ThaiPublica > เกาะกระแส > เมื่อGo Green ไม่ใช่แค่สิ่งแวดล้อม แบงก์กสิกรไทย โชว์ KBTG “กรีน ดีเอ็นเอ”

เมื่อGo Green ไม่ใช่แค่สิ่งแวดล้อม แบงก์กสิกรไทย โชว์ KBTG “กรีน ดีเอ็นเอ”

17 กุมภาพันธ์ 2017


02หน้าอาคาร KBTG 1

เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560 ธนาคารกสิกรไทย ได้พาสื่อมวลชนเยี่ยมชมอาคารกสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) ซึ่งเป็นอาคารสำนักงานในกลุ่มธุรกิจการเงินอาคารแรกของไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานอาคารเขียวระดับโลก คือ LEED-NC ระดับแพลทินัม (Platinum) ประเภทอาคารสร้างใหม่หรือปรับปรุงใหญ่

ผศ. ดร.จตุวัฒน์ วโรดมพันธ์ ที่ปรึกษาด้านอาคารสีเขียว กล่าวว่า มาตรฐาน LEED หรือ Leadership in Energy and Environment Design เป็นมาตรฐานสำหรับอาคาารอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมของสภาอาคารสีเขียวของสหรัฐอเมริกา (U.S. Green Building Council: USGBC) โดยแบ่งเป็น 4 ระดับจากคะแนนเต็ม 110 คะแนน 1) 40-49 คะแนน ผ่านมาตรฐาน LEED 2) 50-59 คะแนน มาตรฐานระดับเงิน 3) 60-79 คะแนน มาตรฐานระดับทอง และ 4) 80-110 คะแนนเต็ม มาตรฐานระดับแพลทินัม

โดยแบ่งคะแนนออกเป็น 7 หมวด ดังนี้ 1) ความยั่งยืนของที่ตั้งโครงการ 26 คะแนน, 2) ด้านประสิทธิภาพการใช้น้ำ  10 คะแนน, 3) การประหยัดพลังงานและบรรยากาศ 35 คะแนน, 4) การใช้วัสดุและทรัพยากร 14 คะแนน, 5) คุณภาพสภาพแวดล้อมภายในอาคาร 15 คะแนน, 6) ด้านนวัตกรรม 6 คะแนน  และ 7) ด้านความเร่งด่วนส่วนภูมิภาค 4 คะแนน

ทั้งนี้ มุมมองด้านอาคารสีเขียวเป็นการพัฒนาต่อยอดจากมุมมองเรื่องอาคารประหยัดพลังงาน โดยมุมมองของอาคารสีเขียวของ LEED จะให้ความสำคัญกับปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพชีวิตของพนักงานภายในตึก หรือการใช้พลังงานจากการเดินทางมายังตึกด้วย แตกต่างจากมาตรฐานอาคารประหยัดพลังงาน ซึ่งจะเน้นไปที่ประสิทธิภาพภายในอาคารเท่านั้น โดยอาคารสีเขียวของ LEED จะให้ความสำคัญ 3 ด้านหลัก ได้แก่ 1) การลดขยะหรือของเสียเหลือใช้ 2) การประหยัดทรัพยากร และ 3) คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ห้องทำงาน KBTG
ห้องทำงาน KBTG
ห้องประชุม KBTG
ห้องประชุม KBTG
ห้องอาหารKBTG
ห้องอาหารKBTG

“คำว่ากรีนในที่นี้ไม่ได้แปลว่าจะต้องประหยัดพลังงานอย่างเดียว ไม่ได้แปลว่าประหยัดพลังงานแล้วต้องติดแอร์ปิดพัดลม อยู่กันร้อน แต่ต้องประหยัดพลังงาน และขณะเดียวกัน คุณภาพชีวิตของพนักงานหรือผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินไปได้เหมือนเดิมหรือดีขึ้น ขณะที่แนวโน้มต่อไปจากอาคารกรีนจะเป็นสิ่งที่เรียกว่า Green Net Zero Building คือเป็นอาคารที่อยู่ได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องพึ่งพาพลังงานจากภายนอก รวมทั้งอาจจะส่งพลังงานคืนกลับสู่ประเทศด้วย ซึ่งอาจจะเป็นไปได้มากขึ้นหากราคาของแผงโซลาร์ถูกลงหรือมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ดีขึ้นจนในที่สุดคุ้มค่าทางธุรกิจ อันนั้นจะเป็นทิศทางไปในอนาคต” ผศ. ดร.จตุวัฒน์ กล่าว

สำหรับตึกอื่นๆ ทั่วโลก ตึก Naver Green Factory ในเกาหลีใต้ถือว่าเป็นตึกที่ได้คะแนนสูงสุด 110 คะแนนในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังมีตึกอื่นๆ ที่ได้มาตรฐานระดับแพลทินัม ไม่ว่าจะเป็น TAIPEI 101 ในไต้หวัน, ตึก Kingkey 100 Tower ในจีน, ตึก Jin Mao Tower ในเซี่ยงไฮ้ และตึก Two International Finance Center ในฮ่องกง เป็นต้น ส่วนประเทศไทยจะมีตึกที่ได้มาตรฐานระดับแพลทินัมอย่าง Kbank learning center, ตึก SCG สำนักงานใหญ่ 1 และ 2, ตึก TMB bank สนามเสือป่า, ตึก Park venture และตึก Energy complex เป็นต้น

สำหรับตึกของ KBTG นายพรชัย ยงนพกุล  ผู้บริหารฝ่ายบริหารอาคารและงานกลาง ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ได้รับการรับรองมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2559 นับเป็นอาคารสำนักงานขนาดใหญ่พิเศษในกลุ่มธุรกิจการเงินอาคารแรกของไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน LEED ระดับแพลทินัมโดยได้รับคะแนน ใน 7 หมวด ดังนี้ 1. ความยั่งยืนของที่ตั้งโครงการ ได้ 22 จาก 26 คะแนน 2. ด้านประสิทธิภาพการใช้น้ำ ได้ 10 จาก 10 คะแนน 3. การประหยัดพลังงานและบรรยากาศ ได้ 24 จาก 35 คะแนน 4. การใช้วัสดุและทรัพยากร ได้ 8 จาก 14 คะแนน 5. คุณภาพสภาพแวดล้อมภายในอาคาร ได้ 11 จาก 15 คะแนน 6. ด้านนวัตกรรม ได้ 5 จาก 6 คะแนน 7. ด้านความเร่งด่วนส่วนภูมิภาค ได้ 4 จาก  4  คะแนน รวม 84 คะแนนเต็ม 110 คะแนน

ทั้งนี้ อาคารดังกล่าวได้คะแนนเกินกว่ามาตรฐาน LEED เช่น การประหยัดน้ำประปาที่มากกว่าข้อกำหนดของ LEED ซึ่งประหยัดถึง 50% การใช้วัสดุรีไซเคิลที่มากกว่า 40% ซึ่งเกณฑ์ LEED กำหนดไว้ที่ 20% และการใช้วัสดุพื้นถิ่นที่ 70% มากกว่าเกณฑ์ LEED ที่กำหนดไว้ที่ 20% และยังได้มีการทำคะแนนพิเศษด้านนวัตกรรมอื่นๆ อีก เช่น การจัดนิทรรศการอาคารเขียวถาวร นอกจากจะเป็นสื่อในการประชาสัมพันธ์อาคารแล้ว ยังสามารถเป็นส่วนหนึ่งของคะแนนได้ รวมทั้งการติดตั้งมิเตอร์เพื่อตรวจวัดการใช้น้ำในส่วนงานการออกแบบภูมิสถาปัตย์ (landscape) เพื่อให้การบริหารจัดการใช้น้ำในพื้นที่สวนมีประสิทธิภาพด้านมาตรการป้องกันมลภาวะระหว่างก่อสร้าง เพื่อให้การก่อสร้างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนรอบข้าง จึงมีมาตรการป้องกันมลภาวะที่จะเกิดขึ้นระหว่างการก่อสร้างโดยมีการจัดเตรียมมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันการสูญเสียการพังทลายของหน้าดิน การป้องกันตะกอน และการป้องกันฝุ่น

นายพรชัย ยงนพกุล (ซ้าย) ผู้บริหารฝ่ายบริหารอาคารและงานกลาง ธนาคารกสิกรไทย และผศ. ดร.จตุวัฒน์ วโรดมพันธ์ (ขวา) ที่ปรึกษาด้านอาคารสีเขียว
นายพรชัย ยงนพกุล (ซ้าย) ผู้บริหารฝ่ายบริหารอาคารและงานกลาง ธนาคารกสิกรไทย และผศ. ดร.จตุวัฒน์ วโรดมพันธ์ (ขวา) ที่ปรึกษาด้านอาคารสีเขียว

ทั้งนี้ อาคารมีเนื้อที่รวมประมาณ 12 ไร่ เดิมเป็นอาคารร้างชื่อดอนเมืองสตาร์ โดยที่ตั้งโครงการหันหน้าเข้าหาอาคารกสิกรไทยแจ้งวัฒนะ  อาคารโครงสร้างเป็นแบบคอนกรีตเสริมเหล็กความสูง 11 ชั้น มีพื้นที่ใช้งานภายในอาคารทั้งหมด 66,755 ตารางเมตร ทั้งนี้ การจัดพื้นที่ใช้สอยภายในอาคาร ประกอบด้วยชั้นต่างๆ  ดังนี้

  • ชั้น G ประกอบด้วยห้องประชุมส่วนกลางจำนวนมากถึง 11 ห้อง ห้องอาหารพนักงานที่มีที่นั่งจำนวน 400 ที่นั่ง
  • ชั้น 1 ถึง ชั้น 3 (ครึ่งชั้น) เป็นพื้นที่จอดรถภายในอาคาร มีช่องจอด 422 คัน
  • ชั้น 3 (ครึ่งชั้น) ถึง ชั้น 5 (ครึ่งชั้น) ประกอบไปด้วยห้องเครื่องงานระบบวิศวกรรม
  • ชั้น 5 (ครึ่งชั้น) ถึง ชั้น 10 เป็นพื้นที่สำนักงานทั้งหมดประมาณ 25,000 ตร.ม. พื้นที่ในแต่ละชั้นเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ จึงจัดให้มีบันไดเชื่อมต่อระหว่างชั้นทำการภายในอาคารบริเวณพื้นที่สำนักงาน (ตั้งแต่ชั้น 6-10) จำนวน 2 จุด บริเวณปีกซ้ายและปีกขวาของตัวอาคาร เพื่อตอบสนองความคล่องตัวในการประสานการทำงานระหว่างชั้นทำการ
  • ออกแบบพื้นที่สำนักงานให้สอดคล้องกับแนวความคิด Flexibility
  • ออกแบบให้มีพื้นที่ Recreation Area จำนวน 2 จุด/ชั้นทำการ
  • ออกแบบให้มีพื้นที่ Creative box จำนวน 2-3 จุด/ชั้นทำการ
  • ชั้น 11-11M จัดเป็นพื้นที่ Innovation Center คิดเป็นพื้นที่ทั้งหมด 7,000 ตร.ม. ที่ประกอบไปด้วยพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลนวัตกรรม ส่วนกลาง K-Stadium (สามารถจุคนได้ 250 คน)/ห้อง Project room จำนวน 8 ห้อง (สามารถจุคนได้ 100-120 คน)/พื้นที่ทำงานรูปแบบ Mobile จำนวน 150 ที่นั่ง/ห้องทำงานผู้บริหาร/สวนกล้วยไม้ ขนาด 150 ตร.ม.

นายพรชัยกล่าวว่า การออกแบบก่อสร้างอาคาร KBTG อยู่ในโครงการอาคารเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อม เป็นนโยบายสำคัญในการจัดสร้างและปรับปรุงอาคารสำนักงานใหญ่ทั้งหมดที่คำนึงถึงคุณภาพชีวิตของผู้ใช้อาคาร การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการบริหารจัดการพลังงาน ประกอบด้วยแนวคิดสำคัญ 3 ประการ ได้แก่

Agile Workplace: สถานที่ทำงานที่ส่งเสริมให้การทำงานมีความคล่องตัว สามารถริเริ่มและตอบสนองความต้องการทางธุรกิจอย่างฉับไว ด้วยการใช้ Concept Mobility Workplace การออกแบบพื้นที่ทำงานให้มีบริเวณการทำงานแบบ Mobile Office พนักงานสามารถจองที่นั่งผ่านระบบ Space Registration System อีกทั้งยังมีระบบ Wifi ครอบคลุมทุกพื้นที่ของอาคารด้วยความเร็วสูงสุด 1.3 Gbps นอกจากนี้ ยังออกแบบและตกแต่งห้องประชุมแบบ VDO Conference สามารถประชุมร่วมกันระหว่างอาคารอื่นๆ ได้พร้อมกันถึง 20 คู่สาย และรองรับการประชุมที่หลากหลาย

 K-Stadium อัฒจันทร์นำเสนอผลงาน
K-Stadium อัฒจันทร์นำเสนอผลงาน
Recreation Area
Recreation Area

19Creative Box 1

มุมบันได
มุมบันได

Innovation: ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม ด้วยการออกแบบระบบภายในอาคารที่นำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้เพื่อช่วยประหยัดพลังงาน และส่งเสริมการบริหารจัดการอาคารให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น เช่น K-Stadium อัฒจันทร์นำเสนอผลงาน ชั้น 11 มีความทันสมัยทั้งระบบภาพและเสียงตกแต่งภายในออกแบบภายใต้แนวคิด “A Powerhouse of Innovation” เปรียบเสมือน “ไข่แดงศูนย์กลางของไข่ดาว” นอกจากนี้ ยังมี Recreation Area และ Creative Box ที่ปรากฏอยู่ในทุกพื้นที่ของอาคาร ช่วยกระตุ้นความคิดริเริ่มสร้างสรรค์

Green Bank, Green Financing, Green Project: LEED และการบริหารจัดการอาคารที่มีประสิทธิภาพ ธนาคารกสิกรไทยยึดมั่นในเจตนารมณ์ “กรีน ดีเอ็นเอ” ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง และพัฒนาปรับปรุงกระบวนการทำงาน อีกทั้งยังพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการของธนาคารให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ประชาชน และการเป็นส่วนหนึ่งที่จะร่วมดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม แนวความคิดดังกล่าวถ่ายทอดอย่างเป็นรูปธรรมด้วยการกำหนดเป็นแนวทางในการก่อสร้างและออกแบบอาคารของธนาคารที่จะต้องใช้ความคิดของการเป็นอาคารเขียวเพื่ออนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม

“ในการออกแบบและก่อสร้างอาคาร KBTG ทีมงานธนาคารกสิกรไทยได้ร่วมมือกับทีมงานที่ปรึกษาจากบริษัท ISET และ SGS นำโดย ดร.จตุวัฒน์ วโรดมพันธ์ ในการทำโครงการอาคารใหม่ที่ผ่านมาตรฐาน LEED-NC Platinum ได้สำเร็จ ซึ่งธนาคารกสิกรไทยเชื่อมั่นตลอดมาว่ารูปแบบการดำเนินโครงการตั้งแต่การกำหนดนโยบาย ออกแบบก่อสร้าง และวางระบบทั้งหมด จะเป็นแนวทางของอาคารเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อมที่เป็นรูปธรรมเพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจภายใต้เจตนารมณ์ “กรีน ดีเอ็นเอ” จึงได้ดำเนินการก่อสร้างและพัฒนาอาคารสำนักงานใหญ่ทั้ง 3 แห่งอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เป็นอาคารเขียวที่ประหยัดพลังงาน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของผู้ใช้อาคารเป็นหลัก” นายพรชัยกล่าว