว์รูมสำนักงานและศูนย์บริการโตโยต้าวิชั่น (บ้านฉาง), โชว์รูมสำนักงานศูนย์บริการ โตโยต้าร้อยเอ็ด สาขาโพนทอง, โชว์รูมสำนักงานศูนย์บริการ โตโยต้านครปฐม สาขาตลาดจินดา, โชว์รูมสำนักงานศูนย์บริการ โตโยต้าสุรินทร์ สาขาศีขรภูมมิ, โตโยต้าทองรวยสีมาสาขาปรุใหญ่, อาคารโชว์รูมรถยนต์และศูนย์บริการโตโยต้า จีเอ็นดี ชลบุรี, โชว์รูมสำนักงานและศูนย์บริการโตโยต้า นครระยอง, โชว์รูมสำนักงานและศูนย์บริการโตโยต้าลำปาง สาขาห้างฉัตร, โชว์รูมสํานักงานและศูนย์บริการโตโยต้าบัสส์ สาขาพระราม 2, โชว์รูมสำนักงานและศูนย์บริการโตโยต้าชัยนาท 2015 และโชว์รูมสำนักงานศูนย์บริการ โตโยต้า เมืองสุพรรณ
ระดับ Silver ได้แก่ อาคาร ไอดีโอ โมบิ สาทร, ยามาฮ่าไรเดอร์สคลับ (Yamaha Riders Club), โตโยต้าเมืองเพชร สาขาท่ายาง, โตโยต้า นนทบุรี สาขาไทรน้อย, โตโยต้าริช กรีนโชว์รูม, โชว์รูมโตโยต้าดีเยี่ยม สาขาพิบูลมังสาหาร, อาคารโชว์รูมและศุนย์บริการ โตโยต้า สมาย จันทบุรี, โตโยต้า เจ้าพระยา นครสวรรค์, โชว์รูมรถยนต์โตโยต้า พัทยา 1998 สาขาสัตหีบ, อาคารโชว์รูมและศูนย์บริการ โตโยต้า กรุงไทย สาขาตลิ่งชัน และโตโยต้า อลีนกิจ สยาม สาขาบึงนาราง
ระดับ Gold ได้แก่ อาคารโชว์รูม สำนักงานและศูนย์การมาตรฐาน โตโยต้าไทยเย็น (สาขาปากช่อง), อาคารโชว์รูมสำนักงานและศูนย์บริการ โตโยต้า เภตรา, อาคารสมาคมธนาคารไทย และ บริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ จำกัด, อาคารซีพี ออลล์ อะคาเดมี่, อาคารพาณิชย์ (โชว์รูมและสำนักงาน) พิธานหาดใหญ่ สาขาสะเดา, โตโยต้ายโสธร สาขาเลิงนกทา, โตโยต้าพิษณุโลก สาขานครไทย, โตโยต้าเมืองนนท์ สาขาชัยพฤกษ์, อาคารโชว์รูมสํานักงาน ศูนย์บริการ โตโยต้านครชลบุรี, อาคาร โชว์รูมและศูนย์บริการ โตโยต้าเฟรนส์ชิบ สาขานวนคร, โตโยต้า เอกนิมิตไทย, โตโยต้าเพชรบุรี สาขาชะอำ-บ่อแขม, อาคาร อีอีซี อคาเดมี, โตโยต้า ชัยรัชการ สาขาเกษตรนวมินทร์, โตโยต้าโชว์รูม เจริญยนต์ชลบุรี สาขานาจอมเทียน, โตโยต้า เมืองชล, โรงเรียนสาธิตสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์, Whizdom Avenue Ratchada-Ladprao, ByBuzz, Archroma-Global Technical Service Center for Textile Applications and Testing, โชว์รูมและศูนย์บริการมาตราฐาน โตโยต้า แอท ยูไนเต็ด สาขาลาดพร้าว, สำนักงานอุบลราชธานี บริเวณสถานีไฟฟ้าแรงสูงอุบลราชธานี 1 จ.อุบลราชธานี, Toyota Northern Green Showroom, อาคารสำนักงานกฟผ. ไทรน้อย (EGAT Sainoi office), โตโยต้า ทีบีเอ็น สาขากาญจนาภิเษก, คลังสินค้าโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง), อาคารการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค, WHIZDOM CONNECT, อาคารนันทนาการ กฟผ. ไทรน้อย, อาคาร Competency Certification Center กฟผ. ไทรน้อย, Ngern Ma Business Office, วิสซ์ดอม สเตชั่น รัชดา-ท่าพระ, วิสซ์ดอม เอสเซ้นส์, โครงการโชว์รูม สำนักงาน ศูนย์บริการ และโรงอาหารบริษัท โตโยต้า ภูเก็ต มอเตอร์ส, วิสซ์ดอม อินสปาย, อาคารสำนักงาน 2 ชั้น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน และอาคารสำนักงานใหม่คลองเตย การไฟฟ้านครหลวงคลองเตย
ระดับ Platinum ได้แก่ ร้าน 7-Eleven สาขาธาราสแควร์, อาคาร ๖๐ พรรษาราชสุดาสมภพ, ศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์, อาคาร โชว์รูมและศูนย์บริการ โตโยต้าแก่นนคร สาขาบ้านดอน, ศูนย์กระจายสินค้า RDC บุรีรัมย์, Toyota Deluxe,ECO Showroom Building, ร้าน 7-Eleven สาขาธาราพัทยา, Toyota Biotope Sustainable Learning Center, อาคารการเรียนรู้พหุวิทยาการ (LEARNING EXCHANGE : LX), อาคาร อีอีซี อคาเดมี 2, ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง (EGAT Learning Center), ศูนย์กระจายสินค้า RDC หาดใหญ่, อาคารปฎิบัติการ คลังน้ำมันสุราษฎร์ธานีแห่งใหม่ และศูนย์กระจายสินค้า RDC นครสวรรค์